วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รูปแบบการปกครองในสมัยพุทธกาล

รูปแบบการปกครองของบ้านเมือง แว่นแคว้นต่างๆ ในสมัยพุทธกาลนั้น พอจะจำแนกรูปแบบการปกครองออกเป็น ๒ รูปแบบ คือ แบบสมบูรณาญาสิทธิราช (ราชาธิปไตย) และแบบสหพันธ์รัฐ (สามัคคีธรรม) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

๑) แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Monarchical State) คือรัฐที่ให้อำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองบ้านเมืองขึ้นอยู่กับกษัตริย์โดยตรง ตำแหน่งที่ลดหลั่นลงมาคือ ปุโรหิต เสนาบดี แต่ส่วนย่อยมีสภาการปกครองจากจุดย่อย คือ คาม นิคม ชนบท ระดับชนบทยังมีหัวหน้าทำนองเจ้าประเทศราชปกครองอีกด้วยแต่บางครั้ง อาจทรงมอบหมายอำนาจให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ หรือปุโรหิต ข้าราชบริพารไปปฏิบัติแทนได้ ประมุขของรัฐ เรียกว่า ราชา รัฐที่ปกครองในระบบนี้มีแคว้นมคธ โกศล อวันตี และวังสะ การสืบทอดอำนาจมักจะสืบทอดโดยสายเลือด เช่น จากพ่อไปสู่ลูก หรือหลาน

๒) แบบสหพันธรัฐ (Republic State) หรือสามัคคีธรรม (ประชาธิปไตย) คือรัฐที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองมิได้อยู่ที่ประมุขของรัฐแต่เพียงผู้เดียว มีการสับเปลี่ยนกันเป็นพระราชาของสาธารณรัฐ ตำแหน่งนี้มิได้เป็นตำแหน่งที่ได้โดยการสืบสายโลหิต สมาชิกของที่ประชุมคนอื่นๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวรรณะกษัตริย์ รัฐแบบนี้มีสภาหรือสังฆะ เป็นผู้กำหนดนโยบายและมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง สภาจะทำหน้าที่เลือกสมาชิกมาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเรียกว่า ราชา เช่น รัฐวัชชี รัฐมัลละ รัฐสักกะ เป็นต้น เป็นการรวมกันของหลาย ๆ รัฐแล้วเลือกผู้นำเข้ามา บริหารจัดการ ซึ่งเทียบเท่ากับระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน กล่าวคือการปกครอง การกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย การตัดสิน ปัญหาต่างๆผู้ปกครองจะกระทำโดยมีการปรึกษาหารือกันก่อนมีการถือเสียงส่วนมากในการตัดสิน

ทั้ง ๒ รูปแบบนั้น ต่างก็อยากขยายเมือง หรืออำนาจให้แคว้นอื่นๆยำเกรง โดยรัฐที่มีแสนยานุภาพมาก จะยกทัพไปตีแคว้นอื่นๆ ถ้าชนะมีอำนาจเหนือรัฐอื่น ๆ ผู้ปกครองจะใช้คำว่า มหาราชา หรือพระเจ้าจักรพรรดิ เช่นปลายสมัยพุทธกาล แคว้นมคธสามารถตีเมืองอังวะและวัชชีไว้ในอำนาจได้

รูปแบบทางการเมืองการปกครองในสมัยพุทธกาลนั้นไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเมือง หรือนครรัฐนั้น ๆ เช่น บ้านขาณุมัต ซึ่งปกครองในรูปแบบพิเศษที่พระราชามอบให้เป็นรางวัล หรือพรหมไทย หรือในกรณีที่พวกพราหมณ์ปกครองเมือง เช่น กรุงเวฏฐทีปกะ ซึ่งปรากฏตอนที่ยกทัพเพื่อมาชิงพระบรมสารีริกธาตุ เป็น ๑ ใน ๘ เมืองที่ได้รับการแบ่งปันซึ่งปกติจะเป็นหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ในการปกครองสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีความเหลื่อมล้ำสูงต่ำต่างกัน ลักษณะทางการเมืองการปกครองจึงขาดเอกภาพมีการแบ่งรัฐใหญ่ รัฐเล็กกระจัดกระจายกันออกไป รัฐเหล่านี้ปกครองโดยราชา ซึ่งได้อำนาจมาโดยการสืบตระกูลบ้าง โดยการอาศัยการคัดเลือกจากนักรบบ้าง

แม้ว่าในสมัยพุทธกาลจะมีถึง ๒๑ แคว้น (รัฐ) โดยแบ่งรัฐมหาอำนาจออกเป็น ๔ รัฐ รัฐขนาดกลาง ๑๒ รัฐ และรัฐขนาดเล็กอีก ๕ รัฐ ตลอดพุทธกิจ ๔๕ พรรษาพระองค์ก็มิได้ทรงสนับสนุน หรือทรงตรัสแสดงแนวคิดถึงระบบการเมืองการปกครองในแง่มุมต่างๆอย่างชัดเจนโดยตรง อาจจะเป็นเพราะว่าท่านรู้ถึงความเป็นไปของวัฏสงสารอย่างแจ่มแจ้ง เดี๋ยวเมืองนั้นเจริญ เดี๋ยวเมืองนั้นเสื่อมไปตามกรรมของประชาชนและผู้นำ เช่น บ้านเมืองที่เจริญก็ย่อมหลงระเริงในความสุข ความอิ่มหนำสำราญ ไม่ช้าก็ก่อกรรมชั่ว เบียดเบียนกัน ดูถูกกัน ข่มเหงกัน และในที่สุดก็ต้องแตกแยกรบราฆ่าฟันกัน จนในที่สุดเมืองนั้นก็ล่มสลายลง แม้ในดินแดนประเทศไทย ก็มีอาณาจักรเก่าๆที่เคยเจริญรุ่งเรือง บัดนี้ก็เสื่อมสลายลงไปหมดแล้ว เช่น อาณาจักรหริภุญชัย อาณาจักรเชียงแสน อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรโคตรบูร อาณาจักรละโว้ อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรทวาราวดี อาณาจักรที่เป็นตั้งเมืองพิมาย นครวัด ปัจจุบันเหลือแต่ซากกำแพงเมือง โบราณวัตถูที่เคยแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองมาแล้ว

กล่าวโดยสรุป พระพุทธศาสนาจึงเน้นการนำธรรมะ มาใช้ส่งเสริมระบอบการปกครองต่างๆ เช่น สาราณียธรรม 6 อปริหานิยธรรม 7 สัปปุริสธรรม 7 ราชสังคหวัตถุ 4 ทศพิธราชธรรม 10 จักรวรรดิวัตร 12 เพื่อใช้เป็นหลักของความดี ความถูกต้อง ความเสมอภาค ใช้เป็นหลักในการปกครอง เพื่อให้สังคมส่วนรวมมีความเป็นปกติสุข ไม่มีการแบ่งพรรค แบ่งพวก หรือชนชั้นวรรณะ สี ผิว ชาติ ตระกูล มีความสมานฉันท์ และคุ้มครองสิทธิของบุคคลทั่วไปให้ได้รับความเป็นธรรม ความเสมอภาคทางสังคมเท่าเทียมกัน หลักการปกครองตามแนวพระพุทธศาสนาจึงยึดหลักการปกครองสายกลาง อหิงสา ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ยึดหลักความถูกต้องเป็นหลัก คือ เป็นหลักธรรมาธิปไตยนั่นเอง

สังคมที่ดีนั้น จึงต้องมีกติกา และคนในสังคมต้องรักษากติกานั้น มีความเสมอภาคคือเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมายได้รับความยุติธรรมจากกฎหมายเสมอหน้ากัน เพราะฉะนั้นความมีศีลและรักษาระเบียบวินัยเสมอกันจึงถือเป็นหลักสำคัญ ตัวอย่าง เช่น หลักทิฐิสามัญญตา คือ มีทิฐิ หรือทิฎฐิ มีความเห็น มีความเชื่อมั่น ยึดถือในหลักการ อุดมการณ์และอุดมคติที่ร่วมกันหรือสอดคล้องไปกันได้ คนในสังคมแบบนี้อย่างน้อยต้องมีความเห็นความเข้าใจและความเชื่อมั่นในหลักการ “คนสามารถมีศักยภาพเท่ากัน” ร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น