วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิธีการสอนการคัดลายมือ



วิธีการสอนการคัดลายมือ

หลักการ
      ลายมือแสดงถึงบุคลิกลักษณะนิสัย จิตใจ   ครูจึงควรฝึกให้นักเรียนสามารถเขียนตัวอักษรให้สวยงาม  สะอาด เรียบร้อย  และถูกต้อง   เพื่อเป็นการฝึกจิตใจนักเรียนให้ละเอียดประณีต  มีสมาธิ  และอดทน   (สิ่งที่ครูควรเน้นและใส่ใจในการฝึก คือ ช่องไฟ วรรคตอน ตัวอักษรที่เสมอกัน)

รูปแบบการคัดลายมือ
  ๑. แบบกระทรวงศึกษาธิการ
  ๒. แบบขุนสัมฤทธิ์วรรณการ
  ๓. แบบอาลักษณ์
  ๔. แบบพระยาผดุงวิทยา
  ๕. แบบคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ลายมือ มี ๓ แบบ
  ๑. ตัวบรรจงเต็มบรรทัด  
  ๒. ตัวบรรจงครึ่งบรรทัด  
   ๓. หวัดแกมบรรจง

ขั้นตอนการฝึก
  ๑. สอนและฝึกการจับปากกา ดินสอ ให้เอียงปลายปากกา ดินสอไปข้างหน้าวางอยู่ที่ปลายนิ้วกลาง  โดยมีนิ้วหัวแม่มือ กับนิ้วชี้จับหนีบขนานไป  ส่วนนิ้วอื่นๆงอเข้าหาฝ่ามือ  โดยไม่ต้องเกร็ง  (เด็กรุ่นใหม่ ส่วนมากชอบจับปากกา ดินสอแบบตั้งตรง  ทำให้นิ้วเกร็ง  โก่ง  เมื่อยนิ้วเร็ว  โดยเฉพาะเห็นได้ชัดที่นิ้วชี้)
  ๒. ฝึกให้วางสมุดตรงๆ  แต่แขนเอียง
  ๓. ฝึกให้นั่งตัวตรงเขียน หรือหมอบเขียนก็ได้  แต่สายตาควรห่างจากสมุด ๑ ฟุต
  ๔. ฝึกเขียนหัวพยัญชนะก่อน
  ๕. ฝึกการเขียนวางสระ วรรณยุกต์ให้สัมพันธ์กับพยัญชนะ
   ๖. ฝึกการเขียนพยัญชนะและสระ ให้ตัวอักษรมีเส้นหนักเส้นเบา  หรือหนาบางตามแบบ   (ควรให้นักเรียนใช้ปากกาหรือดินสอ เบอร์ ๗ ขึ้นไป  เพื่อสามารถเขียนตัวอักษรหนักเบาได้  ถ้าใช้ปากกาเบอร์ ๕  ตัวอักษรจะคมและเส้นเล็ก)
  ๗. ฝึกการเล่นตวัดเส้นตัวอักษร  แบบอาลักษณ์  จะทำให้เด้กเห็นความสวยงามของตัวอักษร  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย  (เหมือนการใช้พู่กันเขียนตัวอักษรของชาติจีน จนดูมีชีวิตชีวา  อ่อนไหวได้  เข้มแข็งได้)

เทคนิคการสอนคัดลายมือ
   ๑. ใช้รูปแบบตัวอักษรของคอมพิวเตอร์มาเป็นตัวอย่างช่วยฝึกเขียน เช่น Angsana, Cordia ฯลฯ เป็นต้น
   ๒. ทำตารางให้เขียน/คัดลายมือในช่อง  ทำทั้งเส้นแนวตั้งและแนวนอน  ไม่ใช่ทำแต่เส้นแนวนอนเท่านั้น  เพื่อให้นักเรียนเคยชินในการเขียนตัวหนังสือตรง  ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา

ตัวอย่างสมุดคัดลายมือ










วิธีตรวจ

1. ให้ดูว่าตัวอักษรที่นักเรียนเขียนตัวใด  คัดได้สวยงาม ตัวตรง ลายเส้นมีหนักเบา  อยู่ในกรอบช่องสี่เหลี่ยม ไม่ทับเส้น  ครูผู้ตรวจก็ทำเครื่องหมายถูก  หรือเครื่องหมายอะไรก้ได้ใต้ตัวอักษรนั้น

2. เสร็จแล้วให้ครูนับจำนวนเครื่องหมายที่ทำใต้่ตัวอักษรที่สวยงาม ว่ามีเท่าไหร่  ก็ให้ลงคะแนนตามนั้น โดยจะลงจำนวนที่ได้ และจากจำนวนทั้งหมด   หรือ จะคิดเป็นร้อยละที่เขียนสวยจากจำนวนตัวอักษรทั้งหมดก้ได้


ชื่นชมกับผลงาน : ครูผู้ตรวจจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของนักเรียนในครั้งต่อไปอย่างเห็นได้ชัด  เพราะนักเรียนจะเกิดกำลังใจ หรือแรงจูงใจที่อยากเขียนได้จำนวนสวยขึ้น  เมื่อเทียบกับตัวเองในครั้งที่ผ่านมา  และกับเพื่อนๆ 

ลองทำดูนะครับ  แล้วจะเห็นความแตกต่าง  ที่ครูจะภูมิใจความสำเร็จได้ทันที

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชมพูทวีปในพระไตรปิฏก และคัมภีร์ทางศาสนา


คำนำ

                ผมเขียนเรื่องนี้  มิใช่มีจุดมุ่งหมายโดยตรงเพื่อจะให้ผู้อ่านเชื่อตามผม   หรือจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่ทางการได้เขียน  และเผยแพร่ออกมา  ทั้งกำหนดให้เป็นหนังสือแบบเรียน  หรือตำราอ้างอิงแต่อย่างใด
               ผมตั้งใจเขียนเรื่องนี้เป็นเชิงสังเกต  หรือทำนองสงสัย  เพื่อไม่ให้เป็นข้อเขียนเชิงวิชาการ หรืองานวิจัย  แต่ก็มีหลักฐานและเหตุผลมากมายมาสนับสนุน  ไม่ใช่เขียนจากจินตนาการ หรือความคิดเพ้อฝันไร้ที่มาที่ไป   ทั้งนี้ผมจะเขียนในลักษณะเล่าสู่กันฟัง ว่าผมเจอข้อมูลแบบนี้ หลักฐานแบบนี้ จึงทำให้ผมมีความเชื่อเป็นอย่างนั้น    โดยมีจุดประสงค์ทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ชีวิต    ว่ายังมีมุมมองอีกมุมหนึ่งทางประวัติศาสตร์ต่อหลักฐานเกี่ยวกับพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ของเมืองไทย      
ท่านที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องเดือดร้อนว่ากล่าวว่าผมเป็นคนสติไม่ดี  หรือเป็นคนฟุ้งซ่านแต่ประการใด   ท่านเพียงแต่หาทางไปหักล้างหลักฐานเหล่านั้นเองนะครับ    เพราะผมเองก็อ้างตามหลักฐานนั้นเหมือนกัน   
อันที่จริงความคิด  ความเชื่อแบบผม   ยังมีผู้คนหลากหลายคิดและเชื่อแบบเดียวกัน  ไม่ใช่ผมเป็นคนแรกหรอกครับ    แม้ในขณะที่ผมได้ลงมือเรียบเรียงนี้  ก็มีผู้เผยแพร่เป็นทางการแล้ว เช่น ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์, รศ. ดร.นิคม ทาแดง, คุณเอกอิสโร วรุณศรี, คุณอาตม  ศิโรศิริ , ดร.ประจักษ์  สายแสง, รศ.ดร.สมคิด  ศรีสิงห์, รศ.เฉลิม  พงศ์อาจารย์, แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร  พิษณุโลก   และก็ยังคงมีอีกหลายท่านที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัว  เป็นแต่สนทนาแลกเปลี่ยนกันในวงของผู้คุ้นเคยกันอยู่  ซึ่งผู้อ่านจะเชื่อท่านเหล่านี้หรือไม่(รวมผมด้วย) ก็เป็นสิทธิของท่าน  ไม่ปิดกั้นความเห็นแต่อย่างใด   

ขอบคุณทุกท่านครับ


ความเป็นมา

1. ผมไม่เคยคิดว่าวันหนี่งผมจะมาเชื่อว่า  “...ชมพูทวีปในพระไตรปิฏก  หรือคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเก่าๆ   หมายถึง  ดินแดนประเทศไทยตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไปจนถึงภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ประเทศพม่า   จีนตอนใต้   ลาว  กัมพูชา  และเวียดนาม   ไม่ใช่หมายถึง ประเทศอินเดียตามที่นักวิชาการทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่  และคนทั่วไปเชื่อตามการค้นคว้าของ  อเล็กซานเดอร์ คันนิ่ง แฮม นักขุดค้นโบราณคดีทางประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษสรุปไว้..." 

2. สมัยก่อนที่ผมยังเป็นเด็กนั้น  ผมก็เหมือนคนอื่นที่เชื่อตามที่เรียนมาจากหนังสือแบบเรียนว่า ชมพูทวีป หมายถึง ประเทศอินเดีย  เมื่อผมบรรพชาเป็นสามเณร ปี 2509   ผมก็เชื่ออย่างนั้นตามหนังสือเรียนพุทธประวัติ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่ทรงนิพนธ์ไว้และกำหนดเป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี   มาจนถึงปี พ.ศ. 2513  ผมได้อ่านหนังสือ  รอยพระพุทธบาท  ของท่านเจ้าคุณพระปริยัติโมลี (ฟื้น ปาสาทิโก) วัดราชบพิธฯ (พิมพ์ปี พ.ศ. 2496)   สรุปใจความว่า  “...รอยพระพุทธบาทในเมืองไทย  เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในรุ่นหลัง  ไม่ได้หมายความว่า  พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทจริงๆ...“

แต่ตอนนั้น  ผมกำลังเรียนแปลภาษาบาลีจากธรรมบท  มีหลายตอนกล่าวว่า  พระพุทธเจ้าเสด็จไปปรากฏที่นั่นที่นี่  ในลักษณะเสด็จไปปรากฏเฉพาะหน้า เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด  : ทำนองทรงทำปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏ ประหนึ่งว่าเสด็จประทับอยู่ตรงนั้น (ปมุเข ปาตุรโหสิ)  แม้ว่าห่างไกลจากที่ทรงประทับอยู่หลายร้อยโยชน์พันโยชน์ก็ตาม  ผมจึงเชื่อท่านเจ้าคุณครึ่งหนึ่ง  คือผมเชื่อว่า  รอยพระพุทธบาทเป็นของจริงที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาประทับไว้  โดยเสด็จมาทางอากาศ (เหาะมา,หายตัวมา)  แต่ยังเชื่อว่าชมพูทวีป คือ ประเทศอินเดียในปัจจุบันอยู่

ต่อมาผมอ่านตำนานจังหวัดต่างๆมากขึ้น   มักเจอแต่เรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จมาจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย   พุทธองค์ได้ทรงประทานพระเกศาบ้าง  หรือมอบหมายให้พระภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งนำพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์มาประดิษฐานไว้หลังจากที่พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว   แต่ผมก็ยังไม่เชื่ออยู่ดีนั่นแหละ  ผมคิดว่าคนรุ่นเก่าๆเขียนเพื่อสร้างศรัทธาให้ประชาชนเชื่อว่าเจดีย์นั้นศักดิ์สิทธิ์จริง  จึงอ้างพระพุทธเจ้าเสด็จมา

ต่อมาปี พ.ศ. 2518  องค์พระธาตุพนม จ.นครพนมล้ม  กลับปรากฏว่าสิ่งต่างๆที่เคยบรรจุไว้ในเจดีย์ ตามตำนานพระอุรังคธาตุ เช่น พระบรมสารีริกธาตุอยู่ในผอบแก้ว ผอบทอง 7 ชั้น หล่อด้วยน้ำมันจันทร์ อยู่ในชั้นใต้ดิน  ที่คนรุ่นนั้นขุดลงไปประดิษฐาน และก่ออุโมงค์ดินคลุมไว้ (แต่คนสมัยนี้ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง  คงมีการแต่งขึ้นจากคนรุ่นหลัง) 

เจดีย์ศิลาที่บรรจุบุษบกและผอบพระอุรังคธาตุ สมัย พ.ศ. 500

ในการปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม  ได้พบจารึกในแต่ละยุคสมัย เช่น พบจารึกเจ้าพระยานครหลวงพิชิตธานี ที่ได้มาบูรณะพระธาตุพนม เมื่อศักราช 976 ปีกาบยี เดือน 5 ขึ้น 4 ค่ำ วัน 5  (นักวิชาการเทียบว่าตรงกับ จศ. 931 ราวๆพ.ศ. 2157 อันเป็นสมัยที่พระวรวงศาธรรมิกราชปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง พ.ศ. ๒๑๔๑ - ๒๑๖๕) ซึ่งเศษซากวัสดุและสิ่งของที่ค้นพบ  ก็ตรงตามที่จารึกระบุไว้  ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดไปไม่น้อย   ชักจะมั่นใจในสิ่งที่บรรพบุรุษเขียนไว้ เล่ามาไม่น้อย  แต่ก็ยังสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปไม่ได้   ยังคาใจผมอยู่ตลอดมา    และผมก็ศึกษาอ่านตำนานประวัติศาสตร์เก่าๆของไทยมาโดยตลอด  กลับเจอแต่ความขัดแย้ง  ไม่ลงรอยของตำนานไทยกับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ของไทยมากมาย  ทั้งเรื่องขอมเมืองสุโขทัย,  ที่มาของพ่อขุนศรีอินทราฑิตย์,  กำเนิดกรุงศรีอยุธยา,   หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา,  เมืองอู่ทองร้างมาก่อนพระเจ้าอู่ทองเกิด,  ปากพิงหมายถึงบริเวณใกล้วัดจุฬามณี พิษณุโลก ไม่ใช่ปากน้ำโพ  จ.นครสวรรค์,  พ่อขุนรามคำแหงชนช้างที่บ้านตาก แต่ไม่ได้ทรงสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้,  นครชุม ไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร บ้านโคน อยู่ที่กำแพงเพชร  ตามที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเขียนสรุป   แต่กลับมีนครชุม นาบัว เมืองเทพ เมืองพรหม เมืองพิชัย บ้านโคน  ในแผนที่ยุทธศาสตร์ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สมัยกรุงศรีอยุธยามานานแล้ว  (ปัจจุบันอยู่ในเขต จ.อุตรดิตถ์  จ.พิษณุโลก)  
แผนที่ยุทธศาสตร์ สมัยพระรามาธิบดีที่ 1 


 และรวมทั้งคนไทยไม่ได้มาจากจีน ฯลฯ  ทำให้ผมชักจะเริ่มเชื่อตามตำนานเก่าๆของไทยมากกว่าสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ไทยเขียน   ยิ่งเห็นนักประวัติศาสตร์ไทยเขียนบรรยายอะไรเป็นเรื่องเป็นราวจากข้อความบรรทัดเดียว  เช่น  สรุปว่า จ.ลพบุรีในปัจจุบัน คือ เมืองละโว้  จากข้อความเดียวทีเจอจากศิลาจารึกในศาลพระกาฬ   ทั้งที่ตำนานเหนือระบุว่าเมืองละโว้อยู่ทางใต้เมืองพิษณุโลก 500 เส้น ผมก็เลยยิ่งลังเลในสิ่งที่นักประวัติศาสตร์เขียนมากขึ้นทุกวัน  ว่าจะเชื่อในสิ่งที่เรียนมาจากนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ หรือจะเชื่อคนรุ่นเก่าๆดีกว่ากัน

ในปี พ.ศ. 2520  ผมอ่านหนังสือ “ของดีในอินเดีย” ของหลวงวิจิตรวาทการ  ท่านได้เขียนถึงความขัดแย้งในสิ่งที่ท่านได้พบเห็นโบราณวัตถุ และความเห็นของนักโบราณคดีชาวอังกฤษ  เยอรมันที่ระบุเมืองต่างๆในสมัยพุทธกาล  โดยอาศัยบันทึกที่พระถังซำจั๋งจดไว้  แล้วมาเทียบระบุว่าอยู่ที่ใดบ้างในประเทศอินเดียปัจจุบัน  ไม่ตรงกับหลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎก  เช่น การไปเมืองกุสินาราจากเวสาลี ในพระไตรปิฏกบอกว่าต้องผ่านเมืองปาวาก่อน   แต่ในอินเดียต้องผ่านเมืองกุสินาราก่อน  แล้วถึงจะไปเมืองปาวา   
หลวงวิจิตรวาทการ  ตั้งข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ “...การเสด็จพุทธดำเนินของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกมักจะเป็นทาง ราชคฤห์เวสาลีโกสัมพี แล้วก็เสด็จย้อนกลับทางเดิม คือ โกสัมพี,สาวัตถีเวสาลีราชคฤห์ ไม่เคยเสด็จตรงจากโกสัมพีไปราชคฤห์ซึ่งจะต้องผ่าน คยาและพาราณสี   ทั้งๆ ที่ดูจากเส้นทางคมนาคมทางนี้จะสะดวกและตรงกว่า เนื่องจากที่ไม่เสด็จทางตรงระหว่างโกสัมพีกับราชคฤห์นี้ เรื่องราวในพุทธประวัติที่เกี่ยวกับคยาและพาราณสีภายหลังที่ตรัสรู้และประทานปฐมเทศนาแล้ว จึงมีน้อยที่สุดพวกนักค้นคว้าหาเหตุผลอธิบายไม่ได้ถนัด ว่าเหตุไรพระพุทธเจ้าจึงไม่ค่อยทรงสนพระทัยกับสถานที่ตั้งเดิมของพระองค์ เช่นที่ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ และที่ประทานพระปฐมเทศนา...”

 และหลวงวิจิตรวาทการ  ยังได้ตั้งข้อควรสังเกตไว้อีกว่า “... ในพระไตรปิฎกสังยุตตนิกาย สฬายตนะวรรค กล่าวว่า เมืองโกสัมพีตั้งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ข้อนี้ผิดไป ความจริงโกสัมพีตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมนา ไม่รู้ว่าความผิดพลาดอันนี้มาจากไหน   ความผิดพลาดในทำนองเดียวกันนี้ยังมีอีกแห่งหนึ่งคือ ในสังยุตตนิกาย ขันธวรรค กล่าวถึงเมืองอโยธยาว่าตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ความจริงเมืองอโยธยาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสรายุ ข้าพเจ้าเคยไปถึงแม่น้ำนี้....” 

แต่ผมอ่านแล้วก็ยังไม่เห็นคล้อยตามหลวงวิจิตรวาทการเท่าไรนัก  เพราะคิดไปว่า  ภูมิประเทศบ้านเมืองในอินเดียปัจจุบันคงมีการเปลี่ยนแปลงจากสมัยพุทธกาลไปไม่น้อยนั่นประการหนึ่ง   และอีกประการหนึ่งก็คือยังไม่เชื่อมั่นในพระไตรปิฎกว่าจะเขียนหรือบันทึกตรงตามความจริงมากน้อยเพียงใด  รวมทั้งผมยังไม่เคยเห็นประเทศอินเดียจริงๆกับตาสักที

ในปี พ.ศ. 2526  ผมได้อ่านหนังสือ “วินิจฉัยเรื่องลังกา” ของท่านบุญธรรม  เอี่ยมสมบูรณ์ พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานทำบุญคล้ายวันเกิดของพระธรรมปัญญาบดี (ฟื้น ชุตินฺธโร) 20  มีนาคม 2507
ผมก็ชักคล้อยตามเหตุผลของท่าน  ที่ท่านเห็นว่าใครต่อใครเห็นอะไรๆของเมืองไทยที่ดีๆ ต้องบอกว่ามาจากของชาติอื่นไปหมด  เช่น บอกว่าพระไทยรักษาสิ่งต่างๆ ในศาสนาพุทธที่มาจากลังกาได้ดีมาก  เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่กล่าวไว้ในสาส์นสมเด็จ เล่ม 18 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2483  ตอนหนึ่งว่า   ...แต่มีข้อที่ต้องทูลก่อน เพราะประหลาดใจและผิดคาด ด้วยทำนองพระลังกาสวดมนต์ ไพล่ไปเหมือนทำนองพระมหานิกายถึงอาจจะสวดด้วยกันได้ ผิดกันแต่เสียงอักขระเท่านั้น ต้องนึกชมพระมหานิกายว่า อุตส่าห์รักษาทำนองที่ได้จากลังกามาเป็นช้านาน...”   

อันที่จริงต้องว่าพระลังกาสวดเหมือนพระไทย   มิใช่พระไทยมหานิกายอุตส่าห์รักษาทำนองที่ได้จากลังกา   เพราะพระไทยมิได้เอาอย่างพระลังกา   ส่วนพระลังกาที่กรมพระยาดำรงฯ เห็นและได้ยินเสียงสวดเหมือนพระมหานิกาย  ก็เพราะเป็นได้แบบอย่างไปจากพระไทยที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ และรัชกาลที่ 2 ส่งไป ต่างหาก   และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ   ก็คงทรงลืมไปว่าก่อนที่เราจะส่งพระไปซีลอน   ซีลอนไม่มีพระหรือสามเณรเหลืออยู่สักองค์เดียว   ทั้งๆที่พระองค์ทรงเรียบเรียงหนังสือเรื่อง “การประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” เมื่อปี 2457 แท้ๆ    และหนังสือเล่มนี้ยังยกตัวอย่างคัดค้านหลายเรื่อง  เช่น การครองผ้า  การสวดกรรมวาจา ฯลฯ ท่านผู้ใดสนใจค้นคว้าหาอ่านได้ 

จะว่าไปประเทศศรีลังกาปัจจุบัน (ก่อนเรียกซีลอน) ได้ตำรับตำราคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไปถึง 97 คัมภีร์  จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ พระราชทานไปยังลังกาครั้งนั้น   รายชื่อคัมภีร์ต่างๆ ปรากฏในศุภอักษรภาษามคธ ที่อัครมหาเสนาบดีไทย มีไปถึงอัครมหาเสนาบดีลังกา ลงวันศุกร์ แรม 7 ค่ำ เดือน 11 ปี ชวด อัฐศก จ.ศ. 1118 พ.ศ. 2299  (ดีนะที่ทั้งพระและทูตจดบันทึกไว้อย่างละเอียดทั้งสิ่งของและการเดินทาง)  และยังที่รัชกาลที่ 2 สมัยรัตนโกสินทร์ พระราชทานเพิ่มเติมไปอีกไม่น้อย    ประวัติศาสตร์ศรีลังกาก็เขียนขึ้นโดยอาศัยจากคัมภีร์มหาวงศ์ ที่ส่งไปให้ศรีลังกาในสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์  (พูดง่ายๆ ยกให้เขาไปเพราะคิดว่า ซีลอนคือลังกา  ทั้งๆที่คัมภีร์มหาวงศ์ เป็นพงศาวดารประจำราชวงศ์มลายูในสมัยก่อนที่อังกฤษจะยึดเป็นเมืองขึ้น)  ไปดูแผนที่ของฝรั่งเก่าๆ ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์เป็นต้นมา   ก็ไม่มีระบุว่าเกาะตรงนั้นเรียกลังกา  มีแต่เขียนซีลอนมาเสมอ  แต่กลับมีเขียนชื่อลังกาไว้แถวภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบันตลอด    

และคัมภีร์มหาวงศ์ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีอยู่หรือมีผู้กล่าวถึงในสมัยกรุงสุโขทัย หรืออยุธยาตอนต้นแต่อย่างใดไม่  แต่กลับมีปรากฏดังรายชื่อหนังสือที่ส่งไปยังประเทศศรีลังกา  สันนิษฐานว่าคงไปได้มาสมัยอยุธยา (พระเจ้าทรงธรรม) คราวที่พระสงฆ์ไปไหว้พระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ ทวีปลังกา  แล้วพระสงฆ์ลังกาบอกว่ารอยพระพุทธบาทมีทั้งหมด 5 แห่ง แห่งหนึ่งอยู่ที่เขาสัจจพันธ์ ในแคว้นกรุงศรีอยุธยา  แล้วต่อมาค้นหาเจอซึ่งปัจจุบัน คือ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี นั่นแหละ

แม้ว่าผมจะเริ่มคล้อยตามเหตุผลในตำนาน  ความเชื่อ  เรื่องเล่าที่เล่าต่อๆกันมา  และหลักฐานตำราเก่าๆ ของไทยที่ผมได้อ่านผ่านมา  ไม่ว่าจะเป็นตำนานวัดต่างๆในภาคเหนือ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กระทั่งตำนานวัดพระแท่นดงรัง จ.กาญจนบุรี  ไตรภูมิพระร่วง  ไตรภูมิกถา ไตรภูมิโลกวินิจฉัย (ที่มีกล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆในสมัยพุทธกาลที่ตั้งอยู่ทางทิศต่างๆ  โดยยึดเอาที่พระองค์ตรัสรู้เป็นศูนย์กลาง) เป็นต้น ก็ตาม  ผมก็ยังไม่เชื่อตำนานอย่างสนิทใจนัก  แต่ผมก็ยังไม่สรุปได้ว่าชมพูทวีปอยู่ที่ใดกันแน่  ทั้งๆที่สงสัยว่าชมพูทวีปไม่ได้อยู่ที่ประเทศอินเดียแน่ๆ


3. ผมเพิ่งมาเปลี่ยนความคิดอย่างชัดเจนและเชื่อมั่นว่า ชมพูทวีป ไม่ได้หมายถึง ประเทศอินเดียอย่างแน่นอน  เมื่อปี  2536  ไม่นานมานี้เอง   โดยจากการเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนตากพิทยาคม  ในปีนี้ผมใช้วิธีสอนแบบตั้งคำถามยั่วให้คิด ค้นคว้า  ถ้านักเรียนตอบได้ก็ถือว่าเป็นคะแนนสะสมระหว่างภาค โดยไม่ต้องทำแบบทดสอบในการสอบเก็บคะแนนเหมือนครูทั่วๆไป  เรียกว่าสอบเก็บคะแนนแบบปากเปล่าก็ได้

ครั้งหนึ่งผมถามว่า “สมัยสุโขทัยปกครองแบบใด”  นักเรียนตอบได้หมดทุกคนว่า “ปกครองแบบพ่อลูก”  ผมถามต่อไปว่า  รู้ได้อย่างไรว่ากรุงสุโขทัยมีการปกครองแบบนี้    ส่วนมากตอบว่าอยู่ในหนังสือ   ผมถามต่อไปว่าแล้วทำไมเราเชื่อหนังสือ   เพราะหนังสืออ้างหลักฐาน   หนังสืออ้างหลักฐานอะไร  หนังสืออ้างศิลาจารึก   ศิลาจารึกหลักที่เท่าไหร่  ด้านไหน  วรรคไหน   ไม่ว่าห้องไหนก็ตอบไม่ได้  ผมก็ให้ไปช่วยกันค้นคว้าหาหลักฐานมายืนยัน ส่วนผมก็ต้องรีบไปค้นคว้าอ่านศิลาจารึกทั้งหมดเหมือนกัน  เผื่อจะตอบเด็กๆไม่ได้  

ช่วงนี้ขอเล่าข้ามไปถึงการสอนแบบนี้ก่อน  แล้วค่อยย้อนกลับมาหาประวัติศาสตร์นะครับ   ครั้งต่อไปผมถามว่า “การปกครองนี้ดีแบบใด”  ทุกคนก็แย่งกันตอบว่าดีอย่างโน้น  ดีอย่างนี้  ผมก็เลยแย้งว่า รู้ได้อย่างไรว่าดีอย่างนั้น  อย่างนี้  นักเรียนเคยอยู่ในระบบการปกครองแบบนี้หรือ  เกิดทันหรือ”  คราวนี้ก็นั่งนิ่งไปนาน   พยายามจะตอบให้ได้  ตอบเท่าไหร่ผมก็ว่าไม่ถูกสักที   ผมก็เลยยกตัวอย่างว่า  นิ้วชี้ผมยาวหรือสั้น  นักเรียนก็ตอบยาวบ้าง  สั้นบ้าง    ผมตอบว่ายังไม่สามารถตอบได้ว่ายาวหรือสั้น  ต่อมาผมยกทั้งนิ้วชี้ และนิ้วกลางขึ้นพร้อมกัน  คราวนี้นักเรียนนึกออกจึงตอบว่านิ้วชี้สั้นกว่า  จึงทำให้นักเรียนได้แง่คิดไปว่า ถ้าเราไม่เคยอยู่แบบนี้  หรือเคยเกิดทัน   แต่เราสามารถหาความจริงได้ด้วยการจำแนกแจกแจงแล้วเปรียบเทียบกับการปกครองอื่นๆ”   นักเรียนจึงตอบได้ดีขึ้น  

คำถามแต่ละคำถามกว่าจะตอบได้ก็ต้องซักไปเรื่อยๆ  คำถามแรกๆ ใช้เวลาถึง 3 คาบ   แต่พอนักเรียนได้หลัก แนวคิด และแนวการเรียนประวัติศาสตร์ที่ดีแล้ว  การเรียนเรื่องต่อไปก็ง่ายขึ้น  เร็วขึ้น  บางเรื่องใช้เวลาไม่ถึงคาบก็จบแล้ว ทำให้นักเรียนกลายเป็นคนต้องคิดให้ละเอียดทุกแง่ทุกมุม  และจะตอบอะไรต้องมีหลักฐานประกอบด้วย   ต่อมาผมถามเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายในลักษณะเจาะลึก  เช่น   ทำไมเราต้องใช้เบี้ยเป็นตัวแทนการซื้อขาย  ทำไมอยุธยาต้องไปตีเมืองสุโขทัย  ทำไมพม่ายกทัพมาตีเมืองไทยชนะ  แต่ทำไมไทยยกทัพไปตีพม่าไม่สำเร็จ  เป็นต้น  วิชาผมจึงเป็น “วิชาทำไม”  แต่นักเรียนก็ต้องตั้งใจตอบเพราะได้คะแนนเก็บดีๆ  แต่ถ้าตอบไม่ได้ตอนนั้นผมให้เขกโต๊ะ 3 ครั้งแทน  แต่ถ้าข้อไหนตอบผิดๆถูกๆ อ้างหลักฐานมั่ว  ผมก็ให้เขกโต๊ะร้อยครั้ง  เป็นการปรามพวกอยากแย่งตอบ  ทั้งๆที่ตัวเองยังไม่มีข้อมูล หรือข้อเท็จจริงรองรับความคิดเห็น

การสอนแบบนี้ทำให้ผมจำเป็นต้องค้นคว้าให้ละเอียด  เพื่อหาหลักฐานมาอธิบายนักเรียนให้หายสงสัย  หายข้องใจที่ตอบเท่าไหร่ก็ยังไม่ถูกหรือได้คะแนน    จากคำถามเรื่องสมัยสุโขทัยปกครองแบบใด   ทำให้ผมต้องศึกษาหนังสือรวบรวมศิลาจารึกทั้งหมด  7 เล่ม ที่คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์  สำนักนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์ขึ้น   ในศิลาจารึกหลักที่ 2  หลักที่ 4  หลักที่ 11  เกี่ยวกับเรื่องราวของพระราชศรีศรัทธา  หลานพ่อขุนผาเมืองทรงออกผนวชและเสด็จจาริกไปจนถึงเมืองลังกา  ทำให้ผมสะดุดใจกับเส้นทางจาริกของท่านเป็นอย่างมาก  เพราะในศิลาจารึกหลักที่ 11 ด้านที่ 2 มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “...เสด็จออกจากรัตนภูมิ สระหลวงสองแคว  ไปยังสุโขทัย  บางฉลัง ศรีสัชชนาลัย  ฝาง  แพร่  ลำปาง  ลำพูน  เชียงทอง  ลุถึงดงที่โปรสช้าง  เขานางตาย  นครพัน  กลิงคราฐ  ปาตลีบุตร  นครตรี  โจลมัณฑลา มัลลราช   ลุถึงลังกาทีป....อยู่จนหลายปี ท่านจึงๆได้เดินกลับจากลังกา  จากลังกาท่านมาถึงตะนาวศรี เพชรบุรี ราชบุรี นครพระกริส อโยธยา ศรีรามเทพนคร รัตนกูดานคร ไทยเรียกว่ากำพงครอง แล้วมาถึงเมืองสุโขทัย.. ”    

ที่ผมสะดุดใจไม่ใช่ระยะทางในเมืองไทย แต่สะดุดใจตั้งแต่ท่านถึงนครพัน แล้วไปกลิงคราฐ ปาตลีบุตร นครตรี โจลมัณฑลา มัลลราช ลุถึงลังกาทีปนั่นแหละ เพราะถ้าสมมติว่าท่านไปลังกาทวีปตามที่นักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นใหม่  เชื่อว่าลังกาทวีปในที่นี้หมายถึงตอนใต้ของประเทศอินเดีย และเชื่อกันว่าท่านได้เดินทางออกจากเชียงทอง (จ.ตาก) ออกไปทางแม่สอด แล้วไปถึงนครพัน(ซึ่งเชื่อกันว่าคือเมืองที่อยู่เหนือเมืองเมาะตะมะขึ้นไป 50 กิโลเมตร)แล้วขึ้นเรือข้ามมหาสมุทรอินเดียไปยังกลิงคราฐ ดูแผนที่ประกอบข้างล่างประกอบด้วยนะครับ (หมายเลข 1 G) ซึ่งอยู่ริมชายทะเลทางด้านตะวันออกของกลางประเทศอินเดียปัจจุบัน แล้วเดินทางขึ้นเหนือไปยังปาตลีบุตร (ราวๆซ้ายบนสุดหมายเลข 17) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา แล้วไปนครตรี จากนั้นก็เดินทางล่องใต้ไปโจลมัณฑลา (หมายเลข 24 G)  ซึ่งอยู่ทางใต้ของประเทศอินเดีย เกือบถึงเกาะลังกาแล้ว   แต่แล้วท่านก็เดินย้อนกลับไปยังมัลลราช(ด้านบนหมายเลข 4)ของเมืองกุสินาราที่อยู่ตอนเหนือของประเทศอินเดียอีก  แล้วค่อยย้อนกลับมาข้ามเรือไปยังลังกาทวีปอีก  ถ้าดูแผนที่ข้างล่างนี้ตามผมก็คงนึกสงสัยเหมือนผมนั่นแหละครับ

   
แผนที่โครงร่างประเทศอินเดีย และศรีลังกา

(ถ้าดูจากแผนที่อินเดีย ประมาณปี พ.ศ. 1900 ที่ท่านพระเถรศรีศรัทธาเดินไป ตรงกับ ค.ศ.1357  ซึ่งตอนนั้นตรงกับช่วงที่พวกเตอร์กรุกรานติมูร์ ตรงกลิงคราฐ เรียกว่าโอริสสาแล้ว  และนครตรี  เมืองโจล ก็ไม่มีปรากฏ  แถวนั้นเรียกว่า วิชัยนคร  : อ้างอิงจากหนังสืออุเทศ ประวัติศาสตร์อินเดีย  สำหรับชั้นมัธยมศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์เมื่อปี 2526 หน้า 46-47))   ตรงนี้นี่เองที่ทำให้ผมคิดว่าไม่ใช่แน่  เพราะทำไมท่านต้องเดินย้อนไปย้อนมาหลายเที่ยว   (ต่อมาผมอ่านเจอบทความของนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งแย้งว่า (ดร.ประเสริฐ ณ นคร) ท่านพระมหาเถรศรีศรัทธาเขียนสับสน  เอาหน้าไปไว้หลัง  เอาหลังไปไว้หน้า  แต่ผมก็แย้งว่า  แล้วที่อื่นๆ ทำไมเขียนเป็นลำดับได้ถูกต้องทั้งไปและกลับ) แต่ก็แค่เอะใจ ยังไม่ถึงกลับปักใจเชื่อนัก  
แผนที่อินเดียสมัยพระเจ้าอโศกที่นักวิชาการประวัติศาสตร์สันนิษฐานไว้

เผอิญให้วันรุ่งขึ้น(ไม่น่าเชื่อเลยครับ) ผมได้อ่านหนังสือประวัติเมืองนครปฐม  และตำนานพระปฐมเจดีย์  มีตอนหนึ่งกล่าวถึงกษัตริย์เมืองมัลลราช  ได้จัดให้มีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุโดยโทณพราหมณ์แก่เมืองต่างๆ นอกเมืองไปทางตะวันออกของเมืองกุสินารา แล้วที่เหลือโทณพราหมณ์ขอไปบรรจุเจดีย์ของตัวเอง  ที่ต่อมาเรียกว่า พระประโทณเจดีย์   และที่ถวายพระเพลิงศพพระพุทธเจ้าที่ป่ารัง ปัจจุบันเรียกว่าพระแท่นดงรัง  ทางตะวันตกของพระแท่นดงรังมีเมืองกุสินารา ปัจจุบันเรียกว่าโกสินารายณ์อยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง  ตำบลท่ามะกา  อ.ท่ะมะกา จ.กาญจนบุรี  ทำให้ผมชักเอะใจว่าท่านพระเถรศรีศรัทธาเสด็จมาลังกาทางนครปฐม แล้วไปภาคใต้ของไทยในปัจจุบันมากกว่า   และผมก็ระลึกขึ้นได้ว่าในหนังสือเก่าๆ ที่เคยอ่านมา  ทางภาคใต้ของไทยเคยมีชื่อเมืองเกี่ยวกับลังกาหลายเมือง  เช่น หน้าเมืองชุมพรเดิมมีเกาะเรียกชื่อว่า “ลังกาจิว” ,  นครศรีธรรมราชก็มีการแต่งตั้งพระสงฆ์ 4 คณะ ทำนองเป็นพระดูแลรักษาพระบรมธาตุทั้ง 4 ด้าน  พระครูหัวหน้าคณะได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระครูลังกาแก้ว  พระครูลังกาชาติ  พระครูลังการาม  พระครุลังกาเดิม

และในแผนที่โบราณของฝรั่งในสมัย ค.ศ. 1686 (พ.ศ.2229)  ก็เขียนชื่อเมืองนครศรีธรรมราช ว่า “ลิคอร์” (Ligor)  ดูๆไปก็ใกล้เคียงกับคำว่า “ลังกา” ไม่ใช่น้อย   และสงขลา ก็เขียนว่า Singara  ซึ่งดูๆไปก็คล้าย คำว่า “สิงหฬ” เหมือนกัน (ถ้าใช้วิธีลากศัพท์เทียบศัพท์แบบนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ที่เรียกเชี๊ยะโท้ว่าสุโขทัย,   หลอฮก ว่า ละโว้, โตโลโปตี้ ว่า ทวาราวดี เป็นต้น),  ทางด้านตะวันตกก็มีเกาะเรียกว่า “ลังกาวี”   และทางประเทศมาเลเซีย  เมื่อก่อนก็เรียกว่ามลายู  ทางอินโดนีเซียก็เรียกเกาะตัวเองว่า “สุมาตรา”,   เมืองไทรบุรีตามพงศาวดารไทรบุรี เรียกเมืองที่ตั้งว่าลังกาสุกะ

แผนที่ประเทศไทย สมัย คศ.1686 (พ.ศ.2229)

ภาพแผนที่ Nova Tabula Insularum Javae, Sumatrae, Borneonis... โดย โยฮาน ธีโอดอร์ เดอ บราย และ โยฮาน อิสราเอล เดอ บราย พิมพ์ครั้งแรกที่กรุงแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี เมื่อปี ค.ศ.1598 (พ.ศ. ๒๑๔๑) มีขนาด ๔๓ x ๓๗ ซม. ในหนังสือ Petits voyages ภาคที่ ๒ ภาพนี้ระบุตำแหน่งของ ปัตตานี ไว้ด้วย  (ภาพจากหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗)

      ภาพแผนที่ราชอาณาจักรสยาม เขียนโดย Vincenzo Coronelli และ Jean Baptise Nolin เมื่อ ค.ศ. 1687 (พ.ศ. ๒๒๓๐) (ภาพจากหนังสือ Early Mapping of Southeast Asia โดย Thomas Suarez, 1999)


ซึ่งสมัยผมเคยเรียนแปลภาษาบาลีมา  ก็เคยเจอในอรรถกถา พระไตรปิฏก  กล่าวไว้ว่า “ลังกาทวีปมี 3 เกาะ คือ 1. คิริยะทวีป 2. มลยทวีป  3. สมุทรทวีป   เมื่อเทียบกับจดหมายเหตุปโตเลมี ลักษณะภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์  รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย   สามารถระบุได้ว่า  คิริยะทวีป หมายถึง บริเวณตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช จ.พังงา  จ.กระบี่ จ. สตูล  จ.ตรัง  และ จ.สงขลา ในปัจจุบัน   เพราะถ้าดูจากแผนที่ภูมิศาสตร์จะเห็นว่าตั้งแต่ปากแม่น้ำตาปี บริเวณอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี ไปจนถึงอ่าวลึก จ.พังงา เป็นจุดเริ่มต้นของเกาะ  แผ่นดินจะค่อยๆสูงขึ้น  จาก อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี  ไปสูงสุดที่ อ.ฉวาง แล้วลาดต่ำลง อ.ร่อนพิบูลย์ และอ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราชจุดหนึ่ง  แล้วขึ้นไปสูงสุดที่ จ.ตรัง แล้วจึงค่อยลาดต่ำลงใน จ.สงขลา จ.สตูล โดยมีเทือกเขาหลวงเป็นโครงกระดูก สุดเกาะจะมีร่องแม่น้ำที่ที่เชื่อมระหว่างทะเลบก  แม่น้ำอู่ตะเภา จ.สงขลา  กับแม่น้ำคงคา ที่ไหลไปออกที่อ่าวปลิศ รัฐปลิศ ประเทศมาเลเซีย ผแต่แม่น้ำนี้ในปัจจุบันได้ตื้นเขินจากทรายที่ไหลลงมาทับถมกัน  เพราะในสมัยรัชกาลที่ 1(พ.ศ.2336) กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงนิพนธ์คำกลอนไว้ในนิราศของท่านว่า “...จะขุดทรายตามทางทะเลตั้งแต่เมืองสงขลาไปเมืองปลิศ  เพื่อจะยกทัพไปตีเอาเมืองไทรบุรี..”) ,  

ส่วนเกาะมลายู(มลยทวีป) จะเริ่มตั้งแต่แนวอ่าวสงขลาและอ่าวปลิศ  ไปจนสุดท้ายเกาะที่เป็นประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน  โดยมีภูเขาสันกาลาคีรีเป็นโครงกระดูก,   ส่วนสมุทรทวีปก็คือเกาะสุมาตราที่เป็นที่ตั้งของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน   ทั้งหมดนี้ดูน่าจะใกล้เคียงกับลังกาในตำนานมากเหมือนกันนะครับ  

และยิ่งกว่านั้นในจดหมายเหตุของจีน  สมัยราชวงศ์สุย (พ.ศ. 1131-1160) ว่าแล่นเรือมาถึงสามร้อยยอด  ต่อจากนั้นล่องเรือมาทางใต้ จนถึงเมือง “เชียะโท้ว”  มีเมืองหลวงชื่อ เจงจี่ หรือ ไซจือเจ็ง เทียบได้กับสิงหะปุระ พื้นดินเมืองนี้มีสีแดง  ซึ่งก็ตรงกับธรรมบท ของพระพุทธโฆษาจารย์ว่า ลังกาทวีป เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตามฺพปณฺณิ    อนึ่งมาลัยคำหลวง  ก็เรียกเกาะลังกาว่า ตามปณฺณยทีป  ซึ่งก็แปลว่า ทวีปที่มีฝ่ามือหรือแผ่นดินสีแดง   ตัวสงขลาปัจจุบันเองก็มีพื้นดินสีแดง  ที่แดงมากเรียกว่า “ควนดินแดง”

ทั้งหมดทำให้ผมชักคิดว่า  ลังกาของพระเถรศรีศรัทธานั้น  คงจะเป็นลังกาที่อยู่ทางภาคใต้ของไทยมากกว่า ท่านคงไม่ได้ไปลังกาที่เป็นประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน  ซึ่งในศิลาจารึกก็ไม่เคยกล่าวว่าพระองค์เสด็จขึ้นเรือสำเภา หรือเรือเดินสมุทรเลย  มีแต่บอกว่าข้ามน้ำพายเรือไปฝั่งลังกาเท่านั้น   ซึ่งถ้าอ่านจากจดหมายเหตุปโตเลมี   ชายแดนระหว่างสุวรรภูมิกับลังกาทวีปอยู่ที่เมืองปาลองกา(อ.ปทิวในปัจจุบัน)   ซึ่งแม่น้ำที่ท่านต้องข้ามโดยใช้เรือ ก็คงเป็นแม่น้ำตาปี เพราะแม่น้ำนี้มีน้ำไหลมากตลอดปี   ส่วนแม่น้ำหลังสวน  จ.ชุมพร  คงพอเดินข้ามได้ในหน้าแล้ง  เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้เสด็จประพาสต้น  ยังไม่สามารถเดินทางเรือไปสุดแม่น้ำ   เพราะน้ำเริ่มแห้งแล้ว   และในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี  เจ้าเมืองไชยาจะยกทัพมาช่วยพระเจ้ากรุงธนบุรี ยังสามารถมาได้เร็วกว่าทัพเจ้าเมืองนครที่มาตามทะเล   

ผมก็เลยชักไม่มั่นใจกับนักประวัติศาสตร์ไทย   ผมลองตั้งสมมติฐานดูว่า  “...ถ้าคนโบราณโกหก  แต่งตำนานเพื่อหลอกลวงคนให้ศรัทธา...”   แล้วตำนานต่างๆ ที่เล่าสืบต่อกันมาทุกภาคของประเทศไทยจะต้องขัดแย้งกันเป็นแน่  แต่ที่ไหนได้  ยิ่งผมศึกษาค้นคว้า  รวบรวมตำนานเก่าๆ  ทั้งประชุมพงศาวดาร  ประวัติวัด  ประวัติเจดีย์  ตำนานเมืองทุกภาคตั้งแต่เหนือจดใต้ (แถมข้ามไปยังมาเลเซียด้วย)  และคัมภีร์ทางศาสนาที่เก่าๆ เช่น พระเจ้าเลียบโลก ตำนานมูลศาสนา  คัมภีร์มหาวงศ์  ไตรภูมิพระร่วง  เป็นต้น   กลับพบว่า  เรื่องเล่าหรือหนังสือเก่าๆ ของคนโบราณกล่าวถึงชื่อเมืองในสมัยพุทธกาล และการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าในที่ต่างๆของประเทศไทยสอดคล้องกันหมดอย่างไม่น่าเชื่อ  

จึงทำให้ผมลองตั้งสมมติฐานใหม่ว่า "...ถ้าทุกอย่างในตำนานเป็นเรื่องจริงที่คนแต่ละรุ่นเล่าสืบทอดกันมา  ไม่ได้โกหกหรือกล้าแต่งบิดเบือนใหม่..."  โอกาสที่เรื่องราวเก่าๆจะเป็นความจริงและจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน   ผมจึงได้ค้นคว้าหลักฐานทางคัมภีร์ทางศาสนา หรือประวัติศาสตร์ตามแนวทางสมมติฐานนี้  ไม่ว่าจะเป็นตำนาน นิทาน  จารึก พงศาวดาร  จดหมายเหตุของแต่ละชาติ และหลักฐานการค้นคว้าของนักวิชาการบางท่าน  กลับปรากฏว่า  มีข้อมูลและข้อเท็จจริงรองรับพอที่จะกล่าวได้ว่า  ตำนานเก่าๆของไทย "เขื่อถือได้" 

ในบทต่อไป  ผมจะยกหลักฐานเกี่ยวกับชมพูทวีป และลังกาทวีปในพระไตรปิฏก และคัมภีร์ทางศาสนาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาเปรียบเทียบ   ซึ่งหลักฐานเก่าๆ ที่จะนำมากล่าวอ้างไว้  จะยกมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นไป  (เพราะตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา  มีนักวิชาการรุ่นใหม่ชอบตัดคำว่า "สันนิษฐาน" ออกไป  และมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำ  เช่น เปลี่ยนชมพูทวีปในหนังสือเก่าๆ  เป็นประเทศอินเดียหมดทุกแห่ง  โดยไม่บอกว่าเป็นการสันนิษฐานของผู้เขียน  เลยกลายเป็นว่าเป็นหลักฐานจริงตามที่อ้างถึง)