วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ไหว้ครู


ไหว้ครู


เปิดภาคเรียนปีการศึกษาใหม่แล้ว   ว่าจะเขียนถึงการจัดการศึกษาอย่างไรให้มีคุณภาพ  และมีประสิทธิภาพ   หรือเป็นประเภททำนองว่าจัดการศึกษาอย่างไรจึงประสบผลล้มเหลวก่อน   แต่นึกไปนึกมาเห็นว่าควรปรารภถึงพิธีไหว้ครูก่อน   เพราะอีกไม่กี่สัปดาห์ทุกโรงเรียนก็จะจัดกิจกรรมนี้ขึ้น   และถือว่าเป็นการไหว้ครูในปีการศึกษา 2555 นี้ด้วยคน   

พิธีการไหว้ครูของโรงเรียนทั่วไปในปัจจุบัน   ดูๆ ไปเหมือนจะไม่ได้ทำเพื่อการระลึกถึงคุณงามความดีของครูด้วยใจอย่างจริงจัง  แต่คล้ายๆ จะเป็นการทำพิธีเพื่อให้เป็นกิจกรรมการสวดอ้อนวอน  ขอพรจากครู      ดังที่ครูส่วนมากชอบแนะนำว่า  ถ้าไหว้ครูในวันนี้แล้วจะได้มีปัญญาแหลมคมเหมือนดอกเข็ม   มีความรู้มากเหมือนมะเขือ   แตกฉานเหมือนหญ้าแพรกตามดอกไม้ที่นำมาไหว้  เหมือนครูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ไหว้แล้วจะได้ผลดีต่างๆ ทำนองนั้น    เท่านั้นยังไม่เป็นไร   แต่พิธีการไหว้ครูบางโรงเรียน  กลับทำพิธีกันเล่นๆ สักแต่ว่าขอให้มีพิธีไหว้ครูกับเขาบ้าง  แต่ถ้ามองจากสายตาคนภายนอกที่ยืนมองจะเหมือนไปดูการเล่นลิเก   การเล่นลิงหลอกเจ้าไปเสียมากกว่า        

ในประเทศทั่วโลกทั้งหมด เห็นจะมีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีการประกอบพิธีไหว้ครู  พิธีไหว้ครูของคนไทยจึงเป็นทั้งเอกลักษณ์(สมัยนี้เรียกอัตลักษณ์)  วัฒนธรรม และประเพณี   แสดงถึงจิตใจของคนไทยที่งดงาม  แสดงออกโดยการรู้จักกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ อ่อนน้อมถ่อมตน การระลึกถึงพระคุณของครูที่ท่านได้ทำไว้แม้แค่การทักทายทำความเคารพก็ถือว่าตอบแทนท่านแล้ว   ยิ่งได้ประกอบกิจกระทำพิธีไหว้ครูอย่างจริงจัง  ถือได้ว่าได้บุคคลผู้นั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ  เป็นเวไนยสัตว์ที่สมควรได้รับการพัฒนาทั้งทางสติปัญญาและจิตใจให้สูงยิ่งขึ้นไปด้วยความเต็มใจของคนเป็นครู

บางคนอาจจะช่างคิด ช่างสงสัยถามว่า ทำไมเราต้องมาทำพิธีไหว้ครู  ไม่เห็นมีชาติไหน  ประเทศไหนมีการไหว้ครู  และแม้แต่ชาติไทยก็มีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้นที่มีพิธีเป็นกิจจะลักษณะ ไม่เห็นจะมีการทำพิธีไหว้บุคคลอื่นๆ บ้างเลย   ถ้าจะตอบก็ต้องบอกว่าท่านมีพระคุณยิ่งต่อพวกเราที่เป็นศิษย์น่ะสิ   ตอบแบบนี้ก็ต้องมีคนแย้งว่า  แล้วบุคคลอื่นๆ เช่น พ่อแม่ พระเจ้าแผ่นดิน ฯลฯ ไม่มีพระคุณเท่าเทียมครูเลยหรือ ก็คงต้องตอบต่อไปว่า  ทุกท่านที่เอ่ยนามมาต่างก็มีคุณงามความดีต่อพวกเราทั้งนั้น 

แต่ครูมีพระคุณยิ่งใหญ่กว่าบุคคลทุกท่าน  แม้แต่กษัตริย์  หรือพ่อแม่ของแต่ละคนก็เปรียบไม่ได้  เพราะถึงแม้พ่อแม่จะมีคุณงามความดีมากมาย  ทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจให้กับลูก เสียสละทุกอย่างเพื่อเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่อย่างดี   แต่นั่นก็เป็นการทำเฉพาะลูกของตนเองเท่านั้น  ไม่ได้เผื่อแผ่ความดีงามอย่างนี้ไปยังบุคคลอื่นด้วย  หมายความว่ารักเฉพาะลูกของของตนเองเท่านั้น  พ่อแม่จึงถือว่ามีบุญคุณยิ่งใหญ่ที่ให้กำเนิดเรามา ได้เฝ้าเลี้ยงดูเราให้เติบใหญ่ ให้อาหารเครื่องนุ่งห่ม เงินทอง จึงเรียกได้ว่ายิ่งใหญ่ในด้านความรัก  ความเอาใจใส่เอื้ออาทรโดยไม่มีใครมาเทียบเทียมได้ ส่วนพระมหากษัตริย์ท่านก็ทำเฉพาะบ้านเมืองของท่าน  คอยพัฒนาช่วยเหลือคนในแผ่นดินของท่าน  และบางครั้งก็ต้องทำสงครามกับเพื่อนบ้าน เพื่อปกป้องไม่ให้เพื่อนบ้านมารังแก  เรียกว่ายิ่งใหญ่ในด้านความเสียสละแก่ส่วนรวม  เป็นต้น   

ส่วนครู (คนเป็นครูที่แท้จริงนะ คนที่ทำงานอาชีพครูในโรงเรียนไม่เกี่ยว) นั้นท่านเอาใจใส่  ให้ความรักแก่ศิษย์ทุกคน ไม่เกี่ยงว่าเป็นใคร ฐานะอย่างไร  สูงศักดิ์ยากดีมีจน ท่านช่วยเหลือ ฝึกฝน อบรม บ่มเพาะ ขัดเกลาอย่างเสมอภาค  โดยไม่มีข้อรังเกียจใดๆ  ท่านทำหน้าที่ด้วยสติปัญญา  อดทนต่อความไร้เดียงสาของศิษย์ รวมทั้งผู้ปกครองที่ไร้เดียงสาด้วย บางครั้งก็ต้องทุ่มเท อุทิศตัวเอง  เสียสละทั้งความสุขส่วนตัวและครอบครัว และบางครั้งก็ต้องเสียสละทรัพย์สินเงินทองเพื่อความเจริญก้าวหน้าของศิษย์อีกด้วย  โบราณจึงสรรเสริญพระคุณครูไว้ ดังนี้
              คุณแม่หนาหนักเพี้ยง         พสุธา
        คุณบิดรดุจอา-                       กาศกว้าง
        คุณพี่พ่างศิขรา                      เมรุมาศ
        คุณพระอาจารย์อ้าง                 อาจสู้สาคร ฯ

การไหว้ครูในโบราณ  หมายถึง  การทำพิธีมอบตัวเป็นศิษย์   ซึ่งจะต้องเตรียมหาดอกไม้  3 ชนิด คือ ดอกเข็ม ดอกมะเขือ และหญ้าแพรก พร้อมทั้งธูปเทียนจัดเป็นกรวยกระทง หรือจะจัดเป็นธูปเทียนแพแบบไหว้พระอุปัชฌาย์ก็ได้  สมัยโบราณยังมีข้าวตอก ผ้าขาวพับสาม และเงิน(เท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่ฐานะของศิษย์)  ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงดอกไม้ 3 ชนิด (ส่วนข้าวตอก และผ้าขาวพับสามนั้น ท่านผู้อ่านลองวิเคราะห์ดูเองบ้าง  เผื่อจะมีมุมมองแปลกใหม่)  เพราะคนสมัยโบราณท่านนำเปรียบเทียบกับคุณงามความดีของครูกับพืช 3 ชนิด  ดังนี้

            1. ดอกเข็ม เป็นตัวแทนความรัก ความเอาใจใส่ของครูที่คอยแนะนำพร่ำสอน ฝึกฝน อบรม บ่มเพาะจริยธรรม คุณธรรมในการดำเนินชีวิต  ขัดเกลานิสัย ใจคอ และพฤติกรรมให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ  หนักแน่น  ไม่เปลี่ยนแปลง แปรผัน ไปตามกาลเวลาหรือเหตุการณ์ต่างๆ ไม่มีอคติต่อศิษย์คนใดคนหนึ่ง ประดุจต้นเข็มที่มั่นคงไม่ตายง่ายในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ     และคนเป็นครูต้องอดทนวันแล้ววันเล่าในการฝึกให้ศิษย์จำนวนมากมีความฉลาดรอบรู้  เพื่อนำไปสร้างความเจริญก้าวหน้า  สร้างความสำเร็จให้กับตัวเอง  และฉลาดในการสอนสั่งลูกศิษย์ให้มีระเบียบวินัยมรการอยู่ร่วมกัน ประดุจดอกเข็มที่รวมกลุ่มจากดอกเล็กดอกน้อยจำนวนมากมีสีเข้มสดใส แม้ใกล้จะโรยราก็ตาม

            2. ดอกมะเขือ เป็นตัวแทนความรอบรู้ที่กว้างขวาง มากมายของครู  รู้ที่มาที่ไปทุกแง่ทุกมุม เหมือนผลมะเขือที่มีเมล็ดอยู่ในผลหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก  ปลูกเพาะพันธุ์ก็ง่าย เหมือนครูที่ไม่หวงแหนปิดบังความรู้ เคล็ดลับในเรื่องต่างๆ ตลอดจนพยายามให้ศิษย์มีความรู้แตกฉาน ช่ำชองชำนาญทุกคน

            3. หญ้าแพรก  เป็นตัวแทน  ความอดทน อดกลั้นต่อลาภยศ สุข สรรเสริญ ความสะดวกสบายในสิ่งต่างๆ อดทนอดกลั้นต่อการเรียนรู้ของศิษย์ที่บางครั้งเรียนช้าต้องใช้เวลาเคี่ยวเข็ญยาวนาน อดทนอดกลั้นต่อการอวดรู้หยิ่งทะนง คำจาบจ้วงหยาบคายของศิษย์  อดทนอดกลั้นต่อการสอนที่ซ้ำซากจำเจเบื่อหน่าย ฯลฯ  ซึ่งบางครั้งครูก็ย่อมท้อแท้ ท้อถอย เบื่อหน่าย เกิดความล้าขึ้นมา แต่รุ่งขึ้นวันใหม่วิญญาณครูก็กลับคืนมาใหม่  เป็นอย่างนี้วันแล้ววันเล่า  เหมือนหญ้าแพรกที่คนเดินเหยียบไปเหยียบมาจนดูเหมือนใกล้จะตาย  แต่พอคนเลิกเหยียบหรือได้น้ำประพรม ก็ฟื้นงอกเงยขึ้นมาใหม่  ไม่ตายไปเลยเหมือนพืชชนิดอื่น  โลกที่สดใสเขียวขจีก็เพราะพื้นหญ้าฉันใด  สังคมที่ไม่มีครู ก็ย่อมไม่สดใสชุ่มชื่นฉันนั้น  และคุณลักษณะของหญ้าอีกประการหนึ่ง คือ ติดดิน ผู้เป็นครูจึงเป็นคนที่ชอบใช้ชีวิตที่เรียบง่ายไม่ใฝ่สูง ไม่ทะเยอทะยาน แสวงหาความสุขของชีวิต ไม่แสวงหาอำนาจ ชื่อเสียงความร่ำรวยเหมือนอาชีพอื่น  

            ดังนั้น การทำพิธีไหว้ครู จึงเป็นการมาระลึกถึงคุณงามความดีของครู  หรือระลึกถึงพระคุณของครูที่ได้ช่วยฝึกฝนอบรมให้ศิษย์เป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถที่ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้อย่างมีความสุข ประสบความสำเร็จ เป็นคนที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพในการดำรงชีวิตทั้งแก่ตนเองและสังคม

            ครูที่ดีควรประพฤติเช่นไร   เราจะเห็นได้ว่ามีหลักการทั้งของนักการศึกษาไทย และต่างประเทศ ได้กล่าวถึงไว้เป็นจำนวนมาก   แต่ในที่นี้จะขอยกตามหลักพระพุทธศาสนา  พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า  “...ครูที่ดีย่อมเป็นกัลยาณมิตรของศิษย์..”  ซึ่งปรากฏในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่มที่ 23 หน้า 33    ซึ่งครูที่เป็นกัลยาณมิตรจะมีลักษณะ 7 ประการ ดังนี้

            1. ปิโย  มีความรัก เอาใจใส่ศิษย์ และทำตนน่ารักน่าสบายใจ น่าสนิทสนม
            2. ครุ หนักแน่น น่าเคารพ ทำตนให้เป็นที่พึ่ง และหมั่นฝึกฝนอบรม ขัดเกลาศิษย์
            3. ภาวนีโย ทำให้ดีขึ้น เจริญขึ้น น่ายกย่องทั้งในแง่ความรู้ ความประพฤติ นิสัย จิตใจและรู้จัก
อบรมปรับปรุง ตนเองและศิษย์ให้เจริญงอกงามเสมอ
            4. วตฺตา รู้จักวิธีสอน วิธีพูด เมื่อชี้แจง อธิบาย ตักเตือน สั่งสอน แนะนำ
            5. วจนกฺขโม รู้จักอดทน อดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ ทั้งถ้อยคำ หรือจากบุคคล เหตุการณ์ต่างๆ
            6. คมฺภีรญจ กถํ กตฺตา มีความรู้ลึกซึ้ง เชี่ยวชาญ ในเรื่องที่ตนเองสอน ทำเรื่องยากให้ง่ายได้
            7. โน จฎฐาเน นิโยชเน ไม่ประพฤติตัวเหลวไหล เสื่อมเสีย และชักจูงศิษย์ไปในทางที่เหลวไหลเสื่อมเสียด้วย
            และนอกจากนั้น  ยังมีปรากฏในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย  ปาฏิกวรรค  พระไตรปิฏกเล่มที่ 11 ว่าด้วย  การปฏิบัติตนของครูและศิษย์ที่ดี  (ทิศ 6 : ทักษิณทิศ)  ดังนี้

ครูย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้
       1. ฝึกฝนอบรมแนะนำให้เป็นคนดี                                    
       2. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
       3. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง                                             
       4. ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ
       5. ช่วยคุ้มครองเป็นที่พึ่งในทิศทั้งหลาย

และเมื่อศิษย์ได้รับการอนุเคราะห์จากครู  ศิษย์ย่อมควรประพฤติ ดังนี้
      1. ลุกต้อนรับ ทำความเคารพ                                           
      2. เข้าไปหา ใกล้ชิดท่าน
      3. ใฝ่ใจเรียน                                                                 
      4. ปรนนิบัติ ช่วยเหลือท่าน
      5. เรียนศิลปวิทยาโดยความเคารพ เอาจริง

เมื่อทั้งครูและศิษย์ ทำเช่นนี้ ย่อมเป็นสิริมงคลทั้งแก่ตนเองและสังคมที่ตนเองอยู่

 

 

ขั้นตอนพิธีไหว้ครูที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ

             1. เมื่อนำนักเรียนเข้าหอประชุมเรียบร้อยแล้ว (แต่ละแถวตอนลึก ควรนั่งห่างกันอย่างน้อย 50 เซนติเมตร จะได้พอกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ และจะดูสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย) ให้นักเรียนนั่งพับเพียบอยู่ในความสงบ (การเข้าหอประชุม ถ้าโรงเรียนนั้นมีหลายระดับ ควรให้นักเรียนระดับชั้นสูงสุดนั่งหน้าสุด แล้วตามมาทีละระดับชั้น จนถึงชั้นระดับต่ำสุดของโรงเรียนนั้น จะได้ผลและมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบเดิม  ที่ให้นักเรียนชั้นต่ำสุดนั่งหน้าและให้นักเรียนชั้นสูงนั่งตามลำดับ จนถึงชั้นสูงสุดนั่งแถวหลัง)
            2. เมื่อประธานเข้าที่ประชุม นั่งเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าหรือประธานนักเรียนบอกทำความเคารพ โดยให้หมอบกราบ 1 ครั้ง
            3. เมื่อพิธีกร (ประธานนักเรียน) กล่าวเรียนเชิญประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ให้หัวหน้านักเรียนบอกนักเรียนทั้งหมดคุกเข่าพนมมือ จนกว่าประธานจะจุดธูปเทียนเสร็จ และกลับไปนั่งที่เดิม
            4. เมื่อประธานในพิธีกลับไปนั่งเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าหรือประธานนักเรียนนำนักเรียนกราบพระพร้อมกัน และสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยโดยย่อ
            5. เมื่อสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยจบแล้ว ให้หัวหน้าหรือประธานนักเรียนเริ่มกล่าวนำไหว้ครูในท่านั่งคุกเข่าเช่นนั้น  จนกว่ากล่าวคำไหว้ครูเสร็จจึงบอกให้นักเรียนทั้งหมดนั่งพับเพียบ หมอบกราบอีกครั้ง
            6. เมื่อกล่าวคำไหว้ครูเสร็จแล้ว ให้ตัวแทนนักเรียนแต่ละชั้น แต่ละห้อง นำพานดอกไม้ธูปเทียนที่รวบรวมจากเพื่อนนักเรียน ไปมอบให้ครูบนเวทีหรือที่จัดให้ครูนั่ง โดยเริ่มทีละระดับชั้นจากชั้นสูงสุด ไปถึงระดับชั้นต่ำสุด
            7. ถ้าบางโรงเรียนจัดโต๊ะหมู่บูชา โดยมีพระบรมฉายาลักษณ์ และธงชาติอยู่ด้วย ให้ตัวแทนนักเรียน ทำความเคารพธงชาติก่อนและพระบรมฉายาลักษณ์ต่อมา จึงค่อยนำพานดอกไม้ธูปเทียนมอบแก่ครู
            8. เมื่อแต่ละระดับชั้นมอบพานดอกไม้ธูปเทียนแก่ครูเรียบร้อยแล้ว ประธานในพิธีจะเจิมหนังสือเพื่อเป็นศิริมงคล (โดยเจิม 3 จุด เริ่มจุดบนก่อน และตามมาด้วยเจิมจุดซ้ายขวา ไม่ควรเจิมแบบเลข 9 หรืออักขระยันต์ต่างๆ)
            9. ประธานให้โอวาท เป็นเสร็จพิธีไหว้ครู
             
       หมายเหตุ :  บางโรงเรียนอาจจะมีการมอบทุนการศึกษา หรือกิจกรรมอื่นๆ ก็แล้วแต่กำหนดการของโรงเรียนจะจัดขึ้น  สำหรับดอกไม้ธูปเทียนที่นักเรียนนำมาไหว้ครู ให้นักเรียนแต่ละห้องนำดอกไม้เหล่านั้นไปจัดตบแต่งพานตามความคิดของนักเรียน แล้วนำมาประกวดและตัดสินตอนพักเที่ยงวันก็เป็นการสะดวกและไม่เสียเวลาเรียนมากเหมือนที่เคยให้นักเรียนทำพานวันพุธตอนบ่าย และเสียเวลาในวันพฤหัสอีก.

เมื่อศิษย์ไหว้ครู ก็แสดงว่านักเรียนยอมรับความเป็นคนมีครู

ดังนั้น ครูควรเป็นครูที่มีหน้าที่ฝึกนักเรียนตามที่มอบตัวเป็นศิษย์

อาจารย์ = ผู้สอน, ครู = ผู้ฝึก

ท่านจะเป็นครู หรือ อาจารย์ ?




เพิ่มเติม  :   ข้าวตอก  หมายถึง  ศิษย์ทุกคนล้วนมีศักยภาพทางด้านสติปัญญาแฝงอยู่ภายในตัวด้วยกันทุกคน   ครูอาจารย์จึงมีหน้าที่ทำให้ศักยภาพของศิษย์นั้น "แตกออก"มา หรือปรากฏออกมาเหมือนกับข้าวตอก  โดยการให้การฝึกฝน  อบรม บ่มเพาะ  ขัดเกลา อย่างเต็มที่  ดุจดังข้าวเปลือกที่เอามาคั่วให้แตกเป็นดอกบาน ซึ่งคำว่า "ตอก" ก็มาจากคำว่า "แตก - ออก" เมื่อพูดเร็วๆ เข้าก็ออกเสียงเป็นข้าวตอกไป

ส่วนผ้าขาว  หมายถึง  สิ่งของที่มอบให้กับครูเป็นเครื่องบูชาครู พร้อมกับเงินค่าครู  หรือเป็นการบอกครู เตือนผู้เป็นครูว่า ศิษย์เปรียบเสมือนผ้าขาวที่ครูจะต้องคอยระวังการฝึกอบรมสั่งสอนไว้ตลอดเวลา  มิให้มัวหมองได้

มีหลายท่าน เข้าใจว่าการให้ความหมายพืชที่นำมาไหว้ครูไม่เหมือนที่อื่น  ที่จริงผมได้บอกไปแต่ต้นว่า  การไหว้ครูโบราณ คือ การไหว้คุณงามความดีของครู  มิใช่ มาไหว้ครูเพื่อขอพรให้เรียนเก่ง มีสติปัญญาดี เหมือนปัจจุบัน  พืชทั้ง 3 ชนิดจึงเป็นตัวแทนสัญญลักษณ์ที่แสดงถึงคุณงามความดีของครู   ท่านลองพิจารณาดูคำสวดไหว้ครูทำนองสรภัญญะ  จะเห็นได้ว่า  เรามาไหว้คุณงามความดีของครู   ส่วนจะได้พรกลับคืน  เพราะคุณความกตัญญูกตเวทีต่างหาก  มิใช่เพราะครูเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์สามารถให้พรกับศิษย์ได้

คำสวดไหว้ครูทำนองสรภัญญะ
ปาเจรา จริยา โหนฺติ คุณุตฺตรา นุสาสกา
ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ ผู้กอรปเกิดประโยชน์ศึกษา 
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แก่ข้าและประเทศไทย เทอญ
ปญฺญา วุฑฺฒิ กเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ