วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระเจ้าตากสินเป็นลูกใครกันแน่ ?

กำเนิดพระเจ้าตากสินเป็นลูกใครกันแน่ ?


.......................

ตามพระราชประวัติ และพงศาวดารทั่วไป มักกล่าวว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี มีบิดาเป็นชาวจีน มาจากเมืองเฉาโจ ชื่อ นายไหฮอง หรือ เซิ่นย้ง (ไทยเรียก แต้ย้ง ตามตำสำเนียงแต้จิ๋ว) รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ นายอากรบ่อนเบี้ย มีมารดาชื่อ นางนกเอี้ยง เมื่อคลอดได้ ๔ วัน เจ้าพระยาจักรี บ้านโรงฆ้อง สมุหนายกรับไว้ บุตรบุญธรรม


ผมเป็นคนหนึ่งที่สงสัยมาตลอดว่า ถ้าพระเจ้าตากสินเป็นสามัญชนและมีบิดาเป็นจีนต่างด้าวจริง ทำไมเจ้าพระยาจักรีต้องมารับไปเป็นบุตรบุญธรรมด้วย ลูกหลานท่านก็เยอะ ท่านโดดเด่นตรงไหน ในตำนานพงศาวดารเก่ามักเอ่ยว่า ถ้ามีเด็กผู้มีบุญมาเกิด ท้องฟ้าและดวงดาวจะมีปรากฏการณ์แปลกประหลาด และก็จะมีโหราจารย์มาทำนายให้รู้ว่าจะมีผู้มีบุญมาเกิด อย่างนี้ก็คงพอเป็นไปได้ที่ว่าเจ้าพระยาจักรีจึงเสาะแสวงหาเด็กที่เกิดในวันนั้นก็เป็นไปได้ แต่ก็ไม่มีประวัติศาสตร์ตอนไหนกล่าวถึงเลย

และเมื่อเจริญวัยแล้ว โอกาสที่จะเข้ารับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ในตำแหน่งมหาดเล็กและเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ราชการ ถึงกับได้โปรดเกล้าแต่งตั้งให้มียศถาบรรดาศักดิ์ระดับพระยา เจ้าเมืองตาก ด้วยวัยเพียง ๒๗ ปี คงเป็นไปได้ยาก และยิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองในยุคแผ่นดินสงบยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสังคมสมัยก่อนเป็นสังคมชนชั้นศักดินาสวามิภักดิ์ ลูกหลานขุนนางเก่าเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์   

ถ้าบังเอิญเกิดมีขึ้นมาได้  ก็ต้องเป็นข้าหลวงเดิมตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ หรือสนิทมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ เช่น โกษาปาน ลูกแม่นมดุสิต สมัยพระนารายณ์ เป็นต้น แต่ท่านก็มีเชื้อสายเจ้าอยู่ดี  ซึ่งขุนนางด้วยกันก็มักกีดกันคนที่มีชาติตระกูลต่ำต้อย หรือไม่มีทางที่คนต่างด้าวจะเข้ารับราชการ ถ้าไม่เป็นที่ทรงโปรดเหมือนเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สมัยพระนารายณ์ และยิ่งเพิ่งเกิดศึกแย่งชิงบัลลังก์ขับไล่ฆ่าฟัน หวาดระแวงขุนนางต่างด้าวออกจากกรุงศรีอยุธยาสมัยพระเพทราชา ยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้ใหญ่ 

ขนาดตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านสมัยก่อน 40 ปีขึ้นไป ถ้ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านคนเก่าตาย ก็ต้องสืบทอดจากลูกหลานคนเก่าอยู่ดี แล้วนับประสาอะไรกับระดับเจ้าเมืองด้วยเล่า ในประวัติศาสตร์ หรือพงศาวดาร หรือประวัติส่วนตัวของผู้เคยเป็นเจ้าเมือง ก็มักจะมีบันทึกยืนยันว่าเป็นการสืบทอดตำแหน่งจากบรรพบุรุษทั้งนั้น และถ้ามีโอกาสหลุดรอดเข้ามามีตำแหน่งได้ เพราะเจ้าขุนมูลนายชุบเลี้ยง ก็มักจะถูกกีดกันเจริญเติบโตในหน้าที่ราชการไม่มีทางได้ดำรงตำแหน่งสูงๆ 

มีหลักฐานหลายชิ้นกล่าวต่างกันไปว่า เช่น 

พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงประวัติพระเจ้าตากสินตอนหนึ่งว่า ก่อนที่จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองตากนั้น ท่านได้เป็นปลัดเมืองตากอยู่ก่อนแล้ว (การเมืองสมัยกรุงธนบุรี : นิธิ เอียวศรีวงศ์) 

พระราชพงศาวดารเหนือเลขที่ ๔๗ กล่าวว่า พระยานักเลงมีเชื้อสายพระเจ้ามักกะโท ทรงพระนามพระยาตาก ตั้งเมืองใหม่ที่ธนบุรี 

สมุดไทยดำ ฉบับหมายเลข ๒/ฆ กล่าวว่า เดิมชื่อจีนแจ้ง เป็นพ่อค้าเกวียนก่อนที่จะมีความชอบในแผ่นดินจนได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ ณ เมืองตาก 

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกเรื่องหนังสือพุทธทำนายของมหาโสภิตอธิการวัดใหม่ว่า เมื่อพระนครเสียแก่พม่าแล้ว จะมีบุรุษพ่อค้าเกวียนได้เป็นพระยาครองเมืองบางกอกได้ ๑๐ ปี 


เมื่อไม่เชื่อในพงศาวดารต่างๆแล้ว เราท่านคงสงสัยว่าพระองค์ท่านเป็นลูกใครมาจากไหนกันแน่ ? มีเหตุผลหรือข้อสันนิษฐานอย่างไร?    
  มีหลายท่าน เชื่อกันว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีท่านเป็นโอรส ของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กับ พระองค์เอี้ยง  (ซึ่งรวมผมด้วย)


ในหนังสือ “คำให้การของชาวกรุงเก่า และ ขุนหลวงหาวัด” (หน้า ๒๒๓ – ๒๒๔) พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าถึงราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระนั้น ทรงมีพระชายาอีกองค์หนึ่งชื่อ “พระองค์เอี้ยง” เป็นธิดาของพระเจ้าบำเรอภูธร แต่ไม่ปรากฏว่ามีโอรสธิดาด้วยกัน”

อีกตอนหนึ่ง ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า “พระเจ้าบรมโกศ  มีพระมเหสีที่เป็นพี่น้องร่วมชนกชนนีเดียวกัน ๒ องค์ คือ พระองค์ขาว โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็น กรมหลวงอภัยนุชิต เรียกว่า “พระพันวะษาใหญ่” กับ พระองค์พลับ สถาปนาเป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี เรียกว่า “พระพันวะษาน้อย” ทั้งคู่นี้เป็นธิดาของเจ้าพระบำเรอภูธร มีแม่เป็นคนเพชรบุรี อยู่บ้าน สมอปรือ เชื้อพราหมณ์” 


จึงสามารถสรุปได้ว่า พระองค์เอี้ยง พระองค์พลับ และพระองค์ขาว เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน เป็นชาวสมอปรือ เพชรบุรี มีพระบิดา คือ เจ้าพระบำเรอภูธร ซึ่งเป็นหลานของพระเพทราชา เดิมชื่อ นายทรงบาศ ต่อมาพระเพทราชาสถาปนาให้เป็นเจ้า เมื่อคราวเสด็จขึ้นครองราชย์ มีศักดิ์ในฐานะเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเทียบเท่า เจ้าฟ้า หรือเจ้าต่างกรม ดังนั้น ธิดาของท่านจึงมีฐานันดรศักดิ์เป็น “พระองค์เจ้า” มาแต่ประสูติ ซึ่งต่อมาธิดาคนโต คือ พระองค์เอี้ยง ได้ไปเป็นพระชายาของ เจ้าฟ้าเพชร หรือ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ส่วนน้องสาวอีกสองคน คือ พระองค์พลับ และพระองค์ขาว ไปเป็นชายาของเจ้าฟ้าพร หรือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ


ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ อาจจะทรงพระราชทานพระชายา คือ พระองค์เอี้ยง ให้อยู่ในความดูแลของ เจ้าพระยาจักรี บ้านโรงฆ้อง คราวใกล้ชราภาพ เพราะกลัวภัยสงครามแย่งชิงบัลลังก์จะลามถึงลูกหลานชั้นเด็กๆ ซึ่งเจ้าพระยาจักรี เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่น่าจะเกี่ยวข้องดองเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นที่ไว้ใจของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และคงเป็นที่นับถือเกรงใจของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย รวมทั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ครองราชย์ต่อมาด้วย จึงไม่ทำอะไรกับเจ้าพระยาจักรีเมื่อครองราชย์แล้ว และยังให้ทำราชการแทนพระองค์หลายอย่างในเวลาต่อมา 


เจ้าพระยาจักรี สมุหนายกสมัยนั้น คงมีบารมีและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก ถึงกับโปรดให้เป็นแม่ทัพคุมทหารไปทำสงครามตีกรุงกัมพูชา ดังพระราชพงศาดารฉบับพันจันทุมาศ ตอนหนึ่งว่า “โปรดให้เจ้าพระยาจักรกรี บ้านโรงฆ้อง ถือพลเมืองหมื่นหนึ่ง ไปตีได้กรุงกัมพูชา เมื่อจุลศักราช ๑๐๗๓ หรือ พ.ศ. ๒๒๕๔”


ทั้งนี้เนื่องจากในปลายรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระองค์ท่านเตรียมจะยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้านเรนทรพระราชโอรส แต่เจ้าฟ้าพร พระอนุชามีบารมีมาก ทำราชการมานาน คงไม่ยินยอมแน่ ซึ่งก่อนจะเสด็จสวรรคตทรงคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะต้องเกิดสงครามกลางเมือง หรือ ศึกสายเลือด แย่งชิงราชสมบัติแน่ เพื่อความปลอดภัยของพระชายาทั้งหลาย รวมทั้งพระองค์เอี้ยงและหน่อเนื้อเชื้อพระวงศ์ที่อยู่ในครรภ์ จึงทรงฝากให้เจ้าพระยาจักรี ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ ๗๐ กว่าปีแล้ว  และ(อาจจะ) เพื่อความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง เจ้าพระยาจักรี ได้ให้นายไหฮอง หรือขุนพัฒน์  รับฝากช่วยดูแล  หรือให้ขุนพัฒน์(ไหฮอง)รับสมอ้างเป็นพ่ออีกต่อหนึ่งก็เป็นได้


ที่แปลก และชวนสงสัยมาก  ก็คือ เพราะต่อมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีครั้งยังเป็นมหาดเล็กบ้าง  เจ้าเมืองบ้าง  และแม้ขึ้นครองราชย์แล้ว  ก็ไม่เคยมีบันทึกเขียนว่าพระองค์รับบิดามาอยู่ด้วย  หรือได้ยกย่องบิดาในที่ใด  หรือเอ่ยถึงบิดาจีนให้ประจักษ์ในที่ใดอีก   ทั้งที่พระองค์เขียนเอง  หรือที่ผู้อื่นเขียนประวัติถึงก็ตาม   (ทำนองประเภทคลอดแล้ว  บิดาสูญหายไปจากโลกนี้ทันที)  


ต่อจากนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงยกราชสมบัติให้ เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสองค์โต แต่เจ้าฟ้านเรนทร ไม่ทรงรับ พระองค์จึงยกราชสมบัติให้ เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสองค์รอง แล้วเจ้าฟ้านเรนทรเสด็จออกผนวช  ต่อมาเจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์ หาทางกำจัดกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มหาอุปราชวังหน้า แต่มหาอุปราชฮึดสู้จึงได้ต่อสู้รบกันเป็นระยะเวลาร่วมปีเหตุการณ์จึงสงบ โดยฝ่ายเจ้าฟ้าพร มหาอุปราชเป็นผู้ชนะ จึงได้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๕ และได้สั่งประหารชีวิตพระเจ้าหลานทั้งสองพระองค์ รวมทั้งขุนนางข้าราชการที่เป็นพวกเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์เกือบหมดสิ้น 


ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมือง ในประวัติศาสตร์ระบุว่า พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ยังไม่เสด็จสวรรคต ต่อมาท่านเสด็จสวรรคตด้วยโรคมะเร็งที่พระชิวหาและพระศอ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๒๗๖ ก็คงราวๆ เดือนกุมภาพันธ์ ไม่ก็เดือนมีนาคม เมื่อเทียบเคียงกับข้อมูลพระราชสมภพของพระเจ้าตากสินมหาราชในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๒๗๗ ดูใกล้เคียงกันมาก เพราะปีใหม่ไทยในสมัยนั้นถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรก


และเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช เกิดได้เพียง ๔ วัน เจ้าพระยาจักรี ก็รีบมาขอเป็นบุตรบุญธรรมทันที อะไรคือสาเหตุที่เจ้าพระยาจักรีถึงมีความจำเป็นขนาดนั้น เพราะถ้าเด็กทารกคนนั้นเป็นสามัญชนคนธรรมดา ยิ่งประวัติศาสตร์ระบุว่า นางนกเอี้ยง แม่ของนายสิน นั้นเป็นชาวเพชรบุรี และในบันทึกต่างๆ และพงศาวดารไทยยุครัตนโกสินทร์   ก็กล่าวว่าก่อนรัชกาลที่ ๑ ได้แนะนำน้องชายท่าน คือ กรมบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) จะไปสวามิภักดิ์สมัครเป็นข้าราชการในพระเจ้าตากสินขณะอยู่ที่ชลบุรี  ให้ไปรับมารดาพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ไปถวายพระเจ้าตากสินด้วย   ในประวัติศาสตร์บอกว่าท่านลี้ภัยไปอยู่ที่นั่นตอนกรุงศรีอยุธยาแตก 


จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ตอนที่พระเจ้ากรุงธนบุรีไปครองเมืองตาก ทำไมท่านไม่ได้นำมารดาท่านขึ้นอยู่ที่เมืองตากด้วยหรือ ถ้าว่าท่านนำมารดาไปด้วย ตอนจะยกทัพไปช่วยกรุงศรีอยุธยา ทำไมท่านถึงเอามารดาท่านไว้เสียไกลถึงเพชรบุรี ก็ถ้าเมืองเพชรบุรีไม่ใช่บ้านเกิดของมารดาท่าน ญาติพี่น้องของท่านก็อยู่ที่นั่น ท่านจะอยู่อย่างไว้ใจได้หรือ ดูอย่างคราวสงครามโลกทุกคนที่หนีภัยสงครามจากเมืองหลวง ก็มักไปอยู่กับญาติที่ชนบท หรือถิ่นฐานที่มีคนรู้จักคุ้นเคยกัน ในประวัติศาสตร์รุ่นหลังก็ไม่เห็นเขียนว่ามารดาท่านพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ที่เมืองเพชรบุรีนี่นา 


และต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าล้อมรอบเมือง พระเจ้าตากสินเป็นใครถึงได้รับการไว้วางใจให้คุมทหารปืนใหญ่ในการต่อสู้ในเขตพระราชฐาน ขนาดเป็นเจ้าเมืองบ้านนอกธรรมดาๆ เจ้าเมืองอื่นก็มี ขุนนางผู้ใหญ่ก็มี เชื้อพระวงศ์ก็มีทำไมไม่ใช้ให้ทำราชการ ยิ่งเมื่อคราวรวบรวมไพร่พลเพื่อกอบกู้เอกราช ถ้าขุนนางเก่าๆไม่ได้ข่าวระแคะระคายว่าพระองค์ท่านมีเชื้อสายเจ้า การยอมรับจะมีขึ้นอย่างรวดเร็วหรือ การเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีตที่บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแล้ว กษัตริย์องค์ต่อมามักมีเชื้อสายทางใดทางหนึ่งจากษัตริย์องค์เก่าทั้งนั้น เช่น พระเจ้าทรงธรรมก็เป็นโอรสองค์หนึ่งของพระเอกาทศรถ(บางแห่งบอกว่าเป็นพระโอรสของพระนเรศวร) พระเจ้าปราสาททองก็เป็นโอรสของพระเอกาทศรถ พระมหาธรรมราชาก็มีเชื้อสายกษัตริย์จากกรุงสุโขทัย พระเพทราชาจริงๆก็มีเชื้อสายเจ้าสุพรรณภูมิ เป็นต้น  

แม้แต่ราชวงศ์จักรี  ก็ยังมีผู้เสาะแสวงหาค้นคว้าหลายท่าน เช่น หลวงวิจิตรวาทการ เป็นต้น  จนเชื่อว่าต้นตระกูลสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาปาน  น้องพระเพทราชา  ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต  ที่เป็นแม่นมของพระนารายณ์มหาราช   ซึ่งในสมัยพระเพทราชาขึ้นครองราชย์  ลูกหลานของเจ้าพระยาโกษาปาน ได้พากันอพยพไปอยู่ที่บ้านสะแกกรัง และอาศัยอยู่จนเหตุการณ์สงบลง ก็พากันอพยพกลับมาตั้งอยู่ที่บริเวณป้อมเพชรในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาแล้วเข้ารับราชการ  โดยนายทองด้วง ได้เป็น หลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี และนายบุญมา ได้เป็นนายสุดจินดา มหาดเล็กหุ้มแพ

ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็เขียนไว้หนังสือ โครงกระดูกในตู้ หน้า 18  ตอนหนึ่งว่า "แรกเริ่มเดิมที ท่าน (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เกิดมาในตระกูลขุนนางในกรุงศรีอยุธยา ตระกูลของท่านเป็นตระกูลขุนนางสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน  นับแต่เจ้าพระยาโกษาปาน นักรบและนักการทูต ผู้มีชื่อเสียงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกศาปานเป็นบุตรเจ้าแม่วัดดุสิต  ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าแม่วัดดุสิตมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา  ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย"   

เหตุผลเหล่านี้  จึงทำให้ผมมีความเชื่อว่า  พระเจ้าตากสินมหาราช  เป็นพระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระมหากษัตริย์ยุคกรุงศรีอยุธยาแน่นอน   ไม่ใช่ลูกคนจีนเชื้อสายจีนดังที่พงศาวดารรุ่นหลังเขียนครับ