วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

“การเลือกตั้ง” เท่านั้นที่แสดงว่า “ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนตัดสินใจชีวิตของตนเอง”

ที่จริงการถกเถียงเรื่องการเมืองตอนนี้  จะว่ายากก็ยาก  จะว่าง่ายก็ง่าย


เพราะถ้าขึ้นต้นคำถาม หรือประเด็นถกเถียงว่า  ประเทศไทยควรมีระบอบการปกครองแบบไหนดี ? แบบนี้รับรองว่า “ยาก” แน่นอน  ซึ่งมันจะกว้างและหาบทสรุปไม่ได้ใน 100 ปี  เพราะต้องถกเถียงถึงข้อดีข้อเสีย และความเป็นไปได้ของระบอบต่างๆ ถ้านำมาใช้กับเมืองไทย  เถียงกันมากเข้า  โอกาสที่จะฆ่ากันตายก็มีสูงไปด้วย


แต่ถ้าขึ้นต้นข้อถกเถียงกันว่า   ประเทศไทยควรปกครองในระบอบประชาธิปไตยไหม ?  อย่างนี้ “ง่าย” มาก  จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง  หรือ เลือกตั้งก่อนปฏิรูป  ก็สามารถให้คำตอบได้ง่ายตามไปด้วย   เพราะแค่บอกว่า “ควร หรือ ไม่ควร” ก็จบแล้ว    และที่จริงก็จบไปนานแล้วกับคำถามนี้  เพราะเราถูกสอนให้รับรู้ว่า  สังคมไทยเลือกการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่เกิด   อาจจะเพราะเป็นการปกครองที่สากลทั่วโลกยอมรับก็ได้   เราต้องการเป็นสากลอารยะประเทศก็เลยต้องมีการปกครองแบบนี้ตาม


เพราะคำว่า “ประชาธิปไตย” มีคำนิยามที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่า “ประชาชนเป็นใหญ่   เป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชน  และเพื่อประชาชน”  อะไรๆที่ประชาชนไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ  ถือว่าผิดหลักการประชาธิปไตยหมด


ที่เมืองไทยมีปัญหาทางการเมือง  ทางความคิดตอนนี้   ก็เพราะจริงๆแล้ว  คนกลุ่มหนึ่งเขาไม่ได้ต้องการให้มีระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทย   เขาไม่ได้ต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่  เขาต้องการแค่ให้ชนชั้นเขาเป็นใหญ่  เป็นผู้ปกครองประเทศเท่านั้น   


ถ้าใครพูดถึงเรื่อง “คนดี” หรือ “คนไม่ควรเท่ากัน”   หรือ เรียกร้องให้นักการเมืองเป็นคนดี   มีการเมืองสร้างสรรค์   หรือว่าประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง   ***ให้พึงรู้เถิดว่า  เขากำลังไม่ได้พูดระบอบประชาธิปไตยกับเรา***  แต่....เขากำลังบอกว่าตัวเขาหรือพวกเขาควรเป็นผู้ปกครองประเทศนี้  ควรมอบอำนาจให้เขา  เพราะเขาเป็นคนดีกว่า  เก่งกว่า  จริงใจกว่าคนที่ประชาชนเลือกมา


เพราะประชาธิปไตยจริงๆ ก็คือ ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจชีวิตของตัวเอง  แต่ประชาชนไม่สามารถไปทำภารกิจตามความต้องการได้ทุกอย่าง  เขาจึงเรียกร้องหา “ผู้อาสา”  หรือเลือก “ตัวแทน” ไปทำงานแทนให้


ระบอบประชาธิปไตย  จึงอยู่ที่  “การเลือก”  จะเป็นการเลือก “ตัวแทน”  หรือ “ผู้นำ” ตามที่เขาต้องการ ก็ได้ทั้งนั้น   และเขาต้องยอมรับผิดชอบกับคนที่เขาเลือกภายในเวลาที่กำหนด     ประชาธิปไตยจริงๆ ก็มีแค่นี้เอง   ไม่ได้มีอะไรลึกลับ  ซับซ้อนแต่อย่างใด    อะไรๆที่เกินกว่านี้ถือว่าไม่ใช่ “หลักการ” ของประชาธิปไตย  


และถ้าเกินไปจากนี้   เช่น  ต้องการให้นักการเมืองเป็นคนดี  หรือต้องจบปริญญาตรี  หรือต้องมีอายุเท่านั้นเท่านี้  หรือต้องมีความรู้ความสามารถอย่างนั้นอย่างนี้  แสดงว่ามีผู้นำเอาความคาดหวัง และเจตนาแอบแฝงที่ต้องการให้ตัวเอง หรือพวกตัวเองได้ประโยชน์มาใช้กับระบอบประชาธิปไตยแล้วล่ะ


ที่เมืองไทยวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะมีผู้ต้องการให้ตัวเอง หรือพวกตัวเองได้ประโยชน์  โดยสร้างเงื่อนไขมากมายกับระบอบประชาธิปไตย  ร่างกฎกติการะเบียบมากมาย  ผลิตรัฐธรรมนูญไม่รู้กี่ฉบับ  จนเกิดปัญหามากมายซับซ้อนตามมาไม่รู้จบ


และที่หนักกว่านั้น  สร้างภาพให้นักการเมือง  ที่เป็นตัวแทนของประชาชนเป็น “ผู้ร้าย” ตลอดกาล   เช่น กล่าวหาว่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาล เป็นเผด็จการรัฐสภา  แต่ตัวเองเขียนเงื่อนไขว่าผู้แทนต้องสังกัดพรรค และผู้ที่ได้เสียงข้างมากในสภาให้จัดตั้งรัฐบาล   เมื่อใครมีเสียงข้างมากในสภาก็ย่อมเป็นทั้งรัฐบาล และนิติบัญญัติไปด้วย    และแม้แต่การเลือกตัวแทน(นักการเมือง)ของประชาชน  ก็เขียนจนสับสนว่าจะให้  ตัวแทนของประชาชนมาทำงานหรือไม่   เพราะจะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด  มีนโยบายแล้ว  มอบให้ข้าราชการไปทำงาน  แต่ถ้าข้าราชการไม่ทำ  จะโยกย้ายหรือปลดระวางก็ยากมาก  เพราะอ้างว่าข้าราชการไม่ใช่ “ม้า” ของนักการเมือง 


ยังมีตัวอย่างอีกมากมาย  ที่ลักลั่น  ยอกย้อน  ขัดแย้งกันในตัวเองของเงื่อนไขที่เขียนในรัฐธรรมนูญ    และจากตัวอย่างที่ยกมา  สรุปได้ว่า  “เขา” สร้างปัญหาให้กับเมืองไทยมาโดยตลอด  ทำให้เมืองไทยไม่สงบวุ่นวาย เพื่อจะได้อาศัยเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจจากประชาชน   และเมื่อยึดไปแล้วก็ไม่สามารถปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นแต่อย่างใด  เพราะไม่ช้าก็ต้องให้มีเลือกตั้ง  เนื่องด้วยไปสัญญากับประเทศต่างๆทั่วโลกว่าประเทศนี้จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย   ถึงจะพยายามเขียนเงื่อนไขไม่ให้ตัวแทนของประชาชนทำอะไรได้ตามที่หาเสียงมา  สุดท้ายก็ต้องมีเลือกตั้งอยู่ดี   มีเพียงแค่พยายามเอาคนของตัวเองเข้าไปมีอำนาจทุกภาคส่วน  เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง   แล้ววันหนึ่งถ้าอำนาจของตัวเองลดลงเกือบครึ่ง  ก็จะหาเหตุอ้างยึดอำนาจของประชาชนกลับไปให้พวกตัวเองมีอำนาจครบถ้วนทุกภาคส่วนใหม่อีก  วนเวียนอย่างนี้ไม่รู้จบ


เขาถึงเรียกการปกครองเมืองไทยตอนนี้เป็น “วงจรอุบาทว์”  ไงครับ  


ถ้าจะไม่ให้ “วงจรอุบาทว์” นี้เกิดขึ้นอีก  ประชาชนต้องรู้เท่าทัน  และหวงแหนอำนาจของตัวเองไว้มากๆ  อย่าปล่อยให้ใครมาแอบอ้างความดี  คนดี เพื่อ “เขา” จะได้มีอำนาจในการปกครองประเทศนี้นานๆ แต่เพียงผู้เดียวนะครับ


สำหรับทัศนะของผมทุกระบอบการปกครองก็มีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น  ระบอบจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่คนของสังคมนั้นจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหน   และส่วนตัวผมเชื่อ “กฎแห่งกรรม” ดังนั้นในโลกนี้จึงต้องมีสังคมและระบอบการปกครองหลายชนิด  เพื่อให้คนได้ไปเวียนว่ายตายเกิดในแต่ละชาติ ไปเกิดไปเรียนรู้ในสังคมนั้นๆ  ตามสภาวะจิตใจที่สั่งสมมา  และชดใช้หนี้เวรที่สร้างมา  


ผมเชื่อว่า “ทุกชีวิตที่เกิดมา  ไม่มีคำว่า “บังเอิญ”  การที่ทุกคนเกิดในประเทศแบบไหน สังคมแบบไหน  พ่อแม่พี่น้องเพื่อนแบบไหน  สิ่งแวดล้อมแบบไหน  ล้วนเพราะเขา “เลือก” มาเกิดตาม “กรรม และสภาวะจิต” ของตนเอง  หรือมีผู้จิตสูงส่งแนะนำให้มาเกิด


อย่าลืมไปเลือกตั้งวันนี้นะครับ  เพราะนั่น คือ การตัดสินใจชีวิตของท่าน  ว่าท่านจะเลือกใช้ชีวิตแบบใดในอนาคต โดยไม่ต้องรอให้ กปปส. หรือใครมากำหนดชะตาชีวิตของท่าน


 “การเลือกตั้ง”  เท่านั้นที่แสดงว่า  “ประชาชนเป็นใหญ่   ประชาชนตัดสินใจชีวิตของตนเอง”  โดยไม่ต้องฆ่าฟันทำร้ายกัน