วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ศาสนาพุทธที่แท้ มิใช่เพื่อ "สังคม"

ศาสนาพุทธที่แท้   มิใช่เพื่อ "สังคม"
...................
๑....
ทุกวันนี้  ผู้คนมักคิดว่าพระภิกษุนี้ยุ่งวุ่นวายมาก   ซึ่งถ้าดูตามสถานการณ์ ก็จริงอย่างที่ผู้คนคิด    แต่ถ้าจะศึกษาปรากฏการณ์  ก็อาจจะทำให้ค้นพบและตระหนักว่า  สาเหตุที่แท้จริงไม่ได้เป็นมา  หรือเริ่มต้นจากพระแต่อย่างใด
สาเหตุจริงๆ  เพราะ “คน”  ชอบไปยุ่งกับพระมากกว่า   ถ้าพระท่านออกบวชเอง  ท่านก็บวชโดยมุ่งหวังว่าจะฝึกหัดตัวเองให้ดีขึ้นตามพระธรรมวินัย และคำสั่งสอนของพุทธองค์   ไม่ได้คิดจะมาเกี่ยวข้องกับโลก หรือสังคมเลย   มุ่งแต่จะหาทางดับทุกข์  พ้นทุกข์  ไปนิพพานไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
แต่.. “คน”  ส่วนหนึ่งนั่นแหละ  ที่สร้างพระไม่ดีขึ้นมา   ด้วยการอยากให้ลูกหลานบวช   ส่วนหนึ่งอยากให้บวช เพราะเป็นประเพณี,  ส่วนหนึ่งอยากให้บวชเพื่อตอบแทนคุณพ่อแม่,   ส่วนหนึ่งอยากให้บวชก่อนไปแต่งงาน,   ส่วนหนึ่งอยากให้บวชเรียน  เพื่อมุ่งหวังให้หลวงพ่อ หลวงปู่  พระที่ตนเองนับถือ  ช่วยฝึกหัดลูกหลานตัวเองให้ดีขึ้นตามพระธรรมวินัย  ไม่ได้อยากให้ลูกหลานไปนิพพาน หรือบรรลุตามคำสอนของพุทธองค์เลย,   เมื่อครบเวลาที่กำหนด  หรือเห็นว่าลูกดีขึ้น  ก็อยากให้ลูกลาสิกขา  มาช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน หรือ เลี้ยงดูพ่อแม่บ้าง   ซึ่งประเภทนี้ถ้าได้ครูบาอาจารย์ฝึกหัดให้ดี  ก็โชคดีไป  แต่ถ้าวัดที่บวชมีแต่หลวงตาเฝ้าวัดให้ชาวบ้าน  ก็โชคร้ายไป  บวชเข้าไปแล้วไม่ได้อะไรเลย  นอกจากกินแล้วนอน
แล้วก็ “คน” อีกนั่นแหละ  ที่เห็นว่าพระที่บวชนานๆ  ท่านคงมีคุณวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่ดีกว่าคนทั่วไป   เพราะได้ปฏิบัติตามศีลตามธรรม  หรือฝึกฝนจิตใจ (นั่งสมาธิ ภาวนา)   จึงอยาก(นิมนต์)ให้พระเป็นที่พึ่ง  ช่วยสงเคราะห์ชาวบ้าน  ไม่ว่าจะเป็นครู  เป็นหมอยา  หมอดู   หรือผู้วิเศษผู้ปัดเป่าเคราะห์หามยามร้าย   บันดาลโชคลาภ  ฯลฯ  อะไรต่อมิอะไร  ก็เพื่อตอบสนอง "สังคม" มากกว่าที่จะให้พระภิกษุปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดจริง หรือสอนไปเพื่อ นิพพาน ความพ้นทุกข์เพียงประการเดียว
ตราบใด ถ้าคนไทยส่วนมาก ยังอยากให้พระภิกษุในศาสนาพุทธเป็นไป เพื่อ "สังคม"   เราจะไม่มีวันทำให้ศาสนาพุทธในเมืองไทย   เป็น "ศาสนา" ที่แท้  หรือ  มี “พระ” ที่แท้ ตามพระพุทธองค์อย่างที่เรียกร้องได้เลย   เพราะศาสนาพุทธที่แท้ เป็นศาสนาเพื่อ "ปัจเจกชน" ไม่ใช่เพื่อ "สังคม" แต่อย่างใด   แต่เมื่อปัจเจกชนได้ผลดี ก็ส่งผลให้สังคมได้ประโยชน์ตามไปด้วย
จึงต้องถามว่า  คนไทย โดยเฉพาะคนที่วิจารณ์พระภิกษุในขณะนี้  เราต้องการให้พระสงฆ์อยู่เพื่อช่วย "สังคม"  หรือจะให้พระท่านเป็น "ปัจเจกชน"  ทำตามพระธรรมวินัยของพุทธองค์กันแน่ครับ
……………
...
ถ้าเราเอาแนวทางพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติจริงๆ    ผู้ที่หวังดีอยากให้พระภิกษุสามเณรมีจริยาวัตร และอาจาระที่ดีขึ้น  โดยอยากให้ "มหาเถรสมาคมควรสังคายนาครั้งใหญ่"  แค่คิดก็ผิดแล้วครับ  ยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุพูดก็ยิ่งผิดพระธรรมวินัยแล้ว
เพราะสังคายนาเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์  ที่จะทำต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง  หรือมีใครปลอมแปลงคำสอนจากพระพุทธองค์ที่ตรัสสอนไว้      ส่วนมหาเถรสมาคม   เป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล เป็นคนคิดเพื่อปกครองพระ
สมัยสุโขทัย หรือกรุงศรีอยุธยา  ในประวัติศาสตร์ไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดที่ใดว่า  กษัตริย์ปกครองพระภิกษุ   มีแต่ส่งเสริมยกย่องพระภิกษุที่ประพฤติปฏิบัติดี  หรือมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง  โดยคิดคำยกย่องเป็นพิเศษเท่านั้น  แถมมีนัยยะว่าถ้าออกบวชแล้ว  สามารถคุ้มครองภัยอันตรายไม่ให้ใครมารังแก หรือ ทางบ้านเมืองยกโทษที่มีอยู่ให้ทุกประการ
แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์  มีหลักฐานชัดเจนว่า  พระมหากษัตริย์ทรงปกครอง และควบคุมพระภิกษุโดยตรง  ซึ่งมีข้าราชบริพาร ทำงานในตำแหน่งสังฆการีคอยสนองงาน    ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงคิดรูปแบบการปกครองพระ รศ. ๑๒๑ ให้มีมหาเถรสมาคม เป็นลักษณะสภาที่ปรึกษาของพระองค์เกี่ยวกับกิจการศาสนา และบ้านเมือง แต่พระองค์ท่านก็บริหารปกครองพระโดยตรง
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงอนุญาตให้พระธรรมยุตินิกายปกครองกันเอง แต่คณะสงฆ์เดิมยังขึ้นอยู่กับกรมสังฆการี ต่อมาทางคณะสงฆ์นี้   ขอไปขึ้นกับธรรมยุติดีกว่าให้ฆราวาสมาเป็นผู้บังคับบัญชาพระ
ในยุค พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลในยุคนั้น ออก พรบ. ให้พระมีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีการเลือกตั้ง มีการแบ่งอำนาจ ๓ ฝ่าย มีฝ่ายบริหาร ตุลาการ และ สภาสงฆ์ โดยมีสังฆมนตรี และสังฆนายกเป็นผู้บริหาร
ต่อมาในสมัย ๒๕๐๕ จอมพลสฤษดิ์ ประกาศ พรบ.สงฆ์ใหม่ ให้กลับไปใช้ในรูปแบบเดิมสมัยรัชกาลที่ ๕ คือ มหาเถรสมาคม แต่ให้พระปกครอง   ยกเว้นตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ที่แล้วแต่พระราชอัธยาศัยจะทรงแต่งตั้งพระภิกษุที่เป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปใดก็ได้
หลังยุค ๒๕๑๘ รัฐบาลทุกรัฐบาล ต่างแสดงทางพฤตินัยให้การปกครองของพระ เป็นของสงฆ์โดยตรง รัฐบาลเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกให้   คล้ายการบริหารในรูปแบบคณะกรรมการ (บอร์ด) โดยมีข้าราชการกรมการศาสนา  เป็นเลขาธิการของคณะสงฆ์    เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
จะเห็นได้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดกับพระภิกษุทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง สมณศักดิ์  เงินเดือน(นิตยภัตร) เป็นเรื่องของ คนผู้มีอำนาจคิดขึ้น  ไม่ใช่พระภิกษุสร้างขึ้น โดยอาจจะมีจุดประสงค์ส่งเสริมยกย่องพระภิกษุที่ทำคุณงามความดีต่อสังคม หรือ อาจจะเอาไว้ควบคุมพระภิกษุ ซึ่งเป็น หน่วยหนึ่งของสังคมไทย หรือ อาจจะมีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองพระภิกษุสงฆ์ก็ได้  ก็แล้วแต่จะคิด
ดังนั้น  ถ้าใครคิดว่ามหาเถรสมาคมไม่ดี  ไม่จำเป็น  ทำให้พระหลงใหล  มัวเมาในตำแหน่ง  ยศศักดิ์  หรือทำให้พระไม่เป็นพระ   ก็ควรยุบไปสิครับ  ไม่จำเป็นต้องสังคายนาแต่อย่างใด    เพราะมหาเถรสมาคม  และสมณศักดิ์   กษัตริย์เป็นผู้คิดขึ้นมา  และจอมพลสฤษดิ์เป็นคนนำมาใช้ใหม่ 
แถมการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช  ก่อน ๒๕๐๕  เดิมแล้วแต่พระราชอัธยาศัย  ต่อมาให้แต่งตั้งจากสมเด็จที่มีพรรษาสูงสุด   ก็เกิดปัญหาที่อยากแต่งตั้งสมเด็จพระญาณสังวร เป็นสมเด็จพระสังฆราช  แต่มีสมเด็จที่มีพรรรษสูงกว่า  ๒ รูป (แต่ดีที่ท่านทั้ง ๒ ขอสละสิทธิ์)   จึงเกิดการแก้ไขใหม่โดยรัฐบาลยุคนายอานันท์  ปันยารชุน  เป็นนายกรัฐมนตรี   เพราะคิดเอาเองว่าพระสมเด็จทางมหานิกายคงไม่มีคุณธรรมดีพอ  อาจเสียชีวิตก่อนสมเด็จพระทางธรรมยุติ (ไม่งั้นคงไม่มีผู้ดูถูก  เรียกพระสมเด็จทางมหานิกาย เป็นพระขี้เรื้อนหรอก)   ให้แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช   จากสมเด็จพระราชาคณะที่มีสมณศักดิ์สูงสุดก่อนรูปใด    
ทั้งหมดนี้  พระไม่ได้เรียกร้อง  หรือเป็นผู้กำหนดกติกาให้มีแต่ประการใดเลย  ท่านบอกแต่เพียงว่า  ถ้ายังมีกฎหมายนี้อยู่  ก็ขอให้เป็นไปตามกฏหมายที่พวกคุณเขียนไว้สิ
แต่วันนี้อยากให้พระที่ถูกใจ  เป็นสมเด็จพระสังฆราช   จะแก้กฎใหม่  ก็น่าเกลียด  เพราะแก้มาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว   ครั้งนี้   จึงใช้วิธีการจับผิด  แล้วโหมประโคมข่าวให้ร้ายป้ายสี    เพื่อให้สมเด็จที่มีสมณศักดิ์สูงสุดมีมลทิน  จะได้เป็นข้ออ้างในการไม่แต่งตั้ง
....
สรุป  ใครคือคนที่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้น   พระภิกษุ    หรือ คนที่อยากได้พระถูกใจ  ????
……..
...
การกล่าวหาตำหนิพระภิกษุทุกวันนี้ เรื่องสมณศักดิ์   มักถูกวิจารณ์มากเป็นอันดับต้นๆ ว่า พระภิกษุหลงตำแหน่ง วิ่งเต้นอยากเป็นพระครู เจ้าคุณ ซึ่งก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นจริงอย่างที่ผู้คนกล่าวหา เพราะลูกชาวบ้านธรรมดา หรือบางทีลูกชาวนายากจน เมื่อบวชเรียนเข้ามาแล้ว และได้รับการยกย่องให้มีอะไรๆพิเศษกว่าชาวบ้าน ยิ่งได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ที่คนศรัทธา ก็เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เป็นที่ปลาบปลื้มใจทั้งตัวเอง และชาวบ้านที่นับถือ มันก็น่าหลง  น่าปลื้มใจไม่ใช่หรือครับ ?  
แต่..คนที่วิจารณ์ส่วนหนึ่งไม่รู้ว่า การจะได้เป็นพระครู เจ้าคุณในเมืองไทยนั้น  จะต้องพัฒนาอะไรบ้าง คิดเป็นตัวเงินเท่าไหร่ ตามกฎเกณฑ์ (ซึ่งก็คนมีอำนาจของบ้านเมืองกำหนดขึ้น) เช่น สร้างศาลาได้พระครูชั้นประทวน สร้างโบสถ์ได้พระครูชั้นโท   เพราะฉะนั้นกฎเกณฑ์นี้จึงกระทบกับชาวบ้านทั่วไปโดยปริยาย  เมื่อชาวบ้านอยากให้หลวงพ่อตัวเองเป็นพระครูบ้าง  เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า  จึงเรียกร้องจากพระให้หาทางสร้างโน่นสร้างนี่   พระภิกษุจึงต้องขยันหาเงิน ทั้งบอกบุญ เรี่ยไร หรือไม่ก็สร้างวัตถุมงคลจำหน่าย   จนผู้คนส่วนหนึ่งเบื่อระอากับการเรี่ยไร   แต่ทำอย่างไรได้ล่ะ   ก็ในเมื่อกฎเกณฑ์ที่ทางราชการตั้งไว้เป็นอย่างนี้นี่นา   
ถ้าพูดแง่ลบ อีกแง่หนึ่ง   เอาตำแหน่งพระครู เจ้าคุณ ซึ่งมีตาลปัตรพัดยศแหลมๆ  ๑ ด้าม กระดาษอีก ๑ แผ่น สามารถหลอกใช้พระภิกษุพัฒนาถนนหนทาง สร้างอาคารสถานที่ต่างๆ ทั้งในวัด นอกวัด เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ แถมได้สั่งสอนอบรมชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา เป็นคนดี มีศีลธรรมเสมอ หลายวัดทำเป็นค่าย มีโปรแกรมอบรมเป็นกิจจะลักษณะ รวมทั้งยังเป็นที่พึ่งของชาวบ้านยามยากอีก เช่น เป็นหมอรักษาโรค หมอดู หมอน้ำมนต์ ฯลฯ
จะเห็นว่าพระภิกษุท่านทำประโยชน์คุ้มกว่าข้าราชการที่กินเงินเดือนของประเทศอีก  ประเทศและสังคมไทยที่ผ่านมาได้คุ้มเกินคุ้ม    สังคมไทยเราได้จากพระมากมาย  มากกว่าพระได้จากสังคมนะครับ  ยังไม่พอใจอีกหรือครับ  
อยากปกครองพระ  ควบคุมพระ  หลอกใช้พระ   เอายศ  เอาตำแหน่งมาหลอกล่อ   วันหนึ่งพอท่านหลงใหลไปบ้าง  ก็กล่าวหาท่าน  ว่าท่าน     
ใครกันแน่ที่ดึงพระภิกษุ ออกไปยุ่งกับสังคมมากเกินไป  ??? 
ถ้าผู้คนหรือผู้มีอำนาจเห็นว่า พระปกครองกันเองไม่ดี  ไม่อยากให้พระท่านมายุ่งกับสังคมอีก   ก็แค่ประกาศยกเลิก  ประกาศห้าม  ก็จบแล้วครับ ใช้ มาตรา ๔๔ ก็ได้ ไม่เห็นต้องสังคายนา   หรือปล่อยให้คนไม่กี่คนมาจาบจ้วงทำร้ายพระพุทธศาสนาอย่างนี้เลย
เพียงแต่ว่า เมื่อประกาศยกเลิก ไม่ให้พระบริหารกันเอง    จะกลับไปให้ชาวบ้านมาปกครองพระแบบเดิม หรือว่า จะยกให้ท่านดำเนินชีวิตตามพระธรรมวินัยอย่างเดียว   ต้องประกาศให้ชัดครับ
…………..
...
เรื่องที่พระภิกษุถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดตอนนี้ คือ “...กิริยามารยาทไม่สำรวม ล่วงละเมิดพระวินัยเป็นอาจิณ ชอบสะสมเงินทอง ทำตัวเหมือนฆราวาสทุกประการ... ซึ่งที่ประชาชนวิจารณ์มาก็ถูกทุกประการ เพราะพระภิกษุส่วนหนึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ และแถมเจ้ากูยังเอารูปที่ไม่ดีมาแชร์ มาโพสต์ในโลกออนไลน์เพื่ออวดกัน จึงทำให้ประชาชนอิดหนาระอาใจ จึงพาลเบื่อศาสนาพุทธไปแล้วก็หลายคน
จึงน่าฉุกใจคิดว่า ทำไมคนที่เข้ามาบวชเรียนในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นศาสนาแห่งสติและปัญญา ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการแก้ปัญหาชีวิตอย่างแท้จริง จึงกลายเป็นบุคคลที่ทำตัวเละเทะ น่าสะอิดสะเอียนต่อความประพฤติของผู้ที่พบเห็น ทั้งๆที่สังคมไทยให้การเคารพกราบไหว้สูงสุดต่อพระภิกษุสามเณร แม้พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลี้ยงดู  ปกติลูกต้องไหว้พ่อแม่ แต่เมื่อลูกบวชห่มผ้าเหลืองแล้ว ท่านยังคุกเข่ากราบไหว้ลูกทันที
ทำไม พระภิกษุสามเณรบางรูปจึง ทรยศหรือ เนรคุณต่อศรัทธา และการอุปถัมภ์ของคนไทยล่ะ ถ้าถามแบบนี้ก็ต้องตอบว่าเป็นเพราะมีคนไม่ดี เข้ามาบวชอาศัยผ้าเหลืองหากินเลี้ยงชีวิตตัวเองมากขึ้นแต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมตะหนักว่า ผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ครั้งแรกมักมีเจตนาดี ตั้งใจบวชเรียน และฝึกปฏิบัติตัวเองจริงๆ
แต่เพราะเหตุใด จึงกลายเป็นพระภิกษุสามเณรที่มีความประพฤติเหลวไหล ไร้ยางอาย ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ล่ะ
จากการวิเคราะห์หาสาเหตุของผม   ทำให้เชื่อว่า เพราะสาเหตุใหญ่ๆ ๓ ประการ คือ
.....
ประการที่ ๑   ยุคนี้บวชง่ายเกินไป ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร   บางทีท่องขานนาคก็ยังไม่ได้  อุปัชฌาย์ก็บวชให้เพราะเกรงใจ พ่อแม่ หรือผู้ปกครองของนาคนั้นๆ แถมเมื่อบวชเข้ามาแล้ว “...ไม่มีใครอบรมสั่งสอน กำกับ ติดตาม กวดขัน เอาใจใส่ดูแลความประพฤติให้ดี...  การบวชจึงเหมือนกับการมาพักผ่อน  แค่เปลี่ยนสถานที่เท่านั้น  ชั่วระยะหนึ่ง    แต่ฝ่ายพระก็อ้างว่า ส่วนมากคนสมัยนี้   เขาอยากบวชระยะสั้น ๗ วัน ๑๕ วัน จึงไม่ได้ทันสอนอะไรให้.



ที่จริงก็คือ ข้ออ้าง ข้อแก้ตัว ของฝ่ายพระ (อุปัชฌาย์เป็ด อาจารย์เป็ด) เพราะถ้าจะอบรมกันจริง   เหมือนเข้าคอร์สอบรมของสำนักปฏิบัติธรรมที่มีประสิทธิภาพต่างๆ แค่ ๓ วันก็ได้ผลแล้ว   หรือจะเอาแบบเคร่งครัดที่สุด แบบสำนักของท่านโกเอนก้า ๑๐ วัน   ก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและจิตใจได้อย่างมากมาย
เมื่อทั้งอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์วัด รวมเจ้าคณะต่างๆ ปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่กวดขัน  ดังนั้น พระภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ก็ทำตามความเคยชินของตัวเองในสมัยที่เป็นชาวบ้าน  เพราะท่านเองก็ไม่รู้ว่าที่ทำไปนั้น ผิดหรือถูกเหมือนกัน    เนื่องจากไม่มีใครทักท้วง   ท่านจึงทำตัวผิดพระธรรมวินัย เป็นอาจิณ ทำให้ผู้พบเห็นหมดความเลื่อมใสศรัทธา   ทั้งต่อพระภิกษุ และพระพุทธศาสนาไปด้วย
เหมือนในสังคมไทยทุกวันนี้ ไม่มีใครกล้าบอกเด็กๆ ว่าอะไรถูกอะไรผิด  เพราะถือว่าอย่าเอาไม้ไปรันขี้ และ ธุระไม่ใช่  แต่เวลาเด็กทำผิดพลาดขึ้นมา  กลับด่าว่าเด็กเป็นคนไม่ดี  เลว ชั่ว  
ก็ขอย้อนว่า..แล้วใครสร้างเด็กขึ้นมาแบบนี้ล่ะ ไม่ใช่ผู้ใหญ่แบบพวกเราหรือ ?  
สรุป : ประการที่ ๑   ถือเป็นความผิดของอุปัชฌาย์   เจ้าอาวาส อาจารย์วัด และจ้าคณะทุกระดับ ที่ไม่รับผิดชอบเอาใจใส่   อบรม และกวดขันพระภิกษุสามเณร  ผู้เข้ามาบวชให้ดีพอ
ประการที่ ๒  บรรพบุรุษของสังคมไทยในอดีต   ไม่ได้ตั้งใจให้วัด และพระแค่ออกบวชไป “พระนิพพาน” อย่างเดียว   แต่มีจุดประสงค์ต้องการให้ “พระ” เป็นครู   เป็นหมอ   เป็นที่พึ่ง   เป็นผู้นำของชุมชน  ถ้าพูดแบบวิชาการสมัยใหม่  คือ ต้องการให้พระภิกษุเป็น “สถาบัน” ทางสังคม  (Social institute)  ช่วยเหลือคนทุกระดับ  ทุกรูปแบบ   เนื่องจากบรรพบุรุษของเราเห็นว่า  “สังคม”  มีคนหลายระดับ  ผู้คนมีสติปัญญาไม่เท่ากัน  ถ้าได้พระมาเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน  ก็ยังดีกว่าให้คนในสังคมอยู่กันแบบไม่มีทิศทาง    หรือได้คนที่ไม่ดี  มุ่งแต่ประโยชน์ หลอกลวงหาเงินทองมาเป็นผู้นำ   
เมื่อต้องการให้พระทำเพื่อ "สังคม"   ก็ต้องยกให้ศาสนาเป็น "สถาบัน"   เมื่อเป็นสถาบันก็ต้องทำเพื่อคนทุกระดับ  ทุกความแตกต่าง จะไปเลือกกลุ่มคน หรือ คนใดคนหนึ่งไม่ได้  เข้าทำนอง  Institute for​  all   นี่แหละคือต้นเหตุที่ทำให้ พระภิกษุเสื่อมจากพระธรรมวินัย   หมือนกับวงการศึกษา  ถ้าการจัดการศึกษาเพื่อคนตามที่ต้องการ  ก็ไม่มีอะไร  มีแต่ผลดี   แต่วันนี้การศึกษา เขาต้องการให้เป็นไปเพื่อคนทั้งปวง  (Education for all)  การศึกษาจึงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย
แต่..แม้ว่าพระภิกษุส่วนใหญ่ จะทำกิจนอกเหนือจากการบวชเรียน หรือฝึกปฏิบัติ ที่เราเรียกว่า  “กิจของสงฆ์” ทำให้ย่อหย่อนไม่ทำตามพระธรรมวินัยไปบ้างก็ตาม    “สังคม” ก็ไม่ว่าอะไร  เพราะเชื่อว่าท่านทำด้วยเมตตา  และยังสอนให้คนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม  เชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด  และกฎแห่งกรรม  (เรียกทันสมัยว่า สอนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล  เช่น  ตามจริต  ตามอัธยาศัย  ตามบุคคล  ตามวาสนา  ตากวิบากกรรม)   ก็ยังดีกว่าไปนับถือภูตผีปีศาจ หรือสิ่งอื่นๆ เป็นที่พึ่งอีก 
ขนาดหลวงปู่มั่น ที่ผู้คน (รวมทั้งพวกดราม่าดัดจริต) นับถือว่าเป็นพระอริยะ  ยังให้พระอาจารย์เนียมไปสอนการเพาะปลูกให้ชาวบ้าน รักษาโรคให้ชาวบ้าน  ระหว่างไปจำพรรษาอยู่กับชาวเขาทางภาคเหนือ  หรือทางภาคอีสาน   ท่านบอกว่า  ถ้าชาวบ้านยังท้องไม่อิ่ม  ยังสอนศีลธรรมไม่ได้หรอก
พระภิกษุเมืองไทยในอดีตจึงมีหลายรูปแบบ  ทั้ง พระบวชเรียน  พระสอนหนังสือ  พระพัฒนา  พระก่อสร้าง  พระหมอดู  พระหมอยา  พระเกจิของขลัง  พระเวทย์มนต์คาถาอาคม  พระปกครอง พระศิลปิน (ตัวอย่าง ขรัวอินโข่ง)  พระสอนวิชาสู้รบศึกสงคราม(วัดพุทไธสวรรค์)  เป็นต้น   ซึ่งพระภิกษุแบบนี้  ถ้าเอาพระธรรมวินัยมาตัดสิน  ก็อาบัติทุกองค์นั่นแหละ 
เมื่อพระภิกษุไปทำกิจเหล่านี้  ตามความต้องการของสังคม  จึงทำให้ต้องย่อหย่อนพระธรรมวินัย  และไม่มุ่งไปนิพพาน  มุ่งแต่จะอนุเคราะห์ สงเคราะห์ ประชาชนด้วยความเมตตา ห่วงใย   พระภิกษุหลายองค์จึงตั้งใจบำเพ็ญ  เสียสละอุทิศตน ปรารถนาเป็น “พระโพธิสัตว์”  เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้เขาพ้นเคราะห์ภัย  และมี “หลัก” หรือมี “สติปัญญา” ในการดำเนินชีวิตระดับหนึ่งก่อน  ยังไม่ไปนิพพานโดยตรงและโดยเร็ว   เช่น หลวงปู่ทวด  สมเด็จโต   แม้พระมหากษัตริย์ไทยในอดีต และปัจจุบัน ต่างก็ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์  ที่ชัดที่สุด ก็คือ พระเจ้ากรุงธนบุรี รัชกาลที่ ๑, ๓, ๔, ๕ และองค์ปัจจุบัน  (แถมมีคนแถวๆ วัดอ้อน้อย  ก็ยังอ้างประกาศตนเป็นเหมือนกัน)
แต่ในยุคนี้  กิจเหล่านี้ส่วนใหญ่ทางราชการได้ทำเองจนเกือบหมดสิ้น   แต่ยังเหลือพระทางหมอดู  หมอยา พระพัฒนา พระเกจิของขลังอยู่บ้าง  เพราะชุมชนบางชุมชนต้องการอยู่    ซึ่งก็ทำให้ผู้คนในเมืองที่รู้หนังสือมากขึ้น  รู้สึกไม่ค่อยพอใจที่พระภิกษุไม่บวชเรียนทำตามพระธรรมวินัย   ซึ่งเขาไม่ต้องการพระแบบเดิม  เพราะเขาได้รับบริการที่ดีจากทางราชการแล้ว  เขาต้องการพระภิกษุที่ดีไว้กราบไหว้เป็นที่พึงที่เหนี่ยวทางจิตใจเท่านั้น   เขาจึงผิดหวังที่พระภิกษุไทยส่วนหนึ่ง  ไม่ทำตัวให้เขากราบไหว้ได้สนิทใจ    เขาจึงไม่เลื่อมใส หมดศรัทธาพระทั่วไปลง  แต่พวกเขาก็ยังมีเจตนาดีรักพุทธศาสนา  จึงเรียกร้องให้มีการชำระ หรือสังคายนาความประพฤติพระเสียใหม่ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ถ้าคิดแง่ดี  เขามีกุศลจิตจริง อยากเห็นสิ่งๆดีเกิดขึ้นในเมืองไทย
แต่ถ้าคิดในแง่ “พุทธ” เขา “ไร้สติปัญญา  ใจไม่กว้างพอ”  ต่อคนทุกระดับใน  “สังคม” เมืองไทย
...
ประการที่ ๓   สาเหตุที่พระภิกษุสามเณรไม่ดี   มาจากความต้องการของ “คน” ที่หวังพึ่งพิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์   เช่น ตามหลักจิตวิทยาของ Maslow  กล่าวว่า   มนุษย์ทุกคนต้องการความอยู่รอดปลอดภัย  มีชีวิตที่ดี  มีชีวิตที่มั่นคง  มีความรักและได้รับความรัก   และต้องการการยอมรับจากสังคมด้วยกันทั้งนั้น    
ดังนั้น  อะไรก็ได้ที่ทำให้มนุษย์อยู่รอดปลอดภัย  มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย  ไม่เจ็บป่วย  มีฐานะมั่นคง  เจริญด้วยทรัพย์สินเงินทอง  เกียรติยศชื่อเสียง   เขาจะดิ้นรนแสวงหามาให้ได้   แต่ถ้าไม่ได้  เขาก็จะหวังทางลัด  หาสิ่งที่จะบันดาลให้ตัวเองได้มา    ซึ่งสมัยนี้เราเรียกว่าสิ่งนั้นว่า  สิ่งศักดิ์สิทธิ์   ผู้ศักดิ์สิทธิ์  ผู้วิเศษ ฯลฯ
สรุปกันง่ายๆ  ผู้คนในโลกนี้ร้อยละ ๙๗  มักหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ขอให้บันดาลทุกสิ่งที่ตนเองอยากได้  สมความปรารถนา   แม้กระทั่งผู้คนในเมืองไทยที่นับถือศาสนาพุทธ  ศาสนาที่สอนให้เชื่อว่าไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะบันดาลให้  นอกจากการกระทำของตัวเอง  หรือ ให้เชื่อเรื่องกรรม    ก็เห็นวิ่งไปกราบไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป  พระเกจิ  พระอรหันต์  เทพเจ้า  ภูตผีปีศาจ  ต้นไม้ ภูเขา จอมปลวก  สัตว์เดรัจฉาน  ฯลฯ  ถ้ามีข่าวว่าศักดิ์สิทธิ์จริง ให้หวยได้ ให้โชคได้  ก็เห็นแห่แหนไปกราบไหว้
แม้กระทั่งผู้ที่อยากชำระพระศาสนา  อยากปรับปรุงความประพฤติของพระเณรไทย  เช่น  นายสุวิทย์ ที่ตั้งตนเป็น พุทธอิสระ  และผู้ที่เลื่อมใสนับถือนายสุวิทย์   ก็ไม่ใช่เพราะเชื่อว่า  นายสุวิทย์  มีความศักดิ์สิทธิ์ มีพลังจิต  มีญาณวิเศษ ทำนายทายทักได้แม่นยำไม่ใช่หรือ    และยิ่งไปกว่านั้นที่สำนักของนายสุวิทย์  ก็มีการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง  บูชาเทพเจ้า  เอาเลือดแช่น้ำมนต์   ไปทำพิธีปลุกเสกแช่ตัวในกระทะน้ำมนต์ แบบไสยศาสตร์  ที่เป็นเดียรฉานวิชา  ไม่ใช่หรือ 
แล้วนี่ใช่พุทธศาสนาที่แท้ไหม ?   
เมื่อผู้คนจำนวนมากชอบแต่เรื่องศักดิ์สิทธิ์   และผมก็เชื่อว่าไม่มีใครในโลกนี้ทำให้หมดสิ้นไปได้จากโลกนี้   ทำให้ชาวบ้านบางส่วนไปคาดคั้นจากพระภิกษุสามเณรให้ฝึกหัดเป็นผู้วิเศษ  ผู้ศักดิ์สิทธิ์บ้าง  จะได้เป็นที่พึ่งของชีวิต  พระภิกษุสามเณรบางส่วนจึงอนุโลมตามความต้องการของชาวบ้าน  เพราะอยากตอบแทนการให้ข้าวปลาอาหารที่ชาวบ้านเลี้ยงดู   
เช่น ตัวผมเอง  สมัยผมบวชก็ยังถูกขาวบ้านจำนวนหนึ่งมาให้ขอให้ทำนายทายทักชะตาชีวิตทุกวัน  จนใจอ่อนเพราะอยากช่วยชาวบ้านบ้าง  ตอบแทนคุณชาวบ้านบ้าง  ต้องศึกษาเล่าเรียนตำราหมอดูมาช่วยทำนายทายทักให้ผู้คนต่างๆ   ซึ่งก็เป็นที่พอใจของฝ่ายเรียกร้องเสมอ  ต่อมาชาวบ้านเรียกร้องมากขึ้น  ถึงขั้นให้ช่วยแก้ไขสิ่งเสียๆ ร้ายๆ ในชีวิตชาวบ้านออกไป   ตอนแรกก็ทำใจไม่ได้  เพราะคิดว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์   แต่สุดท้ายก็อดใจอ่อนต้องไปดูฮวงจุ้ย  ดูบ้านดูช่องให้ชาวบ้าน  แถมแก้ไขให้เขาอีก   ทั้งๆที่เรียนมาทางด้านจิตวิทยา  พยายามอุตส่าห์แนะนำการแก้ไขปัญหาชีวิตแบบจิตวิทยา   ชาวบ้านก็ไม่สนใจมากเท่ากับเชื่อว่า ผมเป็นหมอดูที่เก่ง    
สุดท้ายก็เบื่อ  เพราะ “คน” มีความต้องการที่ไม่รู้จักสิ้นสุด   ชาวบ้านก็มารบกวนทุกวัน   มีแต่เรื่องเดิมๆ   นานวันจึงเกิดการเรียนรู้ว่า  ชาวบ้านเขาอยากแค่ให้ชีวิตเขาสุขสบาย  ร่ำรวยขึ้น  มียศศักดิ์สูงขึ้น   เราไปช่วยให้เขาหลงอัตตามากขึ้น   ไม่ได้ช่วยให้เขาเบื่อโลก  เบื่อชีวิตตามหลักศาสนาพุทธเลย   แต่เพราะสงสารอดใจอ่อนช่วยเหลือชาวบ้านไม่ได้  จึงทำลงไป     
นี่คือเหตุหนึ่งที่พระภิกษุสามเณรต้องหลงทางไปในทางนอกพุทธศาสนามากขึ้น   เพราะเมื่อชาวบ้านนับถือ  ว่าพระภิกษุองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ ขลัง  เป็นผู้วิเศษ  ก็มักถวายเอกลาภมากมาย    สักการะและคำสรรเสริญเยินยอ  จึงทำลายพระภิกษุสามเณรที่ดีไปในที่สุด   
ขนาดคนที่คิดว่าตัวเองชนชั้นสูง         ยังไปหาพระภิกษุที่เชื่อว่าเป็นผู้วิเศษ  ศักดิ์สิทธิ์ ขลัง  ช่วยปัดเป่าเคราะห์หามยามร้าย  ให้พ้นภัยอันตรายไม่ใช่หรือ  ไม่เชื่อก็ลองไปเรียนถามท่านเจ้าคุณธงชัย  วัดไตรมิตร  ท่านเจ้าคุณพระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา   ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อเณร  วัดศรีสุดา    ฯลฯ  ว่าเป็นจริงอย่างนี้หรือเปล่า    แล้วนั่นใช่การทำตามพระธรรมวินัย หรือส่งเสริมพระที่ดีของศาสนาพุทธหรือเปล่า
และเหตุนี้  จึงทำให้พระภิกษุที่ยังไม่หนักแน่นในพุทธศาสนา หรือไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาทางละคลายอัตตา   เมื่ออยากหาทุนทรัพย์มาสร้างวัด หรือซ่อมแซมวัดวาอารามที่ตนเองอยู่  จึงตั้งตนเป็นผู้วิเศษ  ผู้ศักดิ์สิทธิ์  เพราะเส้นทางสายนี้  หาเงินง่าย   เนื่องจากผู้คนส่วนมากพร้อมที่จะเชื่อ   เพราะอยากรวยทางลัด  อยากสุขสบายง่ายๆ อยู่แล้ว     และจึงมีผลให้ผู้คนส่วนหนึ่งแอบอ้าง (บวช) เป็นพระภิกษุสามเณรที่คนไทยนับถือสูง  หลอกลวงหาเงินทอง  บำเรอความสุขส่วนตัว   พระภิกษุสามเณรปลอมเหล่านี้จึงทำลายพระพุทธศาสนาที่ดีให้หมดไป   เพราะทำให้ผู้คนที่ต้องการพ้นทุกข์ขาดศรัทธา  ไม่นับถือพุทธศาสนายิ่งขึ้น

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา    ถึงแม้จะขับไล่พระภิกษุสามเณรที่ไม่ทำตามพระธรรมวินัยออกไปให้หมด  อย่างเช่น พระเจ้าอโศกมหาราช  รัชกาลที่ ๑   ก็เป็นการยากมากอยู่ดี   ที่จะทำให้มนุษย์ทั่วไปหันมาเข้าใจศาสนาพุทธที่แท้    แม้คนๆนั้นจะตั้งใจดีรักษาพุทธศาสนาก็ตาม   แต่อย่างไรคนที่อยากให้มนุษย์พ้นทุกข์  ก็ยังต้องช่วยเพื่อนมนุษย์ต่อไป

เพราะนับตั้งแต่มนุษย์โดยทั่วไปเกิดมา   ก็ถูกสอนให้ “ยึดมั่นถือมั่น” ทุกสิ่งมาตลอด    แต่คำสอน  หรือ “หลักพุทธศาสนา”  สอนให้ละอัตตา  สอนให้ละคลายความยึดมั่นถือมั่น   จะไปด้วยกันได้อย่างไร  
ยิ่งโลกทุกวันนี้  มีแต่การส่งเสริมให้ยึดมั่นถือมั่นมากขึ้น   ส่งเสริมอัตตามากขึ้น ผู้คนจึงหลงทั้งอบายมุข  สิ่งเพลิดเพลิน  รวมทั้งหลงยึดมั่นว่าตัวเองเป็นคนเก่ง    คนดีกว่าใคร   ทำให้ยิ่งนอกพุทธศาสนาไปใหญ่
จึงเป็นการยากมากที่พุทธแท้ จะเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ และสังคมที่มีแต่ความสุข  ความสะดวกสบาย  และยิ่งถ้าอยู่ในสังคมที่มีความหลงใหล  ฟุ้งเฟ้อ  หลงอัตตา  หลงศักดิ์ศรีชนชั้น   ก็ยิ่งจะถูกหลอกจากคนที่ “สร้างภาพ” ว่าพวกตัวเท่านั้นที่เป็นคนดีกว่าใคร
...
น่าสงสารประเทศในอนาคตจริงๆ ครับ      เพราะ......จะมีแต่พวกขยันอยากพัฒนา   แต่ "โง่" และอวดฉลาด มากขึ้น
ช่วยกัน “ฉุกคิด”  สักนิดว่า  ถ้าอยากให้พระภิกษุสามเณรทำตามพระธรรมวินัยดีขึ้น   จะมีทางอื่นที่ดีกว่า  การทำลายล้าง  และการใส่ร้ายป้ายสีแบบทุกวันนี้ไหมครับ

..............

บทสรุป....
มาถึงตอนนี้  หลายท่านก็คงพอเข้าใจระดับหนึ่งว่าปรากฏการณ์ของวงการสงฆ์ไทย  และความดูหมิ่นดูแคลนพระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันมาจากทั้งตัวพระภิกษุสามเณร   และความต้องการของสังคมที่อยากให้พระดีเข้ามาช่วย “สังคม”
ซึ่งเรื่องที่สังคมต้องการได้ทั้งพระดีตามพระธรรมวินัยด้วย  และให้พระช่วยเหลือ “สังคม” ไปด้วย  คงเป็นการยากที่จะทำให้เกิดขึ้นได้    เพราะถ้าพระมุ่งมาช่วยเหลือสังคมมากขึ้นเท่าใด   หรือสังคมต้องการให้วัดเป็นที่ฝึกอบรมลูกหลานของตัวเองให้เป็นคนดี   พระภิกษุสงฆ์ก็ต้องย่อหย่อนพระธรรมวินัยเท่านั้น 
เช่น  หลายท่านมีความศรัทธาในองค์หลวงพ่อคูณ  ว่าเป็นพระดี  พระเสียสละ  ไม่ยึดติดช่วยเหลือทั้งทางราชการ และภาคเอกชนมานับไม่ถ้วน    แต่ถ้าเอาอย่างที่หลายคนอยากได้พระแท้  พระที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยจริงๆ   ประชาชนก็ทำให้หลวงพ่อคูณต้องปลงอาบัติทุกวัน    เพราะหลวงพ่อคูณต้องปลุกเสกเครื่องรางของขลัง  วัตถุมงคล  เคาะหัว  นิมนต์ท่านเหยียบโฉนดที่ดิน  และรับเงินบริจาคจากผู้มีศรัทธาด้วยมือท่านเอง    แต่เพราะท่านมีเมตตาจิต  ยอมอาบัติ  เนื่องจากท่านเห็นแก่ความทุกข์  ความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องการท่านเป็นที่พึ่ง  และเห็นแก่หน่วยราชการที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการสร้างสิ่งต่างๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์แก่คนส่วนมาก  ท่านจึงยอมเสียสละส่วนตน  เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
แต่..เมื่ออย่างไร  “สังคม กับ พระสงฆ์” คงตัดกันไม่ขาด  เพราะพระเองก็เลี้ยงชีพ (บิณฑบาต) ได้ด้วยศรัทธาจากชาวบ้าน  เมื่อชาวบ้านเดือดร้อน  และมาขอความช่วยเหลือ  พระเองก็ต้องอนุเคราะห์ตามความสามารถของตนเองด้วยเมตตาจิต    จะบอกว่าอาตมาบวชมาเพื่อไปนิพพาน  ไม่ขอเกี่ยวข้องกับโลกใดๆ ทั้งสิ้นก็ไม่ได้  ถ้าผู้ใดเคยอ่านประวัติองค์หลวงปู่มั่น   เมื่อชาวบ้านประสบกับความเดือดร้อนจากการทำมาหากินทั้งภัยแล้ง   ภูติผีปีศาจรบกวน   หลวงปู่มั่นท่านก็อนุเคราะห์ช่วยเหลือด้วยตนเองบ้าง  ส่งพระที่มาฝึกปฏิบัติกับท่าน  ไปช่วยเหลือชาวบ้านเสมอ  ทั้งสงเคราะห์ด้านการเพาะปลูก  และการสวดมนต์  ประพรมน้ำมนต์ เพื่อไม่ให้ภูติผีปีศาจรบกวน
ซึ่งคนในสังคมไทยปัจจุบัน   มองเห็นถือเอาสิ่งที่สังคมไทยแต่โบราณได้แบ่งพระออกเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ  คือพระฝ่ายคามวาสี(พระบ้าน)  และฝ่ายอรัญญวาสี(พระป่า)   ซึ่งพระบ้านนั้น  ชาวบ้านต้องการให้ศึกษาเล่าเรียนตามพระธรรมวินัยมากๆ จะได้มาสอนชาวบ้านต่อ  และทางบ้านเมืองก็ส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรเรียนธรรมะ แปลภาษาบาลี  ซึ่งถ้าพระองค์ใดเรียนดี  สอบได้ตามกฎเกณฑ์  ก็ยกเว้นการเกณฑ์ทหารให้  ได้รับสิทธิพิเศษหลายประการ  แถมถ้าสอบได้ตั้งแต่ประโยค ๓ ขึ้นไป  ก็แต่งตั้งให้เป็นพระมหา  มีพัดประจำตำแหน่ง  มีเงินนิตยภัตรให้อีก  โดยหวังว่าจะได้เป็นผู้นำทางจิตใจให้กับชาวบ้าน   และช่วยฝึกอบรมลูกหลานชาวบ้านต่อไป  
ส่วนพระที่ชอบปฏิบัติ  ฝึกฝนจิตใจโดยตรง  ไม่อยากยุ่งกับโลก  ท่านก็เข้าไปอยู่ตามที่ห่างไกลผู้คนรบกวน  ซึ่งอาจจะเป็นป่า  เป็นถ้ำ  เป็นที่รกร้างว่างเปล่า  หรืออาจจะจาริกรุกขมูลไปเรื่อยๆ   ชาวบ้านก็อนุโมทนาสาธุด้วย  และไม่ไปรบกวนท่านแต่อย่างใด 
ซึ่งสังคมไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างนี้   ชาวบ้านทั่วไปต่างเข้าใจ  และไม่คาดหวังว่าพระบ้านจะเป็นพระที่ดีนัก  ขอเพียงแต่ไม่ล่วงละเมิดอาบัติปาราชิกก็พอใจแล้ว    แถมเมื่อมีพระดี  พระนักพัฒนามาอยู่ในหมู่บ้าน  ก็มักจะยุยงส่งเสริมลูกสาวให้พยายามเกี้ยวพาราสีพระมาเป็นลูกเขย  หรือไม่ก็ลงทุนหว่านล้อมพระด้วยตนเองก็มี  ใครอ่านประวัติหลวงปู่หลวงพ่อสายกัมมัฏฐาน  มักจะเจอเรื่องเหล่านี้เป็นประจำ  แม้หลวงพ่อชาท่านก็เคยถูกชาวบ้านใช้วิธีการนี้เช่นกัน   เพราะชาวบ้านเชื่อว่า  คนที่บวชเรียนแล้ว  มักเป็นผู้ชายที่ดี  จะเป็นพ่อบ้านที่ดี  ไม่งั้นชาวบ้านแต่ก่อนคงไม่ส่งเสริมลูกแต่งงานกับคนที่ยังไม่เคยบวชหรอกครับ
ดังนั้น  เมื่อปรากฏการณ์ทางสังคมไทย  ที่เกี่ยวข้องพระสงฆ์เป็นอย่างนี้   ในทัศนะของผมพอมีวิธีการ / แนวทาง  การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้   ทาง คือ
๑.  มีการลงโทษพระสังฆาธิการตั้งแต่เจ้าอาวาส  เจ้าคณะตำบล  เจ้าคณะอำเภอ  เจ้าคณะจังหวัด  และเจ้าคณะภาคที่รับผิดชอบพระภิกษุสามเณรในเขตตนเองไม่ให้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยที่ทำลายศรัทธาประชาชนอย่างจริงจัง  ตั้งแต่เบาไปจนกระทั่งปลดออกจากตำแหน่ง 
๒.  กำหนดให้พระบ้าน  หรือพระป่าครองสีจีวรที่แตกต่างกัน  (ซึ่งทางพฤตินัยก็ทำกันอยู่แล้ว  ไม่งั้นเมื่อปี ๒๕๕๗  จะมีนโยบายให้พระมหานิกายห่มผ้าสีเหลืองเจือส้ม ห่มจีวรแบบไทยเดิมเลิกข้าง บิดลูกบวบออกมาทางขวา   และพระธรรมยุติห่มจีวรสีพระราชนิยม ห่มจีวรแบบแหวก    ซึ่งก็ไม่ได้ผลทางนิตินัยนัก)   เพราะมีพระบ้านก็ไปห่มสีแบบพระป่า  เลยสับสนกันไปหมด

ดังนั้น  เพื่อให้ชาวบ้านไม่สับสน  จะได้แยกออกว่าพระพวกไหน  เป็นพระเพื่อ/ของ “สังคม” ที่ควรทำใจบ้าง  ไม่ถือโทษตำหนิติเตียนมากนัก     ทางพระหรือทางราชการ  จึงควรออกเป็นกฎให้ชัดเจน

เช่น  ทางฝ่ายมหานิกาย ถ้าเป็นพระบ้านให้นุ่งห่มจีวรแบบสีเหลืองเจือส้ม   พระป่านุ่งห่มสีเหลืองหม่น  ทางฝ่ายธรรมยุติกนิกาย  ถ้าเป็นพระบ้านให้ห่มสีกรักทอง  หรือสีพระราชนิยม   ส่วนพระป่าให้นุ่งห่มสีกรักแก่นขนุน  เป็นเรื่องเป็นราว เป็นกิจจะลักษณะ  และห้ามพระบ้านหรือพระป่านุ่มห่มสีที่ไม่ใช่ตนเองสังกัดอยู่เป็นอันขาด   

ส่วนเมื่อเห็นพระที่นุ่งห่มสีกรักแก่นขนุน  ที่เราถือว่าเป็นพระที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ตรงที่สุด  มาเดินเพ่นพ่านในตลาด /ในเมือง หรือ ใช้เงินจับจ่ายซื้อขาย  นุ่งห่มไม่เรียบร้อย  ไม่อยู่ตามป่า  ตามทีวิเวกห่างไกลผู้คน   ก็ให้ทางเจ้าหน้าที่และพระวินยาธิการจับลาสิกขาไป  ก็คงพอบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง

หรือจะเลียบแบบเครื่องแบบของข้าราชการที่มีสีไปแต่ละหน่วยงานก็ดีเหมือนกัน   เช่น  พระเรียนหนังสือนุ่งห่มสีเหลืองเจือแดง   พระนักพัฒนานุ่งห่มสีเหลืองหม่น   พระหมอๆทั้งหลายนุ่งห่มสีแดงเจือดำ   พระปฏิบัติกัมมัฏฐานนุ่งห่มสีกรักแก่นขนุน   เป็นต้น   ก็จะช่วยให้ชาวบ้านได้รับรู้ และหายความคาดหวังลงได้บ้างว่าพระองค์ไหนต้องเคร่งมาก    องค์ไหนไม่ต้องเคร่งมาก

๓. ชาวบ้านช่วยกันกำจัดพระภิกษุสามเณรที่ไม่สำรวม  ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ   ด้วยการไม่ใส่บาตร  ไม่นิมนต์รับอาหารที่บ้าน  ไม่กราบไหว้สักการะ  และถ้าเป็นไปได้ช่วยกันขับไล่ออกจากวัดหรือที่พักในชุมชนของชาวบ้านทันที    ถ้าชาวบ้านแข็งพอ  ไม่ช้าพระที่ไม่ดีก็จะหายไปจากวัด หรือสังคมไทยได้ทางหนึ่ง  (แต่ปัจจุบันพระกลัวชาวบ้านไม่พอใจจะขับไล่ได้ง่ายๆ  จึงพยายามยกวัดที่อยู่เป็นพระอารามหลวง  ชาวบ้านหมดสิทธิ์ที่จะจัดการพระโดยตรง   การจะแต่งตั้งถอดถอนเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส  เป็นหน้าที่ของมหาเถรสมาคมเท่านั้น)
....
ทั้งหมดนี้  คงไม่สามารถจะทำให้พระภิกษุสามเณรทั้งหมดดีขึ้นได้   แต่ก็คงดีระดับหนึ่งครับ