วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กลยุทธ์การสอนอ่านภาษาไทย


                                                         กลยุทธ์การสอนอ่านภาษาไทย

                                                                        

     กลยุทธ์การสอนอ่านไทยนี้ เป็นบทความที่เรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์ในการสอนและการวิจัยเชิงทดลองในการแก้ปัญหาการอ่านหนังสือไม่ออกของนักเรียนชั้นประถมฯ (แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับคนในวัยอื่นๆ ที่ประสบปัญหาการอ่านไม่ออกได้ด้วย) 

เอกสารชุดนี้จะนำเสนอตั้งแต่ขั้นตอนการสอน เทคนิคการสอนที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้รวดเร็วและสัมฤทธิผล รวมตลอดถึงวิธีการทดสอบความสามารถในการอ่านของผู้เรียน โดยเขียนเป็นตอนสั้นๆ รวม 12 ตอน ดังต่อไปนี้ 

ตอนที่ 1: หลักการสอนพยัญชนะ 
ตอนที่ 2: การสอนสะกดคำโดยใช้หลักการเชื่อมโยงความรู้ 
ตอนที่ 3: ประโยชน์ของการฝึกสังเกตรูปร่างของสระต่างๆ 
ตอนที่ 4: การจัดเนื้อหาอย่างเหมาะสม 
ตอนที่ 5: การจัดแบบฝึกอย่างเหมาะสม 
ตอนที่ 6: ขั้นตอนการสอนอ่านสะกดคำ 
ตอนที่ 7: การสอนระดับเสียงของคำเป็น-คำตายอย่างง่ายๆ 
ตอนที่ 8 : การจัดลำดับการสอนอย่างเหมาะสม 
ตอนที่ 9 : หลักการสอนสระที่มีรูปซับซ้อน 
ตอนที่ 10: หลักการสอนสระเปลี่ยนรูป 
ตอนที่ 11: หลักการสร้างแบบทดสอบความสามารถในการอ่านสะกดคำ 
ตอนที่ 12: บทสรุป 


ตอนที่ 1: หลักการสอนพยัญชนะ 
ในระยะเริ่มต้นของการสอนอ่านไทย หากเด็กยังไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพยัญชนะ ควรเริ่มสอนพยัญชนะเพียง 28 ( หรือไม่เกิน 30 ) ตัว เท่านั้น โดยสอนคราวละ 1-2 ตัว เรียงลำดับจากพยัญชนะที่มีรูปไม่ซับซ้อน ไปหารูปที่ค่อนข้างยาก และตัวที่มีรูปร่างคล้ายๆกันควรสอนต่อเนื่องกัน 

ตัวอย่างเช่น เริ่มจาก ง , บ-ป , พ-ฟ, ท, ว, ร, ก-ถ, อ-ฮ, ย, จ, ม, น-ฉ, ด-ต, ค-(ศ), ล-ส, ข-ช, (ฃ)-ซ, ผ-ฝ, ห เป็นต้น แต่ไม่มีความจำเป็นต้องสอนจนครบทั้ง 44 ตัว ก่อนเริ่มการสอนสะกดคำ เพราะนอกจากจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่งแล้ว เด็กยังอาจเกิดความสับสนขึ้นเนื่องจากรูปพยัญชนะที่ค่อนข้างยาก ประกอบกับเสียงที่ซ้ำๆกัน เช่น ด-ฎ อีกด้วย 

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก่อนการสอนสะกดคำ คือ การให้เด็กสามารถออกเฉพาะเสียงโดยไม่ออกชื่อของพยัญชนะ เช่น ตัว "ต" เด็กต้องฝึกออกเฉพาะเสียง "ตอ" โดยไม่เรียกว่า " ตอ - เต่า " เพราะการเรียกทั้งชื่อและเสียงของพยัญชนะควบคู่กันจะเป็นอุปสรรคในการฝึกสะกดคำ 


ตอนที่ 2 : การสอนสะกดคำโดยใช้หลักการเชื่อมโยงความรู้ 
โดยปกติ เมื่อเรากำลังเริ่มเรียนรู้เรื่องใด กระบวนการในสมองจะทำการค้นหาว่า เราเคยรู้เรื่องที่คล้ายๆกันมาก่อนหรือเปล่า หลังการค้นหา "สมอง" จะทำการเทียบเคียงและเรียนรู้ จากนั้นจะบันทึกข้อมูลใหม่รวมเข้าไว้กับข้อมูลเดิม กระบวนการนี้เรียกว่า "หลักการเชื่อมโยงการเรียนรู้" 

เราสามารถนำหลักการดังกล่าวข้างต้นมาใช้ประโยชน์ในการสอนอ่านสะกดคำได้โดย เมื่อจะสอนความคิดรวบยอดเรื่องใด ให้เริ่มต้นด้วยการสอน"คำ" ที่ประสมด้วยสระตัวนั้น หรือตัวสะกดตัวนั้น และควรใช้คำที่เด็กคุ้นเคย เช่น จะสอนสระ-า ก็ควรสอนคำว่า "ตา" ให้เด็กใช้จำเป็นหลักไว้ [ เรียกคำเหล่านี้ว่า "คำหลัก"(Key Word)ของความคิดรวบยอดเรื่องนั้น ] ทั้งนี้เพื่อให้เด็กรู้จักรูปร่าง ตำแหน่งการวางสระ และการออกเสียง ต่อไปเมื่อเด็กพบคำใหม่ที่เป็นความคิดรวบยอดลักษณะเดียวกันอีก ก็จะสามารถนำความรู้เดิมมาใช้อ่านคำใหม่ได้อย่างถูกต้อง 


ตอนที่ 3 : ประโยชน์ของการฝึกสังเกตรูปร่างของสระต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
เรามักพรรณนาลักษณะของบางสิ่งโดยเปรียบเข้ากับลักษณะเด่นของอีกสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ ลองมาวิเคราะห์ว่า เราได้ประโยชน์อะไรจากการจับคู่เปรียบเทียบเหล่านั้น 

ประการแรก ก่อนที่จะเทียบสิ่งใดเข้าด้วยกัน เราต้องสังเกต พินิจพิจารณาสิ่งนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน จากนั้นสมองจะจินตนาการเชื่อมโยงว่า ลักษณะเด่นของมันคล้ายกับสิ่งใด

ประการที่สอง การเปรียบเทียบทำให้อธิบายลักษณะต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เป็นผลให้เข้าใจตรงกัน

จากประโยชน์สองประการข้างต้น เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสอนอ่าน-เขียนภาษาซึ่งเป็นรูปร่างสัญลักษณ์ได้เป็นอย่างดี โดยทุกครั้งที่สอนสระตัวใหม่จะต้องให้เด็กสังเกตรูปร่างลักษณะ และควรกระตุ้นให้เด็กสร้างจินตนาการเทียบเคียงเข้ากับสิ่งที่เขารู้จักดีอยู่แล้ว เช่น สระ-า คล้าย …( ไม้เท้า ฯลฯ )… สระ อิ คล้าย …( ภูเขา ฯลฯ ) … 

นอกจากนี้ ยังต้องฝึกให้พิจารณารูปสระตัวนั้นๆ อย่างละเอียด เพื่อที่จะสามารถแยกแยะความแตกต่างของสระแต่ละตัวได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะสระที่มีรูปร่างคล้ายๆ กัน เช่น สระ อิ , อี ,อือ เป็นต้น 


ตอนที่ 4 : การจัดเนื้อหาอย่างเหมาะสม 
ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ใดๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เรียนที่อายุน้อยหรือยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ผู้สอนไม่ควรจัดเนื้อหาในแต่ละชั่วโมงให้มากจนเกินไป แต่ควรจัดให้มีเพียง 1-2 ความคิดรวบยอด(Concept ) ต่อการเรียนการสอนแต่ละครั้งเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความสับสนในการจัดระบบการเรียนรู้ 

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องจัดลำดับการสอนเรียงจากง่ายไปหายาก และจะต้องพิจารณาในแง่มุมของการเชื่อมโยงความรู้ด้วยว่า ต้องจัดลำดับให้ไม่ขัดขวางกระบวนการถ่ายโยงการเรียนรู้ แต่ควรต้องเอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ควรสอนสระ เ- ก่อนสระ แ- และสอนสระ แ- ก่อนสระ แ-ะ ทั้งนี้โดยพิจารณาจากรูปสระที่มีองค์ประกอบน้อยไปยังรูปที่ซับซ้อนมากขึ้น ๆ เป็นต้น 


ตอนที่ 5 : การจัดแบบฝึกอย่างเหมาะสม 
ในการสอนอ่านแต่ละเรื่องจะต้องจัดแบบฝึกให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่สอน กล่าวคือ ถ้าเรากำลังสอนเนื้อหาเกี่ยวกับความคิดรวบยอดเรื่องใด ก็ต้องไม่นำคำที่ประสมสระอื่น หรือมีตัวสะกดอื่น ที่เด็กยังไม่เคยเรียน มาปะปนอยู่ในแบบฝึก แต่สามารถนำคำที่ประสมด้วยสระหรือมีตัวสะกดที่เรียนผ่านไปแล้วในบทก่อนๆมาใช้ได้

ดังนั้น ในการคัดเลือกวงคำศัพท์มาใส่ไว้ในแบบฝึกแต่ละบท ผู้สอนจึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้โดยคำนึงถึงลำดับก่อน-หลังของการสอนนั่นเอง 

ตัวอย่างแบบฝึกอ่านบทที่ 1* ( สระ –า ) บทนี้ควรมีเฉพาะคำที่ประสมสระ –า แต่ไม่มีสระอื่นๆเลย เนื่องจากเป็นบทเรียนแรก แบบฝึกอ่าน ทายา ราคา วาจา ดารา ยาชา อาปากา อาทายา อาลาตา ตาพาดารามานา 


ตอนที่ 6 : ขั้นตอนการสอนอ่านสะกดคำ 
เคยถูกฝรั่งถามว่า " พวกคุณอ่านภาษาไทยกันได้อย่างไร ตัวอักษรมันติดกันไปหมด “ เมื่อพิจารณาตามที่เขาตั้งข้อสังเกต ก็รู้สึกอยู่เหมือนกันว่า แบบแผนการเขียนของภาษาไทยอ่านไม่ได้ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ” คนที่เพิ่งเริ่มเรียน “ ซึ่งอย่าว่าแต่การอ่านประโยคยาวๆ เลย แม้เพียงการอ่านคำประสมที่ประกอบด้วยคำเพียง 2 คำ ก็นับเป็นเรื่องยุ่งยากทีเดียว ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ( ผู้เขียนเคยสอนอ่านไทยให้แก่ชาวต่างชาติก็พบปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ ) 

ดังนั้น การสอนอ่านไทยจึงควรปฏิบัติตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้ 1) สอนการสะกดคำเดี่ยว ๆ 2) สอนการสะกดคำประสม โดยในช่วงแรกอาจช่วยให้ผู้เรียนสะกดง่ายขึ้น ด้วยการปิดตัวหนังสือให้เหลือทีละคำ แล้วจึงอ่านรวมคำ 3) สอนการอ่านวลีหรือประโยคสั้น ๆ ที่เด็กคุ้นเคย ทั้งนี้อาจใช้เทคนิคง่าย ๆ โดยนำวลี หรือประโยคที่เป็นชื่อเพลง ภาพยนตร์ ละครหรือรายการที่ได้รับความนิยมทางโทรทัศน์มาฝึกให้เด็กอ่านในช่วงแรก ๆ ของการฝึกลองดู แล้วคุณจะได้ภูมิใจที่ฝึกให้เด็กไทยทำบางสิ่งได้อย่างที่ฝรั่งยังรู้สึกแปลกใจ 


ตอนที่ 7 : การสอนระดับเสียงของคำเป็น-คำตายอย่างง่ายๆ 
เนื่องจากบางครั้งเด็กบางคนจะสับสนในการออกเสียงคำที่ประสมสระเสียงสั้น เช่น ยุ ออกเสียงเป็น หยุ ซึ่งปัญหานี้มีแนวทางแก้ไข ดังนี้ 

1) สอนให้รู้ว่า พยัญชนะไทยแบ่งออกเป็น 3 พวก ( หลักภาษาเรื่องอักษร 3 หมู่ ) โดยสอนด้วยภาษาง่ายๆ และควรทำแผนภูมิที่แบ่งให้เห็นอย่างชัดเจนมาใช้ประกอบการสอน

2) สอนให้รู้ว่า คำที่ประสมสระเสียงสั้นหรือสะกดด้วยแม่ กก กด กบ ( ที่เรียกว่า “ คำตาย “ ) เมื่อไม่มีรูปวรรณยุกต์ จะมีระดับเสียงของคำที่พยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางและอักษรสูงเท่ากัน แต่จะแตกต่างจากอักษรต่ำ เช่น กุ ฉุ ยุ , กาด ขาด คาด

ในทางตรงกันข้าม คำที่ประสมสระเสียงยาวหรือสะกดด้วยแม่ กง กน กม เกย เกอว ( ที่เรียกว่า “ คำเป็น “ ) เมื่อไม่มีรูปวรรณยุกต์ จะมีระดับเสียงของคำที่พยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางและอักษรต่ำเท่ากัน แต่จะแตกต่างจากอักษรสูง เช่น กา คา ขา , กาน คาน ขาน 

ทั้งนี้ควรสอนเรื่องนี้อย่างสั้นๆ ง่ายๆ โดยอาจใช้วิธีการเทียบเสียงของอักษร 3 หมู่ ให้เป็นตัวอย่างก่อนการฝึกอ่านแต่ละบท 


ตอนที่ 8 : การจัดลำดับการสอนอย่างเหมาะสม 
ต่อเนื่องจากตอนที่ 7 ที่ว่า เด็กหลายคนจะออกเสียงคำที่ประสมสระเสียงสั้นเพี้ยนไป เช่น ชะอม เป็น ฉะ-อม แต่หากท่านเคยมีประสบการณ์การสอนอ่านไทยให้แก่เด็กเล็กๆ จะพบว่า เด็กมักอ่านคำที่ประสมสระเสียงยาวในแม่ ก กา ได้โดยไม่ค่อยผิดเพี้ยน ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเนื่องมาจากเสียงของพยัญชนะไทย เช่น กอ , ขอ , คอ ฯลฯ เป็นเสียงที่มีสระ –อ ซึ่งเป็นสระเสียงยาวประสมอยู่ 

ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่เราทั้งหลายจะคุ้นชินกับระดับเสียงที่แตกต่างกันในลักษณะของ “ คำเป็น” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำที่ไม่มีตัวสะกด ( ทบทวนเรื่อง “ ระดับเสียงของ คำเป็น-คำตาย “ ได้จากตอนที่ 7 ) 

ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงควรจัดลำดับการสอนโดยเริ่มจากคำในแม่ ก กา ที่ประสมสระเสียงยาวที่มีรูปไม่ซับซ้อนก่อนสระเสียงสั้น หลังจากนั้นจึงสอนบทเรียนที่มีความคิดรวบยอดซับซ้อนมากขึ้น ๆ ตามลำดับ 


ตอนที่ 9 : หลักการสอนสระที่มีรูปซับซ้อน 
สิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งของสมอง(คนปกติ) คือ เมื่อใดก็ตามที่เราจัดกระบวนการจำเรื่องใดอย่างเป็นระบบและพยายามท่องจนติดปากแล้ว ทันทีที่เราต้องการใช้ความรู้เรื่องนั้น เราจะสามารถดึงมันออกจากสมองได้ราวกับเปิดหาของในลิ้นชักที่จัดไว้อย่างเป็นระเบียบทีเดียว เราสามารถนำเทคนิคการจำนี้มาใช้

ประโยชน์ในการสอนสระที่มีรูปซับซ้อนได้ โดยเริ่มต้นจากการจุดประกายความสนใจให้เด็กสังเกตรูปร่างของสระนั้นๆอย่างละเอียด แล้วให้หลักการจำสั้นๆ ซึ่งอาจแต่งเป็นเพลงหรือคำท่องเป็นสูตรสั้นๆ เช่น เ- กับ –า เป็น เ-า หรือ เ- , อื , -อ รวมเรียกสระ เอือ เป็นต้น

เมื่อพบสระที่มีรูปซับซ้อนเหล่านี้อีก คุณสามารถทบทวนความจำของเด็กๆ ได้โดยพูดนำท่อนแรกตามสูตรที่เคยฝึกให้ท่อง เด็กส่วนใหญ่มักจะกล่าวต่อคำท่องส่วนที่เหลือได้อย่างถูกต้องแม่นยำจนน่าพอใจ 


ตอนที่ 10 : หลักการสอนสระเปลี่ยนรูป 
สระหลายตัวในภาษาไทยจะมีรูปเปลี่ยนไปเมื่อมีตัวสะกด เช่น สระ โ-ะ จะเปลี่ยนเป็นไม่มีรูป อย่างในคำว่า “ นก “ เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนรูปของสระเหล่านี้ สร้างความสับสนให้แก่เด็กพอสมควรทีเดียว 

ในการสอนอ่านจึงต้องหาทางแก้ไขปัญหานี้ จากประสบการณ์พบว่า อาจแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้โดย ใช้นิทานที่ผูกเรื่องให้สอดคล้องกับเนื้อหาและใช้อุปกรณ์ที่ช่วยอธิบายหลักภาษาอย่างง่ายๆมาประกอบการเล่า เช่น หากจะสอนการเปลี่ยนรูปของสระ เ-อ ที่มีตัวสะกดในแม่เกย ก็อาจเล่านิทานเรื่อง “ ยักษ์ซุ่มซ่าม “ ที่รีบร้อนวิ่งมายืนหลัง “ –อ “ ( ที่อยู่ส่วนท้ายของสระ เ-อ ) ตะบองของยักษ์จึงแกว่งไปโดน “ อ่าง “ อย่างแรงจนแตก เป็นเหตุให้ สระ เ-อ ที่เจอกับ ย.ยักษ์ ( มี “ ย “ เป็นตัวสะกด ) เหลือรูปเพียง “ เ- “ เท่านั้น อย่างในคำว่า “ เงย “ เป็นต้น 


ตอนที่ 11 : หลักการสร้างแบบทดสอบความสามารถในการอ่านสะกดคำ 
การสร้างแบบทดสอบความสามารถในการอ่านสะกดคำ ควรยึดหลักสำคัญๆ ดังต่อไปนี้ 

1) คำที่ใช้ในการทดสอบ ต้องเป็นคำที่ไม่ “คุ้นตา“ (ไม่ใช้คำที่เด็กเห็นบ่อยๆ จนอาจจำได้แม้จะอ่านไม่ออก)

2) แบบทดสอบที่สร้างขึ้น ต้องครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการอ่านคำพื้นฐานทั้งหมด ได้แก่ สระทุกรูป ตัวสะกดทุกมาตรา การผันเสียงวรรณยุกต์ของอักษรทุกหมู่ เป็นต้น 

3) แบบทดสอบแต่ละข้อ จะต้องใช้วัดและชี้บ่งปัญหาได้อย่างชัดเจนว่า เด็กอ่านไม่ได้เพราะไม่เข้าใจเรื่องใด เช่น จะวัดความสามารถในการอ่านคำที่ประสมสระ เ- ก็ควรเลือกคำที่ประสมสระ เ- ในแม่ ก กา แต่ไม่ควรเลือกใช้คำที่มีตัวสะกดด้วย เพราะถ้าเด็กอ่านคำที่มีตัวสะกดไม่ได้ เราจะไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่า เด็กไม่เข้าใจเรื่อง “ สระ “ หรือ เรื่อง “ ตัวสะกด “ 

4) คำที่ใช้ในการทดสอบ ควรเลี่ยงตัวอักษรที่มีรูปหรือเสียงคล้ายกับตัวอื่น เช่น พ-ฟ , ผ-ฝ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ ร.เรือ “ ทั้งนี้เพื่อความเป็นปรนัยและเที่ยงตรงในการวัด 

5) ควรจัดลำดับข้อของแบบทดสอบให้มีลักษณะเป็นคู่ขนานกับการจัดลำดับก่อน-หลังของการสอน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในขั้นดำเนินการสอนว่า เด็กควรได้รับการซ่อมเสริมในเรื่องใด นอกจากนี้ ก่อนจะวัดความสามารถในการอ่านคำ ควรทำการวัดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพยัญชนะ โดยใช้รายการพยัญชนะที่ไม่เรียงลำดับ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการตอบโดยอาศัยการท่องจำ 


ตอนที่ 12 : บทสรุป 
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า " การอ่านได้ " เป็นเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่โลกของการเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆอีกมากมายทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน 

นอกจากนี้ " การอ่านไม่ได้ " ยังมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของบุคคล นับตั้งแต่ การอ่านป้ายประกาศต่างๆ การอ่านฉลากยา การอ่านเอกสารสัญญา ฯลฯ 

ที่กล่าวมานี้ เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า “ การอ่านไม่ออก “ เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่อาจละเลย แต่ควรอย่างยิ่งที่จะร่วมกันหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไข เพราะความสามารถในการอ่านเป็นเสมือนเครื่องมือชิ้นสำคัญในการแสวงหาวัตถุดิบมาป้อนกระบวนการผลิตองค์ความรู้ของเด็ก ดังนั้น แต่ละวันที่เรายังไม่ลงมือแก้ปัญหาการอ่านไม่ได้ของเด็ก ก็เปรียบเสมือนเรากำลังบั่นทอนขั้นตอนการสร้างผลผลิตที่มีค่ายิ่งของสังคม 

ในขณะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน นอกจากจะต้องเร่งกอบกู้และสร้างเศรษฐกิจของชาติให้แข็งแกร่งแล้ว เราก็ควรให้ความสำคัญกับ “ การสร้างคน “ อันเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศให้เป็นคนที่ดีและมีความสามารถควบคู่กันไปด้วย จึงจะนับเป็นการสร้างรากฐานอันมั่นคงให้แก่สังคมอย่างแท้จริง 

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการอ่าน-เขียนไม่ได้ อันเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาการเรียนรู้ของบุคคล มาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆแก่สังคมไทย โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การสอนการแก้ไขปัญหาฯ เพื่อช่วยกันเปิดโอกาสแห่งการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆของเรากันเถิด

วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จิตวิทยา : ช่วยจัดการศึกษาอย่างไร


ทฤษฎีพื้นฐานการศึกษา  :  จิตวิทยา
การกลั่นกรองที่จะพิจารณาเลือกว่าจุดประสงค์ที่เรากำหนดนั้นจะบรรลุจุดมุ่งหมายหรือไม่    ควรใช้วิธีการทางจิตวิทยาการเรียนรู้   เพราะจุดประสงค์ของการศึกษาถือว่าเป็นผลลัพธ์สุดท้ายของการจัดการศึกษา   ผลลัพธ์สุดท้ายเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกับสภาพการณ์ต่างๆที่เราได้เลือกไว้ในกระบวนการดำเนินการ   ไม่เช่นนั้นถือว่าเป็นเป้าประสงค์ที่ไร้คุณค่า

สาระสำคัญ  :  ความคิดรวบยอด
1. จิตวิทยา  สามารถบอกความแตกต่างของพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป   ระหว่างผู้ที่ได้รับการศึกษา  กับผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษา  (จิตวิทยาสังคม)

2.  จิตวิทยา  จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะเป้าประสงค์ที่เราอาจกระทำสำเร็จได้    แต่อาจกินเวลานานจึงสำเร็จ   หรือบางอย่างไม่อาจจะบรรลุได้เลยในระดับอายุที่กำหนดไว้ (จิตวิทยาพัฒนาการ)

3.  จิตวิทยา  จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าการที่จะบรรลุจุดประสงค์บางประการนั้น  ต้องใช้เวลามากน้อยเพียงใด  และจะได้ผลดีที่สุดในช่วงที่เด็กมีอายุเท่าใด  (จิตวิทยาพัฒนาการ)

4. จิตวิทยา  มีส่วนช่วยในการตัดสินใจว่า  ก่อนการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่งนั้น   จะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง  (จิตวิทยาการเรียนรู้)

 5. จิตวิทยา  ช่วยให้การค้นพบว่าประสบการณ์การเรียนรู้ส่วนมากนั้น   สามารถทำให้เกิดผลต่อเนื่องและเกี่ยวโยงไปอีกจำนวนมาก (จิตวิทยาการเรียนรู้)

 6.  จิตวิทยา  ช่วยให้รู้ว่าการเรียนรู้ที่สอดคล้องกันและผสมผสานกัน    เกี่ยวโยงกัน   จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน    ทำให้ใช้เวลาในการเรียนรู้น้อยมากขึ้น (จิตวิทยาการเรียนรู้)

7.  หลักการหรือทฤษฎีการเรียนรู้  จะสามารถกำหนดขอบเขตธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร    ต้องมีสภาพการณ์อย่างไร   มีกลไกอะไรบ้าง   ทุกคนจึงต้องยึดหลักการใดหลักการหนึ่งไว้จึงจะเกิดประโยชน์  (จิตวิทยาการเรียนรู้)

8. ทฤษฎีการเรียนรู้ทางจิตวิทยาที่โดดเด่น  มี  2 ทฤษฎี คือ
    8.1  ทฤษฎีแบบต่อเนื่อง “...การสร้างความสัมพันธ์ต่อเนื่องระหว่างสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่ง  กับสิ่งตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง…”   การเรียนรู้ในลักษณะเช่นนี้เป็นกระบวนการที่เฉพาะเจาะจงมาก    ต้องปลูกฝังและฝึกฝนตามประเด็นปลีกย่อยมากมาย   ( Thorndike )
    8.2   ทฤษฎีแบบใช้ความเข้าใจ    เมื่อผู้เรียนได้เรียนรู้หลักการทั่วไปที่ได้ฝึกจากการเผชิญปัญหาแล้ว    เขาจะสามารถนำหลักการนั้นไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่  หรือเผชิญกับปัญหาใหม่ได้หรือไม่  ( Judd & Freeman )

9.  จิตวิทยาการเรียนรู้  ยืนยันได้ว่ามนุษย์จะเรียนรู้ได้ดีที่สุด  ก็ต่อเมื่อผู้นั้นมีความ “พร้อม”  ทั้งทางร่างกาย  อารมณ์ จิตใจ และสังคม   หรือสิ่งเหล่านี้เกิดความสมดุลพร้อมกัน

10.  การสร้างความ “พร้อม” ให้เกิดขึ้นได้นั้น ทางจิตวิทยามี 2 ทฤษฎีใหญ่ คือ “รอ" ให้พร้อม (มาสโลว์,ดิวอี้ฯ)  กับ  “เร่ง" ให้พร้อม (ธอร์นไดค์, สกินเนอร์ บรุนเนอร์ฯ)

11. มนุษย์จะเกิดการเรียนรู้ ได้ 6 ทาง คือ  การสังเกต การจำ การเลียนแบบ การลอง การฝึก และความเข้าใจ  


12. การเรียนรู้   จึงเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลจะเรียนรู้ได้จากการ ดู ฟัง ตรึกตรอง พยายามทำ  ฝึก  ความผิดพลาด  ความสำเร็จ  การคิดพิจารณา   การซักถาม  เป็นต้น   ดังนั้นการเรียนรู้หนึ่งๆ อาจเกิดขึ้นได้ทางใดทางหนึ่ง หรือหลายทางหลายพฤติกรรมมารวมกัน   

13.  การเรียนรู้  ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงการได้มาซึ่งความรู้ หรือการเสริมสร้างทักษะเท่านั้น และการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนหรือในโรงเรียน  แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ ทุกเวลา  ทุกวงการ  ทุกสังคม   ฯลฯ  แม้นิสัยเฉพาะตัวและพฤติกรรมในสังคมของบุคคล  ก็ได้มาจากกระบวนการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

14.  พื้นฐานกระบวนการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะมี  ลำดับขั้นตอน (basic sequence)  และ รูปแบบ  (basic pattern)   4  ประการ  ดังนี้   
          1. การได้รับรู้จุดมุ่งหมาย และข้อมูลอย่างเพียงพอ ก่อนที่จะทำ (Information)
          2. กิจกรรมที่ทำมีวิธีการปฏิบัติที่เป็นระบบ หรือมีขั้นตอนกระบวนการชัดเจน  (activity)
          3. มีแรงจูงใจพียงพอ  (motivation)
          4. มีการวางเงื่อนไขผลสำเร็จที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม (มีเกณฑ์ /ตัวชี้วัด)  (Success)
               
15. ความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลว  เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่ได้รับ  กับ กิจกรรม  รวมทั้งการได้รับแรงเสริม หรือลดแรงเสริม    ปัจจัยที่ทำให้กิจกรรมประสบความสำเร็จผลหรือความล้มเหลว  ขึ้นอยู่กับกับปัจจัย 3 ประการ   ซึ่งผลของการเรียนรู้จะประสบความล้มเหลว ถ้าหากว่า  แรงจูงใจ ไม่เพียงพอ,  ข้อมูลที่ได้รับไม่เป็นที่กระจ่างชัดเพียงพอ,  กิจกรรม ที่กระทำไม่ถูกต้อง

16. รายละเอียดความรู้ ทฤษฎีต่างๆทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา  นักศึกษาควรแสวงหาอ่านจากหนังสือตำราทางจิตวิทยาซึ่งมีมากมาย  แต่ขอแนะนำที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย  ซึ่งผู้เขียนอ่านแล้ว  ทำให้รู้ชัดเจนดี ได้แก่
          - หนังสือชุดจิตวิทยาของ อ.ประมวญ ดิกคินสัน  
          - จิตวิทยาการเรียนการสอน ของ รศ.ดร.พรรณี ช.เจนจิต 
          - จิตวิทยาการศึกษา ของ อ.สุรางค์  โค้วตระกูล
          - จิตวิทยาประจำวัน  ของ อ.พงศ์อินทร์  ศุขขจร
                                       ฯลฯ 

บทสรุป  : ขอให้นักศึกษาจับประเด็นให้ได้ว่า ทำไมการเป็นผู้บริหารการศึกษาที่ดี  หรือเมื่อรับผิดชอบจัดการศึกษา   เราถึงต้องเรียนรู้วิชาปรัชญา  สังคมวิทยา  และจิตวิทยา  ก่อนวิชาอื่นๆ เพราะเหตุใด  
ซึ่งถ้าตอบคำถาม  4 ประการต่อไปนี้ได้อย่างชัดเจน  และเห็นเป็นภาพการปฏิบิติจริงได้ตลอด   ก็แสดงว่านักศึกษาเข้าใจวิชาปรัชญา  สังคมวิทยา  และจิตวิทยามีอิทธิพลในการจัดการศึกษาอย่างไร   ก็ขออวยพรให้นักศึกษาเป็นผู้บริหารการศึกษาที่ประสบความสำเร็จทุกคน
      1. ความมุ่งประสงค์ทางการศึกษา (Educational  Purpose)  ที่สถาบันการศึกษา  หรือสังคมต้องการให้บรรลุมีอะไรบ้าง   (ปรัชญา = หลักการ, วิสัยทัศน์, จุดหมาย)
      2. การที่จะให้บรรลุตามความมุ่งประสงค์ที่ตั้งไว้นั้น   จะต้องให้เรียนรู้ หรือทำอะไรบ้าง  (จิตวิทยา+ สังคมวิทยา = หลักสูตร, มาตรฐาน-ตัวชี้วัด)
      3. จะบริหารจัดการอย่างไร  จึงจะทำให้การเรียน การสอน การฝึกปฏิบัติเกิดประสิทธิภาพตามที่วางแผนไว้ (จิตวิทยา+ สังคมวิทยา  = การบริหาร, การจัดการเรียนการสอน)
      4. เราจะทราบได้อย่างไรว่า  ได้บรรลุตามความมุ่งประสงค์นั้นๆ แล้ว (วิทยาการการวัด การประเมินผล)

สังคมวิทยา : ช่วยจัดการศึกษาอย่างไร


ทฤษฎีพื้นฐานการศึกษา  : สังคมวิทยา

แนวคิดพื้นฐาน  :  สิ่งที่นักสังคมวิทยามุ่งศึกษาและพยายามอธิบาย  ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของมนุษย์กับสิ่งที่เรียกว่า สังคม   นักสังคมวิทยามองพฤติกรรมต่างๆ  ของมนุษย์ว่าเป็นพฤติกรรมทางสังคม  มีแบบแผนที่ซ้ำๆกัน จนสามารถคาดคะเนเป็นทฤษฎีได้ว่า มนุษย์จะคิดและกระทำภายใต้การบีบคั้นโดยพลังของกฎเกณฑ์ทางสังคม  อันได้แก่  ความเชื่อ  ศาสนา  จารีตประเพณี  วัฒนธรรม  กฎหมาย  ค่านิยมของกลุ่ม และความกดดันทั้งหลายอันมาจากกลุ่ม ที่เราเป็นสมาชิกโดยตรง  เช่น ครอบครัว  ชุมชุน  สังคม  ประเทศ  รัฐ  ประชาคมโลก   

นักสังคมวิทยา  :  จึงหมายถึงผู้ศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของสังคมที่มีต่อพฤติกรรมของมนุษย์  ว่ามนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคมเพราะเหตุใด    เมื่อมาอยู่รวมกันแล้วเกิดความสัมพันธ์อะไรบ้าง    และมนุษย์ทำอย่างไรจึงทำให้อยู่รวมกันเป็นสังคมได้เป็นเวลานาน    ดังนั้นการจะเข้าใจมนุษย์จะมองข้ามองค์ประกอบทางสังคมไม่ได้   เพราะผู้ที่อยู่ในสังคมอุตสาหกรรม  ย่อมต้องมีพฤติกรรมไปคนละแบบกับผู้อยู่ในสังคมเกษตรกรรม    ความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติของผู้ที่อยู่ในสังคมคนละแบบย่อมเห็นได้ชัด   เช่น ชาวเมืองใหญ่กับชาวชนบท 

การอาศัยหลักทางสังคมวิทยาจะเป็นเครื่องช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง  และทำให้ผู้คนเปิดใจได้กว้างขึ้น   แทนที่จะยึดมั่นอยู่กับทฤษฎีใดถูกหรือผิด   ได้เปลี่ยนใจหันมาศึกษามนุษย์ในกาละเทศะต่างกัน   นอกจากนี้งานค้นคว้าด้านนี้ทำให้ไม่มีข้อสงสัยใดๆว่าอิทธิพลของวัฒนธรรมมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของมนุษย์    และเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งการเรียนรู้และอบรมขัดเกลาบุคลิกภาพของมนุษย์อีกด้วย   นักสังคมวิทยาส่วนใหญ่เห็นว่าภาระหน้าที่ของตน  คือทำการศึกษาข้อเท็จจริงเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม    แต่บางท่านเห็นว่าควรทำหน้าที่ชี้แนะและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สภาพที่ดีขึ้น   ซึ่งจะมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการศึกษาทันที 

วิธีการศึกษาทางสังคมวิทยา      
     สังคมวิทยาศึกษาสังคมและพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม   โดยใช้หลักฐานข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้   สังเกตได้  เป็นพื้นฐานในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม   จนสามารถวางเป็นหลักและทำนายปรากฏการณ์ในอนาคตได้   แต่มีข้อจำกัดที่ทำให้สังคมวิทยาไม่สามารถพัฒนาให้เป็น ศาสตร์ ที่แม่นยำเที่ยงตรงได้อยู่ 2 ประการคือ
     1. การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกับที่ศึกษาเรื่องพืช  สัตว์ หรือวัตถุต่างๆ ซึ่งทดลองได้โดยไม่ขัดกับกฎหมาย หรือศีลธรรม  นอกจากนั้นมนุษย์มีความคิด จิตใจ อารมณ์ความรู้สึก  ที่ไม่สามารถควบคุมได้แน่นอน 
     2. นักสังคมวิทยามักมีอคติหรือค่านิยมส่วนตัว ยึดมั่นทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งมากเกินไป ทำให้วางตัวไม่เป็นกลาง 

กระบวนการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม   มี  3  ขั้นตอน ดังนี้
     1. กำหนดกรอบความคิด  เลือกทฤษฎีที่ใช้เป็นหลักในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม  การกำหนดตัวแปร (variables)  และการสร้างสมมติฐาน                   
     2. การรวบรวมข้อมูล เพื่อเป็นหลักฐานข้อเท็จจริงสำหรับยืนยันคำอธิบายหรือข้อสรุป เช่น การทดลอง  การสำรวจ  การสัมภาษณ์    การสังเกต   ฯลฯ                         
     3. การวิเคราะห์และแปลความหมาย  เป็นขั้นที่นำข้อมูลมาจัดระเบียบเป็นหมวดหมู่   เพื่อพิจารณาลักษณะหรือค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ  จนเป็นข้อสรุปในที่สุด

สังคมวิทยากับการพัฒนาคุณภาพชีวิต
        ความรู้ทางสังคมวิทยาช่วยให้เข้าใจว่า   อะไรคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรม บุคลิก นิสัย และวิถีชีวิตต่างกัน  หรือทำไมเมื่อบุคคลหรือกลุ่มคนมีฐานะทางชนชั้นต่างกัน  จึงมีพฤติกรรมและความคิดเห็นต่างกัน    เมื่อเข้าใจพื้นฐานของคนหรือสังคมนั้นได้ชัดเจนก็จะช่วยให้เราสามารถคาดคะเนหรือทำนายพฤติกรรมในอนาคตของเขาได้    ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งชีวิตส่วนตัวและธุรกิจ   ตลอดจนกิจกรรมทางการเมืองเป็นอย่างมาก

       การวางแผนเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะต่างๆ  ของรัฐ  เช่น  นโยบายการศึกษา   นโยบายสาธารณสุข   นโยบายคมนาคม  ฯลฯ  จะต้องอาศัยความรู้ทางสังคมวิทยาเป็นพื้นฐานร่วมกับการพิจารณาทางเศรษฐกิจและทางการเมือง    เช่น  นโยบายการศึกษา  ต้องคำนวณถึงแนวโน้มประชากร  องค์ประกอบทางประชากร   การย้ายถิ่น   ความต้องการของตลาด   ค่านิยมของสังคม และเมื่อจะลงทุนด้านการศึกษา เช่น สร้างโรงเรียน  ผลิตครู  การกำหนดหลักสูตร  แบบเรียน  จะได้ไม่เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษา

       นอกจากนี้ความรู้ทางด้านสังคมวิทยา ยังเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ   ระหว่างกลุ่มต่างวัฒนธรรม  หรือกับชนกลุ่มน้อยในสังคม   ไม่ว่าจะก่อสงครามหรือสร้างสัมพันธไมตรีก็ตาม

        ถ้าผู้เรียนได้พยายามศึกษาจนเข้าใจถึงแนวความคิดและทฤษฎีหลักทางสังคมวิทยา    จะทำให้มีทัศนะที่กว้างไกล  มุมมองที่ลึกซึ้งชัดเจน  มีคำอธิบายที่มีเหตุผลเป็นจริงต่อปรากฏการณ์ทางสังคม  มากกว่าคำอธิบายที่ใช้อารมณ์ ความรู้สึก และสามัญสำนึกที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้

ทฤษฎีสังคมวิทยา  :
      การศึกษาเรื่องสังคมและมนุษย์มีกันมานานอาจจะนับแต่มนุษย์มาอยู่รวมกัน   2 คน ก็เป็นได้    แต่ที่ศึกษาแบบวิธีการวิทยาศาสตร์เริ่มเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างใหญ่หลวง  เนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม  ทำให้สังคมเกิดปัญหาขึ้นมากมาย   สิ่งเก่าๆไม่สามารถมีอิทธิพลควบคุมพฤติกรรมคนในสังคมได้อีก   และอิทธิพลความก้าวหน้าของการค้นพบทางวิทยาศาตร์ต่างๆ  จึงทำให้เกิดความคิดทางสังคมที่เป็นรูปแบบทฤษฎี  และพยายามวิเคราะห์อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นเพื่อรู้สาเหตุที่แท้จริง                                                                                   

การศึกษาสังคมด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรียกว่าสังคมวิทยานั้น มีรากฐานมาจากนักคิด นักวิชาการ 5 คนด้วยกัน  คือ
1.  ออกุส   คองท์  (Auguste  Comt, 1798- 1857)  นักคิดชาวฝรั่งเศสคนแรกที่ตั้งชื่อวิชาการทางสังคมแบบใหม่ว่า   สังคมวิทยา  ( sociology )  เพราะชี้ให้เห็นว่าสามารถนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาศึกษาคนและสังคมได้    และเห็นว่านักสังคมวิทยาไม่ควรแต่เข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมเท่านั้น  ควรมีบทบาทชี้ทางให้สังคมไปสู่ความก้าวหน้าด้วย

ท่านชี้ให้เห็นว่าการศึกษาสังคมควรแยกออกเป็นสองส่วน  คือ  ส่วนที่เรียกว่า  สังคมสถิต  ( social  statics )  ศึกษาเกี่ยวกับระเบียบสังคม   สถาบันสังคม  ดำรงคงอยู่ได้อย่างไร    อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า  สังคมพลวัต  ( social  dynamics )   ศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมเพื่อให้เข้าใจและทิศทางของการเปลี่ยนแปลง

ท่านได้เสนอทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบวิวัฒนาการ    มี  3 ขั้นตอน   คือ  เริ่มจากขั้นความคิดแบบเทววิทยา   ไปสู่ขั้นอภิปรัชญา   และสุดท้ายที่ขั้นวิทยาศาสตร์      ประเด็นสำคัญที่คองท์ชี้ให้เห็นคือ  การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของมนุษย์เป็นเหตุปัจจัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม   และท่านเชื่อว่าสังคมจะวิวัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้นจนสมบูรณ์แบบ    ซึ่งประเด็นหลังนี้มีผู้วิจารณ์คัดค้านไม่เห็นด้วยมาก

2. เฮอร์เบิรต์   สเปนเซอร์ (Herbert  Spencer,  1820 - 1903)    ท่านได้นำวิธีการทางชีววิทยามาศึกษาสังคม   โดยมองว่าสังคมนั้นมีลักษณะเปรียบได้กับสิ่งมีชีวิตหรืออินทรีย์   มีอวัยวะต่างๆประกอบกันขึ้น  ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  จึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้     สังคมก็มีอวัยวะต่างๆ เช่น  ระบบเศรษฐกิจและรัฐ ต้องพึ่งพากัน    ไม่มีเงินรัฐก็ไม่สามารถทำอะไรได้    รัฐไม่มีความเข้มแข็งเศรษฐกิจก็ไม่เจริญก้าวหน้า        
นอกจากนี้ท่านยังได้นำทฤษฎีของ ชาร์ล ดาร์วิน  มาอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคมว่ามีวิวัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละเล็กละน้อยจากสังคมแบบเดิมไปสู่สังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น    การวิวัฒนาการควรเป็นไปตามกระบวนการธรรมชาติที่มีลักษณะก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ   เขาไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสังคม  เพราะการทำแบบนี้ทำให้วิวัฒนาการตามธรรมชาติของสังคมต้องเสียสมดุลไป  เขาเห็นว่าสังคมจะต้องดำรงอยู่  และค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปเองโดยทุกส่วนผสมผสานกลมกลืนกันอย่างสมดุลย์

3.  คาร์ล  มาร์กซ์  (Karl  Marx , 1818 - 1883)  เห็นว่านักคิดทางสังคมไม่ควรมีหน้าที่เพียงศึกษาทำความเข้าใจของสังคมเท่านั้น  แต่ควรจะมีบทบาทเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย  เขาไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าสังคมควรดำรงอยู่อย่างราบรื่นกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และวิวัฒนาการไปตามธรรมชาติ   เขาเชื่อว่าทุกสังคมต้องมีความขัดแย้งอยู่เสมอ  และการเปลี่ยนแปลงสังคมจะเป็นไปในลักษณะปฏิวัติเสมอ และเขาเห็นว่าระเบียบของสังคมที่มีขึ้นล้วนถูกกำหนดโดยวิธีการผลิต  หรือความสัมพันธ์ทางการผลิตของคนในสังคม    ดังนั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อสภาพที่ดำรงอยู่  และการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างยิ่ง

4.  อีมิล  เดอร์กไฮม์  (Emile  Durkheim , 1858 - 1917)  เขาสนใจเกี่ยวกับระเบียบของสังคม   โดยเห็นว่าสิ่งที่ทำให้สมาชิกของสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นระเบียบได้นั้นคือ   การที่คนในสังคมมีความเชื่อและมีค่านิยมร่วมกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อทางศาสนา   ตลอดจนส่วนต่างๆของสังคมมีบทบาทอย่างไรในการรักษาสังคมให้ดำรงอยู่ได้   เขาเสนอวิธีการศึกษาสังคมโดยการอธิบายว่าส่วนต่างๆของสังคมนั้นมีหน้าที่ ( function ) ต่อการดำรงอยู่ของสังคมโดยส่วนรวมได้อย่างไร   ผลงานที่มีอิทธิพลต่อการวิจัยทางสังคมอย่างมากคือ  การศึกษาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของคนกลุ่มต่างๆ  ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน   แต่ขึ้นอยู่กับพลังทางสังคม

5. แมกซ์  เวเบอร์  (Max  weber , 1864 - 1920)   เขามีความเห็นว่าการที่จะศึกษาสังคมให้เข้าใจชัดเจน  ควรจะศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมของบุคคล    เหมือนอีริค   ฟอร์ม   นักจิตวิทยาสังคม   โดยเชื่อว่าการที่จะเข้าใจโครงสร้าง  เช่น  รัฐ   ศาสนา  หรือระบบการปกครอง   หรือระบบเศรษฐกิจนั้น      จะต้องมองโครงสร้างในฐานะเป็นการกระทำ  ( action )  ของบุคคลที่มีส่วนร่วมในโครงสร้างนั้นๆ  และจะต้องศึกษาแรงจูงใจที่นำไปสู่การกระทำต่างๆ  ของบุคคล  และจะต้องทำความเข้าใจ  “ ความหมาย” ของพฤติกรรมที่ผู้กระทำให้กับการกระทำของตัวเองและการกระทำของคนอื่น       การเปลี่ยนแปลงของสังคมขึ้นอยู่กับความคิด   ความเชื่อทางศาสนา  อำนาจ และระบบต่างๆ 

จะเห็นว่านักสังคมวิทยารุ่นแรกๆนั้น  สนใจศึกษาสังคมทั้งสังคม  เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบกฎเกณฑ์  และการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากกว่าศึกษาส่วนย่อยหรือปัญหาเฉพาะเรื่อง  เฉพาะด้าน เหมือนนักสังคมวิทยาในยุคศตวรรษที่ 20     และนักสังคมวิทยาชาวอเมริกันสนใจศึกษาปัญหาในทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าการเสนอทฤษฎีกว้างๆ แบบนักสังคมวิทยาชาวยุโรป

ทฤษฎีที่ถือว่าเป็นพื้นฐานของความคิดทางสังคมวิทยาในปัจจุบันมีอยู่ 5 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ (Structural - Functional Theory ) มีข้อสมมติฐานพื้นฐานหลัก ดังนี้
     1.1  สังคมเป็นระบบที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆที่ประสานสอดคล้องกัน
     1.2   ระบบต่างๆ ของสังคมมีแนวโน้มที่จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง    เพราะว่าแต่ละระบบมีกลไกสำหรับควบคุมสมาชิกอยู่ภายในตัวของมันเอง 
     1.3   ส่วนต่างๆของสังคม  อาจมีหน้าที่ในทางลบหรือผลเสีย (dysfunction) ต่อสังคม  แต่สังคมจะมีการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาได้เองในระยะยาว                                                              
     1.4   การเปลี่ยนแปลงของสังคมจะเป็นไปทีละเล็กละน้อย
     1.5   ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคมเกิดจากการที่สมาชิกส่วนใหญ่ของสังคมมีค่านิยมร่วมกัน  ระบบค่านิยมเป็นส่วนที่คงอยู่ได้มั่นคงที่สุด         

2 . กลุ่มทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolution  Theory)                                                                                  
    2.1   โดยทั่วไปสังคมจะเปลี่ยนแปลงจากเอกรูป(uniform) มาเป็นพหุรูป(multiform)
    2.2   ความก้าวหน้าของสังคมมี 3 ช่วงคือ สังคมป่า  สังคมบ้าน  สังคมอารยธรรม                        
    2.3   การเปลี่ยนแปลงของสังคมค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับขั้นสอดคล้องกับกฎและระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้ในสังคมอันเป็นที่ยอมรับกัน                                                         
    2.4  การวิวัฒนาการชีวิตก็เหมือนกับการวิวัฒนาการทางสังคม ทั้งระบบและหน้าที่และเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง  โดยเป็นผลมาจากแรงผลักดันภายในสังคมมากกว่าจากแรงผลักดันภายนอก

3.  กลุ่มทฤษฎีขัดแย้ง (Conflict Theory)                                                                                     
    3.1  ลักษณะสำคัญของสังคมคือการเปลี่ยนแปลงที่จากการขัดแย้งและบังคับ               
    3.2  สังคมดำรงอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของคนบางกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงในสังคม        
    3.3  คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมแต่ละกลุ่มมีผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตน                      
    3.4  เมื่อคนในกลุ่มมีความสำนึกในผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มตนก็จะเกิดชนชั้น
    3.5 ความขัดแย้งทางชนชั้นจะมีมากน้อยเพียงใด  ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการเมือง ทางสังคม ลักษณะของการกระจายอำนาจและผลประโยชน์และโอกาสในการเปลี่ยนฐานะทางชนชั้นของสมาชิกสังคม
           
4.  กลุ่มทฤษฎีสัญลักษณ์สัมพันธ์ (Symbolic  Interaction)
    4.1  สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ของสังคม  ไม่ใช่เกิดจากโครงสร้างทางสังคม   แต่เกิดจากบุคคลและการกระทำของบุคคล  ซึ่งเป็นผลให้เกิดสังคมและเปลี่ยนแปลงสังคม
    4.2  ความสัมพันธ์ต่อกันของคนในสังคมเป็นกระบวนการของการกระทำตอบโต้ซึ่งกันและกันที่มีความผันแปรอยู่เสมอตามสถานการณ์        
    4.3  บุคคลเป็นผู้สร้างหรือกำหนดการกระทำ ไม่ใช่ถูกกำหนดจากโครงสร้างสังคม   
    4.4   ตัวแปรสำคัญที่กำหนดการกระทำของบุคคล  คือ ความคาดหวัง   ความเข้าใจของบุคคลต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า   แรงกดดันหรือปฏิกิริยาที่บุคคลในกลุ่มมีต่อกัน และบุคลิกภาพของบุคคล
    4.5   ปฏิสัมพันธ์ในสังคมจะดำเนินไปได้ต่อเมื่อคนมีความเข้าใจตรงกันในสถานการณ์หนึ่งๆ   ความสัมพันธ์ในสังคมเป็นสิ่งทีเกิดจากการให้ความหมายการเรียนรู้   ความหมาย และการตีความหมายนั้นก่อนการตอบสนอง

5.  กลุ่มทฤษฎีปริวรรตนิยม  (Exchange  Theory)
    5.1  ความสัมพันธ์ของบุคคลเกิดขึ้นจากมีผลประโยชน์เป็นแรงจูงใจ                             
    5.2  ในการแสดงพฤติกรรมต่อกันคนจะคำนึงถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้น (cost -reward) โดยใช้ประสบการณ์ในอดีตเป็นตัวกำหนด
    5.3  ความสัมพันธ์จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไปถ้าบุคคลประเมินว่าส่วนที่ได้มากกว่าส่วนที่เสียแต่ถ้าไม่คุ้มค่ากันความสัมพันธ์อาจสิ้นสุดหรือเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม
    5.4  สนใจศึกษาเฉพาะพฤติกรรมของแต่ละคนในสังคมที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในนสถานการณ์หนึ่งๆเท่านั้น
    5.5  ไม่ควรศึกษาคนในสังคมโดยเน้นแบบแผนของพฤติกรรมของคนทั้งสังคมว่า เป็นแบบใดแบบหนึ่งตามกฎเกณฑ์ที่สังคมวางไว้     

        เรื่องของสังคม     แม้จะเป็นเรื่องของคนหมู่มาก   ที่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคล    แต่ถ้าเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมนั้น  เรื่องของสังคมก็เป็นเรื่องของคนที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตัวเรา   และเป็นเรื่องของคนที่ตัวเราต้องไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย  ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องสังคมจึงเป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตของเราเอง   และถ้าเรายิ่งเข้าใจว่า   การเข้าอยู่ในสังคมไหนๆ  ทั้งที่เราสมัครใจ  หรือจำยอม     เราต้องยอมรับกฎเกณฑ์กติกาของสังคมนั้นที่กำหนดไว้  และก็อาจต้องชำระค่าบำรุงเป็นเงินทอง    หรือชำระด้วยเสรีภาพที่จำกัดความต้องการในการทำอะไรได้ตามอำเภอใจ   ถ้าไม่ปฏิบัติตามกติกา   ไม่ยอมชำระค่าบำรุง   ก็อยู่เป็นสมาชิกเขาไม่ได้     นอกเสียจากว่าเราใหญ่พอและชอบถูกทอดทิ้งเท่านั้น……   คิดเท่านี้เราก็มีความสุขและดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องเก็บกด ไม่ต้องขัดเคืองคับข้องใจ จนมีปมด้อยให้เสียสุขภาพจิต ("กลไกสังคม" พัทยา สายหู)

บทสรุป : สังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ [GLOBALIZATION ]
     มนุษย์ในยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับความเจริญที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนรู้สึกอ้างว้างเดียวดาย  ทั้งนี้เพราะ      
     1. การที่มนุษย์มีเหตุผลและมีจินตนาการต่างๆ มากมาย  ทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการทางอารยธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็แยกตนห่างเหินจากธรรมชาติ  จากสัตว์โลกพวกอื่นๆ   และจากบุคคลอื่นๆ ไกลกันยิ่งขึ้น      
     2. มนุษย์แสวงหาอิสระเสรีทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาการ เมื่อได้มาแล้วก็จำต้องแลกเปลี่ยนด้วยความอ้างว้าง    ตัวอย่างเช่นเด็กวัยรุ่นที่เป็นอิสระไม่อยู่ในความดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง จะรู้สึกว่าตัวเองอ้างว้างเดียวดาย         
     3. พัฒนาการทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ผลิตวัสดุเครื่องใช้ไม้สอยจนความเป็นอยู่ประจำวันสะดวกสบายมากขึ้น   มีสิ่งที่ช่วยให้บันเทิงเริงรมย์  และมีเครื่องทุ่นแรงในการทำงานทำให้มนุษย์สัมพันธ์กับคนอื่นๆน้อยลง   เมื่อต้องติดต่อกันก็มีท่วงทีห่างเหินไว้ตัว  คบยากขึ้น                  

นักจิตวิทยาสังคม  โดยเฉพาะอีริค  ฟอรมม์ ได้เสนอทางพัฒนาแก้ไขให้กับสังคมสมัยใหม่ไว้  2 แนวทาง คือ
    1. สร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์บนรากฐานความรักที่สร้างสรรค์ : เมตตา ((Productive  Love)  ซึ่งได้แก่ความเอื้ออาทร  ความรับผิดชอบ   ความนับถือ  และความเข้าใจซึ่งกันและกัน                
    2. ยอมเชื่อฟังและอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสังคมและทำตัวคล้อยตามสังคม

เพราะท่านเห็นว่ามนุษย์โดยทั่วไปมีความต้องการอยู่ 5 ประการ คือ
    1.  ต้องการมีสัมพันธภาพ  Need for Relatedness)
    2.  ต้องการสร้างสรรค์   (Need for Transcendence)
    3.  ต้องการมีสังกัด      (Need for Rootlessness)
    4.  ต้องการมีเอกลักษณ์เป็นของตน  (Need for Identity)
    5.  ต้องการมีหลักยึดเหนี่ยว (Need for Frame of Orientation)

       จะเห็นได้ว่าความต้องการของมนุษย์นั้นมีความขัดแย้งในตนเอง จึงทำให้คนและสังคมสับสนวุ่นวายไปตามๆกัน จนกว่ามนุษย์จะเข้าใจความจริง ความถูกต้องตามภาวะหรือสภาพนั้นๆ จึงจะทำให้ตัวมนุษย์และสังคมที่เขาเกี่ยวข้องด้วยมีความสุข

        เรื่องของสังคมและอิทธิพลของสังคมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างไร อีริค ฟอรมม์  ( ประมวญ ดิคคินสัน. หน้า 278 -282 )  ได้วิเคราะห์ไว้ชัดเจน  ดังนี้

สังคมแห่งการวางอำนาจ ( Authoritarian)   เนื่องจากมนุษย์กลัวความว้าเหว่ที่จะต้องเผชิญโลกอย่างเดียวดาย จึงต้องแลกความเป็นไทแก่ตัว  กับการได้นับเข้าในหมู่คณะ  และการตามผู้นำอย่างไม่ต้องคิด   จำเป็นต้องยอมอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้มีอำนาจ ส่วนผู้มีอำนาจก็วางกฎเกณฑ์เอาไว้ให้คนปฏิบัติตาม  ใครฝ่าฝืนเป็นผิด   ถ้าเป็นบ้านเมืองก็รับโทษหนัก    ถ้าเป็นทางศาสนาก็เป็นบาป    มีกฏตายตัวอยู่ว่าต้องเชื่อและตามผู้นำ   ไม่ว่าผู้นำเป็นอย่างไร  ทั้งนี้ย่อมขัดกับการที่มนุษย์รักตัวเอง   อยากเป็นตัวของตัวเอง  และความรับผิดชอบของตัวเอง  ที่มีผลต่อความก้าวหน้าของมนุษย์เอง  
         ฟอรมม์เห็นว่า ความรักตัวเองกับความรักผู้อื่นไม่ต่างกันเลย   ผู้ที่รักตนเองนั้นจึงจะรู้จักรักคนอื่นได้   และบุคคลผู้รักตนเองย่อมสละแม้แต่ชีวิตได้เมื่อถึงคราวจำเป็น  แต่ไม่ใช่เอาชีวิตมาทิ้งอย่างบ้าบิ่น   หรือเห็นเป็นของไร้ค่า  หรือเพียงแค่ต้องการผลตอบแทน แต่ในสังคมแห่งการวางอำนาจเป็นการยากที่คนจะรักนับถือตนเองได้ เพราะแม้แต่ตนเองก็ปราศจากความเป็นไทแล้ว

สังคมแห่งการผลิต ( Productivity )   ในหนังสือ  Man for Himself   ฟอรมม์เห็นว่าความมุ่งหมายของมนุษย์ก็คือ  การมีชีวิตอยู่อย่างมีประโยชน์    อยู่โดยมีการผลิตผลให้แก่เพื่อนร่วมโลก  ทัศนคติในทางผลิตผลนี้เกิดจาก  ความรักตนเอง   การที่เรารักตนเอง  ทำให้รักผู้อื่นเป็น    ความรักทำให้มนุษย์มีความเอื้ออาทร   มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นตามสิทธิที่เขาควรจะได้     นั่นคือสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์นั่นเอง      
          ความรักหนุนให้คนเราอยากบำเพ็ญประโยชน์ แต่ฟอรมม์ชี้ให้เห็นว่าผู้บำเพ็ญประโยชน์นั้น  มิใช่ประเภทวิ่งวุ่นวายเจ้ากี้เจ้าการ  หรืออุทิศตัวเองอย่างไม่มีเวลาเป็นของตนเอง  อันเป็นการเบียดเบียนตนเอง    อันที่จริงแล้วบุคคลประเภทเจ้ากี้เจ้าการ  ก็จัดอยู่ในประเภทโรคจิตโรคประสาทไม่แพ้พวกเกียจคร้าน   ใจแคบไม่ยอมช่วยเหลือผู้ใดเลย                   
          ผู้ที่อยู่ในสังคมแบบนี้ ย่อมมีบุคลิกภาพแบบอุดมการณ์ที่มนุษย์ประสงค์จะมี  แต่จะมีได้เพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจของมนุษย์เอง    ธรรมดามนุษย์ไม่นิยมอยู่อย่างเปล่าประโยชน์    บุคคลผู้มิได้บำเพ็ญประโยชน์เลยนั้น     แม้จะโชคดีเกิดมาบนกองเงินกองทอง  แต่ก็ไร้ความสุข   แม้ภายนอกจะดูเหมือนเจ้าสำราญ    แต่ส่วนลึกของจิตใจหาได้เปี่ยมด้วยความพอใจไม่   ยิ่งตักตวงเอาความสุขเท่าใด    ก็ยิ่งพบแต่ความว่างเปล่า 
          บุคคลผู้รู้ตัวว่ามิได้ทำประโยชน์อะไรเลย    แม้จะมั่งมีศรีสุขก็เต็มไปด้วยหวาดวิตกกังวล   กลัวความแก่   ความเจ็บป่วย   ความตาย  ความพลัดพรากอย่างถึงขนาด  เพราะเห็นว่าตนยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นแก่นสารในชีวิตนี้เลย  ส่วนผู้ที่อิ่มใจเพราะได้ทำประโยชน์ตามฐานนานุรูปของตนนั้น  ย่อมสามารถเผชิญความแก่ความตายได้อย่างองอาจ   ถือว่าเรื่องเหล่านี้เป็นของธรรมดา  เพราะเห็นอย่างอื่นยังสำคัญกว่าความงามฉาบฉวยของร่างกาย  และถือเสียว่าตนทำดีมามากแล้วจึงนอนตายตาหลับ

สังคมแห่งการเอาเปรียบ (Receptive)  ได้แก่  สังคมที่มีบุคคลกลุ่มหนึ่ง   หรือบางกลุ่มได้แต่ตักตวงเอาจากผู้อื่น  เช่น  ลัทธิเจ้าขุนมูลนาย   หรือลักษณะนายกับทาส   ผู้ใดอยู่ในฐานะผู้น้อย   ถือตนว่าเป็นไพร่พลหรือข้าทาส    ก็ยอมก้มหน้าแบกภาระซึ่งผู้เป็นนายบัญชาลงมา   เพื่อหวังผลตอบแทนเล็กน้อย  คือการปกครองป้องกันจากเจ้าขุนมูลนายอื่น   ผู้น้อยในสังคมประเภทนี้ตรงกับพวก oral  passive ของฟรอยด์  และพวกยอม  ของฮอร์นาย
         ผู้ที่อยู่ในสังคมแบบนี้    ย่อมกลายเป็นผู้อาศัยผู้อื่นตลอดกาล  ต้องอาศัยพ่อแม่เพื่อนฝูง   นายผู้มีอำนาจ  หรือพระผู้เป็นเจ้าอยู่ทุกลมหายใจ  ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ก็ขาดที่พึ่ง    จะรู้สึกอ้างว้างสุดพรรณนา     ด้วยเหตุที่เป็นสังคมไม่ชอบออกแรงได้อะไรมา   รอคำสั่งอย่างเดียว   จึงสอนให้คนรวยทางลัด  เรียนลัด  หรือหาความสะดวกสบายต่างๆ  แม้จะแปรงฟันก็คงต้องใช้แปรงไฟฟ้า

สังคมแห่งการขูดรีด  (Exploitative)  ได้แก่สังคมที่มีการกดขี่ข่มเหงทำนาบนหลังคน  แบบนายทุนในศตวรรษที่ 18-19 กล่าวคือ นายทุนเห็นแก่ได้   ไม่ยอมจัดบริการหรือสวัสดิการแก่คนงานที่ทำประโยชน์ให้แก่ตนเลย        บุคคลในสังคมแบบนี้ย่อมเต็มไปด้วยการชิงดีชิงเด่น หักล้างกัน จะเป็นด้วยไหวพริบหรือเอากันซึ่งๆหน้าผู้มีอำนาจก็ถืออำนาจเป็นใหญ่    ตรงกับ  oral  aggressive   ของฟรอยด์     และประเภท สู้  ของฮอร์นาย                                          
          ผู้ที่อยู่ในสังคมแบบนี้     ย่อมเอาเปรียบผู้อื่นด้วยการตักตวงผลประโยชน์      แต่ต้องได้ มาด้วยการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบ     การได้อะไรฟรีๆคนพวกนี้ไม่นับถือ     เพราะเห็นว่าได้ของฟรี  แสดงว่าผู้อื่นไม่ต้องการแล้ว   ไม่มีค่า   สู้ได้มาด้วยเหลี่ยมคู   หรือแย่งเอามา  ขโมยมาไม่ได้      ถ้าบุคคลประเภทนี้มีคู่รักก็ไม่ใช่เห็นคุณค่าของคนรักนั้น   แต่เพราะเห็นคนรักเป็นที่หวังปองของคนอื่นอีกหลายคนต่างหาก

สังคมแห่งการสะสม (Hoarding)  บุคคลในสังคมประเภทนี้มักหัวโบราณ   ได้แก่เศรษฐีเก่า  ยุคบุกเบิก   ซึ่งถือว่าการมีที่ดิน  มิเงินในธนาคาร  เป็นหลักทรัพย์ที่พอใจแล้ว ยึดการเก็บหอมรอมริบ การตระหนี่เหนียวแน่นเป็นสำคัญ    ตรงกับประเภท  anal  type ของฟรอยด์ และใกล้เคียงประเภท  หนี  ของฮอร์นาย    
          คนที่อยู่ในสังคมแบบนี้ไม่ชอบความคิดใหม่ๆ และมักอิจฉาริษยา ไม่ชอบให้ใครมายุ่งกับวงการของตนเอง     มีความอบอุ่นใจที่ได้เก็บหอมรอมริบ   ถ้าต้องใช้จ่ายอะไรสักอย่างก็รู้สึกว่าเป็นการสูญเสียอย่างร้ายแรง    ถือความเป็นเจ้าของเป็นสำคัญ     แม้แต่คู่ครองก็ถือว่าเป็นสมบัติชิ้นหนึ่งซึ่งตนภูมิใจที่ได้มาครอบครอง  อีกฝ่ายจะรู้สึกอย่างไรไม่สำคัญ

สังคมประเภทตลาด (Marketing)   เริ่มมีมากขึ้นตามความนิยมแพร่หลายของลัทธิทุนนิยมเสรี    เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ตัวต่อตัวน้อยลง  ชีวิตจึงเป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนมากกว่าผลิตผล ปรากฏว่าดารานักแสดง   และการโฆษณามีความสำคัญยิ่งกว่าคุณภาพข้อเท็จจริง  บุคคลกลายเป็น   “ที่” สำหรับแลกเปลี่ยน   แม้จะอยู่ท่ามกลางฝูงชนก็เหมือนอยู่โดดเดี่ยวอ้างว้าง     ยิ่งยุคปลายศตวรรษที่  20  - 21   มนุษย์ยิ่งมีความรู้สึกอย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ   เพราะโลกยุคใหม่ไม่มีพรมแดน  เสรีทุกอย่า'เป็นยุคโลกาภิวัฒน์     
         คนที่อยู่ในสังคมอย่างนี้   สัมพันธภาพส่วนตัวระหว่างบุคคลเป็นอันสิ้นสุดลง   สังคมมีแนวโน้มแบบนี้มากเท่าใด     มนุษย์ยิ่งห่างเหินจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากขึ้นเท่านั้นคนเราต้องอยู่ด้วยความเปล่าเปลี่ยวท่ามกลางฝูงชน  มนุษย์สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองเหลือแต่ความคิดที่ว่าต้อง   “หว่านพืชหวังผล “  และ มติ    “ตัวใครตัวมัน   อย่างเดียว 

นักจิตวิทยาส่วนมากเห็นตรงกันว่า “ บ้าน มีอิทธิพลยิ่งในการให้พื้นฐานแก่บุคลิกภาพ   โดยเฉพาะ ฟอรมม์  และฮอร์นาย  ตั้งข้อสังเกตว่าการเลี้ยงดูเด็กสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปมาก   ตรงกันข้ามกับการเลี้ยงดูสมัยก่อน  ทั้งนี้เพราะอิทธิพลการศึกษาสมัยใหม่และสิ่งแวดล้อม  สมัยก่อนเด็กต้องอยู่ในโอวาทพ่อแม่    สมัยนี้พ่อแม่เกิดความไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรถูก    เพราะนักวิชาการรุ่นใหม่โจมตีการเลี้ยงดูแบบเก่า    เลยปล่อยให้เด็กรับผิดชอบเอาเอง    แต่ความรับผิดชอบก็คือภาระอย่างหนึ่ง    ถ้าหนักเกินกำลังเด็กก็แบกไม่ไหว   เลยต้องทิ้งภาระนั้นเสีย   ไม่สนใจไยดีชีวิตตัวเองอีก

การทำมาหากินสมัยนี้ก็ต่างจากบรรพบุรุษ   สมัยก่อนลูกฝึกวิธีทำงานจากพ่อแม่    โดยช่วยทำมาหากินกับพ่อแม่   สมัยนี้ลักษณะทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป     ทำให้เด็กต้องไปเรียนวิชาทำมาหากินจากที่อื่น   และไม่จำเป็นต้องเจริญรอยตามพ่อแม่   สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่จึงเสื่อมคลายความแน่นแฟ้น  อบอุ่นลง 

อนึ่ง พ่อแม่สมัยนี้มีระดับการครองชีพสูง เห็นว่าคนรุ่นตนลำบากมามากแล้ว ไม่อยากให้ลูกต้องลำบากเหมือนตน     จึงหาความสะดวกสบายมาประเคนให้ลูก   ทำให้ลูกกลายเป็นคนเอาเปรียบ    คือเคยตัวว่าได้อะไรมาง่ายๆ  เลยไม่มีความมานะพยายาม   

ครั้นเมื่อเด็กทำอะไรไม่สำเร็จ   ไม่ดีพอ  พ่อแม่จึงผิดหวังอย่างมาก   อดลำเลิกบุญคุณไม่ได้ว่าพ่อแม่อุตส่าห์เสียสละปานนั้นแล้ว    ลูกยังไม่เอาถ่านอีก   ส่วนลูกก็ใช่ว่าจะมีความสุข    เพราะวิสัยมนุษย์ย่อมแสวงหาความสำเร็จ    คุณค่า   และความภาคภูมิใจตัวเอง    แต่การเลี้ยงดูนำไปสู่การเลี้ยงไม่รู้จักโต   เลยกลายเป็นวงจรร้าย    มิอาจสร้างสังคมแบบผลิตผลได้

สังคมที่ดีจึงควรเป็นสังคมที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย   ร่วมทุกข์ร่วมสุข  ช่วยกันทำงาน  มิใช่ว่าให้อีกฝ่ายแบบรับภาระ  แต่อีกหนึ่งไม่ช่วยและไม่รับผิดชอบ     สัมพันธภาพแบบนี้จะเกิดได้ก็เพราะ ความรัก   ความเมตตา จากจิตใจของคนที่มีสติ - ปัญญามากขึ้นตามลำดับ


         ความรู้เรื่องสังคมวิทยา  จะช่วยให้ผู้บริหารสร้างสังคมในโรงเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง  ซึ่งจะต้องคิดว่าควรมีสิ่งแวดล้อมแบบไหนบ้าง  รูปแบบชั้นเรียน  ห้องเรียน อาคารเรียนควรมีลักษณะอย่างไร  หรือมีอะไรบ้าง  ต้องมีกฏเกณฑ์  ระเบียบ  กติการการอยู่ร่วมกันอย่างไร   มีบรรทัดฐาน  รวมไปถึงวัฒนธรรมองค์กร  ประเพณีแบบไหนบ้าง   จึงจะสามารถทำให้เยาวชนพัฒนาพฤติกรรม  บุคลิกภาพ  ทักษะ ความรู้ตรงตามจุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่ตั้งไว้ได้ 
        ดังนั้น   ผู้บริหารที่ต้องการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ  จะต้องตั้งคำถามสุดท้ายว่า  เมื่อผู้ที่ได้รับการศึกษาออกไปแล้วนั้น  เขาจะต้องแสดงออกต่อสังคมอย่างไร   เช่น  เป็นคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้หรือไม่    เขาควรจะยอมรับระเบียบสังคมที่มีอยู่หรือไม่     หรือเขาควรจะพยายามพัฒนาสังคมที่เขาอยู่ให้ดีขึ้นหรือไม่ 
        ในอีกลักษณะหนึ่ง คือ โรงเรียนควรจะพัฒนาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่เหมาะสมกับสังคมปัจจุบันดี   หรือว่าโรงเรียนควรจะมุ่งพัฒนาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่ใฝ่ฝันจะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นต่อไปดี  หรือจะพัฒนาให้ได้ทั้งสองอย่าง
        ถ้าเป็นประการหลัง   แสดงว่าผู้บริหารการศึกษายอมรับว่า   สังคมที่ดีในอุดมคตินั้นไม่ปรากฏในสังคมปัจจุบันของเรา      จึงเชื่อว่ากระบวนการทางการศึกษาที่จัดให้กับเยาวชนนั้น  จะทำให้เขาปรับตัวและทำงานได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งสามารถช่วยพัฒนาสังคมด้วยความเข้าใจและร่วมมือเป็นอย่างดี      
        ถ้าโรงเรียนและผู้บริหารยอมรับว่าภารกิจสำคัญ  ก็คือสอนให้คนรู้จักปรับตัวให้เข้าสังคมได้    ก็จะต้องเน้นหนักเรื่องการเชื่อฟังต่อผู้ใหญ่   ซื่อสัตย์  และปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆในปัจจุบัน   และทำให้คนเรียนไม่เก่งออกไปประกอบอาชีพเร็วขึ้น
        ในทางกลับกันถ้าเน้นว่าสังคมต้องเปลี่ยนแปลง    ก็ต้องเน้นหนักในด้านความสามารถในการวิเคราะห์  วิจักษณ์วิจารณ์    ความสามารถที่จะเผชิญปัญหาใหม่ๆ   พึ่งตนเองและเป็นของตนเอง  อิสระและมีวินัยในตนเอง
        และถ้าโรงเรียนมีความเชื่อในประชาธิปไตยก็ต้องจัดการศึกษาให้เท่าเทียมกัน    แต่มีคำถามอยู่ด้วยว่า   คำว่าประชาธิปไตยนั้นมีความหมายเช่นเดียวกับการเมืองหรือไม่    หรือว่าเป็นประชาธิปไตยในการดำเนินชีวิต    จะทำให้ผู้บริหารสามารถวางหลักการ  วิธีการพัฒนาเยาวชน เพื่อบรรลุจุดประสงค์ได้ตรงที่สุด

จะประสบความเร็จในการพัฒนาเยาวชนอย่างไร   
ก็อยู่ที่มีเป้าหมายแบบไหน  และเลือกวิธีแบบไหน