วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สิ่งที่พบเห็น และรับรู้ : โรงเรียนคุณธรรม ๑

เมื่อปีการศึกษา  ๒๕๕๖  ผมได้รับเกียรติจากสำนักงานศึกษาธิการภาค ๓  ซึ่งรับผิดชอบติดตามดูแลการจัดการศึกษาของหน่วยงานการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ   มีจังหวัดลพบุรี  สิงห์บุรี  อ่างทอง  ชัยนาท  ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการติดตามประเมินผลการดำเนินงานสถานศึกษาตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรมพื้นฐาน  ของกระทรวงศึกษาธิการ  

โครงการนี้  กระทรวงศึกษาธิการ  มีจุดประสงค์ตั้งใจให้สถานศึกษาตระหนักถึงคุณค่าในการสร้าง  ส่งเสริม  พัฒนา ปลูกฝังคุณธรรมในสถานศึกษา  เพื่อไปปลูกฝัง หรือกระตุ้นนักเรียน / นักศึกษามีจิตสำนึกที่ดี   เกิดแนวคิด  แนวทางการประพฤติตนตามคุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการ   ได้แก่  ขยัน  ประหยัด  ซื่อสัตย์  มีวินัย  สุภาพ  สะอาด  สามัคคี  มีน้ำใจ

ในการประเมินครั้งแรก  ทางสำนักงานศึกษาธิการภาค ๓ ได้ให้ศึกษาเอกสาร  วีดิทัศน์ที่แสดงถึงวิธีการ  กิจกรรม หรือกระบวนการพัฒนาส่งเสริมคุณธรรมของสถานศึกษาต่างๆ  ที่คิดว่าตัวเองประสบผลสำเร็จแล้ว  จำนวน ๓๓ โรงเรียน  

แต่...จากการศึกษาเอกสาร  ชมวีดิทัศน์  พบว่า  สถานศึกษา “เข้าใจผิด” และ “หลงทาง” หลายประเด็น  ดังนี้
    ๑.    ไม่เข้าใจว่า คุณธรรม คือ อะไร  หรือไม่รู้จะดูจากตรงไหนถึงจะรู้ว่าเป็นคุณธรรม  
    ๒.    บางท่านไปนำเอา “จริยธรรม” มาเป็น  “คุณธรรม”
    ๓.    ทำกิจกรรม “เฉพาะกิจ”  ขึ้นมารองรับการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม
    ๔.    ทำกิจกรรม  เพื่อให้แต่นักเรียนทำ  แต่ครูไม่ต้องทำ  หรือไม่ต้อง “เป็น”
    ๕.    มุ่งแต่ทำกิจกรรม  แต่ไม่มีระบบกระบวนการที่จะพัฒนานักเรียนให้มีคุณธรรม จากหลักการ     แนวคิด หรือทฤษฏีใดๆ

“ถ้าเริ่มต้นผิด   เข้าใจไม่ตรง    สิ่งที่ได้จึงไม่เกิดผลตามที่ต้องการ”

        ในการประเมินรอบต่อมา    เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาศึกษาดูว่าได้ผล(คุณธรรม) ตามที่โรงเรียนได้ทำกิจกรรมส่งเสริมหรือพัฒนาหรือไม่    ซึ่งคณะกรรมการได้ไปเยี่ยมเยือนสถานศึกษาต่างๆ   โดยไม่ได้นัดหมาย หรือแจ้งให้ทราบล่วงหน้า  เพื่อเห็นสภาพจริง   จะเรียกว่าเป็นการ “ประเมินตามสภาพจริง” ก็ย่อมได้     ทั้งเยี่ยมชม  และให้ครู ผู้บริหาร และนักเรียนตอบแบบสอบถามด้วย

        ผลปรากฏว่า   สถานศึกษาหลายแห่งเป็นไปตามที่ผม  และคณะกรรมการตั้งข้อสังเกตไว้   โดยสถานศึกษาหลายแห่งผมและคณะกรรมการเข้าไปก่อนเคารพธงชาติ    ระหว่างพักรับประทานอาหารกลางวัน   บางครั้งเข้าไปขณะสถานศึกษากำลังเลิก     ทำให้ประจักษ์ชัดว่า  สถานศึกษาหลงทางไปทำ “กิจกรรม” มากกว่าที่ตั้งใจ “พัฒนา(ปลูกฝัง)” คุณธรรมจริยธรรมจริงๆ   

        การไปเยี่ยมเยือนโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า  หรือนัดหมายก่อน  ทำให้เห็นของจริงว่าสถานศึกษาและตัวบุคลากร นักเรียนเป็นอย่างไร  ทั้งสภาพแวดล้อม   อาคารสถานที่   บุคลิก   พฤติกรรม  ส่วนมากจะไม่ค่อยสะอาดเรียบร้อย   วุ่นวาย  มีที่ประทับใจอยู่  ๓  โรงเรียน  คือ โรงเรียนเมืองละโว้  โรงเรียนบรรจงรัตน์  และโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย  ที่ดีเยี่ยมทั้งหมด   สภาพแวดล้อมก็สะอาด  ข้าวของในห้องจัดเรียบร้อย   โดยเฉพาะโต๊ะทำงานครู  ห้องพักครูสะอาดเรียบร้อยมาก   นักเรียนมีอัธยาศัย  มีน้ำใจช่วยเหลือกัน  ครูก็มีกิริยามารยาทเรียบร้อย  สมเป็นครู   เรียกว่าเขาดีจริงๆตามที่เป็นอยู่   ไม่มีการจัดฉากให้ใครดู    
ซึ่งตรงนี้ผมและคณะกรรมการ ถือว่า   “ถ้าบุคลากรครูยังไม่ดีจริง  ยังไม่เป็นตัวอย่าง (ต้นแบบ)  แล้วจะให้นักเรียนมีพฤติกรรมหรือจิตใจที่มีคุณธรรมได้อย่างไร”

        โรงเรียนที่จัดการศึกษาในระดับประถมศึกษา  ยิ่งเป็นแถบชนบท  มักจะได้เปรียบสถานศึกษาทั่วไปอย่างหนึ่ง คือ  ตัวนักเรียนจะเด่นเรื่อง   ความซื่อสัตย์   ความสามัคคี    และความมีน้ำใจ   โดยเฉพาะคุณธรรมสุดท้าย “ความมีน้ำใจ” จะเด่นมาก     ซึ่งถ้าดูไปแล้ว  น่าจะมาจากอิทธิพลของสังคมไทย  มากกว่า “ฝีมือ” พัฒนาของสถานศึกษา    แต่มีอยู่แห่งหนึ่งที่สามารถสร้างคุณธรรมชั้นสูง (ความกตัญญูกตเวที)  ได้ดีมาก   จะเล่าให้อ่านในครั้งต่อไป

        และเมื่อกลับมาตรวจสอบการตอบแบบสอบถามของนักเรียน และบุคลากรครูของสถานศึกษาต่างๆ  ทำให้ได้ผลยืนยันชัดเจนว่า    สถานศึกษาส่วนมากยังไม่สามารถ  “สร้างระบบ” เพื่อให้มีกระบวนการทำงานที่มีคุณภาพ  จนทำให้นักเรียนเกิดความตระหนัก   เห็นคุณค่า  และมีพฤติกรรมที่ออกมาจากจิตใจ”   อย่างแท้จริง
       
        ช่วงนี้ขอสรุปก่อนว่า 
๑.    คุณธรรม  ดูพฤติกรรมที่ออกมาจากจิตใจ,  จริยธรรมดูที่พฤติกรรมตรงๆ
(คุณธรรม”  หมายถึง  สภาพจิตใจที่มี จิตสำนึกที่ดี”  หรือ จิตใจที่ดีงาม”  หรือ จิตใจที่มี หลักยึดในความดี ความงาม ความถูกต้อง   หรือ จิตใจที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบ  รู้จักผิดชอบชั่วดี  เกรงกลัวต่อการกระทำความชั่ว  ซึ่งแสดงออกมาทางกาย   วาจา   และความประพฤติ หรือการปฏิบัติที่ทำเป็นประจำ  ต่อเนื่อง  ที่กลายหรือติดเป็น นิสัยของแต่ละบุคคล  เมื่อจิตเกิดคุณธรรมขึ้นแล้ว จะทำให้เป็นผู้มีจิตใจดี และคิดแต่สิ่งที่ดี   จึงได้ชื่อว่า  เป็นผู้มีคุณธรรม)

๒.    คุณธรรมจะเห็นได้ชัดจากความเคยชิน  หรือแสดงออกมาโดยทันทีเมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ

๓.    คุณธรรมสร้างได้โดย  
๓.๑  บุคลากร /ครู ทุกคนต้อง “ทำเป็นตัวอย่าง  ต้นแบบ” ในทางที่ดีงาม  หรือในสิ่งที่ตนเองจะปลูกฝังให้กับนักเรียน
๓.๒  มีการจัดกิจกรรมที่ดีที่ให้นักเรียนทำเป็น“กิจวัตร” อย่างจริงจัง ต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย ๓ ปีขึ้นไป โดยมีระบบและกระบวนการทำที่ดี   
๓.๓  มีกิจกรรมที่ให้นักเรียนต้องทำด้วยตนเอง และ/หรือได้ร่วมทำกับผู้อื่นหรือได้มาด้วย “ความยากลำบาก  หรือต้องต่อสู้ฝ่าฟัน”จนกว่าประสบความสำเร็จ  หรือ
๓.๔  ปลูกฝังให้นักเรียนมี ความเชื่อ หรือ ความศรัทธา เช่น กฎแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิด  บาปบุญคุณโทษ พระเจ้า เป็นต้น หรือ  เชื่อมั่นศรัทธาต่ออุดมการณ์เป้าหมายที่สูงส่งของชาติ / สังคม เป็นต้น  หรือ
๓.๕  ทำให้ “ตระหนัก” ในคุณค่าของชีวิต   หรือทำให้ “เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง” ต่อความเป็นจริงของชีวิต  เช่น  ขันธ์ ๕   กฎไตรลักษณ์   โลกธรรม ๘   อริยสัจ ๔   มรรค ๘  ปฏิจจสมุปบาท ๑๒   เป็นต้น

        สถานศึกษาส่วนมากข้อ ๓.๑  ก็ไม่ผ่านแล้วครับ,   ข้อ ๓.๒ มีอยู่  ๗  แห่งที่ทำได้ถึง, ข้อ ๓.๓ ที่เด่นชัดมี ๔ แห่ง,  ข้อ ๓.๔  ยังสรุปไม่ได้ชัดว่า  เป็นฝีมือของสถานศึกษา  หรือสังคม  หรือครอบครัว  หรือพระ  หรือสื่อสารมวลชนกันแน่   แม้ในสถานศึกษาจะมีกิจกรรมตามแนวทางศาสนา   แต่จากการตอบแบบสอบถามของนักเรียนมีน้อยคนมากที่จะเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม หรือนรกสวรรค์ เป็นต้น    ส่วนข้อ ๓.๕  ยังไม่สถานศึกษาใดทำถึงครับ 

คราวหน้าจะมาเล่าสถานศึกษาแต่ละแห่งที่ไปพบมา  เพื่อเป็นตัวอย่างของการพัฒนาส่งเสริมจริยธรรมคุณธรรมแก่ผู้สนใจได้บ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น