วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557

นับถือพระรัตนตรัยอย่างไร จึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง

หลายปีมาแล้ว ผมเพิ่งเข้าใจว่า
“พระรัตนตรัย” ที่แท้จริง คืออะไร
“การนับถือพระรัตนตรัย” ที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร
สมัยก่อน มีคำกล่าวว่า....
“...กราบพระพุทธ อย่าติดปูนปั้น กราบพระธรรมอย่าติดคัมภีร์ กราบพระสงฆ์อย่าติดลูกชาวบ้านคนห่มเหลือง…”
“...พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า คัมภีร์บังพระธรรม และลูกชาวบ้านบังพระสงฆ์...”
ตั้งแต่จำความได้ ก่อนพระจะทำพิธีกรรมใดๆ
พระท่านจะให้ไตรสรณาคมน์ รับศีลเสมอ
ผมก็ว่าตามพระ บางทีก็ทำปากขมุบขมิบตามพระไปอย่างนั้น
ต่อมาได้เข้าไปบวชเรียน เป็นผู้ให้ไตรสรณาคมน์ และศีล
ก็ว่าตามแบบแผนไป ไม่รู้เรื่องอะไรมากกว่ารูปแบบพิธีกรรม
แต่...ก็สังเกตว่าชาวบ้านว่าตามพระไปอย่างนั้นแหละ พอสักแต่ว่า “ได้ทำ”
หลังจากพอรู้เรื่องราวทางศาสนาพุทธมากขึ้น
วันหนึ่งเกิดเอะใจ สงสัยขึ้นมาว่า ปกติพระพุทธองค์ทรงสอนให้พวกเรา
“รู้จักพึ่งตนเอง” (อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ) นี่นา
แล้วทำไมพระพุทธองค์ จะทรงสอนให้พวกเรานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดถือ เป็นที่ระลึกอีกล่ะ
ท่านเน้นว่าไม่มีที่พึ่ง ที่ยึดถือใดประเสริฐกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อีกแล้ว
พูดง่ายๆ คือให้เอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวชีวิตนั่นแหละ
แสดงว่าท่านใช้ “ศรัทธา” นำหน้าเหมือนศาสนาอื่นอยู่ดีละมั้ง
คำสอนท่านไม่ขัดแย้งกันหรือ สงสัยมานานก็ยังไม่ได้คำตอบที่พอใจ สนิทใจสักเท่าใด
หลังจากละเรื่องเรียน มาฝึกหัดพัฒนาจิตหลายปี
จนวันหนึ่งนึกขึ้นได้ว่า เรามัวแต่ไปคิดว่า
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็น “สิ่ง” หรือ “บุคคล” (ปุคคลาธิษฐาน)
ทำไมเราไม่คิดว่า เป็น “ภาวะ” หรือ “สภาวะ” ของจิตบ้าง (ธรรมาธิษฐาน)
พอนึกขึ้นได้ จึงนำเทียบเคียงทั้งความหมาย และรากศัพท์
ก็พลอยหายสงสัย ที่นึกว่าขัดแย้งก็ไม่ขัดแย้ง แถมลงรอยอย่างสนิทกัน
และต่อมานึกขึ้นได้ว่า ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ 14 พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า “ มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมยึดเอาภูเขา ป่าไม้ อารามและรุกขเจดีย์ ว่าเป็นสรณะ สรณะนั่นไม่เกษม สรณะนั่นไม่อุดม เพราะบุคคลอาศัยสรณะนั้นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ส่วน...บุคคลใดยึดเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ คือ การเห็นอริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์(สมุทัย) ความดับทุกข์ (นิโรธ)และมรรคมีองค์แปดอันประเสริฐ ซึ่งยังสัตว์ให้ถึงความพ้นทุกข์ ด้วยปัญญาอันถูกต้อง สรณะนั่นแลเกษม สรณะนั่นอุดม เพราะบุคคลอาศัยสรณะนั้นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”
จึงเข้าใจแจ่มแจ้งว่า การนับถือพระรัตนตรัย ก็คือ การพัฒนาตนเองให้มี “สติ” และ “ปัญญา” สามารถเข้าใจและยอมรับความจริงของสัจธรรมชีวิต เช่น โลกธรรม 8 ไตรลักษณ์ 3 อริยสัจ 4 จนปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดอีก
ผมจึงขอจำแนกการนับถือพระรัตนตรัยสำหรับชาวบ้าน ตามทัศนะของผม ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 การนับถือพระรัตนตรัย ในฐานะและเชื่อว่า พระพุทธ คือ พระพุทธองค์ พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ คือ สาวกผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ระดับที่ 2 การนับถือพระรัตนตรัย ในฐานะและเชื่อว่า เป็นการระลึกถึงคุณค่าของพระรัตนตรัย อาทิ กราบพระพุทธ หมายถึง การกราบคุณค่าของพระพุทธองค์ 9 ประการ โดยย่อ 3 ประการ, กราบพระธรรม หมายถึง คุณค่าของพระธรรม 6 ประการ, กราบพระสงฆ์ หมายถึง กราบคุณค่าของพระสงฆ์ 10 ประการ
ระดับที่ 3 การนับถือพระรัตนตรัย ในฐานะและเชื่อว่า ถ้าฝึกจิตให้รู้ ให้ตื่น ให้เบิกบาน (มีสติ) ในอริยสัจ 4 ก็คือ การมีพระพุทธ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก, ถ้าฝึกให้รู้จัก ให้เห็นความจริงต่างๆ ของทุกสรรพสิ่ง และอริยสัจ 4 ก็คือ การมีพระธรรม เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก, และการฝึกให้ "ใจ" มี “ปัญญา” ยอมรับตามธรรมะนั้น และปฏิบัติตนตามธรรมะ(ความจริง)นั้นๆ ตามอริยสัจ 4 ก็คือ การมีพระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก
ก็หวังว่า พุทธศาสนิกชนชาวไทย จะนับถือพระรัตนตรัยในระดับที่ 3 มากขึ้นนะครับ
...ขอแถมครับ...
พุทธะ แปลว่า รู้ ตื่น เบิกบาน ........ยสฺมา วา จตฺตาริ สจฺจานิ อตฺตนาปิ พุชฺฌิ อญฺเญปิ สตฺเต โพเธสิ ตสฺมา เอวมาทีหิปิ การเณหิ พุทฺโธ (วิสุทธิมัคค ๑/๒๑๘) แปลว่า ........หรือว่าเพราะเหตุที่พระองค์ตรัสรู้อริยสัจสี่ แม้ด้วยพระองค์เองแล้ว ก็ทรงโปรดสัตว์เหล่าอื่นให้ตรัสรู้ (ตาม) ได้ เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า พุทธะ แม้เพราะเหตุอย่างที่กล่าวมาแล้วเป็นต้นนี้.. (พุทฺธ เป็น ธาตุ เป็นรากศัพท์ แปลว่า รู้, พุทฺธ : (วิ.) ผู้รู้, ผู้ตรัสรู้. มาจาก พุธฺ โพธเน, โต. แปลง ต เป็น ทฺธ ลบที่สุดธาตุ)
ธัมมะ มาจากรากศัพท์ว่า ธรฺ หรือ ธา แปลว่า ทรงไว้ สภาพที่...ทรง...ไว้ (ยก, พยุง, สนับสนุน, เกื้อหนุน) หมายถึง สภาวะความจริงของสิ่งต่างๆ
สงฆ์ หมายถึง ผู้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล 4 จำพวก มีวิเคราะห์ตามพระบาลีว่า “สํโยชนํ ฆาเตตีติ สงฺโฆ (ปุคฺคโล). บุคคลใด ย่อมฆ่าซึ่งสังโยชน์ เหตุนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่า สงฆ์ (ผู้ฆ่าซึ่งสังโยชน์)”
(สงฆ์ มาจาก สังโยชน เป็นบทหน้า (ลดรูปเหลือเพียง สัง) .. ผสมกับ หน แปลว่า ฆ่า (หน ศัพท์นี้แปลงเป็น ฆาต หรือ ฆ ได้ตามหลักไวยากรณ์) ลง อ ปัจจัย (สังโยชน - สงฺ + หน - ฆ + อ = สงฆ์) ฉะนั้น สงฆ์ ตามนัยนี้จึงแปลว่า ผู้ฆ่าซึ่งสังโยชน์ ..(สังโยชน์ เป็นชื่อของกิเลส ซึ่งอาจแปลได้ว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดหรือประกอบสัตว์ไว้ในภพเพื่อมิให้หลุดพ้น)
อีกนัยหนึ่ง แปลว่า หมู่ คณะ พวก กลุ่ม ตามพระวินัยกำหนดภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปว่า สงฆ์ คำว่าภิกษุสงฆ์ เป็นคำสมาส แปลว่า หมู่แห่งภิกษุ มีอรรถวิเคราะห์ว่า ภิกฺขูนํ สงฺโฆ ภิกฺขุสงฺโฆ อันว่าหมู่แห่งภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า ภิกษุสงฆ์ (หมู่แห่งภิกษุ) / สงฆ์ ในนัย "ภิกขุสงฆ์" จึงแปลว่า หมู่ คณะ กลุ่ม หรือพวก เป็นต้นเท่านั้น มิได้หมายถึงภิกษุโดยเฉพาะ.. เพราะมีคำว่า ภิกษุ ยืนยันอยู่ด้านหน้าแล้ว
คำว่า พระ มาจากบาลีว่า วฺร แปลว่า ประเสริฐ (คำสันสกฤต).ถ้าจะกล่าวเป็นคำไทยแท้ก็น่าจะหมายถึง เลิศ, ดี, เยี่ยม, ควรแก่การยกย่อง, ควรแก่การเชิดชู, ประมาณนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น