วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

๓. ปณิธานครูอุดมคติ


๓.       สร้างศรัทธา  อุดมการณ์  และปณิธานในการพัฒนาการเรียนรู้

             ถ้าเพื่อนครูสามารถสร้างศรัทธาให้กับตัวเองได้ตาม ๔  ข้อต่อไปนี้  ได้อย่างมั่นใจ และชัดเจน  แสดงว่า  เพื่อนครูมีอุดมการณ์และปณิธานที่จะพัฒนาการจัดการศึกษาของสังคมไทยให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพแล้ว                                                                                                                                                                                          
             ๑.     เพื่อนครูศรัทธาที่จะเป็น "ครูที่แท้จริง"  หรือยัง   ถ้าเพื่อนครูยังไม่เข้าใจคำว่า "ครู" อย่างแท้จริง  จะเหนื่อยง่าย  ท้อแท้ง่ายเมื่อเจอปัญหาและอุปสรรค  ไหนจะต้องเปลี่ยนความเชื่อ  ความคิด  ความเคยชินต่าง ๆ  รวมทั้งต้องไม่หวั่นไหวเวลาเจอคนคอยเสียดสี  เยาะเย้ย  พูดจาไม่ให้กำลังใจเป็นประจำ (ความหมายที่ดีที่สุดของคำว่า "ครู" คือความหมายที่พระพุทธศาสนาให้ไว้  : ครู  =  ผู้ฝึก)                                                                                                                                                                                                                                                                                      
             ๒.     เพื่อนครูมีความศรัทธาที่จะลงมือทำงานอันยิ่งใหญ่และเป็นคุณูปการยิ่งต่อสังคมหรือยัง   ถ้าเพื่อนครูมุ่งมั่นที่จะลงมือทำจริง  เพื่อนครูไม่ต้องอาศัยบุญวาสนาอะไร  เพียงแต่อาศัยสติปัญญา  คิดไตร่ตรองเป้าหมายที่เพื่อนครูจะทำเพื่อเด็กอย่างจริงใจเท่านี้ก็พอ                                                                                                                                                                                                                                                  
             ๓.     เพื่อนครูยอมรับว่าแท้จริงแล้วก็ต้องการความเจริญก้าวหน้าในอาชีพด้วยเหมือนกัน   เพื่อนครูอย่าพยายามคิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว  เรามักน้อย  สันโดษ  ไม่อยากมักใหญ่ใฝ่สูง  เพื่อนครูต้องใฝ่ฝันถึงความก้าวหน้า และการมีชื่อเสียงระดับชาติด้วย                                                                                                                                                                                                                                                                              
             ๔.     เพื่อนครูศรัทธาและตระหนักเห็นจริงแล้วว่า  ประเทศไทยของเราถึงเวลาแล้วที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในการจัดการศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู                                                                                                                                                  
            
             เพื่อนครูมี ๒ ทางเลือกที่ต้องตัดสินใจ   ทางแรกจะรอให้มีครูคนใดคนหนึ่ง หรือโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งลงมือก่อนแล้วคุณค่อยทำตามเขา   หรือทางที่สองเพื่อนครูจะลงมือทำด้วยตนเอง  โดยไม่ต้องรอให้มีใครมาบังคับหรือทำเป็นตัวอย่าง  ลงมือทำก่อนมันยาก  ต้องลองผิดลองถูก  สู้รอเลียนแบบคนอื่นไม่ได้สบายกว่าเยอะเลย  แต่คิดดูให้ดี  หากเราทำก่อน  เราก็สำเร็จก่อน  ผลสำเร็จก็จะตอบแทนเราก่อนด้วยความสุข  ความภูมิใจ ความอิ่มใจที่สามารถช่วยเหลือเยาวชนและสังคมให้มีคุณภาพขี้น  และผลพลอยได้ทางอื่น เช่น  เงินเดือนตำแหน่ง  ผลงานทางวิชาการ  เงินค่าวิทยฐานะ  สิ่งเหล่านี้จะเป็นของเราตามมาในที่สุด

                                                                  เพื่อนครูพร้อมแล้วใช่ไหมครับ

              เมื่อตกลงใจแน่นอนแล้ว         เราก็จะเริ่มเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามขั้นตอน ๓  ขั้น  ดังนี้

              ขั้นตอนที่   เพื่อนครูต้องเข้าใจเรื่องหลักสูตรอย่างถ่องแท้  เห็นความสำคัญของหลักสูตร  และสามารถเชื่อมโยงหลักสูตรไปสู่การจัดการเรียนรู้ของตัวเองได้ นั่นหมายถึงเพื่อนครูต้องรู้ว่า ถ้าเป้าหมายการศึกษา คือการเรียนรู้  หลักสูตรคืออะไร  และควรจะมีรูปแบบแบบใด   เพื่อนครูต้องสามารถวิเคราะห์หลักสูตรเพื่อนำไป กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (หลักสูตรแกนกลาง พ.ศ. ๒๕๕๑ เรียกว่า ตัวชี้วัด)  กำหนดสาระการเรียนรู้(เนื้อหา)  กำหนดหน่วยการเรียนรู้  กำหนดเวลาเรียน  กำหนดแนวการจัดการเรียนรู้  การวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในภาพรวมได้  (สังเกตไหมครับว่า  ถ้าการศึกษาคือการเรียนรู้  ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง/ตัวชี้วัด  จะเป็นตัวกำหนดสาระการเรียนรู้(เนื้อหา)   แต่ถ้าการศึกษาคือการมีความรู้   เนื้อหาจะสำคัญกว่าการมีจุดประสงค์การเรียน) 

              ขั้นตอนที่    เพื่อนครูต้องเน้นการจัดการเรียนรู้ ที่ "ฝึก" อย่างมีขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้เป็นระบบ โดยดำเนินการตั้งแต่วิเคราะห์ศักยภาพธรรมชาติผู้เรียน  วิเคราะห์ผลการทดสอบที่ผ่านมา  แล้วนำผลการวิเคราะห์มาสังเคราะห์กับผลการวิเคราะห์หลักสูตร  เพื่อนำไปวางแผนการสอนรายคาบ / ชั่วโมง  การหากิจกรรม หรือวิธีการ หรือแนวทางการจัดการเรียนรู้ต่างๆที่มีขั้นตอนการปฏิบัติตามธรรมชาติหรือจิตวิทยาการเรียนรู้  รวมทั้งการผลิต/การหาสื่อที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ที่นำมาฝึกผู้เรียนให้บรรลุตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ตามศักยภาพและสภาพจริงของนักเรียนที่เป็นอยู่ 

              ขั้นตอนที่    เพื่อนครูต้องสามารถประเมินหรือวัดผล การเรียนรู้  แต่สภาพปัจจุบันขั้นตอนนี้มีปัญหาในการปฏิบัติมาก   เพราะเพื่อนครูยังเคยชินต่อการวัดและประเมินความรู้ ความจำตามหนังสือที่ใช้เรียน   ซึ่งมักเป็นข้อสอบแบบปรนัย (ที่จัดว่าเป็นรูปแบบการวัดผลที่ด้อยคุณภาพ แต่มีประสิทธิภาพมาก)    การประเมินหรือวัดที่เพื่อนครูต้องทำ  คือ  การประเมินผลตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  หรือตัวชี้วัดจากการปฏิบัติจริงที่มีผลงานออกมาในลักษณะเป็นองค์รวมและบูรณาการจากชีวิตประจำวันจริงๆ     และที่ลืมไม่ได้คือเพื่อนครูต้องนำผลการวัดและประเมินไปวิจัย เพื่อปรับปรุงวิธีการการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพประสิทธิภาพในครั้งต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น