วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

๖. ประเมินตามสภาพจริง ช่วยครูมีคุณภาพ


การประเมินผลการเรียนรู้  ต้องประเมินตามเป้าหมายหรือตัวชี้วัด

           การประเมินผลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ  เพราะเป็นตัวตัดสิน  หรือชี้ให้เราเห็นว่า  สิ่งที่เราทำลงไปนั้น   บัดนี้ได้บรรลุผลเพียงใด  ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว   แต่การวัดผลประเมินผลการเรียนปัจจุบันในสถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถตัดสินคุณภาพอะไรได้เลย   ซึ่งผลการทดสอบแห่งชาติ (O-net) เป็นประจักษ์พยานได้  แม้นักเรียนจะมีผลทางการเรียนสูงมากในโรงเรียน  แต่ผลการทดสอบแห่งชาติกลับตกต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน  บางวิชาคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ก็มี    ปัญหาเรื่องนี้มีหลายสาเหตุอยู่หลายประการ   ผมจึงเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ตามสาเหตุ  คือ

            .  ครูส่วนใหญ่วัดความรู้  ไม่ได้วัดจากการเรียนรู้   ทั้งนี้เพราะการจัดการเรียนรู้ของครูส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายการศึกษา หรือตามหลักสูตร  หรือตามตัวชี้วัดการเรียนรู้   ทำให้เวลาวัดและประเมินผล มักจะวัดจากการจดจำเนื้อหาความรู้ในหนังสือแบบเรียนที่ครูใช้สอนอยู่ในโรงเรียนนั้นๆ     ซึ่งการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่มีคุณภาพจริงๆ  ต้องมุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย หรือผลลัพธ์ที่สังคมต้องการ   โดยเป้าหมายหรือผลการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้จริง   เกิดจากพื้นฐาน ๓ ประการ ดังนี้

                ๑. อะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าที่ครู หรือโรงเรียนต้องการ (เป้าหมาย)
                ๒. อะไรคือพยานหลักฐานของความสำเร็จ (ผลงานที่ผ่านเกณฑ์ /เงื่อนไข /ความพอใจฯ) 
                ๓. อะไรคือสิ่งที่จะทำให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ ความเข้าใจ ความสนใจ และความยอดเยี่ยมในผลงานนั้นๆ  (กิจกรรมการเรียนรู้ / แหล่งศึกษาค้นคว้า / สื่อการเรียนรู้)

            ดังนั้น การวัดประเมินผลการเรียนรู้ จะวัดจากว่าผู้เรียนทำกิจกรรมต่างๆ จนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมาย หรือมาตรฐานการเรียนรู้หรือยัง (Output) และการเรียนรู้นั้นมีระดับคุณภาพขนาดไหน (Performances) จนนำไปสู่ผลงานที่ดี (Outcome) หรือ หลักฐานประจักษ์พยานแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนพึงพอใจนั้นๆ (Impact) 

            .  การวัดผลประเมินผลไม่สอดคล้องกับสภาพจริงตามธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์  การวัดผลประเมินผลที่ดี ก็คือ การประเมินผลเชิงประจักษ์  ซึ่งเป็นการประเมินตามสภาพจริงของชีวิตจริงและธรรมชาติของสังคม  ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า  คนเป็นครูที่แท้จริงมักทำอยู่แล้วและทำเป็นประจำ  แต่ไม่รู้ตัวเองเท่านั้น  เพียงแต่เปลี่ยนจากการประเมินที่เน้นวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยข้อสอบ และตัดสินด้วยคะแนน   มาเป็นวิธีการใช้วิธีดูจากผลงาน  การนำเสนอ  การปฏิบัติ  พฤติกรรม  บุคลิก ลักษณะ และอีกหลายๆ วิธีตามเงื่อนไขการเรียนรู้ และเกณฑ์ (Rubric) อย่างเป็นระบบ โดยมีหลักฐานชัดเจน  
       
           ทั้งนี้   การประเมินผลตามสภาพจริงเชิงประจักษ์      ต้องเป็นการประเมินไปตามเป้าหมายและเงื่อนไขในลักษณะองค์รวมและบูรณาการจากชีวิตจริง     ตัวอย่างเช่น  วิชาพืชสวน (กล้วย)   ให้เพื่อนครูลองพิจาณาดูว่าข้อไหนเป็นเป้าหมาย  หรือจุดประสงค์   ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  หรือ ตัวชี้วัดที่ดีในการจัดการเรียนรู้
          ๑)  เพื่อให้นักเรียนมีความรู้  ความเข้าใจการปลูกต้นกล้วย
          ๒)  เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการปลูกต้นกล้วย
          ๓)  เพื่อให้นักเรียนปลูกต้นกล้วยได้ และนำไปใช้ในชีวิตได้
          ๔)  เพื่อให้นักเรียนสามารถแปรรูปหรือจำหน่ายผลิตผล จากต้นกล้วยที่นักเรียนปลูกได้

          ถ้าเพื่อนครูเห็นว่า ข้อ ๔)    เป็นเป้าหมายการจัดการเรียนรู้ที่ดี     ถือว่าเพื่อนครูเข้าใจเรื่องการจัดการเรียนรู้บ้างแล้ว  จะเห็นว่า ข้อ ๔)  ครอบคลุมทั้ง ๓ ข้อแรก  และนอกจากนั้นยังครอบคลุมไปถึงการดูแลรักษาระหว่างเติบโต  ความรู้  ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการผลผลิตของตนเองอีกด้วย  ถือว่า ข้อ ๔) เป็นเป้าหมายที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงซึ่งเป็นไปในลักษณะองค์รวมและบูรณาการชีวิตจริง

           การประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริงเชิงประจักษ์  มีรายละเอียดในการดำเนินการ ดังนี้   
  • ตัวชี้วัดการเรียนรู้ต้องชัดเจนระบุรายละเอียดครบทั้งเป้าหมาย เกณฑ์ เงื่อนไขความสำเร็จ และกิจกรรมการเรียนรู้
  • ตัวชี้วัดการเรียนรู้ที่ดี  ต้องประเมินได้หลายอย่าง (หลายมิติ) ในงานชิ้นเดียวกัน เช่น สามารถประเมินความรู้ได้หลายวิชา  ประเมินคุณลักษณะ และผลการปฏิบัติงานของนักเรียน เจตคติ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความสามารถ ทักษะการเรียนรู้ทักษะการปฏิบัติ  และประเมินกระบวนการทำงาน ฯลฯ
  • ต้องประเมินให้เห็นว่าได้ลงมือปฏิบัติจริง หรือรู้จริง  เข้าใจจริงจากแหล่งและข้อมูลที่หลากหลาย เช่น จากผลงานกิจกรรมที่ทำ แบบทดสอบ แบบบันทึกการปฏิบัติงาน โครงงาน แฟ้มสะสมงาน บันทึก ความรู้สึก รายงาน  รูปถ่าย  หลักฐานต่างๆ   ฯลฯ เป็นต้น 
  • จะให้การประเมินน่าเชื่อถือ  ทุกคนยอมรับ และเป็นการประเมินที่สะท้อนผลการเรียนรู้จริง ก่อนที่ครูจะตัดสินให้คะแนน  หรือจัดระดับ  ให้น้ำหนัก  ครูต้องใช้หลายๆ วิธีมาประเมินประกอบด้วย  เช่น การสังเกต  การสอบถาม  การสัมภาษณ์  การตรวจสอบ  การทดสอบ  การปฏิบัติจริง  การแข่งขัน  โดยอาจจะใช้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น  ตัวนักเรียน  เพื่อนนักเรียน  นักเรียนรุ่นพี่  หรือผู้ปกครอง มามีส่วนร่วมด้วย  ไม่ใช่นำมาจากผลการตัดสินของครูแต่เพียงผู้เดียวเหมือนการวัดผลแบบเดิมๆ
  • ต้องมีการประเมินภาพรวมวิชา  ๒ ครั้ง คือ ประเมินก่อนเรียน และหลังเรียน  และต้องประเมินไปตามตัวชี้วัดการเรียนรู้เมื่อเสร็จสิ้นแต่ละกิจกรรม  หรือทุกแผน  หรือทุกหน่วยการเรียนรู้


         หากเรายอมเหนื่อยและลงมือปฏิบัติจริงทีละหน่วย/แผน  ในช่วงปีแรก ๆ  เราจะทำได้ง่ายขึ้นและเบาแรงได้ในภายหลังตามลำดับ   เราจะมองเห็นแนวทางในการประเมินชัดเจนขึ้น   เครื่องมือประเมินที่ค่อยๆสร้างและสะสมไว้จะมากขึ้น  สามารถนำไปใช้ในโอกาสต่อไปได้  งานสร้างเครื่องมือจะลดลง การประเมินตามสภาพจริงเชิงประจักษ์ของครูก็จะมีประสิทธิภาพขึ้นตลอดเวลา

         . การประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง  มีผลดีทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จริง มีทักษะและความสามารถอย่างแท้จริง   ถ้าเพื่อนครูช่วยกันประเมินการเรียนรู้ตามสภาพจริง  จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในทุกระดับ     ในสภาพวิกฤตทางคุณภาพการศึกษาของชาติในขณะนี้  การให้ความสำคัญต่อการประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริงเชิงประจักษ์  จะช่วยให้ครูและโรงเรียนรู้ปัญหาในการจัดการเรียนรู้  ได้รู้จุดอ่อนที่แท้จริงที่ต้องแก้ไขได้ถูกต้องตรงประเด็น   ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตคุณภาพการศึกษาของไทยได้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น