วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สิ่งที่พบเห็น และรับรู้ : โรงเรียนคุณธรรม ๑

เมื่อปีการศึกษา  ๒๕๕๖  ผมได้รับเกียรติจากสำนักงานศึกษาธิการภาค ๓  ซึ่งรับผิดชอบติดตามดูแลการจัดการศึกษาของหน่วยงานการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ   มีจังหวัดลพบุรี  สิงห์บุรี  อ่างทอง  ชัยนาท  ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการติดตามประเมินผลการดำเนินงานสถานศึกษาตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรมพื้นฐาน  ของกระทรวงศึกษาธิการ  

โครงการนี้  กระทรวงศึกษาธิการ  มีจุดประสงค์ตั้งใจให้สถานศึกษาตระหนักถึงคุณค่าในการสร้าง  ส่งเสริม  พัฒนา ปลูกฝังคุณธรรมในสถานศึกษา  เพื่อไปปลูกฝัง หรือกระตุ้นนักเรียน / นักศึกษามีจิตสำนึกที่ดี   เกิดแนวคิด  แนวทางการประพฤติตนตามคุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการ   ได้แก่  ขยัน  ประหยัด  ซื่อสัตย์  มีวินัย  สุภาพ  สะอาด  สามัคคี  มีน้ำใจ

ในการประเมินครั้งแรก  ทางสำนักงานศึกษาธิการภาค ๓ ได้ให้ศึกษาเอกสาร  วีดิทัศน์ที่แสดงถึงวิธีการ  กิจกรรม หรือกระบวนการพัฒนาส่งเสริมคุณธรรมของสถานศึกษาต่างๆ  ที่คิดว่าตัวเองประสบผลสำเร็จแล้ว  จำนวน ๓๓ โรงเรียน  

แต่...จากการศึกษาเอกสาร  ชมวีดิทัศน์  พบว่า  สถานศึกษา “เข้าใจผิด” และ “หลงทาง” หลายประเด็น  ดังนี้
    ๑.    ไม่เข้าใจว่า คุณธรรม คือ อะไร  หรือไม่รู้จะดูจากตรงไหนถึงจะรู้ว่าเป็นคุณธรรม  
    ๒.    บางท่านไปนำเอา “จริยธรรม” มาเป็น  “คุณธรรม”
    ๓.    ทำกิจกรรม “เฉพาะกิจ”  ขึ้นมารองรับการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม
    ๔.    ทำกิจกรรม  เพื่อให้แต่นักเรียนทำ  แต่ครูไม่ต้องทำ  หรือไม่ต้อง “เป็น”
    ๕.    มุ่งแต่ทำกิจกรรม  แต่ไม่มีระบบกระบวนการที่จะพัฒนานักเรียนให้มีคุณธรรม จากหลักการ     แนวคิด หรือทฤษฏีใดๆ

“ถ้าเริ่มต้นผิด   เข้าใจไม่ตรง    สิ่งที่ได้จึงไม่เกิดผลตามที่ต้องการ”

        ในการประเมินรอบต่อมา    เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาศึกษาดูว่าได้ผล(คุณธรรม) ตามที่โรงเรียนได้ทำกิจกรรมส่งเสริมหรือพัฒนาหรือไม่    ซึ่งคณะกรรมการได้ไปเยี่ยมเยือนสถานศึกษาต่างๆ   โดยไม่ได้นัดหมาย หรือแจ้งให้ทราบล่วงหน้า  เพื่อเห็นสภาพจริง   จะเรียกว่าเป็นการ “ประเมินตามสภาพจริง” ก็ย่อมได้     ทั้งเยี่ยมชม  และให้ครู ผู้บริหาร และนักเรียนตอบแบบสอบถามด้วย

        ผลปรากฏว่า   สถานศึกษาหลายแห่งเป็นไปตามที่ผม  และคณะกรรมการตั้งข้อสังเกตไว้   โดยสถานศึกษาหลายแห่งผมและคณะกรรมการเข้าไปก่อนเคารพธงชาติ    ระหว่างพักรับประทานอาหารกลางวัน   บางครั้งเข้าไปขณะสถานศึกษากำลังเลิก     ทำให้ประจักษ์ชัดว่า  สถานศึกษาหลงทางไปทำ “กิจกรรม” มากกว่าที่ตั้งใจ “พัฒนา(ปลูกฝัง)” คุณธรรมจริยธรรมจริงๆ   

        การไปเยี่ยมเยือนโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า  หรือนัดหมายก่อน  ทำให้เห็นของจริงว่าสถานศึกษาและตัวบุคลากร นักเรียนเป็นอย่างไร  ทั้งสภาพแวดล้อม   อาคารสถานที่   บุคลิก   พฤติกรรม  ส่วนมากจะไม่ค่อยสะอาดเรียบร้อย   วุ่นวาย  มีที่ประทับใจอยู่  ๓  โรงเรียน  คือ โรงเรียนเมืองละโว้  โรงเรียนบรรจงรัตน์  และโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย  ที่ดีเยี่ยมทั้งหมด   สภาพแวดล้อมก็สะอาด  ข้าวของในห้องจัดเรียบร้อย   โดยเฉพาะโต๊ะทำงานครู  ห้องพักครูสะอาดเรียบร้อยมาก   นักเรียนมีอัธยาศัย  มีน้ำใจช่วยเหลือกัน  ครูก็มีกิริยามารยาทเรียบร้อย  สมเป็นครู   เรียกว่าเขาดีจริงๆตามที่เป็นอยู่   ไม่มีการจัดฉากให้ใครดู    
ซึ่งตรงนี้ผมและคณะกรรมการ ถือว่า   “ถ้าบุคลากรครูยังไม่ดีจริง  ยังไม่เป็นตัวอย่าง (ต้นแบบ)  แล้วจะให้นักเรียนมีพฤติกรรมหรือจิตใจที่มีคุณธรรมได้อย่างไร”

        โรงเรียนที่จัดการศึกษาในระดับประถมศึกษา  ยิ่งเป็นแถบชนบท  มักจะได้เปรียบสถานศึกษาทั่วไปอย่างหนึ่ง คือ  ตัวนักเรียนจะเด่นเรื่อง   ความซื่อสัตย์   ความสามัคคี    และความมีน้ำใจ   โดยเฉพาะคุณธรรมสุดท้าย “ความมีน้ำใจ” จะเด่นมาก     ซึ่งถ้าดูไปแล้ว  น่าจะมาจากอิทธิพลของสังคมไทย  มากกว่า “ฝีมือ” พัฒนาของสถานศึกษา    แต่มีอยู่แห่งหนึ่งที่สามารถสร้างคุณธรรมชั้นสูง (ความกตัญญูกตเวที)  ได้ดีมาก   จะเล่าให้อ่านในครั้งต่อไป

        และเมื่อกลับมาตรวจสอบการตอบแบบสอบถามของนักเรียน และบุคลากรครูของสถานศึกษาต่างๆ  ทำให้ได้ผลยืนยันชัดเจนว่า    สถานศึกษาส่วนมากยังไม่สามารถ  “สร้างระบบ” เพื่อให้มีกระบวนการทำงานที่มีคุณภาพ  จนทำให้นักเรียนเกิดความตระหนัก   เห็นคุณค่า  และมีพฤติกรรมที่ออกมาจากจิตใจ”   อย่างแท้จริง
       
        ช่วงนี้ขอสรุปก่อนว่า 
๑.    คุณธรรม  ดูพฤติกรรมที่ออกมาจากจิตใจ,  จริยธรรมดูที่พฤติกรรมตรงๆ
(คุณธรรม”  หมายถึง  สภาพจิตใจที่มี จิตสำนึกที่ดี”  หรือ จิตใจที่ดีงาม”  หรือ จิตใจที่มี หลักยึดในความดี ความงาม ความถูกต้อง   หรือ จิตใจที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบ  รู้จักผิดชอบชั่วดี  เกรงกลัวต่อการกระทำความชั่ว  ซึ่งแสดงออกมาทางกาย   วาจา   และความประพฤติ หรือการปฏิบัติที่ทำเป็นประจำ  ต่อเนื่อง  ที่กลายหรือติดเป็น นิสัยของแต่ละบุคคล  เมื่อจิตเกิดคุณธรรมขึ้นแล้ว จะทำให้เป็นผู้มีจิตใจดี และคิดแต่สิ่งที่ดี   จึงได้ชื่อว่า  เป็นผู้มีคุณธรรม)

๒.    คุณธรรมจะเห็นได้ชัดจากความเคยชิน  หรือแสดงออกมาโดยทันทีเมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ

๓.    คุณธรรมสร้างได้โดย  
๓.๑  บุคลากร /ครู ทุกคนต้อง “ทำเป็นตัวอย่าง  ต้นแบบ” ในทางที่ดีงาม  หรือในสิ่งที่ตนเองจะปลูกฝังให้กับนักเรียน
๓.๒  มีการจัดกิจกรรมที่ดีที่ให้นักเรียนทำเป็น“กิจวัตร” อย่างจริงจัง ต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย ๓ ปีขึ้นไป โดยมีระบบและกระบวนการทำที่ดี   
๓.๓  มีกิจกรรมที่ให้นักเรียนต้องทำด้วยตนเอง และ/หรือได้ร่วมทำกับผู้อื่นหรือได้มาด้วย “ความยากลำบาก  หรือต้องต่อสู้ฝ่าฟัน”จนกว่าประสบความสำเร็จ  หรือ
๓.๔  ปลูกฝังให้นักเรียนมี ความเชื่อ หรือ ความศรัทธา เช่น กฎแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิด  บาปบุญคุณโทษ พระเจ้า เป็นต้น หรือ  เชื่อมั่นศรัทธาต่ออุดมการณ์เป้าหมายที่สูงส่งของชาติ / สังคม เป็นต้น  หรือ
๓.๕  ทำให้ “ตระหนัก” ในคุณค่าของชีวิต   หรือทำให้ “เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง” ต่อความเป็นจริงของชีวิต  เช่น  ขันธ์ ๕   กฎไตรลักษณ์   โลกธรรม ๘   อริยสัจ ๔   มรรค ๘  ปฏิจจสมุปบาท ๑๒   เป็นต้น

        สถานศึกษาส่วนมากข้อ ๓.๑  ก็ไม่ผ่านแล้วครับ,   ข้อ ๓.๒ มีอยู่  ๗  แห่งที่ทำได้ถึง, ข้อ ๓.๓ ที่เด่นชัดมี ๔ แห่ง,  ข้อ ๓.๔  ยังสรุปไม่ได้ชัดว่า  เป็นฝีมือของสถานศึกษา  หรือสังคม  หรือครอบครัว  หรือพระ  หรือสื่อสารมวลชนกันแน่   แม้ในสถานศึกษาจะมีกิจกรรมตามแนวทางศาสนา   แต่จากการตอบแบบสอบถามของนักเรียนมีน้อยคนมากที่จะเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม หรือนรกสวรรค์ เป็นต้น    ส่วนข้อ ๓.๕  ยังไม่สถานศึกษาใดทำถึงครับ 

คราวหน้าจะมาเล่าสถานศึกษาแต่ละแห่งที่ไปพบมา  เพื่อเป็นตัวอย่างของการพัฒนาส่งเสริมจริยธรรมคุณธรรมแก่ผู้สนใจได้บ้าง

วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วิพากษ์วิจารณ์ การทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาไทย

วันก่อนผมได้คุยกับสหายทางวิชาการของผม ปรากฏว่ามันไปประสบปัญหาเรื่องสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่เมืองไทยเข้า กรรมการสอบขอแก้เรื่องที่มันทำหลายประเด็น ทั้งๆที่ตอนสอบเค้าโครงก็ผ่านไปด้วยดี แต่พอมาคราวนี้สอบเนื้อหา กรรมการดันย้อนกลับไปรื้อเค้าโครงของมันอีก เลวร้ายกว่านั้น ไอ้เค้าโครงบทต่างๆที่รื้อเป็นส่วนที่บรรดากรรมการทั้งหลายขอให้เขียนเอง ด้วยอึ้งครับ

ใครเจออย่างนี้คงอึ้งไปตามกันผมไม่แน่ใจว่า การศึกษาระดับปริญญาโทและการทำวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทยของคณะอื่นจะเหมือนกับ คณะผมหรือเปล่า ผมเลยขอกล่าวเฉพาะในส่วนของนิติศาสตร์ที่ผมคุ้นเคยแล้วกันปริญญาโท นิติศาสตร์ มธ. เมื่อก่อนเรียนกันมาราธอนมากครับ เรียนครอสเวิร์คหมดนี่ก็เกือบ ๔ ปีได้ ทำวิทยานิพนธ์อีก ๓-๔ ปี หาได้ยากมากครับบนโลกใบนี้ที่เรียนปริญญาโทยาวนานเกือบทศวรรษ

จน กระทั่งปีการศึกษา ๒๕๔๔ รุ่นที่ผมและเพื่อนเข้าไปเรียนปีแรก ก็มีการเปลี่ยนหลักสูตร เรียนครอสเวิร์คแค่ปีครึ่งหรือ ๓ เทอม จากนั้นก็ลงมือทำวิทยานิพนธ์ รวมระยะเวลาทั้งครอสเวิร์คและวิทยานิพนธ์ต้องไม่เกิน ๔ ปีจากการที่ผมเป็นลูกครึ่งเคยเรียนทั้งโทที่เมืองไทย (แต่ลาออกมาก่อนเพื่อมาเรียนต่อที่นี่) และกำลังทำเอกที่ฝรั่งเศส

ผมเลยมานั่งคิดๆ มองระบบวิทยานิพนธ์ที่ฝรั่งเศสแล้วย้อนกลับไปดูที่บ้านเรา มีข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ได้หลายประเด็นครับ ตั้งแต่ตัวเนื้อหา ระบบการสอบ ยันการ “จิ้มก้อง” อาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการ

 ประเด็นที่หนึ่ง  ระบบการสอบวิทยานิพนธ์การสอบวิทยานิพนธ์ที่เมืองไทยต้องสอบสองรอบ คือ สอบเค้าโครงและสอบตัวเล่ม ส่วนที่ฝรั่งเศส ผมสอบรอบเดียว ปีแรกผมก็วิ่งหาอาจารย์ที่ปรึกษา เสนอว่าผมจะทำหัวข้ออะไร ถ้าอาจารย์ตกลงรับ เราก็ไปลงทะเบียนหลักสูตรปริญญาเอกได้ จากนั้นเราก็ทำงานไปปรึกษากับอาจารย์เราไปเรื่อยๆจนครบสามปี ถ้าปิดเล่มได้ก็ขอสอบ อาจารย์ก็จะหารือกับเราว่าจะตั้งใครเป็นกรรมการบ้าง แล้วก็นัดสอบเพื่อปกป้องวิทยานิพนธ์ของเรา

ผมเห็นว่าระบบของบ้านเราน่าจะสอบมากเกินไป วิทยานิพนธ์เป็นงานของเราร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ระหว่างการทำงานตลอด ๒-๓ ปีนี้ เราก็โดนอาจารย์อัดตลอด ถ้าเค้าเห็นว่างานได้มาตรฐานพอควรก็จะอนุญาตให้ปิดเล่มเพื่อเตรียมสอบ ในทางกลับกันถ้าไม่โอเค เราก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ แต่ที่เมืองไทยกลับเป็นว่าโดนอาจารย์ที่ปรึกษานวดแล้วนวดอีก พอไปสอบเค้าโครง กรรมการดันมาแก้ของเราอีก แก้เสร็จ สอบเล่มรอบที่สอง ไม่พอใจ แก้อีก แก้ไปแก้มา จนบางครั้ง “งาน” ของเราแทบไม่เหลือเนื้อหาที่เราตั้งใจจะทำเลย กลายเป็นเขียนตามใบสั่งกรรมการแก้

ตามใจกรรมการขนาดนี้ ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ของเราแล้วครับ เรียกว่าวิทยานิพนธ์ของ ศ.ดร. อัตตา อีโก้จัด ประธานกรรมการ, รศ.ดร. มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ กรรมการ, รศ.ดร. กูเก่ง อย่าเถียงกู กรรมการ, ผศ.ดร. ไม่ได้อ่าน แต่ขออัด กรรมการ และรศ.ดร.ได้ครับท่าน ดีครับผม อาจารย์ที่ปรึกษา น่าจะเหมาะสมกว่า ถามว่าแล้วยอมแก้ตามทำไม เถียงสิ สู้สิ

ถ้าโลกแห่งความ ฝัน สหายทางวิชาการของผมมันคงทำไปแล้ว แต่บนโลกหม่นๆ (ของมันในขณะนี้) ก็คงได้แต่นั่งจดๆๆๆ ที่เค้าสั่งให้แก้พร้อมๆกับด่าในใจว่า “แมร่ง... (เติมคำในช่องว่างตามอัธยาศัย) ....”ไม่ต้องเดือดร้อนไปถามเปาบุ้นจิ้นหรอกครับ วิญญูชนอย่างเราๆลองช่ังน้ำหนักดู

งานที่เราทำมา ๒-๓ ปี แต่กรรมการเอาไปอ่านแค่สัปดาห์เดียว (จริงๆอาจอ่านบนรถระหว่างเดินทางมาสอบ เค้าให้ไปอ่านตั้งหลายสัปดาห์ ดันเอาไปนอนกอดเล่นซะงั้น) มาถึงก็ชี้นิ้วกราดสั่งแก้นั่นแก้นี่ มันเป็นธรรมมั้ย? ปัญหาเบื้องต้นอยู่ที่หน้าที่ของกรรมการสอบวิทยานิพนธ์

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่ามีระเบียบมหาวิทยาลัยข้อไหนที่เขียนหน้าที่ของกรรมการ ไว้หรือไม่ แต่โดยทั่วไปเราเอ่ยคำว่า “กรรมการ” แล้ว ก็จะนึกถึงคนที่มีหน้าที่ในการตัดสินหรือชี้ขาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เข้าไปล้วงลูกทำหรือแก้ไขในเรื่องนั้นๆเสียเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ผมดูระบบของฝรั่งเศสและลองสอบถามคนที่เคยผ่านสมรภูมิการสอบวิทยานิพนธ์ใน ประเทศอื่นๆแล้วก็ยิ่งงงไปกันใหญ่กับระบบที่บ้านเราเป็นอยู่ ผมพบว่ากรรมการสอบมีหน้าที่ในการสอบเท่านั้น กรรมการจะอัดประเด็นจุดอ่อนหรือที่น่าสงสัยในวิทยานิพนธ์ของเรา แล้วเราก็ต้องอธิบายไป เท่านั้นเองหน้าที่เขา

แต่...กรรมการ บ้านเราเล่นมีสอบสองครั้ง กรรมการก็เข้ามาแทรกแซงงานของเราตั้งแต่การสอบเค้าโครง ไปตัดนั่นนิด เติมนี่หน่อย พอสอบตัวเล่ม กรรมการยังไม่พอใจ อยากให้แก้อีกเลยลงมติให้ผ่านแบบมีเงื่อนไข (รู้สึกจะมีที่ไทยแลนด์ที่เดียวมั้งครับนี่) เราก็ต้องตามไปแก้อีกรอบ

ที่สำคัญกรรมการบางคนดันลืมว่าเคยสั่งให้นักศึกษาไปแก้เอง  แต่ดันมาอัดนักศึกษาอีกว่าเอามาจากไหนนี่มันประเด็นใหม่ เจอยังงี้เข้าก็หัวเราะไม่ออกร้องไห้ไม่เป็นล่ะครับ  ถ้าระบบการสอบวิทยานิพนธ์เมืองไทยยังเป็นเช่นนี้   เห็นจะหนีไม่พ้น “งาน” ที่อยู่ในนามของนักศึกษา   แต่มีวิญญาณของประธานกรรมการและกรรมการซ่อนอยู่ แล้วระบบความรับผิดชอบในงานจะอยู่ที่ไหนยังน่าสงสัยอยู่ งานในชื่อของเรา แต่ไม่ได้เป็นความคิดเรา

คนอ่านอยากวิจารณ์ก็ต้องวิจารณ์ “งาน” ของผู้เขียนหาใช่ “งาน” ของกรรมการไม่ มิพักต้องกล่าวถึงวิทยานิพนธ์ประเภท “งานฝาก” ที่กรรมการอยากรู้เลยสั่งให้เขียน  กรรมการบางคนสนใจแต่ไม่มีปัญญาเขียนเองหรือมีปัญญาแต่ขี้เกียจก็มา “ฝาก” ให้เด็กค้น แล้วเขียนลงในวิทยานิพนธ์

กรรมการบางคนทำราว กับว่าวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเป็นห้องน้ำหรือห้องนอนที่ไว้ใช้สำเร็จความ ใคร่กามกิจทางวิชาการของตนเอง   ผมคิดว่าคนที่มีสิทธิในการล้วงลูกวิทยานิพนธ์ของเรามีได้คนเดียวเท่านั้น คือ อาจารย์ที่ปรึกษา เพราะเป็นคนที่ทำงานร่วมกับเรามาตลอดสามถึงสี่ปี แต่ถ้าเราไม่เห็นด้วยก็ยังมีสิทธิสงวนเรื่องที่เราอยากเขียนไว้ในวิทยา นิพนธ์ของเราได้ เพราะในท้ายที่สุด  วิทยานิพนธ์นั้นก็ปรากฏในนามของเราตลอด

การเรียนปริญญาเอกในปีแรกของผม ผมกำหนดประเด็นปัญหาและร่างเค้าโครงละเอียดในวิทยานิพนธ์พร้อมกับหารือ อาจารย์ที่ปรึกษาผมโดยตลอด อาจารย์ย้ำกับผมในทุกครั้งว่าเป็นงานของผม ผมมีเสรีภาพในการประดิษฐ์เค้าโครงของผมได้เต็มที่ แกเพียงแต่เสนอแนะในสิ่งที่แกคิดว่าเหมาะให้ผมรู้เท่านั้น จะเอาหรือไม่เอาอยู่ที่ผม แกบอกผมว่าเราออกแบบเค้าโครงได้หลายรูปแบบ ผมมีอิสระในการคิดได้เต็มที่ หลายครั้งแกก็โอเคตามผม และอีกหลายครั้งผมก็เชื่อตามแก

ต้องยอมรับว่ามีบางประเด็นที่ผมมองไม่เห็นแต่พอแกพูดขึ้นเท่านั้นแหละ ผมปิ๊งเลยไม่เพียงแต่เนื้องานเท่านั้นที่เรากับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมกันทำ หากยังรวมถึงการตั้งกรรมการสอบอีกด้วย อาจารย์อยากเอาใครมาเป็นกรรมการก็ต้องถามเราก่อน ในขณะเดียวกันอาจารย์เองก็จะแนะนำด้วยว่าใครที่เชี่ยวชาญในเรื่องที่เราทำ และเหมาะมาเป็นกรรมการสอบ

ย้อนมาดูที่บ้านเราอาจารย์ที่ปรึกษามักจะผูกขาดการทาบทามกรรมการสอบ  เหตุผลที่ผมนึกออก  มีสามประการ  คือ  หนึ่ง นักศึกษาเราไม่รู้จักอาจารย์เท่าไรนัก  สอง อาจารย์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องมีน้อยเต็มที  จึงไม่จำเป็นต้องหารือว่าจะตั้งใครเป็นกรรมการดี  ยังไงๆกรรมการก็จะวนกันอยู่ที่หน้าเดิมๆ และสาม อาจารย์ที่ปรึกษายึดอำนาจจากเราไปเพื่อลดขั้นตอน เพราะเกรงว่าหากมัวแต่หารือจะเสียเวลาอันมีค่าในการทำวิจัยหาเงินของตนไป

เมื่อผู้เชี่ยวชาญเรามีน้อยผสมกับอาจารย์ที่ปรึกษาจัดการทาบทามคนที่เค้าสนิท หรือเคารพเป็นการส่วนตัวก็เกิดปัญหาตามมาอีก  อาจารย์ที่ปรึกษาแทนที่จะช่วยปกป้องวิทยานิพนธ์เรายามที่กรรมการอัดตอนสอบ แต่กลับนิ่งเฉย ไม่อนาทรร้อนใจ  ปล่อยให้กรรมการอัดอย่างเมามัน ยิ่งไปกว่านั้นบางคนยังไปช่วยกรรมการอัดเราอีกด้วยทำไมเป็นเช่นนั้น? ผมคิดว่ามาจากระบบอาวุโสซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเราครับ  จริงอยู่การเคารพอาวุโสเป็นข้อดีที่เรามีเหนือชาติอื่นๆ แต่บางครั้งมันก็เป็นดาบสองคม เราเคารพมากจนเกินเรียกว่าเคารพ   ผู้ใหญ่ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เถียงไม่ได้ ถึงอยากเถียงก็ไม่ควรเถียง เพราะเถียงไปอาจสร้างความหมั่นไส้ให้แก่บรรดาผู้ใหญ่ที่ถือว่าตนเป็น authority ในด้านนั้นๆ

ไม่น่าแปลกใจเลยที่อาจารย์ที่ปรึกษาไม่กล้าปกป้องวิทยานิพนธ์ของ นักศึกษา ในเมื่อกรรมการและประธานกรรมการล้วนแล้วแต่เป็น “มาเฟีย” ในสาขานั้นๆ แหม... ขืนอาจารย์ที่ปรึกษาออกรับแทนเด็กก็กลายเป็นการดับอนาคตตัวเองไปสิครับ เพื่อนผมคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า นักเรียนไทยเข้าสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ฝรั่งเศส กรรมการสอบถามเรื่องที่ลึกมากๆ นักเรียนไทยคนนั้นตอบไม่ได้ งง อึ้ง  อาจารย์ที่ปรึกษาออกรับแทนว่า “ผมคิดว่าประเด็นที่ท่านกรรมการถามมานี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ ที่ลูกศิษย์ของผมเท่าไรนัก มันลึกเกินไป ผมขอตอบแทนแล้วกัน...” น่าคิดนะครับว่าประโยคนี้ผมจะมีโอกาสได้ยินจากอาจารย์ที่ปรึกษาของบ้านเรา หรือเปล่า


 ประเด็นที่สอง  เนื้อหาของ วิทยานิพนธ์เท่าที่ผมอ่านวิทยานิพนธ์ในสาขากฎหมายมา เค้าโครงวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ “สำเร็จรูป” เริ่มจากบทที่ ๑ บทนำ  บทที่ ๒ ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา พัฒนาการ  บทที่ ๓ กฎหมายอังกฤษ บทที่ ๔ กฎหมายอเมริกา  บทที่ ๕ กฎหมายฝรั่งเศส   บทที่ ๖ กฎหมายเยอรมัน  และปิดท้ายที่บทที่ ๗ สรุปปัญหาและข้อเสนอแนะกล่าวเช่นนี้ วิทยานิพนธ์สาขานิติศาสตร์ไทยล้วนแล้วแต่เป็นกฎหมายเปรียบเทียบ (จริงๆไม่ใช่เปรียบเทียบด้วย เป็นการเอาเรื่องนั้นๆ ของกฎหมายหลายๆประเทศมาแปะลงไปมากกว่า คำว่า “กฎหมายเปรียบเทียบ” มีระเบียบวิธีที่ลึกกว่านั้น ไว้มีโอกาสผมจะเล่าให้ฟัง) นอกจากเป็นกฎหมายเปรียบเทียบแล้ว   เรายังพบเห็นวิทยานิพนธ์ที่เหมือนเอาเรื่องทางปฏิบัติมาเขียนอยู่ดาษดื่นถาม ว่าวิทยานิพนธ์แบบนี้ผิดมั้ย ? ผมว่าไม่ผิด แต่ไม่ควรเป็นแบบนี้ทั้งหมด

วิทยานิพนธ์ประเภทคล้ายกับงานวิจัยตามส่วนราชการต่างๆที่จ้างอาจารย์ มหาวิทยาลัยทำ   หรือวิทยานิพนธ์ประเภทคล้ายกับเรื่องในทางปฏิบัติ   หรือวิทยานิพนธ์ประเภทที่ไม่สะท้อนถึงงานในทางทฤษฎี  ผมว่าไม่ควรจะมีมากจนเกินไป   เพื่อนผมคนหนึ่งมาหารือกับผมบ่อยครั้งว่าเรื่อง ที่มันทำมีปัญหาอะไรบ้าง มีทางแก้อย่างไร เราจะแก้กฎหมายมาตราไหนดี เราจะเสนอร่างกฎหมายใหม่ๆเพื่อสร้างกลไกใหม่ๆเพื่อแก้ไขปัญหานั้นดีหรือไม่ ผมได้ยินคำถามทำนองนี้บ่อยครั้ง

คนส่วนใหญ่มักติดขัดที่บทสุดท้ายเรื่องข้อเสนอแนะ  คือไม่รู้ว่าจะเสนออะไรดี   ผมเห็นว่าถ้านึกไม่ออกก็ไม่จำเป็นต้องเสนอ  ข้อเสนอแนะนี่ถ้าไม่มั่นใจ ไม่รัดกุม ผมว่ายิ่งไม่ควรเสนอ นักศึกษามักคิดกันว่าบทสุดท้ายในชื่อว่า “บทสรุปและข้อเสนอแนะ” บังคับให้เราต้องเสนอ “สิ่งใหม่” ที่ไม่เคยมีในวงการกฎหมายมาก่อนลงไปให้มันดูเท่ ดูดี ผมกลับเห็นว่าอันตราย ข้อเสนอที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ  ข้อเสนอที่ไม่ปิดจุดอ่อนให้รัดกุม ข้อเสนอที่อธิบายในทางทฤษฎีไม่ได้เท่าไรนัก  ยิ่งจะโดนกรรมการต้อนได้ง่าย (แต่กรรมการบ้านเราอาจไม่สนใจประเด็นนี้ ๕๕๕)

ผมเห็นว่าถ้าอยากหา “สิ่งใหม่” ควร “ใหม่” ทางทฤษฎีมากกว่า เอาทฤษฎีมาฟาดฟันกัน ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่หลักของวิทยานิพนธ์ในระดับมหาบัณฑิตหรือดุษฎีบัณฑิต  ถ้าหาไม่ได้ก็น่าจะเป็นการรวบรวมในเรื่องนั้นๆแล้วนำมาสังเคราะห์ นำมาร้อยเรียงในแง่มุมที่ต่างออกไปแต่ในทางความเป็นจริง

ลองมองย้อนกลับไปที่วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิตตามชั้นหนังสือที่ห้อง สมุดดูสิครับ ผมว่ามีไม่เกินสิบเล่มที่ว่าถึงงานทางทฤษฎี นอกนั้นก็งานเชิงวิจัย งานภาคปฏิบัติ งานที่เอาตำราของบรรดากรรมการมาแปะๆลงไปเมื่อวิทยานิพนธ์นิติศาตร์มหาบัณฑิต ของบ้านเราเป็นกฎหมายเปรียบเทียบ(แบบแปะของเค้ามา) ห้าถึงหกประเทศผสมกับงานเชิงวิจัยแบบที่ส่วนราชการนิยมจ้างให้ทำ   จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นบทสรุปและข้อเสนอแนะว่า...๑. กฎหมายประเทศ ....บลา บลา บลา..... ว่าอย่างนี้   ๒. กฎหมายไทยยังไม่มีเหมือนที่ประเทศ ....บลา บลา บลา....มี   ๓. จึงเสนอว่า ประเทศไทยควรเอาอย่างที่ประเทศ .....บลา บลา บลา....... มีมาใช้เสียเอวังด้วยประการฉะนี้ง่ายมั้ยครับ

 ประเด็นที่สาม  คุณภาพของนักศึกษาและการอุทิศตนของอาจารย์ผมขอสวมวิญญาณคุณปริเยศภาคไม่ไว้หน้าใคร เพื่อที่จะบอกว่า  นักศึกษาในระดับมหาบัณฑิตในคณะผมที่มีคุณภาพควรค่าแก่การเรียนระดับมหาบัณฑิตนั้นมีน้อยจนเรียกได้ว่านับหัวได้   แต่จะไปโทษนักศึกษาก็ไม่ถูกนัก  ในเมื่อบ้านเรามีตลาดแรงงานที่ขึ้นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา  ใครได้ปริญญาโท ปริญญาเอก เงินเดือนยิ่งเยอะ   เช่นนี้ยิ่งทำให้ปรัชญาการศึกษาระดับสูงมั่วไปหมด  

จากเดิมที่การศึกษาระดับมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตเป็นการศึกษาเชิงลึกใน เรื่องเฉพาะ  เพื่อผลิตคนไปเป็นนักวิชาการในด้านนั้นๆกลายเป็นการศึกษาเพื่อเอาไปขึ้นเงินเดือน   หรือเพื่อฆ่าเวลาเพราะจบตรีมาแล้วยังนึกไม่ออกว่าจะทำอะไรดี   หรือเพื่อเรียนตามที่พ่อแม่สั่ง   หรือเพื่อเรียนตามเพื่อนๆ ฯลฯ  จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะไม่ค่อยพบนักศึกษาปริญญาโทที่มีฉันทะทางวิชาการ ที่มุ่งมาดปรารถนาไปเป็นนักวิชาการ ที่มีนิสัยชอบค้นคว้าและขีดเขียน ที่มีนิสัยชอบคิดและถกเถียง

กลับกัน เราจะพบแต่นักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกที่เข้ามาเรียนไปเพื่อเอาวุฒิปริญญาเพื่อไปใช้ สอบผู้ช่วยผู้พิพากษา “สนามเล็ก” ที่เปิดรับแต่พวกมหาบัณฑิตทำให้คู่แข่งมีน้อยลงเมื่อตลาดเป็นแบบนี้  คณะต่างๆก็หนีไม่พ้นในการปรับตัวเข้ากับตลาด แย่งกันเปิดสารพัดหลักสูตร สารพัดโครงการ เพื่อดึงดูดใจนักศึกษาที่เป็นเหมือน “ลูกค้า” ในมหาวิทยาลัย “แม็คโดนัลด์”

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นักศึกษาที่มาเรียนแบบมีเป้าหมายแค่เอา “กระดาษแผ่นเดียว” จะไม่ทุ่มเทค้นคว้า ขีดเขียน ในวิทยานิพนธ์ของตนเองเท่าไรนัก ขอเพียงเอาตัวรอดเพื่อได้กระดาษแผ่นนั้น ทุกอย่างก็เสร็จสมอารมณ์หมาย  ไม่เพียงแต่คุณภาพของนักศึกษาเท่านั้น   ตัวอาจารย์เองก็เช่นกัน อาจารย์ที่อุทิศตนให้กับวิทยานิพนธ์ของนักศึกษามีน้อยมาก นักศึกษาอู้  ขี้เกียจไม่หมั่นติดต่อาจารย์  ผิดที่ตัวนักศึกษาเอง   แต่...จะให้นักศึกษาวิ่งรอกหาอาจารย์ทุกวันโดยไม่ต้องทำมาหากินอย่างอื่น  แบบนี้เห็นทีจะไม่ไหวเหมือนกัน   ธรรมเนียมของเราไม่นิยมให้นักศึกษาติดต่อกับอาจารย์   บางคนอาจให้เด็กติดต่อทางอีเมล์  แล้วเกิดพี่ท่านไม่เปิด หรือเปิดแล้วไม่ตอบล่ะครับ  ผมว่าไม่น่าแปลกนะกับการอนุญาตให้เด็กโทรมาหาเพื่อนัดคุยกันเรื่องงาน  

ทุกวันนี้ผมก็โทรนัดอาจารย์ที่ปรึกษาผมตลอด แรกๆก็ไม่ค่อยกล้า จนอาจารย์ผมงงว่าทำไม ผมเลยอธิบายไปว่าบ้านผมไม่ค่อยมีเท่าไรที่ผมเรียกร้องการอุทิศตนจากอาจารย์   ไม่ได้หมายความถึงขนาดที่ว่าอาจารย์ต้องนั่งเฝ้าคณะทุกวัน  ขอเพียงเจียดเวลาอันมีค่าจากงานวิจัยทั้งหลายเพื่อมาคุยกับเด็กในเรื่องวิทยานิพนธ์สักนิดก็พอครับ  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยแล้วมาเร่งเอาสองสามเดือนสุดท้ายเอาเข้าจริง  

บ่นๆไปก็หนีไม่พ้นไปพัวพันกับเรื่องค่าตอบแทนของอาจารย์อีก อาจารย์ต้องกินต้องใช้เหมือนคนทั่วๆไป เงินเดือนสองถึงสามหมื่นเศษๆ คงไม่พอยาไส้กับชีวิตเมืองหลวง ไหนจะลูกจะเมีย   ก็ต้องออกไป “ขุดเงิน” เอากับงานวิจัยบ้างเป็นแบบนี้ จะไปบ่นอะไรได้ครับเช่นนี้แล้ว   เราคงไม่อาจคาดหวังงานชั้นดีจากวิทยานิพนธ์ที่ทั้งลูกศิษย์ทั้งอาจารย์มา เร่งเอาสองเดือนสุดท้ายได้กระมังครับ................

ผมวิพากษ์การทำวิทยา นิพนธ์ไทยยาวมาก มานั่งนึกๆดู ผมเองก็ไม่รู้ว่าอนาคตถ้าผมมีโอกาสไปเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว ผมจะทำอย่างไร ในเมื่อระบบมันเป็นเช่นนี้ คนตัวเล็กๆมีแค่สองมือเปล่าอย่างผมจะไปต้านทานระบบที่เก่าแก่และฝังรากลึก ได้เท่าไรกันเชียว ได้แต่หวังว่าผมจะยืนอยู่ในระบบนี้ได้โดยไม่โดนกลืนเข้าไปด้วย ถ้าถึงวันหนึ่งผมถูกกลืนเข้าไป หากใครพบเห็น ขอความกรุณาเตะก้นแรงๆให้ผมรู้ตัวละกัน จักเป็นพระคุณอย่างสูงเอาเข้าจริง

ที่ผมร่ายยาวมาทั้งหมดมันก็เป็นปัญหางูกินหาง พันกันไปมาไม่รู้จบ ตั้งแต่ระบบการสอบ การประนีประนอมสไตล์ “ไทยๆ” ความอาวุโส การตั้งตนเป็น authority ในสาขาต่างๆ คุณภาพนักศึกษา ระบบการศึกษาระดับสูง ภารกิจของมหาวิทยาลัย ภารกิจของการศึกษาระดับสูง ค่าตอบแทนอาจารย์ เวลาที่อาจารย์มีให้กับนักศึกษา ตลาดแรงงาน ฯลฯ ไล่ไปเรื่อยๆสงสัยจะไม่จบครับ เฮ้อ...น่าจะถึงเวลาที่ต้องคิดดังๆเสียทีว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตรที่มีลานวิ่งเล่นให้ลูกของชนชั้น กลาง (ส่วนใหญ่) หรือเป็นแหล่งบ่มเพาะทางปัญญากันแน่

เขียนโดย ETAT DE DROIT   เมื่อ 5/19/2548 06:15:00 ก่อนเที่ยง  วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 19, 2548
ท่านผู้ใดสนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่  http://etatdedroit.blogspot.com/2005/05/blog-post_18.html

ความสับสนในระบบคิดของคนไทยทางการเมือง

คนไทยทุกวันนี้กำลังสับสนว่า สังคมที่ดีควรเป็นอย่างไร  ควรมีรูปแบบสังคมแบบไหนกันดี

ไม่อยากเป็นสังคมประชาธิปไตย เพราะกลัวว่าจะได้แต่คนโกง คนซื้อเสียง นักการเมืองเลวๆ

ไม่อยากเป็นสังคมนิยม เพราะกลัวว่าจะต้องเอาผลผลิตที่ได้ไปให้กองกลาง ทั้งที่ตัวเองทำงานมากกว่า เหนื่อยกว่า ลงทุนลงแรงมากกว่า

ไม่อยากเป็นรัฐเผด็จการ เพราะกลัวว่าตัวเองจะต้องอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ไม่รู้ว่าตัวเองจะตายหรือถูกกลั่นแกล้งเมื่อไหร่ จะไม่ได้รับความเป็นธรรมเมื่อขัดแย้งกับคนอื่นๆ หรือกับพวกมีอำนาจ

ไม่อยากเป็นรัฐที่ปกครองจากคนๆคนเดียว หรือคนกลุ่มเดียว เพราะกลัวว่าตัวเองจะก้าวหน้าไม่ได้ ประสบความสำเร็จไม่ได้ เนื่องจากข้ามหน้าข้ามตาผู้ปกครอง และก็กลัวว่าจะถูกผู้ปกครองกดขี่ข่มเหง เบียดเบียนอยู่เป็นประจำ และก็ไม่เชื่อว่าลูกหลานของผู้ปกครองจะดีจริงเหมือนรุ่นพ่อหรือไม่ กลัวว่าจะเหลวไหล ฟุ้งเฟ้อ มัวเมาอำนาจมากขึ้น

ที่จริงไม่มีสังคมรูปแบบไหนดีที่สุด   ทุกรูปแบบก็มีทั้งจุดที่เด่นที่ส่งเสริมการพัฒนาให้ดีได้ส่วนหนึ่ง  และก็มีจุดที่ก่อปัญหาตามมาก็อีกส่วนหนึ่ง   ซึ่งทุกท่านถ้าได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติ  ก็จะตระหนักดีถึงข้อนี้   จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าอะไรดีที่สุด  ที่จะยึดมาเป็นต้นแบบได้ตลอดกาล   การที่สังคมขัดแย้งทางความคิด  และต่อสู้กันเพื่อสร้างสังคมตามรูปแบบของตัวเอง   จริงๆแล้วก็ไม่มีใครผิดใครถูกหรอกครับ  ทุกคนอยากเห็นชาติบ้านเมืองดีด้วยกันทั้งนั้นตามที่ตัวเองคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิด และเชื่อมั่นนั้นดีที่สุด

แต่ที่ไม่ดี ก่อปัญหามากมายให้สังคมไทยทุกวันนี้  ก็คือ  การที่บอกว่าสังคมไทยมีการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย   แต่กลับไม่ยอมเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยจริง   อยากหันไปเอาระบอบราชาธิปไตยบ้าง  ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชบ้าง   ระบอบอภิสิทธิชนาธิปไตยบ้าง (ระบอบที่เชื่อว่าผู้ปกครองต้องมาจากชนชั้นสูง  และชนชั้นสูงเป็นคนดี)   ระบอบเผด็จการทหารบ้าง   แล้วลงมือดำเนินการตามความคิดที่เชื่อมั่น  ใครขวางข้าตาย   สังคมไทยจึงวุ่นวายมาถึงทุกวันนี้   เพราะคนไทยกลุ่มหนึ่งอยากได้คนดีจริงๆมาเป็นผู้นำ  ผู้ปกครองประเทศ

ซึ่งสังคมอุดมคติของคนไทยที่อยากได้ ก็คือ สังคมแบบพระศรีอาริย์ ที่ทุกคนมีความสุข ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขัน ไม่ต้องฆ่าฟันกัน ทำร้ายกัน ไม่มีโจรขโมย ไม่ดื่มสุรายาเมาจนขาดสติ ออกจากบ้านไปไหนก็ไม่ต้องหวาดกลัว ทุกคนเป็นคนดีหมด

พูดง่ายๆคนไทยอยากได้ผู้นำเป็นคนดี พ่อแม่ดี ลูกดี ครูดี ศิษย์ดี พี่ดี น้องดี ญาติดี นายจ้างดี ลูกจ้างดี สรุปแล้วดีหมด แต่นี่เป็นโลกอุดมคติ จะมีจริงหรือไม่ก็ไม่รู้

แต่ที่แน่ๆ โลกแห่งความจริง ไม่มีใครในโลกดีพร้อมหมด สมบูรณ์หมด ที่อวดว่าดีก็มักสร้างภาพ ไม่ดีจริง

ดังนั้นจะคุยเรื่องการเมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร ควรมีรูปแบบแบบไหนต้องตอบคำถามก่อนว่า ทั้งเราและคนอื่นๆ เห็นตรงกันหรือยังว่าสังคมที่ดีควรเป็นสังคมแบบไหน ควรอยู่กันแบบไหน และผู้นำในสังคมที่เราคิดว่าควรเป็นแบบนั้น ควรมาจากใคร โดยวิธีใด

ถ้าตอบอย่างเชื่อมั่นว่า “แบบราชาธิปไตย” หรือแบบสมบูรณาญาสิทธิราชจากการสืบทอดทางวงศ์ตระกูลดีกว่าเพราะแผ่นดินนี้เป็นของเขา ตระกูลเขา บรรพบุรุษของเขาเป็นผู้สร้าง และอีกประการหนึ่งวงศ์ตระกูลเขาสูงส่ง เขาเป็นลูกพระอาทิตย์ สืบเชื้อสายจากเทวดา เป็นผู้ดีมีชาติสกุล มีกำเนิดจากเชื้อสายที่ดีที่บริสุทธิ์มาแสนนานเขาเท่านั้นที่ควรเป็นผู้กำหนดสังคม หรือชี้นำสังคมเพราะเขา “ดีจริง”

ถ้าคิดแบบนี้ ก็เป็นอันไม่ต้องควรเข้าไปคุยกับพวกพระพวกนักบวชในศาสนาพุทธหรอกเพราะพระพุทธศาสนาไม่เคยเชื่อว่า มีคนดีจริงแต่กำเนิดหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่งจะสูงส่ง และดีตลอดกาลเพราะไม่ว่าวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็ล้วนกำเนิดจากโยนิที่สกปรกของผู้เป็นมารดา ไม่ได้มาจากพระพรหมอย่างที่พวกวรรณะสูงๆเชื่อแต่อย่างใดและแผ่นดินต่างๆ เดิมก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีแต่ไปแย่งเขามาใช้อำนาจข่มเหง ข่มขู่เขาให้ยอมอยู่ในอำนาจการปกครองของตัวเองเท่านั้น ประวัติศาสตร์ทุกชาติทุกเผ่าก็เป็นอย่างนั้น

ทุกๆวันนี้ แล้วใครล่ะที่พยายามกลั่นแกล้ง กดขี่ บังคับพวกอื่นให้เคารพเชื่อฟัง ให้ยอมเขาแต่เพียงผู้เดียว ใครมาดีกว่า รวยกว่าเขาไม่ได้ กระทั่งที่ตนเองเขียนกฎกติกาเพื่อตัวเอง พวกตัวเองให้ได้เปรียบคนอื่นๆทุกด้านแถมยังกีดกัน ข่มเหงคนอื่น ไม่ให้ประสบความสำเร็จแท้ๆ ก็ยังไม่สามารถทำได้ดังใจ จึงต้องอาละวาดล้างไพ่ อยากให้ทุกอย่างเป็นอย่างที่ตัวเองต้องการอยู่เสมอ (นี่ก็ 18 ครั้งแล้ว)

ถ้าทำได้สำเร็จ คราวนี้คงเขียนกติกาว่าคนอื่นห้ามยุ่ง ต้องพวกกูเท่านั้นที่เป็นได้ เพราะพวกกูตระกูลกูเป็นเทวดา ที่”แสนดี”เป็นคนที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาดีกว่าพวกแก (ไพร่) คนพวกนี้นี่แหละ ที่เขาเรียกว่าเป็นพวกอำมาตย์

จะเอากันอย่างนี้ใช่ไหม ถึงจะเรียกว่าเป็นสังคมอารยชน แล้วจะสงบสุขหรือ ประวัติศาสตร์ทุกชาติที่ผ่านมา ยังไม่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้  อีกหรือครับ

ครอบครัวแบบไหน สังคมแบบนั้น

สภาพของสังคมบ้านเมือง หรือประเทศ ถ้าย่อให้เล็กลงก็เหมือนกับสภาพในครอบครัวของแต่ละคนนั่นเอง

ถ้าพ่อแม่เห็นลูกเป็น “คน” ที่สามารถเติบโตด้วยตนเองได้ พึ่งตนเองได้ ยอมให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ถูกผิดดีชั่วจากประสบการณ์ของเด็ก หัดให้รู้จักรับผิดชอบในชีวิตตนเอง พ่อแม่เพียงแต่ใจเย็น มีสติ เป็นที่ปรึกษา สอนให้มีเป้าหมายในชีวิตด้วยตนเอง รู้จักสิทธิและหน้าที่ หัดให้ยอมรับข้อจำกัดขอบเขตของชีวิต และคอยระมัดระวังไม่ให้ได้รับภัยอันตรายมากไปนัก ครอบครัวแบบนี้ก็จะกลายเป็นคนที่เชื่อมั่นนิยมใน "ระบอบประชาธิปไตย หรือศรัทธาตามแนวทางพระพุทธศาสนา"

แต่...ถ้าพ่อแม่เห็นลูกเป็น “เทวดา” ที่ควรได้รับแต่สิ่งดีๆ ทุกอย่างในชีวิต ไม่ควรเจอสิ่งเลวร้าย หรือภัยอันตรายใดๆ ไม่อยากให้ลูกเรียนรู้จากประสบการณ์ ควรเรียนรู้ทุกอย่างจากพ่อแม่ เชื่อฟังพ่อแม่ และพ่อแม่ก็พยายามปกป้อง คอยเอาใจใส่ดูแลลูกทุกย่างก้าวที่เติบโต สภาพครอบครัวแบบนี้ก็จะนิยมใน "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช"

แต่...ถ้าพ่อแม่เห็นลูกเป็น “เด็ก” เสมอ และไม่สามารถเติบโตด้วยตนเองได้ พ่อแม่จึงต้องคอยดูแล ควบคุม กำกับให้ลูกทำตามความคิดของตน หรือตามกรอบประเพณี เพื่อให้ลูกเป็นไปตามที่ตนเองหวัง หรือคิดว่าสิ่งนั้นถูกต้อง ดีจริง ถ้าลูกไม่เชื่อฟังก็จะลงโทษ ดุด่า เฆี่ยนตีเพื่อให้เกรงกลัว หรือหลาบจำ ไม่กล้าฝืนใจพ่อแม่อีก สภาพครอบครัวแบบนี้ก็จะนิยมใน "ระบอบเผด็จการ"

แต่...ถ้าพ่อแม่เห็นลูกเป็น “สิ่งวิเศษ” ที่จุติมาหรือสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษ “วิเศษ” พ่อแม่ก็จะส่งเสริมให้ลูกดีกว่าใคร เหนือกว่าใคร วิเศษกว่าใคร สอนให้มองเห็นว่าทุกชีวิตที่เห็นไม่ว่าคนหรือสัตว์ ล้วนเป็นไพร่ หรือเป็นสัตว์ชั้นต่ำ ที่ทำอะไรผิดไปหมด ตัวเองถูกต้อง หรือเป็นคนดีแต่เพียงผู้เดียว หรือพวกเดียว ทุกคนต้องยอมฉัน ฉันสามารถพิพากษาชีวิตใครก็ได้ และถ้าใครขวางเส้นทางชีวิต หรือทำให้ชีวิต ”ผู้วิเศษ” ไม่ราบรื่น ต้องจัดการทำลายล้างให้หมดไปจากชีวิตหรือสังคมของฉัน สภาพครอบครัวแบบนี้ก็จะกลายเป็นพวกนิยม "ระบอบอัตตาธิปไตย" หรือพวก "อภิสิทธิชนาธิปไตย"

เห็นสังคมไทยตอนนี้หรือยังครับว่า ใครเป็นใคร นิยมระบอบไหน และที่สร้างความวุ่นวายกันอยู่ในสังคมไทยตอนนี้ เป็นพวกนิยมระบอบอะไร เห็นชัดไหมครับ

แล้ว…ท่านล่ะอยากให้สังคมไทย ครอบครัวไทยเป็นแบบไหนกันครับ

ทำไม ? คนไทยจึงเชื่อง่าย

โดยปกติแล้วคนเรามีแนวโน้มจะเชื่อเรื่องดีๆ ของฝ่ายเราเอง  แม้ว่ามันจะเป็นการโกหก   และเลือกที่จะเชื่อเรื่องชั่วๆของฝ่ายตรงข้ามแม้ว่าจะเป็นการโกหก  โดยไม่ยอมใช้เหตุผล  ไม่ยอมใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองใดๆ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?


ตามหลักจิตวิทยาแล้ว  เป็นเพราะคนเรากลัวความจริง   กลัวว่าความจริงจะไม่เป็นแบบที่ตัวเองคิด  ตัวเองจะเชื่อและเปลี่ยนความเชื่อตาม    ซึ่งจะทำให้ "ตัวตน" ของตัวเองเสียไป   คนเรากลัวเสียตัวเอง  กลัวเสียหน้า (ศักดิ์ศรี) มากที่สุด


คนไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ดูง่ายๆจากประเด็นทางการเมืองและทางศาสนา ซึ่งเห็นกันได้ชัดเจน   เช่น


ทางการเมือง เราเชื่อข่าวที่มั่วเอา  เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ไตร่ตรอง เราเชื่อข้อมูลมั่วๆของนักการเมืองเพื่อให้ตัวเองดูดี  เราเชื่อเพราะเราไม่อยากสูญเสียหน้าตาและตัวตนที่เราเชื่อ  เราไม่ใช้เหตุผลกับการเชื่อของเรา


ทางศาสนา  เราเลือกหลับหูหลับตาเวลาเห็นพระทำอะไรไม่ดี เช่น  พระยุยงให้คนฆ่ากัน  เกลียดชังอีกฝ่าย  เรามักบอกคนทำข่าวผิดที่ลงข่าวเรื่องพระมั่วกับสีกา นั่งเครื่องบินเจ็ท ขี่รถหรู ขายบุญจนร่ำรวย   เราบอกคนที่ไม่เห็นด้วยและพยายามตีแผ่เรื่องพวกนี้  ว่าเป็นพวกทำลายศาสนา


เราเลือกที่จะไม่รับความจริง  เพราะกลัวจะสูญเสียตัวเองที่เป็นมา ไม่กล้ารับความจริงที่เป็นความจริงๆ  ติดอยู่กับความจริงของตัวเอง


สังคมเรามันถึงได้บิดเบี้ยว เพราะคนเราไม่ได้ใช้เหตุผลแต่ใช้อารมณ์และความรู้สึกมาชี้นำตัวเองมากเกินไป ทางพุทธศาสนา  จึงบอกว่าแบบนี้  คือ พวกไม่มีปัญญา


จริงๆไม่ได้ยากอะไรเลย  ที่เราจะใช้เหตุผลกับเรื่องต่างๆ แค่ตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆ  คำถามง่ายๆ  เช่น  ว่าจริงรึเปล่า? หาข้อมูลสักหน่อย   คุณก็จะได้ความจริงมาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจว่าอะไรดีหรือไม่ ควรหรือไม่ควร


ถ้าคนไทยลดการใช้อารมณ์มาเป็นตัวตัดสิน ใช้เหตุผลและหลักฐานตามความจริงมาพูดกัน เราจะได้สังคมที่พัฒนาไปมากกว่านี้


(จากเพจที่เห็นและเป็นอยู่)

หนังสือ : ชีวิต

ในโลกนี้ ถ้าเปรียบชีวิตเหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง
จะเห็นว่าความจริงแล้วไม่มีหน้าหนึ่งสีดำ(คนไม่ดี) หน้าหนึ่งสีขาว(คนดี)
และไม่มีเส้นกึ่งกลางกั้นแบ่งขาวดำ (คนเกือบดีเกือบชั่ว)
เพราะทุกหน้า มีทุกสีอยู่ในหน้าเดียวกัน


แต่ถ้ามีหนังสือชีวิตเล่มใด มีหน้าหนึ่งสีดำ หน้าหนึ่งสีขาว
หรือมีเพียงสีใดสีหนึ่งเพียงสีเดียวแสดงว่า
หนังสือชีวิตเล่มนั้นถูกบิดเบือนความจริง (สร้างภาพ)


แต่มีความเป็นไปได้เหมือนกัน(น้อยมาก)ในอนาคต
ที่หนังสือชีวิตเล่มนั้นอาจจะมีสีใดสีหนึ่งเจือจางลง
ไปเข้มที่สีอื่น กลายเป็นสีใดสีหนึ่งขึ้นทีละน้อย
จนสีนั้นโดดเด่นกว่าสีอื่นทุกหน้าก็เป็นได้
แต่ถ้าเหลือบมองดูดีๆ ก็อาจจะเห็นสีอื่นแทรกปะปนอยู่ดี


หรือหนังสือชีวิตเล่มนั้น
อาจจะทุกสีเจือจางลง
จนเหลือแต่กระดาษที่ว่างเปล่าในที่สุด ก็เป็นไปได้


แต่...จะไม่มีทางเป็นไปได้ที่หนังสือชีวิต
จะหน้าหนึ่งสีดำหน้าหนึ่งสีขาว แต่ประการใดๆทั้งปวง


รู้อย่างนี้แล้ว ทำไมคนทั่วไป
ส่วนมากยังอยากเห็นหนังสือชีวิต
บางเล่มบางหน้ามีแต่สีดำ หรือสีขาว
เพียงอย่างเดียว
(ดีนะที่ไม่ยกสีเหลือง สีแดงมาเอ่ยถึง)


เข้าใจผิด หลงผิดตัวคนเดียวไม่พอ
ทำไมต้องอยากให้คนอื่นเข้าใจผิด หลงผิดตามไปด้วย


หรือว่า...ทุกคน พอๆ...กัน

ผมไม่ใช่พวก "เสื้อแดง" เพราะผมเป็น "ชาวพุทธ" 2

ผมไม่ใช่พวกเสื้อแดง และพวกใดๆ

เพราะ "....ผมเป็นชาวพุทธ  ทั้งหัวใจ จิต วิญญาณ...."
เพราะ "....ผมเชื่อมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธองค์ทุกอย่าง...."
เพราะ "....ผมเชื่อมั่นในการเวียนว่ายตายเกิด  และกฎแห่งกรรม...."  


และ

เพราะว่า....พระพุทธเจ้าของผมสอนว่า
“...ไม่มีใครดีเพราะเกิดมาจากตระกูลใดตระกูลหนึ่ง  หรือเชื้อสายใดเชื้อสายหนึ่ง  หรือพันธุ์ใดพันธ์ุหนึ่ง”
“...ทุกคนจะเป็นคนดี  หรือคนชั่ว  เพราะการกระทำ  และจิตใจของเขา,   ถ้าเขาได้รับการฝึกฝนให้มีสติปัญญาเข้าถึงธรรมะ(ความจริง)ได้  เขาก็เป็นคนสุจริต หรือบัณฑิตชน,    แต่ถ้าเขาปล่อยให้ชีวิตและจิตใจทำตามกิเลส โลภ  โกรธ  หลง เขาก็เป็นคนทุจริต หรือพาลชน”


ถ้าท่านเชื่อว่า  “คนที่เลว หรือชั่ว  เพราะใจผู้นั้นมีแต่ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง”   แล้วในขณะเดียวกันท่านก็อยากให้สังคมมีแต่คนดี  ไม่มีคนชั่ว,   ท่านคงต้องฆ่าล้างมนุษย์ให้หมดๆไปจากโลกนี้   เนื่องจากมนุษย์ทุกคนล้วนมีความโลภ  ความโกรธ  ความหลงด้วยกันทั้งนั้น   คงไม่มีทั้งผมและท่านหรอก   เพราะเราท่านต่างก็เคยทำสิ่งที่ผิดพลาดพลั้งเผลอทำตามกิเลสตัณหามาด้วยกันทั้งนั้นในอดีต  อาจจะในปัจจุบัน  หรือต่อเนื่องไปในอนาคตอีกด้วย


ผมจึงไม่เชื่อว่า  “เราจะขจัดคนเลวให้หมดไปจากประเทศไทยได้   หรือไม่ให้มีคนเลวในสังคม   ให้มีแต่คนดีพวกเดียว ”  ได้อย่างแน่นอน


ผมจึงเชื่อว่าไม่มีการปกครอง   หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่จะทำให้บ้านเมือง  หรือสังคม   หรือประเทศชาติมีแต่ความสงบสุข  ไม่มีคนเลวมาอยู่ร่วมด้วย   หรือจะพยายามหา "คนดี" มาเป็นผู้ปกครองบริหารบ้านเมือง  เพื่อไม่ให้คนเลวมาก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นได้อย่างถาวร


ผมเชื่อ และยอมรับว่าทุกรูปแบบการปกครองมีจุดเด่น  จุดบกพร่องด้วยกันทั้งนั้น  


แต่...ผมเห็นว่าระบอบประชาธิปไตย (Democracy)  เป็นระบอบที่ดีมากกว่าทุกระบอบการปกครองที่มีอยู่ในปัจจุบัน   สำหรับ "คน" และ "สังคมของคน"

เพราะเรา

1. สามารถที่จะเปลี่ยน “ตัวแทน” ได้ทุกๆ 4 หรือ 5 ปี
2. สามารถที่จะเปลี่ยน “ตัวแทน” โดยไม่ต้องฆ่าฟันกัน  
3. จะทำให้ไม่มีใครสามารถกดขี่ ขูดรีด ทารุณกรรมต่อประชาชนได้เป็นเวลานานๆ
4. จะทำให้ไม่มีใครมาเอาประชาชนเป็น "ขี้ข้า" หรือ "พลเมืองชั้นสอง" ตลอดชีวิต
5. จะทำให้ไม่มีใคร "หลงติด" หรือ "มัวเมา" อำนาจได้เป็นเวลานาน  
6. จะทำให้ไม่มีใครกอบโกยผลประโยชน์ไปให้แก่ลูกหลาน  พวกพ้องได้อย่างเต็มที่  
7. จะทำให้สามารถตรวจสอบการทำงานของ ตัวแทน” ได้ทุกเมื่อ  ทุกเวลา

แต่จุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตย นั้น อยู่ที่

1. ตัวแทนของประชาชน อาจจะไม่ได้ เป็น"ตัวแทนที่ดี" ตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เนื่องจากการเบี่ยงเบนผลการเลือกตั้ง  ด้วยวิธีการต่างๆ  เช่น การซื้อเสียง  การโกงการเลือกตั้ง  การข่มขู่ของผู้มีอิทธิพล เป็นต้น  

2. ตัวแทนของประชาชน  อาจตัดสินใจประการใดประการหนึ่ง  ที่จะเป็นการเอื้อต่อกลุ่มผลประโยชน์ และหรือสร้างความเสียหายแก่ชุมชนท้องถิ่น   เพราะขาดความสำนึกเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนของปวงชน


เพื่อนๆ ครับ

ถ้า....ท่านสามารถหาระบอบการปกครองที่ดีสุดกว่าระบอบประชาธิปไตยมาได้  ผมก็พร้อมยินดีอยู่ร่วมกับระบอบการปกครองแบบนั้นโดยไม่เกี่ยงงอน  หรือคัดค้านแต่อย่างใด


ขออย่างเดียว  ท่านช่วยพยายามทำให้ทั้ง “พวกกู และ พวกมึง” อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ ไม่เอาเปรียบกัน  ไม่เข้าข้างพวกใดพวกหนึ่ง  ประเภทพวกหนึ่งทำได้ทุกอย่างถูกหมด  อีกพวกทำอะไรก็ผิดหมด  ช่วยทำให้ยุติธรรมเท่ากันหน่อย


ท่านไม่ต้องทำให้  “ พวกกู และ พวกมึง” หายไปหรอกครับ    เพราะอย่างไรๆ  โลกนี้ก็ต้องมี  2 พวกอยู่อย่างนี้แหละ   และคิดว่าจะคงอยู่คู่กับโลกไปตลอดกาล    ถ้าท่านขืนทำให้เหลือพวกเดียวเมื่อไหร่  เมื่อนั้นท่านจะทำให้สังคมถึงกาลวิบัติ  สร้างความเสียหายไปทั่วอย่างใหญ่หลวง  (นี่คือสัจธรรรมครับ)


ถ้า....ท่านทำได้อย่างนี้   ผมจะยอมทุกอย่าง  เพื่อทุ่มเทช่วยเหลือท่านอย่างเต็มที่  


และ  ผมจะไม่โพสต์  หรือแชร์  เพื่อสะกิดใจ หรือทำให้ขุ่นเคืองอารมณ์ท่านอีกเลยครับ

ผมไม่ใช่พวก "เสื้อแดง" เพราะผมเป็น "ชาวพุทธ" 1

ผมขอประกาศย้ำอีกครั้งนะครับ

หลายคนถามผมว่า  “ผมเป็นพวกไม่เอาเจ้า” หรือเปล่า
หรือว่า  "ผมเป็นพวกเสื้อแดง"   หรือเปล่า                                                                  
หรือว่า “ผมเป็นพวกชอบทักษิณ”  หรือเปล่า  
หรือว่า  “ผมไม่มีสติปัญญาพอที่จะแยกแยะออกว่าใครเป็นคนดี คนเลว” หรือเปล่า  
เพราะเห็นสิ่งที่ผมพูด หรือวิจารณ์  หรือโพสต์  หรือแชร์
ดูเหมือนว่าจะโน้มเอียงเข้าข้างแต่พวกทักษิณ  หรือพวกเสื้อแดงเท่านั้น                            


ผมขอตอบให้ชัดๆ  ว่า...
ผมไม่ได้เป็นเสื้อแดง   ผมไม่ได้เป็นพวกทักษิณ
ผมเป็นคนยอมรับได้  และสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ทุกระบบการปกครอง     ถ้าสังคมส่วนใหญ่เลือก  หรือตัดสินใจว่าจะใช้ระบบใดเป็นมาตรฐานของสังคม


แต่....ที่ผมรับไม่ได้   จึงพยายามเขียนให้เพื่อนฉุกคิดบ้าง  เตือนใจบ้าง   หรือสะกิดสติปัญญาของเพื่อนๆ    ก็เพราะความสับสน  และความสับปลับของคนในสังคมไทยกลุ่มหนึ่ง  ที่ไม่มีหลักการ  จุดยืน  แนวคิดที่ชัดเจน


สับสนอันดับแรก  คือ  สับสนทางความคิด   2  ประการ คือ


1. ปากอยากได้ระบอบประชาธิปไตย   แต่ใจกลับไปดิ้นรนหาอำนาจนอกระบบมาดำเนินการจัดระเบียบทางสังคม  เพื่อให้ได้ “คนดี” มาเป็น “ผู้นำ”  หรือ “ผู้ปกครอง”        (ทั้งๆที่ระบอบประชาธิปไตยของไทย  (เลียนแบบอังกฤษมา) นั้นเขาต้องการแค่มี “ตัวแทน”  ไปทำธุระ หรือแก้ปัญหา (บริหาร+บริการ) ให้ประชาชนในระยะเวลา 4 - 5 ปี  ไม่ได้มุ่งที่จะเลือก “ผู้นำ หรือ ผู้ปกครอง” แต่อย่างใด   เพราะ "ผู้นำ" ของเราไม่ต้องเลือก  เนื่องจากเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์  โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น "ผู้นำที่ดี" อยู่แล้ว )

2. ปากบอกว่าอยากเห็นและอยากให้ทุกคนมีความเสมอภาค และสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน  แต่ใจก็ไม่อยากให้ทุกคนเท่าเทียมกัน  อยากให้มีระบบชนชั้น  และต้องเฉพาะพวกฉันเท่านั้น  ที่จะเป็น “คนดี”  หรือ “ผู้นำ” หรือ “ผู้ปกครอง” ได้    คนอื่นห้ามเป็นโดยเฉพาะประชาชนคนธรรมดาทั่วไป


ส่วนพวกสัปปลับ  นั้นเห็นได้จาก


1. เวลาพวกหนึ่งทำอะไร  ก็ทำได้ทุกอย่าง  ไม่ว่าจะชุมนุม  ปิดถนน  ยึดบ้าน ยึดเมือง  ยึดที่ทำการ  พกอาวุธ  ทำร้ายคนที่ขวางหน้าได้สารพัดอาวุธ   ไม่ถือว่ามีความผิด  เป็นการทำเพราะรักบ้านรักเมือง     แต่อีกพวกหนึ่งทำอย่างเดียวกันกับพวกแรก    กลับบอกว่าทำลายเผาบ้านเผาเมือง   เป็นพวกเลวไม่รักชาติบ้านเมือง

2. พวกหนึ่งทำอะไรต้องผิด  และมักถูกดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว   ไม่มีการรอหรือลดหย่อนผ่อนโทษแต่อย่างใด  แต่.....อีกพวกหนึ่งกลับดำเนินคดีอย่างล่าช้า  พอใกล้เวลาตัดสินก็มักบอกว่าหมดอายุความบ้าง  ให้ยุติเรื่องบ้าง  หรือยกฟ้องบ้าง  หรือความผิดชัดเจนเลี่ยงไม่ได้ก็ให้รอลงอาญาบ้าง  ถือว่าไม่มีความผิด   ทั้งๆที่ก็เป็นฐานความผิดเดียวกัน


3. พวกหนึ่งโกงก็ไม่เป็นไร  ผลาญงบประมาณประเทศ   ทำความเสียหายไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่  เงียบกริบไม่วิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด    ทั้งๆที่หลักฐานชัดเจน      แต่.... อีกพวกหนึ่งถึงแม้หลักฐานยังไม่ชัดเจน  ยังคลุมเครืออยู่ก็ออกมาโวยวายว่า  เขาโกงไว้ก่อน


เพื่อนๆ  จะสังเกตไหมว่า
สิ่งที่ผมโพสต์  ผมแชร์  ก็คือ  ผมนำข้อมูล หรือข้อเท็จจริงอีกด้าน
มานำเสนอเปรียบเทียบกับสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งกล่าวหา  หรือสร้างกระแสข่าวขึ้นมาก่อน


ซึ่งผมก็จะเน้นทุกครั้งว่า “เป็นข้อมูลอีกด้าน”  เผื่อว่าจะช่วยสะกิดใจกันบ้าง    
และผมก็ไม่ได้หวังให้เพื่อนบางคนเปลี่ยนใจหรอกครับ
เพราะผมเชื่อว่า  ท่านก็ต้องคิดว่าความคิดของท่านถูก


แต่...เพื่อนๆ  จะไม่มีวันได้เห็นสิ่งที่ผมโพสต์  หรือแชร์  เพื่อกล่าวหาใครก่อน  
ผมมีแต่จะเน้นว่า  เราจะเลือกระบอบการปกครองแบบใดกันแน่   อย่ามั่ว !!!!
และอย่าทำให้ "ตัวเอง"  "ผู้อื่น"  และ "บ้านเมือง" สับสนไปด้วย
สงสารเด็กๆ รุ่นหลังบ้างครับ  เขาจะอยู่ยากขึ้น
เพราะไม่รู้ว่าอะไรดี  อะไรชั่ว  อะไรถูก  อะไรผิดจริงกันแน่



สรุป : ใครกันแน่ที่สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง    จนผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันต้องแตกแยกทางความคิดและความเป็นอยู่    

ใครกันหนอที่ทำให้  “หินแตก  และแยกแผ่นดิน”  

ประเภทพวก “กูดี”  แต่...พวกมึง “ต้องเลว” หรือ ต้องเป็น “ขี้ข้า” ให้พวกกูตลอดไป

จะเอากันอย่างนี้หรือครับ  “พวกกู”   เอ๊ย !  "พวกมึง"

ไม่ต้องด่า ก็ห่วงใยได้

• มีสำนวนหนึ่งแพร่หลาย  และนิยมกันมากว่า

“ ...คำด่าที่ห่วงใย ดีกว่าคำชมที่เสแสร้ง...”

แต่...ผมมองเห็นต่าง  เห็นแย้งอีกมุมมองหนึ่ง  ดังนี้

จริงๆแล้ว เราไม่รู้หรอกว่า คนที่ด่าหรือชม เป็นคนอย่างไร มีเจตนาอย่างไร
แต่ทั้งคำด่าคำชมมีผลกระทบต่อจิตใจผู้ฟัง
ทำให้ทุกข์หรือสุข เจ็บใจ หรือ ปลื้มใจเรียบร้อยแล้ว
ผมจึงไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้นัก จึงขอออกความเห็นร่วมด้วย


• ขึ้นชื่อว่าด่า ด่าอย่างไรก็เกิดจาก "โทสะ"
ที่เกิดโทสะจนระงับไม่อยู่  กลายเป็น "ผรุสวาท"
ที่เป็นอย่างนี้  ก็เพราะ..."คาดหวัง" ไว้มาก แล้วไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
แม้ต่อมา พยายาม "คาดคั้น" บางครั้งถึงกับ  "คาดโทษ"  และ "ลงโทษ" ก็แล้ว
ก็ยังไม่ได้ตามที่หวังอีก  จึงเกิดการควบคุมสติอารมณ์ไม่ได้  จนต้องด่าออกไป


• ที่ด่าไม่ได้  เพราะ "รัก" และ "หวังดี" หรอกครับ
แต่ด่าเพราะไม่เป็นไปตามที่หวังต่างหาก
แต่ด่าไปแล้ว สำนึกได้ว่ารุนแรงเกินไป
ก็แกล้งมา "แก้ขวย" ว่าด่าเพราะหวังดีหรอกนะ


• เพราะอกุศลจิตที่ด่า (ผรุสวาท) เป็นวจีทุจริต
แต่ความเป็นพ่อแม่  ดีตรงที่ว่า  ท่านด่าไม่นานก็กลับมายังรักและหวังดีอยู่
หรือกลับมาพูดดีด้วย   อย่างนี้ก็เรียกว่าเกิดอกุศลจิตไม่นาน
ไม่เหมือนบุคคลทั่วไป  ที่ด่าแล้วมักเจ็บใจ หรือผูกใจเจ็บต่อ


• ถ้าด่าเป็นสิ่งดี พระพุทธเจ้าคงไม่จัดเป็นส่วนหนึ่งของสัมมาวาจา
ในองค์มรรค 8 โดยท่านให้ไม่มุสาวาท ไม่ปิสุณาวาจา ไม่ผรุสวาจา
และไม่สัมผัปปลาปะ  หรอกครับ


• การที่จะอ้างว่าด่าเพราะเจตนาดี
แล้วแถมอ้างพุทธพจน์ว่า
“เจตนาวหํ กมฺมํ วเทมิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนานั่นแหละคือกรรม”
ก็พุทธเจ้าแสดงไว้ชัดแล้วว่า เจตนานั่นแหละเป็นกรรม
เจตนาบังคับลูก ตั้งความหวังไว้กับลูก ให้ลูกพยายามเดินทางที่ตัวเอง
คิดว่าถูกว่าดี ในสายตาตนเอง ไม่ใช่ว่าไม่หวังดีต่อลูก
แต่หวังดีเกินไป ไม่เคยอ่านหรือครับว่า
“เมตตามากไป พลิกนิดเดียวก็กลายเป็นราคะ
กรุณามากไป ก็มักกลายเป็นโทสะ”


• การที่รักลูก หวังดีกับลูก จนต้องด่า
แสดงว่าจิตใจยังมีสติปัญญาไม่พอ
ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาพอไม่เห็นต้องด่าก็ได้
แค่ใจแข็งวางเงื่อนไขกับลูกเสียก็ได้ เช่น
พระพุทธเจ้าให้สงฆ์วางพรหมทัณฑ์กับพระฉันนะ เป็นต้น
แต่ทางจิตวิทยามีตัวอย่างมากมาย  ท่านที่สนใจค้นคว้าหาอ่านได้

ระบอบการปกครองใด ดีที่สุดสำหรับสังคมไทย

ผมเชื่อตามแนวทางพุทธศาสนาว่า  ไม่มีการเมือง การปกครอง  หรือรูปแบบสังคมใด  ที่จะทำให้เกิด "...สังคมที่ดี สังคมอุดมคติ ที่มีแต่คนดีในโลกนี้ (แบบในยุคพระศรีอาริย์) ” อย่างแน่นอน

ความจริงสังคมมนุษย์ทั่วไปในโลกตามแนวพุทธศาสนา ล้วนดำเนินชีวิตด้วยความโลภ โกรธ หลง หรือมีอวิชชา ราคะ ตัณหาเป็นแรงขับ แรงผลักดัน ไม่เว้นแม้บุคคลผู้นั้นจะอยู่ในชนชั้นใด


แม้แต่สังคมภิกษุ / นักบวชในศาสนาพุทธ ถ้าทำตามพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์จริงๆ ก็ถือว่าเป็นสังคมที่ดีที่สุดในโลกอย่างที่ทุกคนใฝ่หา  แต่ความเป็นจริงก็ยังมีภิกษุที่ทำผิดวินัย มีคนจิตใจหยาบช้า คนต่ำทรามเข้ามาอยู่ในแวดวงภิกษุ ต่อให้มีกฎเกณฑ์เข้มงวดแค่ไหน คนที่อ้างว่าตนเป็นภิกษุ ก็ทำผิดได้ ถ้าผู้เป็นครูอาจารย์ไม่ดีจริง หรือเอาใจใส่สั่งสอนอบรมจริง


ในทัศนะของผม จึงไม่มีระบอบการปกครองแบบไหนดีที่สุดในโลก โดยไม่มีข้อบกพร่อง และผมก็เชื่อว่า ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ดีวิเศษกว่าระบอบการปกครองอื่นแต่อย่างใด, ถ้าคนและผู้นำในระบอบนั้นหลงตน และมัวเมาในอำนาจ ผลประโยชน์



แต่...ระบอบประชาธิปไตยดีตรงที่ว่า เมื่อคนเก่าหมดวาระลงตามที่กำหนด ประชาชนก็จะเลือก “ตัวแทน” ใหม่ โดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันล้างโคตรเหมือนระบอบอื่นๆ  ตามที่ผมรับรู้มา ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีความเสมอภาค ความยุติธรรม และเสรีภาพเท่านั้น


ประชาธิปไตยเป็นระบอบแค่เลือก "ตัวแทน" ไปทำงาน    ไม่ได้มุ่งเน้นหา "คนดี" มาเป็นผู้นำ ผู้ปกครอง แต่...ถ้าเผอิญได้ "คนดี และเก่ง" มาเป็นตัวแทนยิ่งดีใหญ่


ผมขอเสนอ "แง่คิด" ว่า เมื่อสังคมใดเลือกระบอบการอยู่ร่วมกันในสังคมแบบใดจริงๆ ก็ควรยึดมั่นถือมั่นตามหลักการของระบอบนั้นๆ เช่น สังคมไทยเลือกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราก็ควรยึดหลักการของประชาธิปไตยจริงๆ ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ แล้วเลือก "ตัวแทน" ไปทำงานตามที่ประชาชนต้องการ


ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ ที่ไปเอาหลักการ วิธีการของระบอบการปกครองอื่นๆมาปนเปกับระบอบประชาธิปไตย เช่น ต้องการให้นักการเมืองเป็น "คนดี" อ้างแต่ "ความเป็นคนดี" เพื่อทำลายคนที่อาสามาเป็น "ตัวแทนประชาชน" เป็นคนไม่ดี เพื่อคนที่อ้างตัวเอง "เป็นคนดี" เข้ามามีอำนาจแทน  มันจะทำให้คนในสังคมนี้ สับสนในหลักการ แนวคิดไปหมดครับ


แต่....ถ้ามีคนเชื่อว่าการปกครองที่ดีที่สุดของสังคมไทย ควรให้คนคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่งที่สังคมเชื่อว่า “เป็นคนดี มีความรู้ มีคุณลักษณะพิเศษเหนือกว่าประชาชนธรรมดา” มาเป็นผู้นำ ผู้ปกครอง คน ๆ นั้นก็ควรรณรงค์ชักชวนให้คนส่วนมากในสังคมไทยเห็นด้วย และเมื่อมีคนเห็นด้วยมากเข้า จนสังคมส่วนใหญ่เลือกและตัดสินใจใช้การปกครองแบบที่นำเสนอ ก็ควรประกาศให้โลกรับรู้ว่า เราเลือกระบอบการปกครองใหม่ ทุกคนจะได้ยอมรับขอบเขต ข้อจำกัดของตัวเอง จะได้ไม่ต้องไปหวังลมๆแล้งๆอีกต่อไป



ส่วนผม ผมเชื่อว่าผมปรับตัวเข้ากับระบอบการปกครองทุกอย่างได้ เพราะผมเป็นพุทธศาสนิกชน "ไม่ยึดมั่นถือมั่น" และตัวผมเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิดและกฏแห่งกรรมอย่างมั่นคง ทำให้ผมเชื่อว่าการที่เราเกิดในแต่ละชาติ เพราะเราต้องไปเรียนรู้ และชดใช้ความผิดพลาดที่ทำมาในอดีตชาติต่างๆ การเกิดในสังคมแบบใด แสดงว่าต้องเกิดมาเพื่อเรียนรู้โอกาส และอุปสรรคของสังคมแบบนั้น”



เช่น ผมเกิดมาในสังคมไทย แสดงว่าผมต้องมาเรียนรู้การยึดติด ความหลงมัวเมาในความสุข สบาย ความเป็นคนดี” ให้ผ่านพ้นให้ได้, ถ้าผมไปเกิดที่เกาหลีเหนือ แสดงว่าผมต้องไปเรียนรู้การกดขี่ข่มเหง ระบอบชนชั้น, และถ้าผมไปเกิดในประเทศยุโรปในยุคกลาง แสดงว่าผมต้องไปเรียนรู้ไม่ให้เผยแพร่เรื่องความลึกลับ การเวียนว่ายตายเกิด หรือเรื่องที่ยุคนั้นห้ามเอาไว้ ผมต้องเน้นเรื่องความรัก ความเมตตาอย่างเดียว ถ้าผมดื้อรั้นและไม่ทำตาม ผมคงถูกแขวนคอ เผาไฟ หรือไม่ก็คงถูกบังคับให้กินยาพิษแน่ๆ,



เรามาช่วยกันทำให้สังคมไม่สับสนเถอะครับ ท่านที่คิดว่า "ตัวเองดีกว่า" หรือ “คิดดีกว่า” ชาวบ้าน อย่าอ้างประชาธิปไตย แต่ทำลายหลักการแนวคิดของประชาธิปไตย   ถ้าท่านยังคิดว่าสังคมไทยควรปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่


เพราะไปๆมาๆ ที่อ้างว่าจะ "โค่นล้มระบอบทักษิณ"นั้น   แท้จริงจะกลายเป็น “ไม่ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจปกครองตัวเอง”   แต่.....อยากให้ชนชั้นตัวเองเป็นผู้ปกครองฝ่ายเดียวเสียมากกว่าครับ

“การเลือกตั้ง” เท่านั้นที่แสดงว่า “ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนตัดสินใจชีวิตของตนเอง”

ที่จริงการถกเถียงเรื่องการเมืองตอนนี้  จะว่ายากก็ยาก  จะว่าง่ายก็ง่าย


เพราะถ้าขึ้นต้นคำถาม หรือประเด็นถกเถียงว่า  ประเทศไทยควรมีระบอบการปกครองแบบไหนดี ? แบบนี้รับรองว่า “ยาก” แน่นอน  ซึ่งมันจะกว้างและหาบทสรุปไม่ได้ใน 100 ปี  เพราะต้องถกเถียงถึงข้อดีข้อเสีย และความเป็นไปได้ของระบอบต่างๆ ถ้านำมาใช้กับเมืองไทย  เถียงกันมากเข้า  โอกาสที่จะฆ่ากันตายก็มีสูงไปด้วย


แต่ถ้าขึ้นต้นข้อถกเถียงกันว่า   ประเทศไทยควรปกครองในระบอบประชาธิปไตยไหม ?  อย่างนี้ “ง่าย” มาก  จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง  หรือ เลือกตั้งก่อนปฏิรูป  ก็สามารถให้คำตอบได้ง่ายตามไปด้วย   เพราะแค่บอกว่า “ควร หรือ ไม่ควร” ก็จบแล้ว    และที่จริงก็จบไปนานแล้วกับคำถามนี้  เพราะเราถูกสอนให้รับรู้ว่า  สังคมไทยเลือกการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่เกิด   อาจจะเพราะเป็นการปกครองที่สากลทั่วโลกยอมรับก็ได้   เราต้องการเป็นสากลอารยะประเทศก็เลยต้องมีการปกครองแบบนี้ตาม


เพราะคำว่า “ประชาธิปไตย” มีคำนิยามที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่า “ประชาชนเป็นใหญ่   เป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชน  และเพื่อประชาชน”  อะไรๆที่ประชาชนไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ  ถือว่าผิดหลักการประชาธิปไตยหมด


ที่เมืองไทยมีปัญหาทางการเมือง  ทางความคิดตอนนี้   ก็เพราะจริงๆแล้ว  คนกลุ่มหนึ่งเขาไม่ได้ต้องการให้มีระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทย   เขาไม่ได้ต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่  เขาต้องการแค่ให้ชนชั้นเขาเป็นใหญ่  เป็นผู้ปกครองประเทศเท่านั้น  


ถ้าใครพูดถึงเรื่อง “คนดี” หรือ “คนไม่ควรเท่ากัน”   หรือ เรียกร้องให้นักการเมืองเป็นคนดี   มีการเมืองสร้างสรรค์   หรือว่าประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง   ***ให้พึงรู้เถิดว่า  เขากำลังไม่ได้พูดระบอบประชาธิปไตยกับเรา***  แต่....เขากำลังบอกว่าตัวเขาหรือพวกเขาควรเป็นผู้ปกครองประเทศนี้  ควรมอบอำนาจให้เขา  เพราะเขาเป็นคนดีกว่า  เก่งกว่า  จริงใจกว่าคนที่ประชาชนเลือกมา


เพราะประชาธิปไตยจริงๆ ก็คือ ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจชีวิตของตัวเอง  แต่ประชาชนไม่สามารถไปทำภารกิจตามความต้องการได้ทุกอย่าง  เขาจึงเรียกร้องหา “ผู้อาสา”  หรือเลือก “ตัวแทน” ไปทำงานแทนให้


ระบอบประชาธิปไตย  จึงอยู่ที่  “การเลือก”  จะเป็นการเลือก “ตัวแทน”  หรือ “ผู้นำ” ตามที่เขาต้องการ ก็ได้ทั้งนั้น   และเขาต้องยอมรับผิดชอบกับคนที่เขาเลือกภายในเวลาที่กำหนด     ประชาธิปไตยจริงๆ ก็มีแค่นี้เอง   ไม่ได้มีอะไรลึกลับ  ซับซ้อนแต่อย่างใด    อะไรๆที่เกินกว่านี้ถือว่าไม่ใช่ “หลักการ” ของประชาธิปไตย


และถ้าเกินไปจากนี้   เช่น  ต้องการให้นักการเมืองเป็นคนดี  หรือต้องจบปริญญาตรี  หรือต้องมีอายุเท่านั้นเท่านี้  หรือต้องมีความรู้ความสามารถอย่างนั้นอย่างนี้  แสดงว่ามีผู้นำเอาความคาดหวัง และเจตนาแอบแฝงที่ต้องการให้ตัวเอง หรือพวกตัวเองได้ประโยชน์มาใช้กับระบอบประชาธิปไตยแล้วล่ะ


ที่เมืองไทยวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะมีผู้ต้องการให้ตัวเอง หรือพวกตัวเองได้ประโยชน์  โดยสร้างเงื่อนไขมากมายกับระบอบประชาธิปไตย  ร่างกฎกติการะเบียบมากมาย  ผลิตรัฐธรรมนูญไม่รู้กี่ฉบับ  จนเกิดปัญหามากมายซับซ้อนตามมาไม่รู้จบ


และที่หนักกว่านั้น  สร้างภาพให้นักการเมือง  ที่เป็นตัวแทนของประชาชนเป็น “ผู้ร้าย” ตลอดกาล   เช่น กล่าวหาว่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาล เป็นเผด็จการรัฐสภา  แต่ตัวเองเขียนเงื่อนไขว่าผู้แทนต้องสังกัดพรรค และผู้ที่ได้เสียงข้างมากในสภาให้จัดตั้งรัฐบาล   เมื่อใครมีเสียงข้างมากในสภาก็ย่อมเป็นทั้งรัฐบาล และนิติบัญญัติไปด้วย    และแม้แต่การเลือกตัวแทน(นักการเมือง)ของประชาชน  ก็เขียนจนสับสนว่าจะให้  ตัวแทนของประชาชนมาทำงานหรือไม่   เพราะจะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด  มีนโยบายแล้ว  มอบให้ข้าราชการไปทำงาน  แต่ถ้าข้าราชการไม่ทำ  จะโยกย้ายหรือปลดระวางก็ยากมาก  เพราะอ้างว่าข้าราชการไม่ใช่ “ม้า” ของนักการเมือง


ยังมีตัวอย่างอีกมากมาย  ที่ลักลั่น  ยอกย้อน  ขัดแย้งกันในตัวเองของเงื่อนไขที่เขียนในรัฐธรรมนูญ    และจากตัวอย่างที่ยกมา  สรุปได้ว่า  “เขา” สร้างปัญหาให้กับเมืองไทยมาโดยตลอด  ทำให้เมืองไทยไม่สงบวุ่นวาย เพื่อจะได้อาศัยเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจจากประชาชน   และเมื่อยึดไปแล้วก็ไม่สามารถปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นแต่อย่างใด  เพราะไม่ช้าก็ต้องให้มีเลือกตั้ง  เนื่องด้วยไปสัญญากับประเทศต่างๆทั่วโลกว่าประเทศนี้จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย   ถึงจะพยายามเขียนเงื่อนไขไม่ให้ตัวแทนของประชาชนทำอะไรได้ตามที่หาเสียงมา  สุดท้ายก็ต้องมีเลือกตั้งอยู่ดี   มีเพียงแค่พยายามเอาคนของตัวเองเข้าไปมีอำนาจทุกภาคส่วน  เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง   แล้ววันหนึ่งถ้าอำนาจของตัวเองลดลงเกือบครึ่ง  ก็จะหาเหตุอ้างยึดอำนาจของประชาชนกลับไปให้พวกตัวเองมีอำนาจครบถ้วนทุกภาคส่วนใหม่อีก  วนเวียนอย่างนี้ไม่รู้จบ


เขาถึงเรียกการปกครองเมืองไทยตอนนี้เป็น “วงจรอุบาทว์”  ไงครับ


ถ้าจะไม่ให้ “วงจรอุบาทว์” นี้เกิดขึ้นอีก  ประชาชนต้องรู้เท่าทัน  และหวงแหนอำนาจของตัวเองไว้มากๆ  อย่าปล่อยให้ใครมาแอบอ้างความดี  คนดี เพื่อ “เขา” จะได้มีอำนาจในการปกครองประเทศนี้นานๆ แต่เพียงผู้เดียวนะครับ


สำหรับทัศนะของผมทุกระบอบการปกครองก็มีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น  ระบอบจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่คนของสังคมนั้นจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหน   และส่วนตัวผมเชื่อ “กฎแห่งกรรม” ดังนั้นในโลกนี้จึงต้องมีสังคมและระบอบการปกครองหลายชนิด  เพื่อให้คนได้ไปเวียนว่ายตายเกิดในแต่ละชาติ ไปเกิดไปเรียนรู้ในสังคมนั้นๆ  ตามสภาวะจิตใจที่สั่งสมมา  และชดใช้หนี้เวรที่สร้างมา


ผมเชื่อว่า “ทุกชีวิตที่เกิดมา  ไม่มีคำว่า “บังเอิญ”  การที่ทุกคนเกิดในประเทศแบบไหน สังคมแบบไหน  พ่อแม่พี่น้องเพื่อนแบบไหน  สิ่งแวดล้อมแบบไหน  ล้วนเพราะเขา “เลือก” มาเกิดตาม “กรรม และสภาวะจิต” ของตนเอง  หรือมีผู้จิตสูงส่งแนะนำให้มาเกิด


อย่าลืมไปเลือกตั้งวันนี้นะครับ  เพราะนั่น คือ การตัดสินใจชีวิตของท่าน  ว่าท่านจะเลือกใช้ชีวิตแบบใดในอนาคต โดยไม่ต้องรอให้ กปปส. หรือใครมากำหนดชะตาชีวิตของท่าน


 “การเลือกตั้ง”  เท่านั้นที่แสดงว่า  “ประชาชนเป็นใหญ่   ประชาชนตัดสินใจชีวิตของตนเอง”  โดยไม่ต้องฆ่าฟันทำร้ายกัน

รักแท้หายาก รักตัวเองมากกว่า

• คนที่มัวแต่วิ่งหาความรัก แสวงหาความรักแท้
แต่ทำไม...ไม่เจอ “ความรัก” หรือ รักแท้" "สักที
ก็เพราะเขา(เธอ)ยังไม่เคย "รัก" ใครจริง
มัวแต่...วิ่งหา แสวงหาว่าใคร
จะมาตามใจฉัน เอาใจใส่ฉัน
ยอมฉันมากที่สุดกว่าใคร


• ทุกคน "อยากมีรัก" หรือ "ได้รับความรัก" เสมอ
ทั้งๆที่ "ความจริง" (ธรรมะ)  สอนเราอยู่ตลอดเวลาว่า
"อยากมีรักแท้" ต้อง "รู้จักรักคนอื่น" ก่อน
หรือ "มีใจ" ที่รู้จัก "ให้" ก่อนนะสิ


• เพราะเมื่อรักใคร ก็ต้องมี "ใจ" ให้
ทั้งยอม "...ให้ใจ  ใส่ใจ  เอาใจ..."
กับคนที่ตนเองรัก
อยากให้คนที่ตนเองรัก
มีความสุข ความสมหวัง
เรียกว่าขณะมีความรัก เห็นคนอื่นสำคัญกว่าตัว
ไม่เอาแต่ใจตนเอง ตัวเองแค่ภูมิใจเท่านั้นก็พอ
โบราณถึงมีคำว่า "...ความรักทำให้คนตาบอด..."
ทำอย่างไรได้ก็รักเขาแล้วล่ะ


• ถ้ายัง ...ไม่ให้ใจใคร  ใส่ใจใคร  เอาใจใคร  ยอมใคร...
มีแต่ความอยากให้มีใครสักคน
มาเอาใจ ใส่ใจ ตามใจตัวเองเท่านั้น
ก็แสดงว่าคนๆนั้นยังไม่มีความรักจริงๆ
หรือยังไม่เคยรักใคร
มีแต่ "รักตนเอง" เป็นสรณะ


• พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า....
- ทายโก ปฏิทานํ ผู้ให้ย่อมได้รับการให้ตอบ
- ททมาโน ปิโย โหติ ผุ้ให้ย่อมเป็นที่รัก
- ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้


• ดังนั้น อยากได้ความรักจากใคร
ก็จงรักเขาก่อนจำไว้....อย่าลืม


• แต่คงค่อนข้างยาก
เพราะทุกคนอยากให้มีใครมารักตัวก่อน
ไม่อยากเป็นผู้รักคนอื่นก่อนทั้งนั้น
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า
...นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ...
ความรักอื่นยิ่งกว่าความรักตัวเองไม่มี.


• ในโลกนี้
จึงมีแต่ผู้มีความทุกข์จากความรัก
มากกว่าสุขครับ

...................

ทิ้งท้าย :
วันหนึ่งมีผู้ถามผมว่า
ส่วนมากคนมักรักตัวเองมากกว่าผู้อื่น
แล้วจะมีไหมที่คนเราจะรักคนอื่นมากกว่าตนเอง


ผมตอบว่า : มีครับ
คนที่ไม่ค่อยรักตัวเอง รักคนอื่นมากกว่า
ก็พ่อแม่ไงล่ะครับ ทำทุกอย่างเพื่อลูก
แต่ท่านก็ยังติดอยู่ที่ ต้องเป็นลูกของตัวเอง
ท่านถึงจะรักเมตตาเต็มที่


ส่วนบุคคลอื่นก็พอมีบ้าง เช่น
พระที่ปฏิบัติจนละคลายความยึดมั่นถือมั่นได้บ้าง
ท่านก็จะเสียสละความสุขของตัวท่านไปช่วยผู้อื่น เช่น
พระที่ชอบรักษาผู้ป่วย  ชอบสงเคราะห์ผู้อื่น
หรือทางภาคเหนือ ก็ตัวอย่าง ครูบาศรีวิชัย เป็นต้น


แต่ก็ไม่แน่ว่า
จะรักคนอื่นตลอดไปเหมือนเดิม
ถ้าองค์ไหน  คนไหนเริ่มดัง
หรือมีแต่คนเยินยอทุกวัน


ก็มักหลงตัวเองว่าเป็น "คนดี" "ผู้วิเศษ"
ก็เริ่มรังเกียจ  ดูถูกคนต่ำต้อยกว่าอีก
ต่อมาก็ "เลือก" คนที่จะรัก  คนที่จะให้
เฉพาะคน "ใกล้ชิด" หรือ "คนพิเศษ"
ที่ไม่ใช่ "คน" ธรรมดาเหมือนเดิมอีก.

เฮ้อ ! คนหนอคน.

“..ปรับความเข้าใจฝ่ายวัด และฝ่ายบ้าน เกี่ยวกับเรื่องศาสนา และพระๆ..” ตอน 2

ครับ, จากตอนที่ 1 พวกเราน้อมรับคำขอร้องฝ่ายวัดที่ว่า ให้พวกเราประชาชนชาวบ้านช่วยกันรักษาพระศาสนา โดยไม่ช่วยกันกระพือ หรือขุดคุ้ยข่าวที่ไม่ดีของพระ "อลัชชี" หรือ "ผู้ทุศีล" ออกไป แต่...พวกเราก็ต้องขอร้องฝ่ายวัด หรือผู้อยากเป็นนักบวชว่า อย่าช่วยกันกระจายสิ่งที่ไม่ดีของพวกท่านออกมาสู่สาธารณะบ่อยนักสิครับ
พอพวกเราเห็นก็อยากแนะนำ ชี้แจงว่าไม่ดี ไม่ควรนำมาลง จึงมีคนกลุ่มหนึ่งช่วยกันตักเตือนพวกหน้าด้าน ไม่รู้จักยางอาย ให้สงบสำรวมบ้าง ไม่ได้ตั้งใจจะประจานพวกพระที่ดีหรอกครับ พวกผมยังนับถือพระพุทธศาสนา และพระสงฆ์สาวกที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยเสมอ
แต่พวกท่านกลุ่มหนึ่งก็เหลือเกิน ขยันสร้างข่าว ขยันนำสิ่งที่ไม่ดีออกมาสู่สาธารณชนกันเหลือเกิน ก็ได้แต่ขออาราธนา ร้องขอว่าพวกท่านช่วยกันตักเตือน ควบคุมกันด้วย ชีวิตชาวบ้านชาวโลกเขาวุ่นวาย สกปรกก็เป็นเรื่องของสัตว์โลกที่ยังมืดบอดด้วยอวิชชา รอพระที่ดีมาช่วยสอนเกิดสติปัญญาขจัดอวิชชา แต่พวกท่านมีโอกาสได้เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัยมา ก็น่าจะรู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำกันบ้าง
ตัวอย่างเฟสและหลายภาพที่พวก "อลัชชี" ไม่มียางอาย หน้าด้าน เอามาลงประจานตัวเอง ทำลายพวกตัวเองให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา แล้วพอเสื่อมเสียขึ้นมา กลัวชาวบ้านหมดศรัทธา คราวนี้กลับมาเรียกร้องพุทธบริษัท 4 ให้ช่วยกันเสียแล้ว เช่น
ที่จริงชาวบ้านเขาแยกออกครับว่า พระทั่วไปชาวบ้านเขาไม่คาดหวังให้ถึงกับต้องเคร่งครัดอะไรหนักหนาหรอกครับ เพราะเขาสร้างวัดขึ้นมาเพื่อให้พระภิกษุที่เขาเคารพนับถือ ศรัทธาในความสามารถ อยู่ประจำเป็นเจ้าอาวาส หรือ อาจารย์วัด หรือ หัวหน้าพระ เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ เอาไว้ทำบุญสุนทาน หรือเป็นที่พึ่งยามเจ็บป่วยบ้าง และช่วยสั่งสอน อบรมขัดเกลานิสัย จิตใจลูกหลานของพวกเขาให้ดีขึ้น
ถ้าพระภิกษุองค์ไหนไม่ดี ชาวบ้านเขาก็เลิกศรัทธา นิมนต์ไปอยู่ที่อื่นเอง หรือไม่ก็ขอให้สึกเสียถ้าเป็นลุกบ้านตัวเอง ไม่ปล่อยให้เสียศรัทธา ดังเช่นสวนโมกข์ในอดีต ที่ท่านพุทธทาสเล่าให้ฟัง พอชาวบ้านรู้ว่าทำไม่ดี ชาวบ้านก็เอากางเกงมาให้พระนุ่ง สึกออกไปเสีย ไม่ต้องถึงกับขับไล่ไสส่ง ลุกฮือล้อมรอบวัดเหมือนสมัยนี้ เพราะวัดเป็นของชาวบ้าน พระเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย ดูแลวัดให้สะอาดเรียบร้อย ตามที่ญาติโยมสร้างให้เท่านั้น ไม่ต้องให้พระออกเรี่ยไรหาเงินมาสร้างวัดเองแบบปัจจุบัน
แต่ที่เป็นปัญหากันทุกวันนี้ เพราะศาสนาพุทธในเมืองไทยกลายเป็น สถาบันวัดเป็น หน่วยงานหนึ่งของรัฐมีสถานะเป็น นิติบุคคลเจ้าอาวาส เป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าคณะจังหวัด จึงจะมีผลตามกฎหมาย ชาวบ้านตั้งเองไม่ได้
ซึ่งในแง่ดี ก็คือรัฐเป็นผู้คุ้มครองพระศาสนาไม่ให้ใครมารังแกพระ หรือศาสนาพุทธได้โดยง่าย, ในแง่ไม่ดี มีนักบวชบางคนบางรูปไปวิ่งเต้นผ่านเจ้าคณะระดับต่างๆ ให้ตั้งตัวเองเป็นเจ้าอาวาส โดยเฉพาะวัดที่มีผลประโยชน์มากๆจะเป็นเกือบทุกที่ พระที่ชาวบ้านเลือกหรือศรัทธามักไม่ได้รับการแต่งตั้ง แต่ก็มีบางท้องถิ่นที่เจ้าคณะท่านแต่งตั้งอนุโลมตามศรัทธาชาวบ้าน วัดแบบนี้ชาวบ้านแทบทำอะไรไม่ได้ ชาวบ้านได้แต่นั่งทำตาปริบๆ หรือไม่ก็หันไปทำบุญวัดอื่นแทน สำนักสงฆ์เกิดขึ้นมากมายก็เพราะสาเหตุนี้สาเหตุหนึ่ง ที่ชาวบ้านอยากได้พระดี แต่วัดข้างบ้านไม่สามารถสนองตอบได้ ก็เลยต้องตั้งวัดใหม่ขึ้นมาไว้ทำบุญแบบสนิทใจหน่อย
ยิ่งวัดบางวัดเพื่อหนีการรบกวนของชาวบ้าน จะได้บริหารวัดโดยอิสระ ก็มักจะขอยกวัดธรรมดาเป็นวัดพระอารามหลวง คราวนี้ชาวบ้านหมดสิทธิ์ในการควบคุม กำกับ ติดตามโดยปริยาย เพราะทั้งเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ล้วนถูกแต่งตั้งโดยมหาเถรสมาคม องค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ชาวบ้านไม่เกี่ยว จะนิมนต์สึกหรือให้ไปอยู่ที่อื่น เหมือนเมื่อก่อนก็ไม่ได้ อ้างว่าต้องมีการสอบสวนก่อน ยิ่งถ้าได้พวกหน้าด้านมากๆ ไม่มียางอาย ก็จะเล่นแง่แถไปเรื่อยๆ ถือว่าใครทำอะไรไม่ได้ จนกว่าชาวบ้านจะจับได้คาหนังคาเขา เช่น ที่มีข่าวล้อมกุฎิ ถ่ายรูป ถ่ายคลิปวีดิโอเป็นหลักฐาน ถึงจะยอมจนมุม ลาสิกขา นอกนั้นอย่าหวังเสียให้ยาก
ชาวบ้านไม่ได้หวังกับพระลูกวัดให้ดีวิเศษหรอกครับ ถ้าประเภทเหลือขอรับไม่ไหว ชาวบ้านเขาก็แค่เอ่ยปากว่า “..ขนาดมีผ้าเหลืองนะเนี่ย ถ้าไม่บวชจะขนาดไหน...
แต่ที่ชาวบ้านเขาคาดหวังมาก ก็คือ ตัวอาจารย์วัด หรือผู้ที่ตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนธรรมะชาวบ้าน แต่...กลับมีปัญหาเสียเอง นั่นแหละครับที่เขา เฮิร์ททำใจไม่ได้
เขียนเมื่อ 25 กรกฏาคม 2556

“..ปรับความเข้าใจฝ่ายวัด และฝ่ายบ้าน เกี่ยวกับเรื่องศาสนา และพระๆ..” ตอน 1

เข้าพรรษาแล้ว มีหลายที่ที่ฝนตก เข้าใจว่าทำให้โลกและบ้านเมืองเย็นลงมาบ้าง และข่าวคราวเรื่องของพระที่เป็นกระแสดังมาก ก็ผ่านไปแล้ว ทุกฝ่ายคงพอจะสงบจิตสงบใจลงได้บ้าง ผมจึงถือโอกาสนี้ชี้แจงเรื่องของพระภิกษุในสังคมไทยได้เสียที
ข่าวพระภิกษุในพุทธศาสนาที่ดังในกระแสข่าวของสื่อสารมวลชนทุกวันนี้ มองในแง่หนึ่งก็เหมือนจะประจาน ตำหนิติเตียน จนฝ่ายวัดมีพระภิกษุบางองค์น้อยใจว่าทำไมสื่อและพวกเราชอบลงแต่ข่าวไม่ดีของพระไม่ดี พระที่ดีๆทำไมไม่ลงข่าว
บางองค์ก็ถามกลับไปว่าสาเหตุมาจากพระฝ่ายเดียวหรือ พระพุทธศาสนาเป็นของบริษัท ๔ ทำไมพอมีเรื่องเกี่ยวกับพระ มักจ้องกันขุดคุ้ย แต่ทีฆราวาสโกง แย่งคู่ครอง เบียดเบียนกัน ฆ่ากัน นักการเมือง ข้าราชการล้วนสาบานสมาทานถือศีล ปฏิญาณตนนับถือพระรัตนตรัยก่อนทำบุญให้ทานทุกครั้ง แล้วยังถวายสัตย์ปฏิญาณสาบานตนต่อองค์พระมหากษัตริย์ ศีลเพียง ๕ ข้อยังรักษาไม่ได้ ไฉนไม่เรียก “ทุศีล”
บางองค์ก็ถึงกล่าวหาว่าพวกที่แพร่ข่าวพระไม่ดีต่อๆกัน ว่าเป็นพวกทำลายศาสนา ไม่รักชาติบ้านเมืองของไทย ถ้าอยากหาพระดี บริสุทธิ์ผ่องใส ทรงศีล ก็มาบวชเสียเอง (ฮา)
อันที่จริงผมก็เห็นด้วยทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่อยากให้พระสงบสำรวมตามสมณวิสัยมากขึ้น เพื่อไว้เป็นที่พึ่งทางใจ จะได้กราบไหว้แบบสนิทใจ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับบางคนที่ใช้ภาษาค่อนข้างรุนแรง หยาบคาย แสดงถึงอารมณ์โทสะมากเกินไป และผมก็เห็นใจฝ่ายพระภิกษุที่หวั่นไหวไปตามกระแสข่าว กลัวว่าชาวบ้านจะเสื่อมศรัทธาพระ ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีที่จะทำลายศาสนาพุทธในเมืองไทยให้สูญหายไปมากกว่านี้ แต่ผมก็ว่า..บางองค์ใช้ภาษาที่แสดงอารมณ์ตัดพ้อต่อว่า น้อยใจญาติโยมที่เขียนว่ากล่าวรุนแรงไปเหมือนกัน
สำหรับผมในฐานะเคยบวชเรียนรู้เรื่องปริยัติมาบ้าง เคยฝึกจิตมาก็พอสมควร และผมมั่นใจว่าผมยังมั่นคงในพระรัตนตรัย และศรัทธาคำสอนของพุทธองค์เป็นอย่างยิ่งด้วยเศียรเกล้า
ผมจึงขอเรียนชี้แจงแทนฝ่ายชาวบ้านต่อพระภิกษุว่า พวกเราไม่มีเจตนาทำลายศาสนาพุทธที่เป็นของดีที่สุดในเมืองไทย แต่เพราะพวกเราเห็นคุณค่ามากเกินไป จึงเสียดายที่จะถูกคนพวกหนึ่งมาทำลายศาสนา ทั้งที่พระรุ่นก่อนๆ สอนพวกเรา และท่านทำตัวอย่างให้พวกเราดู จนพวกเราศรัทธา เชื่อว่าดีจริง จึงเรียกพวกท่านว่า “พระ (ผู้ประเสริฐ)” พวกเราจึงถวายการอุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4 และบางทีก็สรรหาของดีไปให้พวกท่านได้ฉัน พ่อแม่ของพวกเรายังไม่ได้กินของดีๆ แบบพวกท่านเลย เพราะพวกเราเชื่อว่าจะได้บุญ เมื่อได้ทำกับพวกท่านที่เป็น “สมณะ” (ขนาดพระเถระผู้ใหญ่ของพวกท่านหลายรูป ยังดุ ยังเตือนตำหนิ พวกเราเสมอว่า อย่ามัวไปทำบุญกับพระที่วัด จนลืมพระอรหันต์ที่บ้าน)
แต่พวกท่านบางองค์ตอบแทนพวกเราอย่างสาสม โดยการทำตัวเหลวแหลก ไม่ประพฤติตัวตามพระธรรมวินัย และที่หนักกว่านั้น ทำผิดศีลผิดข้อวัตรปฏิบัติแล้วไม่ว่า ยังนำเอารูปถ่ายที่ลามกจกเปรตบ้าง รูปถ่ายที่ทำผิด หรือเป็นคลิปวีดีโอบ้างมาเผยแพร่ในที่สาธารณะ
แต่ในขณะเดียวกันพวกท่านกลับยังจะเรียกร้องไม่ให้พวกผมวิจารณ์ในด้านเสื่อมเสีย ขอให้พวกเราชาวบ้านยังศรัทธา ก้มหน้าก้มตาถวายของให้พวกท่านใช้ ท่านกินเหมือนเดิม ไม่ว่าพระภิกษุสามเณรเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร โดยอ้างว่าวิจารณ์มากไปจะทำลายศาสนา แล้วจะให้พวกผมปล่อยวาง ทำใจอุเบกขา ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อ “ผู้ทุศีล” นั้นได้อย่างไร
พวกท่านจะเห็นว่าในขณะที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยอบายมุข ก็ยังมีชาวบ้านมากมายหลายกลุ่มหลายคณะที่สนใจธรรมะ ชักชวนกันทำบุญที่นั่นที่นี่ ฝึกจิตปฏิบัติธรรม ซึ่งท่านจะเห็นพวกเรากลุ่มหนึ่งเปิดเฟสบุ๊ค ด้านนี้ไม่ใช่น้อย พวกเราส่วนหนึ่งนำธรรมะที่ดีๆที่ตนเองได้รับจากการปฏิบัติมาเผยแพร่ แชร์ต่อๆกัน บางคนก็นำข้อคิดจากหนังสือธรรมะของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ต่างๆมาลง ไม่ใช่ว่าพวกเราจะเหินห่างหรือศรัทธาต่อพุทธศาสนาน้อยลงเมื่อได้รับข่าวต่างๆของพระที่ไม่ดี หรือของพระดังๆ พวกเราแยกเรื่องราวของพระที่ไม่ดี กับพระที่ดี และศาสนาคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ออกได้ครับ
แต่...พวกผมทำใจไม่ได้ครับที่เห็นข่าวพระไม่ดีแบบนี้ จึงออกมาอ้อนวอนพวกท่าน โดยเฉพาะพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส พระสังฆาธิการทุกระดับช่วยกันควบคุม ดูแล อบรมสั่งสอนพระภิกษูสามเณรในสังกัดของท่าน ให้ดีหน่อยๆ ไม่ต้องถึงกับจะสร้างพระอริยะ หรือไม่ผิดศีลเลย ขอแค่ให้รู้จักละอายไม่ทำผิดศีล อาจาระต่อหน้าญาติโยม หรือทำผิดในที่ลับแล้วยังเอามาเผยแพร่อีก
แค่นี้แหละครับ ที่พวกเราร้องขอจากฝ่ายวัด
เขียนเมื่อ 25 กรกฏาคม 2556

ข้อคิดก่อนเข้าพรรษา 2556

บุคคล หรือสังคม หรือองค์กรใดที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน หรือมีแต่ความวุ่นวายขัดแย้งเป้นประจำ
สังเกตให้ดี จะเห็นว่าเพราะคนๆนั้น สังคมนั้นๆ องค์กรนั้นๆ มักนำเอาแต่ปัญหา หรือวิธีการขึ้นมาพูด หรือนำเสนอให้เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่โตที่สำคัญมาก (ทำนองหมกหมุ่นแต่ปัญหาทั้งวัน) 
สังคมหรือองค์กรที่เจริญประสบความสำเร็จ หรือบุคคลที่พัฒนาก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ส่วนมากจะมุ่งไปที่ "เป้าหมาย หรืออุดมคติ" มากกว่า "ปัญหาและวิธีการ" เพราะไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม ต่อให้ทำได้ดีขนาดไหน ก็ต้องมีผิด มีพลาด มีพลั้ง มีเผลอจนได้ ไม่มีทางจะทำให้ได้ผลครบถ้วนได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกคน 

โบราณถึงสอนว่าเวลาทำบุญอะไร ให้อธิษฐานว่า "นิพพานัง ปัจจุโย โหตุ" นั่นก็ให้ระลึกว่า นิพพาน คือ เป้าหมายของชาวพุทธ   

แต่ขณะที่เวียนว่ายตายเกิดก็ต้องทำอะไรที่ผิดพลาดไปตามกิเลสตัณหา ไม่แม้แต่ผู้ตั้งใจเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ตาม แต่ถึงแม้ว่าจะผิดพลาดไปบ้าง หลงไปตกต่ำหลายชาติบ้าง แต่เป้าหมายที่ฝังลึกในจิตใจ ก็จะมีเหตุให้ได้สติ ยกระดับจิตใจขึ้นมาสู่เส้นทางพระนิพพานในที่สุด

บ้านเมืองไทยที่ผ่านมา นำพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต แต่..คนไทยกลุ่มหนึ่ง (แบบสลิ่มหรือพรรคการเมืองหนึ่ง) กลับชอบพูดแต่ "ปัญหา" "วิธีการ" มากกว่า "เป้าหมาย หรืออุดมคติ"

ท่านทั้งหลายครับ ปัญหาไม่มีวันจบสิ้นจากชีวิต สังคม และโลกใบนี้ได้หรอกครับ เพราะถ้า "คน" ยังเป็น "คน" แต่...ถ้าเราสามารถยกระดับจิตใจของ "คน" ให้เป็น "มนุษย์" หรือ "เทวดา" หรือ "พรหม" หรือ "พระ" นั่นแหละปัญหาถึงจะเบาบางลงได้

เป้าหมาย" หรือ "อุดมคติ" จึงควรเป็นสิ่งที่ชาวพุทธเราควร"ตระหนัก" และยึดมั่นถือปฏิบัติให้มากทุกวัน โดยเฉพาะ "เป้าหมายที่ไปสู่พระนิพพาน"

ท่านทั้งหลายครับ   ปัญหาจริงๆแล้ว ไม่ได้มีไว้ให้ "แก้ไข" เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็แสดงว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว แต่ปัญหาเป็นเรื่องที่ "คน" ต้องผ่านประสบการณ์ เพื่อเกิดการพัฒนา "การเรียนรู้"

สิ่งที่ทุกท่านพึงทำ พึงตั้งจิตให้มี "โยนิโสมนสิการ" คือ พยายามไม่ให้เกิดปัญหาแบบนั้นขึ้นมาอีก ถ้ายังมีเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายแบบนั้นอยู่.

ขอทุกท่านโชคดี เกิด"การเรียนรู้" จนมี"สติและปัญญา" ในพรรษายุกาล ๒๕๕๖ นี้นะครับ

เขียนเมื่อ  22  กรกฏาคม 2556

หลากหลายความคิด ความรู้สึก กับข่าว สมีคำ และท่านมิตซูโอะ

เข้าพรรษาปีนี้ ท่ามกลางกระแสเณรคำ หรือสมีคำ กระแสข่าวพระมากมายที่ไม่ดีก็ยังไม่สามารถทำลาย

กระแสความศรัทธาของชาวพุทธได้ วันนี้พุทธศาสนิกชนต่างหลั่งไหลทำบุญกันอย่างมากมายเหมือน

เดิม บางแห่งก็ล้นศาลาต้องปูเสื่อ นั่งใต้ต้นไม้ บางแห่งต้องเข้าคิวทำบุญ พาลูกหลานเข้าวัดสร้างบุญ

สร้างกุศลกันอย่างคึกคัก



สำหรับเรื่องข่าวพระนี้ ที่จริงคนไทยส่วนใหญ่แยกออกมานานแล้วระหว่างวัด พระธรรมคำสอน นักบวช 

ควรจะเข้มข้นขนาดไหน

เหตุการณ์เณรคำ หรือท่านมิตซูโอะ จึงไม่ส่งผลต่อศรัทธาชาวบ้านไทยๆ ที่มีต่อศาสนาพุทธ และการ

ทำบุญทำกุศลแต่อย่างใด



อีกอย่างเป็นเพราะว่า ชาวบ้านเข้าใจดีว่าพระมีหลายแบบ เช่น

บวชเพื่อพ้นทุกข์ตัดกิเลสตัณหา พระองค์ไหนทำได้ หรือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย : 

ชาวบ้านก็ศรัทธานับถือและอนุโมทนาด้วย


องค์ไหนบวชแล้วมีพลังจิตสูงส่ง มีเวทมนต์แก่กล้า สามารถแก้ไขสิ่งร้ายๆในชีวิต หรือเวรกรรมเก่า

ได้ ทำนองประเภทมีความศักดิ์สิืทธิ์ มีความขลังอย่างใดอย่างหนึ่ง 



มีวิชา หรือ อาคมที่ทำให้ชาวบ้านรวยได้ เจริญรุ่งเรืองได้ : แค่นี้ชาวบ้านก็แตกตื่น เทิดทูน เคารพอย่าง

เต็มที่ อยากได้อะไรบอกมา จะหาให้ทันที




องค์ไหนบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียน เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา : ชาวบ้านก็ดีใจด้วย ถ้าเป็นมหาบาเรียน 

ก็ภูมิใจตามไปด้วย (สมัยนี้ไม่แน่)



องค์ไหนมาบวชเพื่อให้พระเก่าๆฝึกฝนนิสัยขัดเกลากิริยามารยาท และจิตใจ : ชาวบ้านก็ชื่นชมองค์ไหน

บวชแล้วเป็นที่พึ่งของชาวบ้านด้านการเจ็บป่วย ด้านพัฒนา   ด้านหมอดู : ชาวบ้านก็อบอุ่นใจว่ามีที่พึ่ง




องค์ไหนบวชเพื่อทดแทนคุณบิดามารดา : ชาวบ้านก็ปลื้มใจ


องค์ไหนบวชเพื่อแก้บน บวชตอนแก่ บวชเพราะเฝ้าวัด : ชาวบ้านก็ทำใจ



ไม่ว่าจะบวชอย่างไร แล้วล่วงเกินอาบัติเล็กอาบัติน้อยขนาดไหน ชาวบ้านก็ยังให้ความเคารพนับถืออยู่

แต่...ถ้าองค์ไหนอาบัติปาราชิก ชาวบ้านรู้เข้าก็ทำใจไม่ได้



ถึงขับไล่ไสส่งไม่ได้ ก็เลิกนับถือไม่เข้าวัดนั้นไปเลย



ชาวบ้านจึงสามารถทำใจกับเรื่องราวของพระได้ ยกเว้นแต่คนในเมือง และสื่อสารมวลชนสมัยใหม่เท่านั้น

ที่ทำใจไม่ได้


ที่ชาวบ้านยังมั่นคงในการทำบุญสุนทานนั้น เพราะชาวบ้านส่วนมากนับถือศาสนาพุทธเพราะต้องการ

ทำบุญ เพื่อให้ชีวิตเกิดมาเจอแต่สิ่งที่ดีๆ มีชีวิตที่ราบรื่นสงบสุขทุกชาติ ไม่ได้ตั้งใจที่จะปฏิบัติตามคำ

สอนของพุทธองค์ที่ให้เบื่อโลก เบื่อการเวียนว่ายตายเกิด จะได้ไม่กลับมาเกิดอีก


พูดง่ายๆ ยังอยากสนุก ทุกข์ๆ สุขๆ แบบโลกอยู่ครับ