วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

๑. วิกฤตการศึกษาไทย

1.      บทนำ :  วิกฤตการศึกษาไทย

            มีครูหลายคนอาจยังไม่เชื่อว่าผลของการจัดการศึกษา(ฝีมือครู) ของโรงเรียนในประเทศไทย  มีผลทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง  จากการที่ทำให้ได้พลเมืองที่ไม่มีคุณภาพพอ ไม่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง  จึงทำให้สังคมวุ่นวาย  แตกแยกกัน  ค้าขายขาดทุน  ประเทศชาติขาดการพัฒนา ฯลฯ  ทั้งๆที่สังคมให้โอกาสกระทรวงศึกษาธิการ  โดยให้งบประมาณสูงมากกว่าทุกกระทรวงติดต่อมา ๑๐ ปี และให้เงินเดือน รวมทั้งการเลื่อนขั้นตำแหน่งได้อย่างรวดเร็วกว่าข้าราชการทุกกระทรวง  แต่ผลการจัดการศึกษาล้มเหลวมาโดยตลอด    เพียงแค่ผลการทดสอบระดับชาติ (O-net)  ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖  ขอยกตัวอย่างปีการศึกษา ๒๕๔๙  ซึ่งมีทั้งหมด  ,๕๙๔ โรงเรียน  โรงเรียนที่มีผลการทดสอบเกินครึ่ง (๒๕๐ คะแนน) มีจำนวน  ๒๑  โรงเรียน  คิดเป็นร้อยละ ๐.  มีผลการทดสอบเกิน ๒๐๐  คะแนน  จำนวน  ๑๖๙  โรงเรียน   คิดเป็นร้อยละ ๖.๕๒   แต่ยิ่งสอบคะแนนก็ยิ่งถดถอยลงไปทุกปี    ผู้ใดสนใจต้องการรู้ผลการทดสอบแห่งชาติในแต่ละปี   เข้าไปดูได้ที่เว็บไซด์ของ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ) และแม้จะมีการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาทุกสังกัด   โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔  จนถึงปัจจุบัน หมดเงินภาษีอากรประชาชนไปหลายหมื่นล้าน  จำนวนโรงเรียนที่ได้รับการรับรอง จาก สมศ.มีมากขึ้นทุกวัน    แต่ก็ไม่เห็นว่าผลของการศึกษาจะมีประสิทธิภาพขึ้นตามไปด้วย 

                    แม้กระทั่งผลการแข่งขันในเวทีระดับต่างๆ ผลปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับเกือบสุดท้ายทุกครั้งไป   ยิ่งถ้าต้องการทราบผลการประเมินหรือทดสอบความสามารถของคุณครูที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการทดสอบ  ก็ยิ่งเป็นที่น่าตกใจ  เพราะผลการทดสอบ พบว่า  ความรู้ความสามารถของครูประเทศไทยต่ำกว่าเกณฑ์ทุกวิชา   โดยเฉพาะผลการทดสอบวิชาภาษาอังกฤษ   คณิตศาสตร์   วิทยาศาสตร์ ฯลฯ

                        การศึกษาที่ล้มเหลว   จะเป็นความผิดของใคร ?     ใคร?จะรับผิดชอบ

                        มีกรณีตัวอย่างหนึ่ง  ที่อาจทำให้ครูหลายท่านอาจเห็นภาวะวิกฤตการศึกษาคุณภาพการศึกษาไทยได้ชัดเจนมากขึ้น   
“ ...เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์  ๒๕๓๙ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ห้อง ๕ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้กระโดดจากชั้น  ๕ อาคารหอพักชายเสียชีวิต   และได้เขียนจดหมายลาตายว่า ผิดหวังที่ไม่สามารถทำคะแนนได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่โรงเรียนตั้งไว้
         (จากข่าวหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙  หน้า )

                     ต่อมามารดาของนักเรียนที่เสียชีวิต   ได้เขียนจดหมายส่งถึงโรงเรียน    ผ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์  ๒๕๓๙  หน้า ๑๒   มีใจความที่สะท้อนการจัดการศึกษาของโรงเรียนทั้งประเทศอย่างน่าสะเทือนใจ  ว่า 
“.............เมล็ดพันธ์เมล็ดหนึ่งที่รับคัดเลือกเข้าแข่งขันเข้ามาอยู่ในโรงเพาะชำของพวกคุณ  จนแข่งขันได้เข้ามาอยู่ในจำนวน  ๑๐๐  กว่าเมล็ดพันธุ์  ก็ยังต้องมารอให้คุณจับสลาก   เพราะแปลงปลูกเมล็ดพันธุ์ของพวกคุณมีที่เพาะไม่พอ  จนเขาเป็นเมล็ดสุดท้าย  เมล็ดที่ ๘๐  ที่คุณเลือกขึ้นมา  ฉันซึ่งเป็นแม่ของเขามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง  ที่เขาได้รับคัดเลือกเป็นเมล็ดพันธ์ที่คุณจะรับเพาะเลี้ยงให้เติบโต   เป็นกล้าไม้ที่แข็งแรงและสมบูรณ์   เขาเติบโตมาในเรือนเพาะชำนี้ได้    ปี   พวกคุณก็ขยับขยายเขามาลงแปลงใหม่  ทดลองให้ปุ๋ย  ให้อะไรที่พวกคุณคิดค้นขึ้นมา    เสร็จแล้วกล้าไม้ต้นนี้ไม่เป็นดั่งหวังไม่ผลิดอกออกผลเป็นผลไม้ทองคำดังใจของพวกคุณ   กล้าไม้ต้นนี้จะทำให้พวกคุณเสียชื่อ  และเป็นนักทดลองที่ไม่ประสบผลสำเร็จ   พวกคุณก็พยายามขุดมันทิ้ง   พยายามโค่นมัน   แต่ไม่ได้ดังใจ  เพราะกล้าต้นนี้เติบโตบนพื้นดินผืนนี้เป็นเวลา  ๑๐  กว่าปี  ไม่สามารถที่จะรับสภาพที่ถูกขุดอย่างทิ้งๆขว้างๆ  ออกไปจากพื้นที่ของพวกคุณได้    ชีวิตเขาทั้งชีวิตแทบจะอยู่กับพื้นที่ดินนี้มาตลอด  

                    เขารู้ว่าต้นแม่ ต้นพ่อที่ส่งเข้ามาจะเสียใจ   เขาจึงยอมรับที่จะถูกพวกคุณโค่นทิ้งไม่ได้   เขาจึงขอตายในพื้นที่ที่เพราะเลี้ยงเขาขึ้นมา   และก็คงจะสมใจพวกคุณที่เขาตายเสียได้ จะได้ไม่เกะกะพื้นที่ของพวกคุณ  คุณจะได้เลือกเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ดี  วิเศษเลิศเลอ   เพื่อที่จะเป็นต้นกล้าที่เพาะขึ้นมาแล้วทำชื่อเสียงให้กับพวกคุณได้สมหวัง   ลงท้ายพวกฉันขอแสดงความยินดีกับพวกคุณที่คุณทำให้เขาจัดการตัวเขาได้........”   
        
                                              จากเจ้าของเมล็ดพันธุ์ที่พวกคุณไม่ต้องการ

ผมฝันอยากได้โรงเรียนที่ดีมีคุณภาพ   ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มี.......วิสัยทัศน์  เป้าหมาย  แนวคิดที่มุ่งเน้นการ “ฝึกและพัฒนา”  มิใช่ เป็นโรงเรียนที่ครูมุ่งเน้นใน ”การสั่งสอน บ่นว่า”  โดยเฉพาะผมไม่อยากเห็นการอบรม (ด่า-ประจาน)หน้าเสาธง เพราะโรงเรียนมิใช่สถานที่ที่ใคร หรือคนใดคนหนึ่งจะมารู้ดี   มีมาตรฐานสูงกว่าผู้อื่นและมาพูดย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า เธอต้องทำสิ่งนี้นะ  เธออย่าทำสิ่งนั้นนะ  ห้ามทำสิ่งนั้นนะ   อย่าทำสิ่งนี้นะ”   

แต่โรงเรียนควรวางกติกา  กรอบแนวทางความประพฤติให้ชัดเจน   แล้ววางเงื่อนไขพัฒนา  กระตุ้นให้เด็กมองเห็นเหตุผลในสิ่งที่ควรทำ หรือไม่ควรทำ   เมื่อทำผิดไปก็ฝึกให้ยอมรับผิด    แล้วเลือกโทษที่ตัวเองสมควรได้รับ  

เป็นโรงเรียนที่เด็กทุกคนมีโอกาสได้ลงมือฝึกปฏิบัติจริงตามหลักสูตร   มากกว่านั่งฟังครูสอน  หรืออธิบายตามหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว

เป็นโรงเรียนที่เด็กทุกคนได้รับการเอาใจใส่ดูแล  ฝึกฝนปฏิบัติเท่าเทียมกัน   จนพวกเขาภูมิใจ  เคารพ เชื่อมั่นความสามารถที่แท้ของตนเอง

เป็นโรงเรียนที่เด็กทุกคนเชื่อโดยสนิทใจว่า ครูมีความรัก   เอ็นดู  หวังดีต่อนักเรียนทุกคน   โดยเฉพาะในห้องเรียนเป็นที่สบายใจ  อบอุ่น ปลอดภัย   แม้เด็กจะทำผิดพลาดไปบ้างก็รู้สึกว่าจะได้รับการอภัย  แล้วได้รับการชี้แนะ  แนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง  เพื่อทำให้เข้าใจเหตุผล  และสามารถปรับพฤติกรรมของตัวเองดีขึ้น

เป็นโรงเรียนที่เด็กทุกคนได้รับการค้นหาความสามารถ  ความถนัดจากครู  ไม่ปล่อยให้เด็กรอแล้วรอเล่า  รอเวลาเมื่อใด (ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่) ที่ครูจะมาค้นพบศักยภาพ และธรรมชาติของตัวผู้เรียน   ซึ่งถ้าครูไม่ค้นพบ  เด็กก็จะถูกกลืนโดยเพื่อน   สังคม   สื่อสารมวลชนที่มีแต่ความเย้ายวนใจ   ลุ่มหลงง่าย
               
                วิกฤตทางการเรียนการสอน  ทำให้เกิดวิกฤตการศึกษา  วิกฤตชีวิต  และวิกฤตประเทศ

                   วิกฤตคุณภาพการศึกษาไทย  กับคุณภาพการเรียนการสอนของครูมักจะไปด้วยกัน  ผมจึงขอเสนอความคิดในแง่มุมต่าง ๆ  เพื่อช่วยกระตุ้นให้พวกเราได้พิจารณาตัวเองว่า  วันนี้เรากำลังมีปัญหาหรืออุปสรรคในจุดไหนของการพัฒนาและปฏิรูปการเรียนรู้   

                   แท้จริงแล้ว  คุณภาพของนักเรียน เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของโรงเรียน  และคุณภาพของโรงเรียนเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการจัดศึกษาของประเทศ  ดังนั้น  ถ้าพวกเราครูทุกคน  สามารถปฏิบัติงานของเราเป็นไปอย่างมีหลักการ และมีขั้นตอน  กระบวนการที่ดีตามธรรมชาติการเรียนรู้ หรือจิตวิทยาการเรียนรู้ในการฝึกนักเรียนแล้ว   พวกเรานั่นเองคือผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศ

                   สำหรับผมเองผมชอบเป็นครู  เพราะเป็นงานที่ผมทำเสร็จแต่ละปี  หรือนึกถึงความหลังคราใด  ผมจะมีความสุข  มีความภูมิใจเมื่อนั้น  เพราะลูกศิษย์ของผมมีพัฒนาการดีขึ้นทั้งด้านความคิด อารมณ์ จิตใจ และทักษะการเรียนรู้ต่างๆ  นี่คือความจริงที่ผมได้มาตลอดความเป็นครู ๔๐  ปี   ผมเชื่อว่าคงมีเพื่อนครูหลายท่านมีโอกาสสัมผัสถึงความรู้สึกเช่นนี้   ผมเคยสังเกตสิ่งที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนจากตัวครูที่สามารถฝึกฝนเด็กๆ ให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น   ล้วนเหมือนกันทุกคน  นั่นคือ แววตา ใบหน้ามักมีความสุข ความภูมิใจ เช่นกัน

                 ผมเชื่อว่า  เพื่อนครูทุกท่านล้วนต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพวิธีการสอนของตัวเองอยู่เสมอ   แม้ส่วนใหญ่จะไม่มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่   เพราะครูเช่นนี้ต้องกล้าเผชิญปัญหาอุปสรรค   ต้องทุ่มเทเสียสละเหน็ดเหนื่อยมาก  ทั้งการขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม   ทั้งการเตรียมสื่ออุปกรณ์  ขั้นตอนการฝึกฝน  รวมทั้งการตรวจสอบติดตามการเรียนรู้ของเด็กๆแต่ละคนว่าได้ผลเป็นอย่างไร  จนดูเหมือนว่าไม่สามารถจะเป็นจริงได้  เพราะมีภาระที่จะต้องดูแลครอบครัว   แถมยังมีคนคอยเยาะเย้ย  ถากถาง  ซ้ำเติม  หรือตอกย้ำอยู่ตลอดเวลา   ด้วยเหตุนี้  จึงทำให้หาครูที่ปฏิบัติงานคุณภาพอย่างคงเส้นคงวามากยิ่งขึ้น

                 เมื่อไม่มีผู้กล้าที่จะพัฒนาคุณภาพการสอน จึงทำให้วิกฤตการเรียนการสอน  วิกฤตคุณภาพโรงเรียน จึงเกิดขึ้นเต็มประเทศ  ครูที่ยอมแพ้ละเลยเพิกเฉยต่อการพัฒนาคุณภาพการสอนกลายเป็นครูส่วนใหญ่ในทุกโรงเรียน   เขาต้องอยู่อย่างหมดกำลังใจ และทำให้มีปัญหาจากการปฏิบัติงานครู  สะสมในจิตใจของเขาวันแล้ววันเล่า  กลายเป็นคนที่มีบุคลิกหมดอาลัยตายอยาก   เบื่อ  เซ็ง  หน้าตาไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส  แววตามีแต่ความแห้งแล้ง  ไม่มีความสุข   มาโรงเรียนก็มาแต่ตัว  มาถึงก็บ่นแต่ปัญหาต่างๆให้เพื่อนครูฟัง  หรือบ่นว่าอะไรต่ออะไรให้เด็กฟัง  บางครั้งก็ดีแต่ด่าเด็กด้วยถ้อยคำรุนแรง  ดูเหมือนคนเหล่านี้เอาเด็กๆเป็นที่ระบายความเครียดของตัวเองก็มี  จนคนฟังเอือมระอาไปหมด  เห็นไหมครับว่า  ในที่สุดวิกฤตการสอนก็กลายเป็นวิกฤตของชีวิตครูไปด้วย

                  เพื่อนครูที่รัก  ท่านจะเลือกทำอย่างไรในแต่ละวันของท่าน  ก็แล้วแต่การเลือกตัดสินใจของท่าน    แต่ผมหวังให้เพื่อนครูเลือก “ความเป็นครู”  แค่เพื่อนครูตั้งใจอยากให้เด็กของเรามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นทุกวัน  (เพราะทุกคนมีความรักเด็กเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว)   ยิ่งถ้าครูทุกคนเข้าใจเป้าหมายความเป็นครูที่แท้จริง  อยู่ที่ฝึก มิใช่ สอน   รวมทั้งเห็นตรงกันกับผมว่า  การฝึกเด็กให้มีทักษะการเรียนรู้  หรือทักษะชีวิต  ดีกว่า  การอธิบายความรู้ตามหนังสือ  แค่นี้เพื่อนครูก็จะสามารถก้าวข้ามพ้นวิกฤตชีวิตครูได้ในไม่ช้า
               
                 การที่เพื่อนครูจะพัฒนา  การเรียนการสอน  ให้เป็น  การจัดการเรียนรู้  ได้นั้น  ผมมีประสบการณ์ผ่านการพัฒนาตัวเอง  และประสบการณ์ในการฝึกให้นิสิตปริญญาโทการบริหารเข้าใจปรัชญาการศึกษา  ด้วยการสร้างความพร้อม  ๒  ประการ  ดังนี้

     ประการแรก  เพื่อนครูต้องตอบคำถามต่อไปนี้ให้ชัดเจนให้ได้  จนพอใจในคำตอบนั้นๆ  เพื่อนครูก็จะมีแนวคิดที่ชัดเจน  (นิยามของเรานั่นแหละครับ) คำถามมีดังนี้   
     ๑.     ที่เราเรียกว่าการศึกษานั้น  มันหมายถึงอะไร  
     ๒.     จุดหมายปลายทางของการศึกษาคืออะไร  มีอะไรบ้าง
     ๓.     จุดหมายปลายทางของการศึกษา  จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในสังคมได้อย่างไร     

               เมื่อได้คำตอบนี้แล้ว เพื่อนครูก็ต้องหาคำตอบต่อไปว่า คำว่า "...ครู นักเรียน โรงเรียน หลักสูตร และ การจัดการเรียนรู้ ควรเป็นอะไร มีความหมายอย่างไร มีบทบาท หน้าที่อย่างไร ตามแนวคิดที่เราได้มาจาก ๓ ข้อข้างต้น ถ้าเพื่อนครูให้คำตอบที่สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แสดงว่าแนวคิดของท่านชัดเจนแล้ว ถ้ายังไม่สอดคล้องคำตอบไปคนละทิศละทาง แสดงว่าแนวคิดเพื่อนครูยังไม่ชัดเจน ก็ลองคิดใหม่ๆไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ได้ และเข้าใจเองครับ


            ประการที่สอง  เพื่อนครูต้องทำความเข้าใจในนโยบาย และแนวคิดในการจัดการศึกษาของนักวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ  ที่อยู่ในหลักสูตรแกนกลาง  ตรงนี้สำคัญมาก  เพราะถ้าเริ่มต้นผิด  ก็จะพลาดเป้าหมายและล้มเหลว   หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พ.ศ. ๒๕๕๑  (ที่จริงแนวคิดนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๓ แล้ว) เขามีแนวคิดว่า  การศึกษาในโลกยุคปัจจุบัน  ควรเป็นการเรียนรู้   ซึ่งจะว่าไปก็ถูกของนักการศึกษา  เพราะสภาวการณ์ของโลกปัจจุบันเป็นอย่างนี้จริงๆ  แต่วงการครูในโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา  ยังไม่ตระหนักและซาบซึ้ง  จนเข้าใจกับคำว่า “การเรียนรู้” นี้ดีพอ  จึงทำให้เกิดวิกฤตคุณภาพการศึกษาอย่างรุนแรงในประเทศไทย
  
       เพราะครูเมื่อไม่เข้าใจและยอมรับว่า  การศึกษาควรเป็น การเรียนรู้   แต่ครูยังเชื่อแบบเดิมว่า  การจัดการศึกษาที่ถูกและดี   ควรเป็น  การเรียนการสอน   การเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของไทยจึงล้มเหลว    ดูตัวอย่าง  ข้อทดสอบแห่งชาติ (o-net) วัดการเรียนรู้   แต่ครูยังสอนความรู้   ผลการทดสอบจึงตกต่ำลงทุกปี 

       ที่จริงคำว่า “การเรียนรู้” แม้เป็นคำใหม่  แต่ถ้าพิจารณาความหมายที่นักวิชาการนิยามไว้  ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด   มีคำเก่าแก่ที่เหมือนกันในแง่วิธีการ  คือ  “การฝึก”   (การเรียนรู้  หมายถึง เมื่อได้รู้ หรือลงมือทำ แล้วทำให้เกิดการความเข้าใจอย่างแท้จริง หรือมีผลเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ ความคิด จิตใจ  อารมณ์  พฤติกรรม บุคลิก วิถีชีวิต แสดงว่า เกิดการเรียนรู้แล้ว ) 
    
        ถ้าการเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีประสบการณ์จนเกิดความเข้าใจและตระหนักแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง   อย่างใดอย่างหนึ่งกับชีวิตตนเอง    เราจะเห็นว่าเพื่อนครูที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเด็ก หรือเพื่อนครูที่มีประสบการณ์ในการสอนมานาน  มักจะค้นพบในที่สุดว่า เด็กจะเข้าใจในสิ่งที่เรียน มักเกิดจาก “การฝึก” มากกว่า “การสอน หรือ การชี้แนะ”  แสดงว่า ครูเกิดการเรียนรู้แล้ว 
  
    เพื่อนครูต้องคิดจนยอมรับให้ได้ว่า  การศึกษาในปัจจุบัน  ควรเป็นการเรียนรู้ที่ได้จากการฝึกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ  มีขั้นตอนที่เชื่อถือหรือถูกต้อง   มิใช่จากการสอนหรืออธิบายชี้แนะในหนังสือเรียนเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา 

                     ถ้าเพื่อนครูมีความพร้อม  ๒  อย่างนี้แล้ว   ต่อไปผมจะเสนอแนวทางที่เพื่อนครูจะพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ   ๓  ขั้นตอน  (รายละเอียดอยู่ในตอนที่ ๓  ซึ่งจะเป็นตอนที่กล่าวถึงวิธีการ  ปัจจัยต่างๆ และรายละเอียดเชิงปฏิบัติ   พอที่เพื่อนครูจะนำไปเป็นแนวทางได้อย่างมีประสิทธิภาพบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น