วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

๗. ครูที่โลกต้องการ


ข้อคิดทิ้งท้าย  ฝากไว้ให้เพื่อนครู

           จากประสบการณ์ยาวนานเกือบ ๒๕ ปีของการเป็นครูมัธยม  ช่วยร่างหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ๓ ครั้ง   อาจารย์ระดับอุดมศึกษา ๑๔ ปี  ผู้ประเมินคุณภาพการศึกษา(ภายนอก) ๗ ปี  และวิทยากรบรรยายมากกว่า ๒๐ ปี   ผมได้ข้อสรุป  เพื่อเสนอแนะต่อเพื่อนครู  ที่จะก้าวสู่การเป็นครูที่แท้จริง ๖ ประการดังนี้

            ประการแรก   เพื่อนครูจะเป็นครูที่แท้จริงได้  ต้องมองโลกตามความเป็นจริง (Assertive) คือเห็นเด็กเป็นเด็ก  ไม่ใช่ผู้ใหญ่ในร่างเด็กตัวเล็ก  ไม่คาดหวังว่าเขาจะรู้สึกผิดชอบชั่วดี  มีความรับผิดชอบเท่ากับผู้ใหญ่ที่เจริญเติบโตทางสติปัญญาแล้ว (ผู้ใหญ่สมัยนี้ส่วนมาก จิตใจอารมณ์ยังเหมือนเด็กน้อยๆอยู่เลย) และเด็กเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่รอเรามาช่วยพัฒนาศักยภาพ  ไม่ควรมีการชี้ถูก  ชี้ผิด กับเด็กแบบตายตัว  แต่ควรให้รู้ว่าถูก ผิด  ควร ไม่ควร  ขึ้นอยู่กับเป้าหมายชีวิตที่เราเลือกเดิน  หรือให้รู้ว่าทุกอย่างตัดสินที่กาลเทศะบุคคล

             เพื่อนครูไม่ต้องกลัวว่าสิ่งที่จะทำ หรือพัฒนาการเรียนรู้เป็นสิ่งผิด (เว้นแต่การไม่เข้าสอน)  ไม่ต้องกลัวใคร(ผู้อวดรู้ดี)ในโรงเรียนให้มากเกิน  ทั้งผู้บริหาร  หรือหัวหน้างานทางฝ่ายวิชาการทุกระดับที่ชอบบังคับให้เราต้องสอนตามที่เคยทำๆกันมา เพราะกฎหมายทางการศึกษา เช่น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  หลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ  ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการ  ระเบียบการส่งผลงานเลื่อนวิทยฐานะครู   ล้วนแต่ส่งเสริมให้ครูคิดค้นหาวิธีการสอนที่ดีๆ ใหม่ๆ  เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพในจัดการศึกษาทั้งนั้น  

            เมื่อเพื่อนครูกล้าคิด  กล้าทดลอง  กล้าเปลี่ยนแปลง  การสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้จึงจะเกิดขึ้น  มิฉะนั้น  เพื่อนครูก็จะได้วิธีการเดิม ๆ  ที่ล้าหลัง  และไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกขณะ  สิ่งที่เหมาะในอดีต  อาจจะเป็นอุปสรรคและปัญหาในปัจจุบันก็ได้ 

           ความเชื่อมั่น  และความตั้งใจที่จะช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างจริงจัง  จะช่วยให้เพื่อนครูมีจินตนาการในการออกแบบการจัดการเรียนรู้  หรือคิดสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆเสมอ   

            ประการที่    ครูที่แท้จริงต้องสามารถจัดระบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้กับเด็กทุกคนได้   ดังนั้น การรู้จักวิเคราะห์ผู้เรียนจากข้อมูลต่าง ๆ จึงเป็นภารกิจสำคัญมากของครูที่แท้จริง  เด็กบางคนเรียนรู้บางเรื่องได้ด้วยตนเอง  สามารถคิดวิเคราะห์ หรือจัดลำดับความคิดก็เข้าใจแล้ว   เด็กบางคนจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อทำพร้อมกับเพื่อน ๆ  บางคนก็ชอบเรียนคนเดียว   เด็กบางคนเรียนรู้ได้ดีจากสื่อ  เด็กบางคนก็อาจต้องเรียนรู้จากการทำ  แต่ครูสุดยอดที่แท้จริง จะเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้จากการทำกิจกรรม หรืองานที่เขาต้องออกแบบวางแผนเอง  ลงมือทำเอง  แก้ปัญหาเอง  สรุปทบทวนบทเรียนปัญหาเอง

            ประการที่    แผนการจัดการเรียนรู้ของครูที่แท้จริง จะต้องยึดหยุ่นสำหรับสถานการณ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้  เพราะนักเรียนของเราเป็นมนุษย์ไม่ใช่วัตถุที่ไร้ชีวิตชีวา  การเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ได้วางแผนไว้ทันที  แผนการเรียนที่ยืดหยุ่น”  มีความหมายเสมือนหนึ่ง คือ โอกาสทางการเรียนรู้  ที่มาบรรจบกับความต้องการของผู้เรียน และสัมพันธ์กับผลลัพธ์หรือมาตรฐานการเรียนรู้ของสังคมได้

            ประการที่    ครูที่แท้จริงต้องสามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในการเรียนรู้น่าสนใจ  มีชีวิตชีวา  มีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ  ลดข้อผิดพลาดเล็ก ๆ  น้อย ๆ  ที่อาจทำให้เด็กมีความทุกข์  ในชั้นเรียนและมีทัศนะไม่ดีต่อการจัดการเรียนรู้ของครู   การจัดกิจกรรมการเรียนรู้  แบบเรียนปนเล่น  (Play  and  Learn)  นอกจากจะสนุก  สร้างบรรยากาศที่ดีในห้องเรียนแล้ว  ยังทำให้เกิดการผ่อนคลายแก่ทุกคน  เด็ก ๆ  จะอยากมาโรงเรียน  ไม่หนีเรียน

            สื่อการเรียนรู้ช่วยสร้างสีสันความน่าสนใจ เป็นเครื่องผ่อนแรงทำให้ง่าย คล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น   แบบฝึกหัดหรือใบงาน  ซึ่งเป็นตัวแทนเป้าหมายขั้นตอนวิธีการสอนของครู  ในการมอบหมายกิจกรรมการเรียนรู้แก่นักเรียน  ต้องทำให้สวยงามมีสีสัน  ดึงดูดความสนใจ มีกระบวนการขั้นตอนตามลำดับการเรียนรู้  อย่าสักแต่ทำให้เสร็จมันจะกลายเป็นใบรำคาญ  ของนักเรียน

             การมอบการบ้าน  ควรยืดหยุ่นให้เด็กทำได้เต็มตามศักยภาพ  แต่ไม่ควรมากจนเป็นภาระหนักเกินวัยเด็ก  ถ้าสามารถบูรณาการกับวิชาอื่น ๆ   หรือตกลงกันทั้งโรงเรียนเรื่องการบ้านของนักเรียน  โรงเรียนที่ผมเคยรับผิดชอบบริหารจัดการ   ระดับประถมศึกษา  ผมจะให้วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษมีการบ้านทุกวัน   วิชาภาษาไทยให้มีการบ้านสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง  วิชาวิทยาศาสตร์ให้มีการบ้าน ๒ สัปดาห์ครั้ง  ส่วนวิชาอื่นๆผมให้มีการบ้านได้เพียงเดือนละ ๑ ครั้ง  ส่วนในระดับมัธยม  ผมให้วิชาวิทยาศาสตร์สั่งการบ้านเพิ่มได้ทุกสัปดาห์ ซึ่งวิธีนี้จะลดภาระงานของเด็กลงได้มาก  ไม่เดือดร้อนผู้ปกครองมากนักที่ต้องมาช่วยลูกหลานทำงานส่งครู  โดยเฉพาะวิชาการงานฯ และศิลปะ   (ที่ให้ภาษาไทยสัปดาห์ละครั้ง  เพราะวิชาภาษาไทยมีเรียนสัปดาห์ละ ๖ ชั่วโมง ทุกชั่วโมงมีการเรียนรู้ตามทักษะทางภาษา  และชั่วโมงสุดท้ายให้มีการทดสอบหน่วยนั้นๆทันที  การบ้านวิชาภาษาไทย  คือให้ไปอ่านหนังสือในวันเสาร์อาทิตย์  เรื่องอะไรก็ได้  แล้วสรุปย่อส่งครูในวันจันทร์  วิธีนี้ทำให้นักเรียนมีความสามารถทางภาษาเพิ่มขึ้น  และยังส่งเสริมการอ่านตามโครงการนโยบายกระทรวงอีกทางหนึ่ง)

             ประการที่    ครูที่แท้จริงต้องทำให้การเรียนรู้...เกิดจากความเมตตา...ด้วยใจปรารถนาดี.....  นั่นคือการใช้ความรัก  ความเข้าใจ  ความเมตตา  เป็นพื้นฐานในความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน  การสอนด้วยความรักและเมตตา    จะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของการศึกษาที่ทำให้เกิดการเรียนรู้     โดยเพื่อนครูที่หวังจะเป็นครูผู้จัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพควรถือปฏิบัติ ดังนี้
                 ๕.๑  เอาใจใส่ไต่ถามห่วงใยต่อนักเรียน  ทั้งในและนอกห้องเรียน
                 ๕.๒  ยอมรับว่านักเรียนแต่ละคน คือคนที่สามารถพัฒนาศักยภาพได้ และเป็นคนใฝ่ดี
                 ๕.๓  ให้ความสนใจอย่างจริงจังกับปัญหา  และคำถามของนักเรียน 
                 ๕.๔  ยอมรับความเป็นคน  และความแตกต่างของนักเรียน
                 ๕.๕  ให้เสรีภาพในการตัดสินใจเลือกเองในการทำกิจกรรมอย่างมีเหตุผล
                 ๕.๖  ไม่ควรสรุปว่า  นักเรียนเป็นคนไม่ดี (เลว)  ไม่มีความสามารถ (โง่)  ไม่น่าคบ (ขี้เกียจ)  และไม่น่ารัก (เหลวไหล)

              ประการสุดท้าย  ผมขอเรียนว่า  ครูที่แท้จริงระดับไหนก็ไม่สามารถขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนทั้งโรงเรียนให้สำเร็จโดยตัวคนเดียวได้   ถ้าพอเห็นว่าทั้งโรงเรียนคิดอย่างเดียวกัน    มีเอกภาพทั้งเป้าหมายและวิธีการเหมือนกัน  ก็ลงมือเลย  ถือว่าเพื่อนครูโชคดีมากที่เจอโรงเรียนในฝันอย่างนี้   แต่ถ้าพุดก็แล้ว  นำเสนอก็แล้ว  ชักชวนแล้ว  มีคนทำบ้าง  ก็อย่าท้อใจ  แอบลงมือทำตามความต้องการเลยครับ  ไม่ช้าผลดีก็จะเห็นเป็นที่ประจักษ์เอง   ดูอย่างคุณครูชาตรี  สำราญ กว่าทั้งโรงเรียนจะเห็นด้วย  ใช้เวลานานมาก    แต่อย่าหาเรื่องทุกข์ด้วยการไปคาดหวังให้ครูทั้งหมดทำตามเลยครับ   เพราะประสบการณ์ในชีวิตครูของผม  ผมสามารถจำแนกครูได้ ดังนี้

              แย่ที่สุด  คือ ครูยถากรรม  พวกนี้มีอาชีพมาทำงานในโรงเรียน พวกนี้จะมาแต่ร่างกาย  ลืมเอาจิตวิญญาณความรักเพื่อนมนุษย์มาด้วย  การเรียนของนักเรียนจึงเป็นไปตามยถากรรม   จึงต้องทำใจปลงว่า เพราะกรรมที่ชาวบ้าน และนักเรียนสร้างมาในทางที่ไม่ดี  จึงทำให้มาเจอคนประเภทนี้มาบรรจุที่โรงเรียนชุมชนของเด็ก    

                  แย่มาก  คือ  ครูผู้คุมเรือนจำ  พวกนี้ชอบเห็นเด็กเป็นเทวดา  ต้องไม่ทำความผิดอะไรเลย  ถ้าผิดหรือพลาดขึ้นมา  จะถือเป็นเรื่องใหญ่โตขนาดคอขาดบาดตายได้  จึงดีแต่คอยบ่น  คอยด่า คอยเข้มงวด กวดขัน คอยจับผิดไม่วางตา  (แต่พวกที่เรียกตัวเองว่า ครู”  ก็แอบทำความชั่วร้ายไม่ใช่น้อยทีเดียว) 

              ปานกลาง  คือ  ครูอ่านหนังสือ พวกนี้ชอบอธิบายความรู้ตามหนังสือเรียน บางทีก็ไม่จำเป็น  แต่ก็ยังเห็นส่วนมากทำกันเป็นกิจวัตรประจำวัน (พวกนี้ไม่ยอมเข้าใจ และรับรู้ว่าหนังสือแบบเรียน คือ สื่อ ไม่ใช่หลักสูตร) ผมถือว่าพวกนี้เสมือนหนึ่ง  รุ่นพี่สอนรุ่นน้องเท่านั้น  (บางทีรุ่นพี่ยังอธิบายดีกว่าผู้ที่เรียกตัวเองว่าครูก็มีไม่ใช่น้อย)

              ดีพอใช้  คือ ครูผู้สอน  พวกนี้ชอบอธิบายแนะนำให้เห็นชัดเจน  มีการยกตัวอย่างประกอบ หรือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และคอยเคี่ยวเข็ญให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมอย่างจริงจัง  จนกว่านักเรียนจะรู้จริงหรือทำได้ 

              ดีมาก  คือ ครูผู้ฝึก พวกนี้มักคิดว่าการสอนที่ดีต้องให้นักเรียนได้ลงมือฝึกฝนปฏิบัติตามหลักการ และขั้นตอนของการเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ มีเทคนิควิธีการสอนที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ (จิตวิทยา) ผมยกย่องครูเหล่านี้  และผมใฝ่ฝันอยากเห็นผู้ที่รับอาสามาฝึกคนมีทัศนคติและการกระทำอย่างนี้  แต่...หายาก   

               ดีที่สุด คือ ครูผู้จัดการเรียนรู้ ครูพวกนี้มักมีบทบาท ๒ อย่าง คือ    ๑. มักสั่งให้นักเรียนทำกิจกรรมโดยมีเงื่อนไขและเป้าหมายผลลัพธ์ที่ชัดเจน          ๒. จะประเมินผลจากผลลัพธ์  กระบวนการทำกิจกรรม และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างทำกิจกรรมหรือจบกิจกรรม    โดยการซักไซ้ไล่เรียงการทำกิจกรรมทุกขั้นตอน   ถ้านักเรียนทำไม่ได้หรือตอบไม่ได้  ก็จะให้นักเรียนไปทำใหม่จนกว่าจะทำได้       แต่.....ครูพวกนี้ต้องแอบใฝ่รู้  ใฝ่หาสื่อ กิจกรรม ทุน (บางครั้งต้องควักกระเป๋าตัวเอง) มาให้นักเรียนได้ลงมือทำ    เพราะจะหาผู้บริหารโรงเรียน  หรือปู้บริหารระดับจังหวัดมาสนับสนุนนั้นเป็นเรื่องยากมาก  โดยเฉพาะประเทศไทยคงต้องงมเข็มในมหาสมุทร    (ส่วนสหรัฐอเมริกามีแล้วมากมาย  แต่ที่ดังมาก คือ ครูเรฟ  ผู้ที่สนใจลองหาหนังสือ "ครูนอกกรอบ  ห้องเรียนนอกแบบ" มีการแปลและจัดพิมพ์เผยแพร่โดย สสค.)

                   ผมหวังว่า  ครูผู้จัดการเรียนรู้คงงอกเงยผลิดอกออกใบบ้างในสังคมไทย  และผมหวังว่าเมื่อมีครูผู้จัดการเรียนรู้เกิดขึ้น  สังคมไทยจะเป็นสังคมที่ใช้เหตุผล จากหลักการ แนวคิดตามหลักสัจธรรมของธรรมชาติมาใช้ในการดำเนินชีวิต  ไม่ใช่ใช้แต่เหตุผลจากความรู้สึก  อารมณ์ชอบไม่ชอบของตัวเอง  ดังเช่นคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยุคปัจจุบันเป็นอยู่  ที่อยู่ดีๆ ก็แบ่งชนชั้น  ดูถูกประชาชน   ๒ มาตรฐาน   พวกตัวเองทำผิดสารพัดผิดไม่เป็นไร   ถ้าอีกพวกหนึ่งทำเหมือนกันบ้าง   ต้องผิด ต้องเลว  ต้องฆ่าฟันให้ตายเสียให้หมด   

                   เฮ้อ! สงสารสังคมไทย  ที่บรรพบุรุษอุตส่าห์ใช้พระพุทธศาสนากล่อมเกลาจิตใจคนในชาติ  จนกลายเป็นคนที่มีจิตใจ ไม่เห็นแก่ตัว  ยอมรับความจริง  ไม่หลงตัวตน   มีเมตตากรุณารักคนทั้งโลก   จึงทำให้ชาติไทย  คนไทยในอดีตโดดเด่นเรื่อง จิตใจ  ซึ่งปรากฏบนใบหน้าที่มีแต่รอยยิ้ม  จริงใจไม่เสแสร้ง   เห็นคนทุกชาติในโลกเป็นคนเสมอ   แต่ปัจจุบันกลายเป็นสังคมที่มีแต่ความเกลียดชัง  โกรธแค้น  ผูกอาฆาตมาดร้าย  เหลวไหล   เห็นบางชาติ  บางคนเป็นเทวดา  และมีแต่การกล่อมเกลาความคิดให้คนในชาติอยากได้แต่คนดีมาปกครองประเทศ   เรียกร้องใฝ่หาอยากได้คนดีมาเป็นพ่อ  แม่ พี่น้อง  ครู เพื่อน  คู่ครอง  ยกเว้นตัวเองไม่ต้องเป็นคนดี  เพราะคนอื่นต้องดีต่อฉัน  (พวกดีแต่วิ่งหารักแท้   เพราะเข้าใจว่า รักแท้”  คือคนที่มารักตนเอง   ต้องตามใจตนเอง  ไม่ขัดใจตนเอง   ก็ลองดูเด็กทุกวันนี้  พอขัดใจหน่อย  ดุ  ตำหนินิดหน่อย   แกบอกว่าพ่อแม่ไม่รักแกแล้ว) 

                  ในทัศนะผม   เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ และสังคมไทยต้องได้รับการเรียนรู้ที่เจ็บปวดอีกนาน  เพราะคนไทยสังคมไทยยังยึดติดกับเรื่องคนดี  ๓ เรื่อง ด้วยกัน 
                  เรื่องที่ ๑  การแสวงหาคนดีสมบูรณ์แบบ  ที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในโลกความจริง    
                  เรื่องที่ ๒  อยากให้คนดีคนนั้นเป็นคนดีตลอดไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง    
                  เรื่องที่ ๓  อยากให้ทุกคนเป็นดี  โดยใช้กลยุทธ์  วิธีการแบบง่ายๆ เช่น สอน ว่า  ชี้แนะ บ่นก็พอ  ถ้าไม่มีใครเปลี่ยนก้กล่าวหาว่าคนๆนั้น  ไม่มีจิตสำนึกที่ดี  (แบบเดียวกับที่พวกครูทำกันหน้าเสาธงทุกวันนี่แหละ)  ไม่ต้องไปฝึกฝนควบคุมจิตใจ    หรือมีกระบวนการพัฒนาให้วุ่นวาย       

                 อย่างนี้แล้วสังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร  เพราะมีมิจฉาทิฏฐิเรื่องคนเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด   นี่ยังดีว่า  สังคมไทยยังมีหลวงปูหลวงพ่อสายปฏิบัติออกมาอบรมสั่งสอนชี้แนะทางที่ถูก  ให้ละคลายอัตตาลงบ้าง  ปัญหาเมืองไทยจึงไม่มากและยาวนานเหมือนบางประเทศ      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น