วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

คนไทยดูถูกผู้ไม่ได้รับการศึกษาอย่างฝังหัว


คนไทยดูถูกผู้ไม่ได้รับการศึกษาอย่างฝังหัว
(Thais’ Distrust of the Uneducated Runs Deep)
แปลโดย  chapter 11
จากหนังสือ ชาวเอเชียตะวันออกมองประชาธิปไตยเป็นอย่างไร

คุณคิดหรือว่า ความแตกแยกทางการเมืองระหว่างชนชั้นกลาง  ชาวเมืองหลวง และชาวบ้านชนบทในประเทศไทยนี้จะเป็นแค่ปรากฏการณ์ธรรมดาๆ

คุณคิดหรือว่า ข้อเสนอของฝ่ายพันธมิตรที่ประกาศสูตรการเมืองใหม่  ๗๐-๓๐ เป็นกระบวนการชั้นปราบปรามของชาวเมืองหลวง ที่จะปฏิเสธ ผู้ไร้การศึกษาซึ่งชื่นชอบทักษิณ   ลองคิดใหม่ได้นะ

หนังสือชื่อเรื่องว่า ชาวเอเชียตะวันออกมองประชาธิปไตยเป็นอย่างไรวางแผงในปี ๒๕๕๑ เขียนโดย ชู และคนอื่นๆ   ฝ่ายบรรณาธิการได้รวบรวมผลการสำรวจขั้นพื้นฐานจากหลายประเทศในแถบเอเชีย ในหัวข้อเกี่ยวกับท่าทีของคนที่มีต่อคุณค่าของประชาธิปไตย   

ผลจากการสำรวจทั้งหมดแสดงในหนังสือเล่มนี้     แต่เรื่องน่าสนใจเป็นพิเศษคือคำตอบของคำถามในข้อที่ว่า  คุณเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย  ที่ผู้มีการศึกษาน้อย หรือไร้การศึกษา ควรมีสิทธิออกเสียงในทางการเมืองเทียบเท่ากับผู้มีการศึกษาสูง

คำตอบได้รวบรวมและแยกเป็นแต่ละประเทศ ตามตารางข้างล่างนี้ ตัวเลขแสดงให้เห็นจำนวนความเห็นด้วยกับคำถามข้างบนนี้

ญี่ปุ่น                       เห็นด้วยร้อยละ ๙๐.๓
ฮ่องกง                    เห็นด้วยร้อยละ ๙๐.๑
เกาหลี                     เห็นด้วยร้อยละ ๗๒.๒
ไต้หวัน                    เห็นด้วยร้อยละ ๙๐.๒
จีน                           เห็นด้วยร้อยละ ๙๑.๖
ฟิลิปปินส์                เห็นด้วยร้อยละ ๕๕.๔
มาเลเซีย                 เห็นด้วยร้อยละ ๕๕.๐
มองโกเลีย              เห็นด้วยร้อยละ ๘๓.๐
ไทย                         เห็นด้วยร้อยละ ๑๕.๐

ใช่ ! แล้ว คุณอ่านไม่ผิดหรอก  คนไทยเพียงร้อยละ ๑๕  ที่เห็นด้วยกับคำถามที่ว่า ผู้มีการศึกษาน้อย หรือไร้การศึกษา ควรมีสิทธิออกเสียงในทางการเมืองเทียบเท่ากับผู้มีการศึกษาสูง  นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นข้อสังเกต  คือ ตัวเลขไม่เพียงแต่ออกมาต่ำจนน่าใจหาย  แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่า  ....คนไทยไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหลวง หรือชนบท มีแนวโน้มที่จะให้ราคาการศึกษามากเกินไป โดยเชื่อว่า คนที่มีปริญญานั้นมีความสามารถสูงส่งที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ดีกว่า..  ซึ่งเห็นได้จากครั้งหนึ่ง  กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐  ถึงกับได้กำหนดคุณสมบัติของ ส.ส. ว่า ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ   ผมคิดว่าหลายท่านคงจำกันได้นะครับ

นี่เป็นคำตอบที่ได้มาจากการใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง โดยเลือกผู้ตอบคำถามที่หลากหลายพอที่จะไม่สร้างความลำเอียงให้กับทั้งกับชาวเมืองหลวง และชาวชนบท   ที่สำคัญที่สุดในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยนั้น  เป็นการสำรวจย้อนหลังไปในปี ๒๕๔๔ ในช่วงที่ทักษิณเป็นวีรบุรุษอย่างแท้จริงสำหรับคนกรุงเทพที่เป็นชนชั้นกลาง และกำลังหมดความอดทนกับรัฐบาลประชาธิปัตย์ในสมัยนั้น  เวลานั้นยังไม่มีใครออกมาร้องแรกแหกกระเชอว่า ชาวชนบทนั่นงี่เง่าแต่อย่างไร

ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่า การดูถูกหรือความไม่ไว้ใจผู้ไร้การศึกษานั้น เป็นส่วนหนึ่งของกรอบความคิดของคนไทยซึ่งฝังหัวมานานก่อนยุคทักษิณเสียด้วยซ้ำ   แม้จะมีการถกเถียงกันว่าอาจเป็นเพราะทักษิณที่ผงาดขึ้นมามีอำนาจต่างหาก   จึงทำให้เห็นสภาพนี้ชัดเจนขึ้น

แน่ล่ะ ปัญหาอาจจะมาจากวิธีการตั้งคำถามก็ได้ อย่างคำว่า มีสิทธิออกเสียงในทางการเมืองเทียบเท่าอาจจะทำให้ผู้ตอบตีความไปว่า มีสิทธิที่จะออกความเห็นอย่างเท่าเทียมหรือ มีความสำคัญในการออกนโยบายต่างๆอย่างเท่าเทียมมากกว่าที่จะมีความหมายเป็นรูปธรรมอย่าง มีสิทธิเท่าเทียมในทางการเมือง (ซึ่งการเสนอสูตร ๗๐-๓๐ ของพันธมิตรแสดงอย่างชัดว่า มีเป้าหมายเพื่อทำลายสิทธินี้)

แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่า การศึกษา (หรือพูดอย่างชัดๆลงไปว่า ปริญญาบัตร) มีส่วนสำคัญโดยใช้เป็นเหตุผลส่วนใหญ่ในการตัดสิน ความเป็นคน คนหนึ่งของคนไทย

เมื่อคุณจบปริญญาเอกมาจากเมืองนอก และมาอยู่เมืองไทย  เชื่อขนมกินได้เลยว่า ชีวิตนี้ทั้งชีวิตของคุณใน ดินแดนแห่งรอยยิ้มนี้ จะได้รับแต่ความเบิกบาน   ความสมหวัง  และการชื่นชมจากคนไทยเป็นอย่างดี

๗. ครูที่โลกต้องการ


ข้อคิดทิ้งท้าย  ฝากไว้ให้เพื่อนครู

           จากประสบการณ์ยาวนานเกือบ ๒๕ ปีของการเป็นครูมัธยม  ช่วยร่างหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ๓ ครั้ง   อาจารย์ระดับอุดมศึกษา ๑๔ ปี  ผู้ประเมินคุณภาพการศึกษา(ภายนอก) ๗ ปี  และวิทยากรบรรยายมากกว่า ๒๐ ปี   ผมได้ข้อสรุป  เพื่อเสนอแนะต่อเพื่อนครู  ที่จะก้าวสู่การเป็นครูที่แท้จริง ๖ ประการดังนี้

            ประการแรก   เพื่อนครูจะเป็นครูที่แท้จริงได้  ต้องมองโลกตามความเป็นจริง (Assertive) คือเห็นเด็กเป็นเด็ก  ไม่ใช่ผู้ใหญ่ในร่างเด็กตัวเล็ก  ไม่คาดหวังว่าเขาจะรู้สึกผิดชอบชั่วดี  มีความรับผิดชอบเท่ากับผู้ใหญ่ที่เจริญเติบโตทางสติปัญญาแล้ว (ผู้ใหญ่สมัยนี้ส่วนมาก จิตใจอารมณ์ยังเหมือนเด็กน้อยๆอยู่เลย) และเด็กเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่รอเรามาช่วยพัฒนาศักยภาพ  ไม่ควรมีการชี้ถูก  ชี้ผิด กับเด็กแบบตายตัว  แต่ควรให้รู้ว่าถูก ผิด  ควร ไม่ควร  ขึ้นอยู่กับเป้าหมายชีวิตที่เราเลือกเดิน  หรือให้รู้ว่าทุกอย่างตัดสินที่กาลเทศะบุคคล

             เพื่อนครูไม่ต้องกลัวว่าสิ่งที่จะทำ หรือพัฒนาการเรียนรู้เป็นสิ่งผิด (เว้นแต่การไม่เข้าสอน)  ไม่ต้องกลัวใคร(ผู้อวดรู้ดี)ในโรงเรียนให้มากเกิน  ทั้งผู้บริหาร  หรือหัวหน้างานทางฝ่ายวิชาการทุกระดับที่ชอบบังคับให้เราต้องสอนตามที่เคยทำๆกันมา เพราะกฎหมายทางการศึกษา เช่น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  หลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ  ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการ  ระเบียบการส่งผลงานเลื่อนวิทยฐานะครู   ล้วนแต่ส่งเสริมให้ครูคิดค้นหาวิธีการสอนที่ดีๆ ใหม่ๆ  เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพในจัดการศึกษาทั้งนั้น  

            เมื่อเพื่อนครูกล้าคิด  กล้าทดลอง  กล้าเปลี่ยนแปลง  การสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้จึงจะเกิดขึ้น  มิฉะนั้น  เพื่อนครูก็จะได้วิธีการเดิม ๆ  ที่ล้าหลัง  และไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกขณะ  สิ่งที่เหมาะในอดีต  อาจจะเป็นอุปสรรคและปัญหาในปัจจุบันก็ได้ 

           ความเชื่อมั่น  และความตั้งใจที่จะช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างจริงจัง  จะช่วยให้เพื่อนครูมีจินตนาการในการออกแบบการจัดการเรียนรู้  หรือคิดสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆเสมอ   

            ประการที่    ครูที่แท้จริงต้องสามารถจัดระบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้กับเด็กทุกคนได้   ดังนั้น การรู้จักวิเคราะห์ผู้เรียนจากข้อมูลต่าง ๆ จึงเป็นภารกิจสำคัญมากของครูที่แท้จริง  เด็กบางคนเรียนรู้บางเรื่องได้ด้วยตนเอง  สามารถคิดวิเคราะห์ หรือจัดลำดับความคิดก็เข้าใจแล้ว   เด็กบางคนจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อทำพร้อมกับเพื่อน ๆ  บางคนก็ชอบเรียนคนเดียว   เด็กบางคนเรียนรู้ได้ดีจากสื่อ  เด็กบางคนก็อาจต้องเรียนรู้จากการทำ  แต่ครูสุดยอดที่แท้จริง จะเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้จากการทำกิจกรรม หรืองานที่เขาต้องออกแบบวางแผนเอง  ลงมือทำเอง  แก้ปัญหาเอง  สรุปทบทวนบทเรียนปัญหาเอง

            ประการที่    แผนการจัดการเรียนรู้ของครูที่แท้จริง จะต้องยึดหยุ่นสำหรับสถานการณ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้  เพราะนักเรียนของเราเป็นมนุษย์ไม่ใช่วัตถุที่ไร้ชีวิตชีวา  การเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ได้วางแผนไว้ทันที  แผนการเรียนที่ยืดหยุ่น”  มีความหมายเสมือนหนึ่ง คือ โอกาสทางการเรียนรู้  ที่มาบรรจบกับความต้องการของผู้เรียน และสัมพันธ์กับผลลัพธ์หรือมาตรฐานการเรียนรู้ของสังคมได้

            ประการที่    ครูที่แท้จริงต้องสามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในการเรียนรู้น่าสนใจ  มีชีวิตชีวา  มีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ  ลดข้อผิดพลาดเล็ก ๆ  น้อย ๆ  ที่อาจทำให้เด็กมีความทุกข์  ในชั้นเรียนและมีทัศนะไม่ดีต่อการจัดการเรียนรู้ของครู   การจัดกิจกรรมการเรียนรู้  แบบเรียนปนเล่น  (Play  and  Learn)  นอกจากจะสนุก  สร้างบรรยากาศที่ดีในห้องเรียนแล้ว  ยังทำให้เกิดการผ่อนคลายแก่ทุกคน  เด็ก ๆ  จะอยากมาโรงเรียน  ไม่หนีเรียน

            สื่อการเรียนรู้ช่วยสร้างสีสันความน่าสนใจ เป็นเครื่องผ่อนแรงทำให้ง่าย คล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น   แบบฝึกหัดหรือใบงาน  ซึ่งเป็นตัวแทนเป้าหมายขั้นตอนวิธีการสอนของครู  ในการมอบหมายกิจกรรมการเรียนรู้แก่นักเรียน  ต้องทำให้สวยงามมีสีสัน  ดึงดูดความสนใจ มีกระบวนการขั้นตอนตามลำดับการเรียนรู้  อย่าสักแต่ทำให้เสร็จมันจะกลายเป็นใบรำคาญ  ของนักเรียน

             การมอบการบ้าน  ควรยืดหยุ่นให้เด็กทำได้เต็มตามศักยภาพ  แต่ไม่ควรมากจนเป็นภาระหนักเกินวัยเด็ก  ถ้าสามารถบูรณาการกับวิชาอื่น ๆ   หรือตกลงกันทั้งโรงเรียนเรื่องการบ้านของนักเรียน  โรงเรียนที่ผมเคยรับผิดชอบบริหารจัดการ   ระดับประถมศึกษา  ผมจะให้วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษมีการบ้านทุกวัน   วิชาภาษาไทยให้มีการบ้านสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง  วิชาวิทยาศาสตร์ให้มีการบ้าน ๒ สัปดาห์ครั้ง  ส่วนวิชาอื่นๆผมให้มีการบ้านได้เพียงเดือนละ ๑ ครั้ง  ส่วนในระดับมัธยม  ผมให้วิชาวิทยาศาสตร์สั่งการบ้านเพิ่มได้ทุกสัปดาห์ ซึ่งวิธีนี้จะลดภาระงานของเด็กลงได้มาก  ไม่เดือดร้อนผู้ปกครองมากนักที่ต้องมาช่วยลูกหลานทำงานส่งครู  โดยเฉพาะวิชาการงานฯ และศิลปะ   (ที่ให้ภาษาไทยสัปดาห์ละครั้ง  เพราะวิชาภาษาไทยมีเรียนสัปดาห์ละ ๖ ชั่วโมง ทุกชั่วโมงมีการเรียนรู้ตามทักษะทางภาษา  และชั่วโมงสุดท้ายให้มีการทดสอบหน่วยนั้นๆทันที  การบ้านวิชาภาษาไทย  คือให้ไปอ่านหนังสือในวันเสาร์อาทิตย์  เรื่องอะไรก็ได้  แล้วสรุปย่อส่งครูในวันจันทร์  วิธีนี้ทำให้นักเรียนมีความสามารถทางภาษาเพิ่มขึ้น  และยังส่งเสริมการอ่านตามโครงการนโยบายกระทรวงอีกทางหนึ่ง)

             ประการที่    ครูที่แท้จริงต้องทำให้การเรียนรู้...เกิดจากความเมตตา...ด้วยใจปรารถนาดี.....  นั่นคือการใช้ความรัก  ความเข้าใจ  ความเมตตา  เป็นพื้นฐานในความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน  การสอนด้วยความรักและเมตตา    จะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของการศึกษาที่ทำให้เกิดการเรียนรู้     โดยเพื่อนครูที่หวังจะเป็นครูผู้จัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพควรถือปฏิบัติ ดังนี้
                 ๕.๑  เอาใจใส่ไต่ถามห่วงใยต่อนักเรียน  ทั้งในและนอกห้องเรียน
                 ๕.๒  ยอมรับว่านักเรียนแต่ละคน คือคนที่สามารถพัฒนาศักยภาพได้ และเป็นคนใฝ่ดี
                 ๕.๓  ให้ความสนใจอย่างจริงจังกับปัญหา  และคำถามของนักเรียน 
                 ๕.๔  ยอมรับความเป็นคน  และความแตกต่างของนักเรียน
                 ๕.๕  ให้เสรีภาพในการตัดสินใจเลือกเองในการทำกิจกรรมอย่างมีเหตุผล
                 ๕.๖  ไม่ควรสรุปว่า  นักเรียนเป็นคนไม่ดี (เลว)  ไม่มีความสามารถ (โง่)  ไม่น่าคบ (ขี้เกียจ)  และไม่น่ารัก (เหลวไหล)

              ประการสุดท้าย  ผมขอเรียนว่า  ครูที่แท้จริงระดับไหนก็ไม่สามารถขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนทั้งโรงเรียนให้สำเร็จโดยตัวคนเดียวได้   ถ้าพอเห็นว่าทั้งโรงเรียนคิดอย่างเดียวกัน    มีเอกภาพทั้งเป้าหมายและวิธีการเหมือนกัน  ก็ลงมือเลย  ถือว่าเพื่อนครูโชคดีมากที่เจอโรงเรียนในฝันอย่างนี้   แต่ถ้าพุดก็แล้ว  นำเสนอก็แล้ว  ชักชวนแล้ว  มีคนทำบ้าง  ก็อย่าท้อใจ  แอบลงมือทำตามความต้องการเลยครับ  ไม่ช้าผลดีก็จะเห็นเป็นที่ประจักษ์เอง   ดูอย่างคุณครูชาตรี  สำราญ กว่าทั้งโรงเรียนจะเห็นด้วย  ใช้เวลานานมาก    แต่อย่าหาเรื่องทุกข์ด้วยการไปคาดหวังให้ครูทั้งหมดทำตามเลยครับ   เพราะประสบการณ์ในชีวิตครูของผม  ผมสามารถจำแนกครูได้ ดังนี้

              แย่ที่สุด  คือ ครูยถากรรม  พวกนี้มีอาชีพมาทำงานในโรงเรียน พวกนี้จะมาแต่ร่างกาย  ลืมเอาจิตวิญญาณความรักเพื่อนมนุษย์มาด้วย  การเรียนของนักเรียนจึงเป็นไปตามยถากรรม   จึงต้องทำใจปลงว่า เพราะกรรมที่ชาวบ้าน และนักเรียนสร้างมาในทางที่ไม่ดี  จึงทำให้มาเจอคนประเภทนี้มาบรรจุที่โรงเรียนชุมชนของเด็ก    

                  แย่มาก  คือ  ครูผู้คุมเรือนจำ  พวกนี้ชอบเห็นเด็กเป็นเทวดา  ต้องไม่ทำความผิดอะไรเลย  ถ้าผิดหรือพลาดขึ้นมา  จะถือเป็นเรื่องใหญ่โตขนาดคอขาดบาดตายได้  จึงดีแต่คอยบ่น  คอยด่า คอยเข้มงวด กวดขัน คอยจับผิดไม่วางตา  (แต่พวกที่เรียกตัวเองว่า ครู”  ก็แอบทำความชั่วร้ายไม่ใช่น้อยทีเดียว) 

              ปานกลาง  คือ  ครูอ่านหนังสือ พวกนี้ชอบอธิบายความรู้ตามหนังสือเรียน บางทีก็ไม่จำเป็น  แต่ก็ยังเห็นส่วนมากทำกันเป็นกิจวัตรประจำวัน (พวกนี้ไม่ยอมเข้าใจ และรับรู้ว่าหนังสือแบบเรียน คือ สื่อ ไม่ใช่หลักสูตร) ผมถือว่าพวกนี้เสมือนหนึ่ง  รุ่นพี่สอนรุ่นน้องเท่านั้น  (บางทีรุ่นพี่ยังอธิบายดีกว่าผู้ที่เรียกตัวเองว่าครูก็มีไม่ใช่น้อย)

              ดีพอใช้  คือ ครูผู้สอน  พวกนี้ชอบอธิบายแนะนำให้เห็นชัดเจน  มีการยกตัวอย่างประกอบ หรือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และคอยเคี่ยวเข็ญให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมอย่างจริงจัง  จนกว่านักเรียนจะรู้จริงหรือทำได้ 

              ดีมาก  คือ ครูผู้ฝึก พวกนี้มักคิดว่าการสอนที่ดีต้องให้นักเรียนได้ลงมือฝึกฝนปฏิบัติตามหลักการ และขั้นตอนของการเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ มีเทคนิควิธีการสอนที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ (จิตวิทยา) ผมยกย่องครูเหล่านี้  และผมใฝ่ฝันอยากเห็นผู้ที่รับอาสามาฝึกคนมีทัศนคติและการกระทำอย่างนี้  แต่...หายาก   

               ดีที่สุด คือ ครูผู้จัดการเรียนรู้ ครูพวกนี้มักมีบทบาท ๒ อย่าง คือ    ๑. มักสั่งให้นักเรียนทำกิจกรรมโดยมีเงื่อนไขและเป้าหมายผลลัพธ์ที่ชัดเจน          ๒. จะประเมินผลจากผลลัพธ์  กระบวนการทำกิจกรรม และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างทำกิจกรรมหรือจบกิจกรรม    โดยการซักไซ้ไล่เรียงการทำกิจกรรมทุกขั้นตอน   ถ้านักเรียนทำไม่ได้หรือตอบไม่ได้  ก็จะให้นักเรียนไปทำใหม่จนกว่าจะทำได้       แต่.....ครูพวกนี้ต้องแอบใฝ่รู้  ใฝ่หาสื่อ กิจกรรม ทุน (บางครั้งต้องควักกระเป๋าตัวเอง) มาให้นักเรียนได้ลงมือทำ    เพราะจะหาผู้บริหารโรงเรียน  หรือปู้บริหารระดับจังหวัดมาสนับสนุนนั้นเป็นเรื่องยากมาก  โดยเฉพาะประเทศไทยคงต้องงมเข็มในมหาสมุทร    (ส่วนสหรัฐอเมริกามีแล้วมากมาย  แต่ที่ดังมาก คือ ครูเรฟ  ผู้ที่สนใจลองหาหนังสือ "ครูนอกกรอบ  ห้องเรียนนอกแบบ" มีการแปลและจัดพิมพ์เผยแพร่โดย สสค.)

                   ผมหวังว่า  ครูผู้จัดการเรียนรู้คงงอกเงยผลิดอกออกใบบ้างในสังคมไทย  และผมหวังว่าเมื่อมีครูผู้จัดการเรียนรู้เกิดขึ้น  สังคมไทยจะเป็นสังคมที่ใช้เหตุผล จากหลักการ แนวคิดตามหลักสัจธรรมของธรรมชาติมาใช้ในการดำเนินชีวิต  ไม่ใช่ใช้แต่เหตุผลจากความรู้สึก  อารมณ์ชอบไม่ชอบของตัวเอง  ดังเช่นคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยุคปัจจุบันเป็นอยู่  ที่อยู่ดีๆ ก็แบ่งชนชั้น  ดูถูกประชาชน   ๒ มาตรฐาน   พวกตัวเองทำผิดสารพัดผิดไม่เป็นไร   ถ้าอีกพวกหนึ่งทำเหมือนกันบ้าง   ต้องผิด ต้องเลว  ต้องฆ่าฟันให้ตายเสียให้หมด   

                   เฮ้อ! สงสารสังคมไทย  ที่บรรพบุรุษอุตส่าห์ใช้พระพุทธศาสนากล่อมเกลาจิตใจคนในชาติ  จนกลายเป็นคนที่มีจิตใจ ไม่เห็นแก่ตัว  ยอมรับความจริง  ไม่หลงตัวตน   มีเมตตากรุณารักคนทั้งโลก   จึงทำให้ชาติไทย  คนไทยในอดีตโดดเด่นเรื่อง จิตใจ  ซึ่งปรากฏบนใบหน้าที่มีแต่รอยยิ้ม  จริงใจไม่เสแสร้ง   เห็นคนทุกชาติในโลกเป็นคนเสมอ   แต่ปัจจุบันกลายเป็นสังคมที่มีแต่ความเกลียดชัง  โกรธแค้น  ผูกอาฆาตมาดร้าย  เหลวไหล   เห็นบางชาติ  บางคนเป็นเทวดา  และมีแต่การกล่อมเกลาความคิดให้คนในชาติอยากได้แต่คนดีมาปกครองประเทศ   เรียกร้องใฝ่หาอยากได้คนดีมาเป็นพ่อ  แม่ พี่น้อง  ครู เพื่อน  คู่ครอง  ยกเว้นตัวเองไม่ต้องเป็นคนดี  เพราะคนอื่นต้องดีต่อฉัน  (พวกดีแต่วิ่งหารักแท้   เพราะเข้าใจว่า รักแท้”  คือคนที่มารักตนเอง   ต้องตามใจตนเอง  ไม่ขัดใจตนเอง   ก็ลองดูเด็กทุกวันนี้  พอขัดใจหน่อย  ดุ  ตำหนินิดหน่อย   แกบอกว่าพ่อแม่ไม่รักแกแล้ว) 

                  ในทัศนะผม   เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ และสังคมไทยต้องได้รับการเรียนรู้ที่เจ็บปวดอีกนาน  เพราะคนไทยสังคมไทยยังยึดติดกับเรื่องคนดี  ๓ เรื่อง ด้วยกัน 
                  เรื่องที่ ๑  การแสวงหาคนดีสมบูรณ์แบบ  ที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในโลกความจริง    
                  เรื่องที่ ๒  อยากให้คนดีคนนั้นเป็นคนดีตลอดไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง    
                  เรื่องที่ ๓  อยากให้ทุกคนเป็นดี  โดยใช้กลยุทธ์  วิธีการแบบง่ายๆ เช่น สอน ว่า  ชี้แนะ บ่นก็พอ  ถ้าไม่มีใครเปลี่ยนก้กล่าวหาว่าคนๆนั้น  ไม่มีจิตสำนึกที่ดี  (แบบเดียวกับที่พวกครูทำกันหน้าเสาธงทุกวันนี่แหละ)  ไม่ต้องไปฝึกฝนควบคุมจิตใจ    หรือมีกระบวนการพัฒนาให้วุ่นวาย       

                 อย่างนี้แล้วสังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร  เพราะมีมิจฉาทิฏฐิเรื่องคนเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด   นี่ยังดีว่า  สังคมไทยยังมีหลวงปูหลวงพ่อสายปฏิบัติออกมาอบรมสั่งสอนชี้แนะทางที่ถูก  ให้ละคลายอัตตาลงบ้าง  ปัญหาเมืองไทยจึงไม่มากและยาวนานเหมือนบางประเทศ      

๖. ประเมินตามสภาพจริง ช่วยครูมีคุณภาพ


การประเมินผลการเรียนรู้  ต้องประเมินตามเป้าหมายหรือตัวชี้วัด

           การประเมินผลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ  เพราะเป็นตัวตัดสิน  หรือชี้ให้เราเห็นว่า  สิ่งที่เราทำลงไปนั้น   บัดนี้ได้บรรลุผลเพียงใด  ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว   แต่การวัดผลประเมินผลการเรียนปัจจุบันในสถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถตัดสินคุณภาพอะไรได้เลย   ซึ่งผลการทดสอบแห่งชาติ (O-net) เป็นประจักษ์พยานได้  แม้นักเรียนจะมีผลทางการเรียนสูงมากในโรงเรียน  แต่ผลการทดสอบแห่งชาติกลับตกต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน  บางวิชาคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ก็มี    ปัญหาเรื่องนี้มีหลายสาเหตุอยู่หลายประการ   ผมจึงเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ตามสาเหตุ  คือ

            .  ครูส่วนใหญ่วัดความรู้  ไม่ได้วัดจากการเรียนรู้   ทั้งนี้เพราะการจัดการเรียนรู้ของครูส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายการศึกษา หรือตามหลักสูตร  หรือตามตัวชี้วัดการเรียนรู้   ทำให้เวลาวัดและประเมินผล มักจะวัดจากการจดจำเนื้อหาความรู้ในหนังสือแบบเรียนที่ครูใช้สอนอยู่ในโรงเรียนนั้นๆ     ซึ่งการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่มีคุณภาพจริงๆ  ต้องมุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย หรือผลลัพธ์ที่สังคมต้องการ   โดยเป้าหมายหรือผลการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้จริง   เกิดจากพื้นฐาน ๓ ประการ ดังนี้

                ๑. อะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าที่ครู หรือโรงเรียนต้องการ (เป้าหมาย)
                ๒. อะไรคือพยานหลักฐานของความสำเร็จ (ผลงานที่ผ่านเกณฑ์ /เงื่อนไข /ความพอใจฯ) 
                ๓. อะไรคือสิ่งที่จะทำให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ ความเข้าใจ ความสนใจ และความยอดเยี่ยมในผลงานนั้นๆ  (กิจกรรมการเรียนรู้ / แหล่งศึกษาค้นคว้า / สื่อการเรียนรู้)

            ดังนั้น การวัดประเมินผลการเรียนรู้ จะวัดจากว่าผู้เรียนทำกิจกรรมต่างๆ จนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมาย หรือมาตรฐานการเรียนรู้หรือยัง (Output) และการเรียนรู้นั้นมีระดับคุณภาพขนาดไหน (Performances) จนนำไปสู่ผลงานที่ดี (Outcome) หรือ หลักฐานประจักษ์พยานแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนพึงพอใจนั้นๆ (Impact) 

            .  การวัดผลประเมินผลไม่สอดคล้องกับสภาพจริงตามธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์  การวัดผลประเมินผลที่ดี ก็คือ การประเมินผลเชิงประจักษ์  ซึ่งเป็นการประเมินตามสภาพจริงของชีวิตจริงและธรรมชาติของสังคม  ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า  คนเป็นครูที่แท้จริงมักทำอยู่แล้วและทำเป็นประจำ  แต่ไม่รู้ตัวเองเท่านั้น  เพียงแต่เปลี่ยนจากการประเมินที่เน้นวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยข้อสอบ และตัดสินด้วยคะแนน   มาเป็นวิธีการใช้วิธีดูจากผลงาน  การนำเสนอ  การปฏิบัติ  พฤติกรรม  บุคลิก ลักษณะ และอีกหลายๆ วิธีตามเงื่อนไขการเรียนรู้ และเกณฑ์ (Rubric) อย่างเป็นระบบ โดยมีหลักฐานชัดเจน  
       
           ทั้งนี้   การประเมินผลตามสภาพจริงเชิงประจักษ์      ต้องเป็นการประเมินไปตามเป้าหมายและเงื่อนไขในลักษณะองค์รวมและบูรณาการจากชีวิตจริง     ตัวอย่างเช่น  วิชาพืชสวน (กล้วย)   ให้เพื่อนครูลองพิจาณาดูว่าข้อไหนเป็นเป้าหมาย  หรือจุดประสงค์   ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  หรือ ตัวชี้วัดที่ดีในการจัดการเรียนรู้
          ๑)  เพื่อให้นักเรียนมีความรู้  ความเข้าใจการปลูกต้นกล้วย
          ๒)  เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการปลูกต้นกล้วย
          ๓)  เพื่อให้นักเรียนปลูกต้นกล้วยได้ และนำไปใช้ในชีวิตได้
          ๔)  เพื่อให้นักเรียนสามารถแปรรูปหรือจำหน่ายผลิตผล จากต้นกล้วยที่นักเรียนปลูกได้

          ถ้าเพื่อนครูเห็นว่า ข้อ ๔)    เป็นเป้าหมายการจัดการเรียนรู้ที่ดี     ถือว่าเพื่อนครูเข้าใจเรื่องการจัดการเรียนรู้บ้างแล้ว  จะเห็นว่า ข้อ ๔)  ครอบคลุมทั้ง ๓ ข้อแรก  และนอกจากนั้นยังครอบคลุมไปถึงการดูแลรักษาระหว่างเติบโต  ความรู้  ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการผลผลิตของตนเองอีกด้วย  ถือว่า ข้อ ๔) เป็นเป้าหมายที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงซึ่งเป็นไปในลักษณะองค์รวมและบูรณาการชีวิตจริง

           การประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริงเชิงประจักษ์  มีรายละเอียดในการดำเนินการ ดังนี้   
  • ตัวชี้วัดการเรียนรู้ต้องชัดเจนระบุรายละเอียดครบทั้งเป้าหมาย เกณฑ์ เงื่อนไขความสำเร็จ และกิจกรรมการเรียนรู้
  • ตัวชี้วัดการเรียนรู้ที่ดี  ต้องประเมินได้หลายอย่าง (หลายมิติ) ในงานชิ้นเดียวกัน เช่น สามารถประเมินความรู้ได้หลายวิชา  ประเมินคุณลักษณะ และผลการปฏิบัติงานของนักเรียน เจตคติ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความสามารถ ทักษะการเรียนรู้ทักษะการปฏิบัติ  และประเมินกระบวนการทำงาน ฯลฯ
  • ต้องประเมินให้เห็นว่าได้ลงมือปฏิบัติจริง หรือรู้จริง  เข้าใจจริงจากแหล่งและข้อมูลที่หลากหลาย เช่น จากผลงานกิจกรรมที่ทำ แบบทดสอบ แบบบันทึกการปฏิบัติงาน โครงงาน แฟ้มสะสมงาน บันทึก ความรู้สึก รายงาน  รูปถ่าย  หลักฐานต่างๆ   ฯลฯ เป็นต้น 
  • จะให้การประเมินน่าเชื่อถือ  ทุกคนยอมรับ และเป็นการประเมินที่สะท้อนผลการเรียนรู้จริง ก่อนที่ครูจะตัดสินให้คะแนน  หรือจัดระดับ  ให้น้ำหนัก  ครูต้องใช้หลายๆ วิธีมาประเมินประกอบด้วย  เช่น การสังเกต  การสอบถาม  การสัมภาษณ์  การตรวจสอบ  การทดสอบ  การปฏิบัติจริง  การแข่งขัน  โดยอาจจะใช้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น  ตัวนักเรียน  เพื่อนนักเรียน  นักเรียนรุ่นพี่  หรือผู้ปกครอง มามีส่วนร่วมด้วย  ไม่ใช่นำมาจากผลการตัดสินของครูแต่เพียงผู้เดียวเหมือนการวัดผลแบบเดิมๆ
  • ต้องมีการประเมินภาพรวมวิชา  ๒ ครั้ง คือ ประเมินก่อนเรียน และหลังเรียน  และต้องประเมินไปตามตัวชี้วัดการเรียนรู้เมื่อเสร็จสิ้นแต่ละกิจกรรม  หรือทุกแผน  หรือทุกหน่วยการเรียนรู้


         หากเรายอมเหนื่อยและลงมือปฏิบัติจริงทีละหน่วย/แผน  ในช่วงปีแรก ๆ  เราจะทำได้ง่ายขึ้นและเบาแรงได้ในภายหลังตามลำดับ   เราจะมองเห็นแนวทางในการประเมินชัดเจนขึ้น   เครื่องมือประเมินที่ค่อยๆสร้างและสะสมไว้จะมากขึ้น  สามารถนำไปใช้ในโอกาสต่อไปได้  งานสร้างเครื่องมือจะลดลง การประเมินตามสภาพจริงเชิงประจักษ์ของครูก็จะมีประสิทธิภาพขึ้นตลอดเวลา

         . การประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง  มีผลดีทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จริง มีทักษะและความสามารถอย่างแท้จริง   ถ้าเพื่อนครูช่วยกันประเมินการเรียนรู้ตามสภาพจริง  จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในทุกระดับ     ในสภาพวิกฤตทางคุณภาพการศึกษาของชาติในขณะนี้  การให้ความสำคัญต่อการประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริงเชิงประจักษ์  จะช่วยให้ครูและโรงเรียนรู้ปัญหาในการจัดการเรียนรู้  ได้รู้จุดอ่อนที่แท้จริงที่ต้องแก้ไขได้ถูกต้องตรงประเด็น   ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตคุณภาพการศึกษาของไทยได้




๕. ครูคุณภาพ มีระบบการจัดการเรียนรู้


๕. ระบบการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ 

           เป็นข้อยุติที่แน่นอนในหมู่วงนักการศึกษา  ที่ค้นคว้ารวบรวมแนวคิดในการแก้ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลกแล้วว่า  คุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุดขึ้นอยู่กับการได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ในชีวิตจริง  ซึ่งข้อสรุปนี้ก็สอดคล้องกับหลักการทางจิตวิทยาการเรียนรู้และจิตวิทยาพัฒนาการนั่นเอง  การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ  ตามที่นักวิชาการค้นคว้ามีหลายวิธี  หลายแนวทาง  ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างหลากหลายตามที่มีผู้คิดค้นได้   แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไรก็ตาม  วิธีการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพจะมีหลักสำคัญคล้ายๆกัน และสอดคล้องกัน   ดังนี้

 ทำงานอย่างมีคุณภาพ  (สอดคล้องกับหลัก PDCA)
     
    P = PLAN  วางแผนเตรียมการก่อนดำเนินการ
  • วิเคราะห์หลักสูตร  แล้วนำมากำหนดเป้าหมาย หรือผลที่อยากให้เด็กได้  เด็กเป็น 
  • วิเคราะห์ผู้เรียนว่ามีพื้นฐานความรู้  ทักษะพื้นฐานตามเป้าหมายที่วางไว้เพียงใด   ยิ่งถ้าสามารถศึกษาความพร้อมทางด้านสุขภาพกาย  สุขภาพจิต  ปัญหา  ความต้องการ  ภูมิหลัง ความถนัดความสามารถพิเศษ  อารมณ์จิตใจ  และเจตคติในการเรียนหรือต่อสิ่งที่จะเรียนรู้ยิ่งดีใหญ่   
  • จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่ระบุแนวปฏิบัติ  วิธีการอย่างเป็นระบบ  มีขั้นตอนการฝึกหรือการทำ  กิจกรรมตามธรรมชาติหรือจิตวิทยาการเรียนรู้  แนะนำให้ใช้สื่ออะไรบ้าง  มีหลักในการประเมินผล  และมีเกณฑ์ตัวชี้วัด  เงื่อนไขความสำเร็จอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม


     D = DO  ดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้    
  • สร้างความพร้อม   เร้าความสนใจ   ท้าทายผู้เรียนให้อยากเรียนรู้ 
  • ให้ผู้เรียนลงมือทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุก  ตื่นเต้น  ท้าทาย  แปลกใหม่  ตามลำดับขั้นตอน
  • ให้มีการแข่งขันการทำกิจกรรม  การถาม  การตอบทุกครั้ง 
  • ทุกครั้งที่เรียนรู้ หรือปฏิบัติตามกิจกรรมเสร็จในแต่ละชั่วโมง  ครูควรให้เด็กสรุปการเรียนรู้เป็น Concept Mapping  หรือสรุปเป็นใจความก็ได้  หรือให้จดเขียนทุกอย่างที่ได้ยิน  ได้เห็นครูพูด ครูอธิบาย  และคำพูดความเห็นของเพื่อนๆ ก็ยิ่งดีมาก ลงในสมุดบันทึกการเรียนรู้อย่างละเอียด
  • ถ้าเด็กโต หรือชั้นมัธยมก็ให้ไปศึกษาค้นคว้า หรือพิสูจน์  ทดสอบ  ทดลองตามเรื่องที่กำหนด หรือตามที่นักเรียนสนใจ แล้วสรุปเป็นรายงานนำเสนอหน้าชั้นเรียน  ด้วยรูปแบบที่น่าสนใจ เช่น Power Point ฯลฯ
  • ครูหมั่นซักถามซักไซ้ไล่เลียงในเรื่องที่ผู้เรียนนำเสนอ  กระตุ้นให้ตอบ ด้วยกระบวนการคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์หรือการวิจัย
  • ให้โอกาสเด็กตั้งปัญหาต่อเพื่อนหรือครู และให้ช่วยกันหาคำตอบอย่างจริงจังกับคำถาม/ปัญหานั้นๆ 

   C =  Check  ประเมินผลการจัดการเรียนสอน และรายงานผลการสอน
  • การสอนทุกคาบ  ครูต้องบันทึกการสอน พฤติกรรมนักเรียน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่สอนโดยละเอียด
  • ประเมินผลการเรียนรู้ในแต่ละหน่วยตามตัวชี้วัดการเรียนรู้ และวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ควรให้ครอบคลุมทั้งความรู้(K) และปฏิบัติ (P)   โดยแบบทดสอบการวัดผลประเมินผล  ควรมี ๒ ตอน   ตอนที่ ๑ สอบถามความรู้  หลักการ  ขั้นตอน  ความรู้เสริมอย่างละเอียดคลอบคลุม (K)   ตอนที่ ๒ สอบวัดการปฏิบัติจริง (P)      ตัวอย่างเช่น  วิชาภาษาไทย (หน่วยการเขียนเรียงความ)  ตอนที่ ๑   ให้ทดสอบความรู้ว่า  การเขียนเรียงความคืออะไร  ต่างจากการเขียนจินตนาการ จดหมาย  สารคดีอย่างไร   เรียงความที่ดีมีลักษณะอย่างไร   การเขียนเรียงความที่ดีมีกระบวนขั้นตอนอย่างไร  การเขียนเรียงความที่ดีมีกี่ประเภท   วิธีการเขียนคำนำให้น่าอ่านน่าสนใจควรเขียนอย่างไร ฯลฯ  ตอนที่ ๒  ให้เขียนเรียงความตามสถานการณ์ที่กำหนดให้
  • ตรวจสอบการจดบันทึกความรู้  ข้อคิด และความเห็นของนักเรียนในการเรียนรู้   ถือเป็นการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน  และประเมินจิตพิสัย หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (A) ในแต่ละคาบอีกทางหนึ่งด้วย (ครูสามารถนำเอาบันทึกตรงนี้  มารวบรวมจัดทำเป็นบันทึกการสอนส่วนหนึ่งของตนเองได้
  • ครูประเมินจิตพิสัย หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่กำหนดไว้ตามคุณลักษณะหรือธรรมชาติวิชา (A)  ไม่ใช่นำเอาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของโรงเรียนมาใช้นะครับ  อันนั้นประเมินในภาพรวมของโรงเรียน (ปพ ๔)
  • ครูสรุปผลการประเมินผลทุกด้าน  ลงในแบบบันทึกผลการจัดการเรียนรู้  โดยจำแนกให้เห็นชัดว่าแต่ละด้านมีผู้ผ่านเกณฑ์กี่คน  ไม่ผ่านกี่คน  และครูต้องวิเคราะห์ข้อมูลจากการวัดผลประเมินผล  ว่าที่ไม่ผ่านเกณฑ์เป็นเพราะเหตุใด  แล้วครูจะมีวิธีดำเนินการแก้ไขแต่ละครั้งอย่างไร  ด้วยวิธีใด (ไม่ควรเกิน ๓ ครั้ง) ถ้าครูทำได้อย่างนี้  ครูก็จะได้ทั้งบันทึกผลการสอนและวิจัยในชั้นเรียนไปพร้อมกัน


    A = Action  นำผลการประเมินไปปรับปรุงการสอน
  • นำผลจากการสรุปที่ได้วิเคราะห์และที่ได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว  พร้อมทั้งความคิดเห็นเสนอแนะของผู้บริหารหรือผู้นิเทศ  มาเป็นข้อมูลที่จะนำไปปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการ  หรือตัวกิจกรรม หรือขั้นตอนการจัดกิจกรรม หรืออาจจะเป็นสื่อการเรียนรู้ หรือการวัดผลประเมินผลก็ได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์สาเหตุว่าเด็กไม่ผ่านเกณฑ์  เป็นเพราะเหตุใด  หรือจากสิ่งใด
  • นำผลจากแบบบันทึกผลการจัดการเรียนรู้ แต่ละแผน/หน่วยการเรียนรู้ทั้งหมดในภาคเรียนนั้นๆ  มาสรุปเป็นงานวิจัยภาพรวมวิชา  เพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้ในวิชานั้นในปีการศึกษาต่อไป (แน่ะ ! เห็นไหมครับ  กลายเป็นผลงานทางวิชาการไปแล้ว  จะเอาไปส่งเลื่อนวิทยฐานะก็ยังได้)
  • นำผลการวิจัยภาพรวมที่สังเคราะห์มาจากแต่ละแผน/หน่วย  มาปรับปรุงเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดี มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้จริงในปีการศึกษาต่อไป (แน่ะ ! กลายเป็นงานวิจัยและพัฒนาได้อีก)


 . เห็นเด็กเป็นเด็ก
1.      เชื่อว่า เด็กทุกคนเหมือนกัน  แต่ไม่เท่ากัน   และแตกต่างกันไปตามสภาวะแวดล้อมของเด็ก
2.      เชื่อว่า เด็กมีศักยภาพที่พร้อมในการเรียนรู้   แต่ยังมิได้ถูกฝึกฝนอย่างถูกวิธี
3.      เชื่อว่า เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ถ้าให้ข้อมูล เป้าหมาย โอกาส และเวลาอย่างเพียงพอ
4.      เชื่อว่า เด็กไม่ตั้งใจเป็นคนไม่ดี หรือทำชั่ว  เพียงแต่เด็กทำผิดเพราะพลาดไป เผลอไป ไม่รอบคอบพอ 
5.      เชื่อว่า คำพูดแต่ละคำ การกระทำแต่ละครั้งของครู  มีคุณค่าและอิทธิพลต่อชีวิตของเด็กเสมอ

.   รักสิ่งที่ทำ  ศรัทธาสิ่งที่เป็น
1.      รักความเป็นครู   อยากชี้แนะ   อยากถ่ายทอด   อยากฝึกฝนเด็ก
2.      ใฝ่รู้  ชอบอ่าน  ชอบศึกษาค้นคว้าแสวงหา  ชอบการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา
3.      มีสติพร้อมจะอดทนเมื่อเจอปัญหา   มีสมาธิหนักแน่นในงานที่ทำ 
4.      เจอปัญหาอุปสรรคมากๆ  ก็ไประบายกับกัลยาณมิตร  หรือไปเที่ยวในที่ต่างๆ เดี๋ยวก็หาย

สิ่งที่ครูไม่ควรทำ 
1.    ครูสอนอธิบายหนังสือเรียนจนจบ ...แต่นักเรียนไม่จบ  ยัดเยียดเนื้อหาสาระมากเกินไป  นักเรียนไม่มีโอกาสคิดทำเอง
2.    นักเรียนเรียนก็ได้  ไม่เรียนก็ได้  สิ้นเทอมก็ให้ผ่านทุกคนโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ
3.    คิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กตั้งใจเรียนทุกวัน   ให้เด็กทุกคนมีความรู้เท่ากันให้ได้ 
4.    ให้แต่ภาระงาน  หรือรายงานชอบสอนแบบกิจกรรมกลุ่ม  แต่คะแนนและผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามกระบวนกลุ่ม,   ชอบให้คะแนนทำรายงานตามรูปปกที่สวย ภาพข้างในมาก พิมพ์ได้เยอะ ทำรูปเล่มดี แต่ไม่เคยตรวจเนื้อหาว่านักเรียนรายงานจากการศึกษาค้นคว้าหรือเปล่า   ทั้งหมดสร้างภาระการทำงานให้เด็กมาก  แต่ไม่มีความหมายต่อการเรียนรู้

. สิ่งที่ต้องให้นักเรียนช่วยทำ
1.    ให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนร่วมกัน ช่วยสอนเพื่อน แนะนำรุ่นน้อง เพื่อแบ่งปันความรักแก่กัน
2.    ให้นักเรียนช่วยเสนอแนะวิธีการจัดการเรียนรู้ หรือระบุเรื่องที่จะเรียนรู้ในครั้งต่อไป
3.    ให้นักเรียนวิจารณ์และประเมินผลงานการเรียนรู้ของตนเอง  หรือเพื่อนตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ (Rubric) เพื่อฝึกให้มีมุมมองหลายด้าน  และทำให้มองเห็นผลงานที่ดีควรเป็นอย่างไร  และถ้าจะปรับปรุงข้อบกพร่องให้ดีขึ้นควรทำอย่างไร
4.    ให้นักเรียนช่วยกันเสนอปัญหาในการเรียน การทำกิจกรรม  เพื่อร่วมกันคิดหาวิธีแก้ปัญหา และแก้ปัญหาด้วยกันตามข้อตกลงนั้นๆ


ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม 

.  การจัดการเรียนรู้ที่ดี   ควรมีหรือกำหนดเป้าหมายชัดเจน  และเป้าหมายที่จะพัฒนา ฝึก ปลูกฝังให้กับผู้เรียนในแต่ละภาคเรียนไม่ควรมีมากเกินไป  เอาเฉพาะเด่นๆก้พอ  จะได้มีเวลาพัฒนาปลูกฝังได้อย่างประณีต  และควรมีเวลาว่างประมาณ ๒-๓ สัปดาห์เพื่อให้เด็กได้เลือกที่จะเรียนรู้  หรือทำในสิ่งที่เขาสนใจบ้าง 
  
. หัวใจของการศึกษาที่แท้  คือ 
  • การศึกษา ไม่ใช่เด็กเรียนรู้อะไรได้มากแค่ไหน แต่อยู่ที่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่มีคุณค่า ได้ฝึกฝนทักษะหรือคุณลักษณะที่เหมาะสมจำเป็นต่อชีวิตอนาคตที่เขาจะเลือกเป็น
  • การศึกษาที่ดี  คือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข  กระตือรือร้นที่จะค้นหาคำตอบ  และได้แก้ปัญหาร่วมกันกับเพื่อน  มีโอกาสได้คิดสร้างสรรค์มากขึ้น
  • การเรียนรู้ต้องให้โอกาสเด็กสร้างปัญญาเสมอ  เช่น การฝึกตั้งคำถาม การคิดหาคำตอบอย่างหลากหลาย รู้จักตัดคำตอบที่เป็นไปไม่ได้ออก  การสรุปที่สามารถอ้างอิงข้อมูล  หลักฐาน  ข้อเท็จจริง  จนสามารถฝึกฝนสติปัญญา ทักษะ  นิสัย  คุณลักษณะได้อย่างกว้างขวาง  ละเอียด  ลึกซึ้งขึ้นเสมอ
  • การเรียนรู้ที่ดี  คือ ทำให้นักเรียนรักที่จะเรียนรู้  ใฝ่รู้

๓.  ครูที่แท้จริง  คือ....
  • ไม่ใช่ผู้มีความรู้อัดแน่นด้วยสรรพวิทยา  แล้วนำความรู้นั้นไปยัดเยียดในสมองเด็ก  จนยิ่งเรียน   ยิ่งโง่  คิดไม่เป็น
  • ครูที่แท้จริง  จะมุ่งสอนให้เห็นคุณค่าของชีวิต  สอนให้เห็นเหตุและผล  สอนให้เห็นความงามสิ่งรอบๆตัว  สอนเด็กอย่างมีความสุข  เด็กก็มีความสุขรักที่จะเรียนรู้  และพร้อมจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองเสมอ   


 .   การศึกษาที่ดีต้องช่วยพ้นทุกข์  สร้างความสุข

      ทุกวันนี้   เด็ก ๆ ไม่มีความสุขในการมาโรงเรียน  เขามีแต่ความทุกข์........ทุกข์มาจากบ้านแล้ว ยังต้องทุกข์ที่มาเรียนอีก 
เขาทุกข์  .....เพราะครูไม่เข้าใจปัญหาของเขา และไม่ช่วยหาทางออกให้เขาบ้าง  ไม่รักเขาเหมือนลูก  แต่ชอบเรียกเขาว่า  “ลูกศิษย์
       เพิ่มทุกข์ .... โดยให้เขาเรียน  ในสิ่งที่เขาไม่อยากเรียน  เรียนไม่รู้เรื่อง  ไม่เข้าใจ  เรียนมากเกินไป  ไม่รู้จะเรียนไปทำไม   เขาต้องทำในสิ่งที่เขาไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม
    ทนทุกข์  ...   เพราะเขาคิดว่าเขาไม่ใช่นักเรียน  แต่เขา คือ นักโทษ... ในเรือนจำทางการศึกษา

                 ถ้าการมาโรงเรียน  คือ  ความทุกข์  การศึกษาก็จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง