วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

๒. การศึกษาที่แท้จริง


๒. การศึกษาที่แท้จริง 

  • คุณภาพการศึกษาที่เราอยากสร้างให้กับเด็ก  คือ  ความสามารถที่จะใช้สติปัญญา  เพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง บุคคล และสังคมที่เกี่ยวข้อง   แต่คุณภาพข้อนี้เป็นจุดอ่อนทางการศึกษาของเรามาโดยตลอด  ทำให้สังคมไทยส่วนมากอ่อนแอทางสติปัญญา    ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทย   ที่จะยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง   สร้างแต่นิสัยและพฤติกรรมพึ่งพาผู้อื่นมากกว่าที่จะพึ่งตนเอง    ดีที่สังคมไทย คนไทยยังมีหลักแนวคิดทางพระพุทธศาสนาอยู่บ้าง  จึงพอเอาตัวรอดได้                                                                                                                                     
  • นักการศึกษาในยุคปฏิรูปมักพูดกันมากกว่า  อัจฉริยภาพทางความคิดเป็นเป้าหมายสำคัญของคุณภาพการศึกษา  เป็นจุดหมายปลายทางที่หลักสูตรกำหนดเป็นมาตรฐานคุณภาพที่ทุกโรงเรียนต้องฝึกฝนให้เด็กมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์  มีวิจารณญาณ  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์   ซึ่งเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่สุดของคนเป็นครู   ทำอย่างไรเราถึงจะปลูกฝังสร้างสติปัญญาให้เกิดขึ้นในตัวเด็กๆได้                                                            
  • กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และวิจัยเป็นกระบวนการหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยให้เด็กของเราเติบโตด้านการศึกษา โดยการฝึกฝนให้เด็กรู้จักการเรียนรู้จากการสังเกตต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวของเขาเองและสิ่งแวดล้อมภายนอก   และอีกกระบวนหนึ่ง คือ กระบวนการทางพระพุทธศาสนา  โดยการฝึกให้เด็กรู้จักฝึกกาย ใจให้สงบนิ่ง  ตั้งใจดู และพิจารณาความรู้สึก อารมณ์  ความคิดที่เกิดในใจ  ซึ่งก็คือแนวทางของศีล  สมาธิ  ปัญญา นั่นเอง                                                                  
  • แต่ในโลกที่มีความรู้มากมาย  กว้างใหญ่  ไพศาลเหลือคณานับ  บทบาทใหม่ที่เราเป็นครูแห่งยุคสมัยต้องปรับเปลี่ยน คือ การฝึกวิธีหาความรู้ที่หลากหลายให้แก่เด็ก ๆ เพื่อให้เขามีความสามารถในการเรียนรู้ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที)  ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าไอที  จะเข้ามาแทนที่ครูไม่ได้  แต่จะช่วยให้ครูมีโอกาสเปลี่ยนวิธีสอนจากการบอกความรู้  ไปสู่การให้เด็กเป็นผู้แสวงหาความรู้ด้วยตัวเองได้มากขึ้น  นี่คือบทบาทอีกประการหนึ่งที่เราต้องพัฒนาขึ้น                                                                                         
  • โรงเรียนทั่วๆ ไปมักมองข้าม  และละเลยที่จะปลูกฝังให้เด็กๆ มีความรักความเมตตาต่อผู้อื่น และสรรพสิ่งรอบตัวได้อย่างแท้จริง  การปลูกฝังให้ความรักเจริญงอกงามในจิตใจ  ไม่สามารถทำได้ด้วยการบรรยายในชั้นเรียน  แต่ด้วยการจัดบรรยากาศ  การปฏิบัติต่อกัน  และกิจกรรมหลากหลาย  ให้เด็กได้ลงมือกระทำจริง  น้ำทุกหยดที่เด็ก ๆ  รดไปยังต้นไม้ที่เขารับผิดชอบ  คือปฏิบัติการแห่งความรักที่สำคัญมากทีเดียว  ขยะทุกชิ้นไม่เพียงแต่จะทำให้โรงเรียนสะอาดเท่านั้น  แต่มันหมายถึงจิตใจที่สามารถจะรักผู้อื่นด้วย
  • อีกสิ่งหนึ่งที่เพื่อนครู  ไม่ควรมองข้าม  คือ การฝึกฝนคุณลักษณะพื้นฐานที่จะช่วยให้เด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีพฤติกรรม  บุคลิกภาพที่เข้าได้ทุกสังคม   รวมทั้งการฝึกฝนให้เด็กมีทักษะพื้นฐานในการทำงานที่ช่วยให้สามารถประกอบการงานอาชีพพึ่งตนเองได้ในอนาคต     จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องปลูกฝังให้กับเด็ก  และไม่ควรหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบแต่อย่างใด                                          


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น