วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สามก๊ก นิทานเวรกรรมข้ามภพชาติ (ฉบับย่อ)

สามก๊ก นิทานเวรกรรมข้ามภพชาติ (ฉบับย่อ)

ในหนังสือสามก๊กฉบับแรก เช่น ฉบับจี่เพงอ่วย(ซานกว๋อจื้อผิงหั้ว), ฉบับอิ๋น (三國因, Sānguó Yīn) จะมีบทนำเรื่อง หรือเปิดเรื่องราวของสามก๊กว่าเป็นเรื่องเวรกรรมของบุคคลในสมัยฮั่นที่จองเวรกรรมกันมา แต่เมื่อล่อกวนตงนำสามก๊กมาเขียนเป็นนิยายสามก๊กขึ้น เรียกว่าฉบับจี่ทงซกเอี้ยนหงี (ซานกว๋อจื้อทงสู่เหยียนอี้) ได้ตัดบทนำเรื่องตรงตัดสินคดีอันนี้ออก ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน (คงคิดว่าเป็นเรื่องไม่จริง : ผู้เรียบเรียง)

บทนำเรื่องเป็นเรื่องราวของบัณฑิตสุมาเหมาถูกยมทูตเชิญตัวไปตัดสินคดีพิพาทบาดหมางของบุคคลในสมัยแผ่นดินไซ่ฮั่น ได้แก่ ฮั่นสิน หยินโป้ แพอวด ที่ตายไปแล้วเป็นผีมาร้องทุกข์ต่อยมบาล มีกวยถองเป็นพยาน กล่าวโจทก์ร้องต่อพระเจ้าฮั่นโกโจว่าชั่วร้าย หักหลัง ประหารชีวิตพวกตน โดยที่ไม่มีความผิด ทั้งๆที่พวกตนอุตส่าห์ช่วยตั้งสถาปนาแผ่นดินให้ ฝ่ายพระเจ้าฮั่นโกโจก็ซัดทอดว่าเป็นเพราะนางลิเฮายุยงใส่ร้าย ตัวเองหูเบาเชื่อไปโดยไม่ทันคิดให้รอบคอบ ซึ่งยมบาลไม่สามารถตัดสินให้ยุติธรรมและถูกใจทุกฝ่ายได้ จนเวลาล่วงเลยมา 200 กว่าปี

สุมาเหมาได้ฟังรายละเอียดของทุกฝ่ายแล้ว และฝ่ายพระเจ้าฮั่นโกโจ นางลิเฮา จนมุมด้วยหลักฐาน สุมาเหมาจึงตัดสินว่าผิดจริง จึงให้ทุกฝ่ายไปชดใช้และแก้ไขสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาดไป โดยให้มาเกิดใหม่ เพื่อชดใช้กรรมที่ตนเองก่อไว้

โดย 
 1. “พระเจ้าฮั่นโกโจ (เล่าปัง)” นั้นให้ไปจุติในครรภ์นางสนมหวังเหม่ยหยิน และต่อมาได้เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ พระเจ้าแผ่นดินตังฮั่นพระองค์สุดท้าย 
 2.“นางลิเฮา”นั้น ให้ไปเป็นนางฮกเฮาพระมเหสีพระเจ้าเหี้ยนเต้

ฝ่ายโจทก์อันมีฮั่นสิน หยินโป้ แพอวดนั้น ให้ไปเกิดเป็นคนที่สามารถข่มเหงพระเจ้าเหี้ยนเต้ พระมหากษัตริย์แผ่นดินฮั่นให้ได้ความทุกข์ ความคับแค้นใจ และได้รับทรมานจนตลอดชีวิต โดย 
3. “ฮั่นสิน” นั้นให้ไปเป็นโจโฉมหาอุปราชเป็นใหญ่ในแผ่นดินวุยก๊ก และให้สามารถข่มเหงพระเจ้าเหี้ยนเต้ และเข่นฆ่านางฮกเฮาเสียให้สมแค้น ให้ 
4. “หยินโป้” ไปเกิดเป็น พระเจ้าซุนกวน เป็นใหญ่ในเมืองต๋องง่อ,
5. “แพอวด” ให้ไปเกิดเป็น พระเจ้าเล่าปี่ เป็นพระมหากษัตริย์เมืองเสฉวน 

6. “กวยถอง” ไปเกิดเป็นขงเบ้ง (ฉบับสมัยราชวงศ์ชิง ไปเกิดเป็นซีซี, ให้ “ฟัมแจ้ง” กุนซือพระเจ้าฌ้อปาอ๋อง นั้นเกิดเป็นขงเบ้งแทน) 

ทั้งโจโฉ ซุนกวน เล่าปี่นี้จะเป็นตัวการร่วมกันกระทำการให้แผ่นดินฮั่นเกิดเป็นจลาจล และราชวงศ์ฮั่นของพระเจ้าฮั่นโกโจก็จะสิ้นสูญไปสมดังความผิด

ฝ่ายเง็กเซียนฮ่องเต้ทราบข่าวว่าสุมาเหมาสามารถตัดสินคดีได้เป็นที่ เป็นยุติธรรม และพึงพอใจของทุกฝ่าย จึงดีใจมาก และเพื่อตอบแทน 
7. "สุมาเหมา"ผู้ตัดสินความนั้น ให้ไปเกิดเป็น "สุมาอี้" ขุนนางผู้ใหญ่เมืองฮูโต๋ ซึ่งต่อไปจะเป็นผู้สร้างรากฐานให้แผ่นดินที่แตกแยกเป็นสามก๊ก รวมประเทศจีนเข้าเป็นหนึ่งอีกครั้ง

ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง เฝิงเมิ่งได้เพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยว กับบุคคลผู้มาชดใช้กรรม และเสวยกรรม อีก 3 คน ได้แก่ 
8. “ฆ้อฮอก” มาเกิดเป็นบังทอง, 
9. “ห้วนโก้ย” มาเกิดเป็นเตียวหุย (ก็เข้าเค้าดีเพราะห้วนโก้ยหรือฟั่นข่วยนี่ก็ค่อนข้างวู่วามมุทะลุไม่ค่อยมีปัญญาเหมือนกัน) 
10. “ฌ้อปาอ๋อง” ซึ่งแม้จะเบาปัญญาและบุ่มบ่าม แต่ก็ซื่อตรงไม่เป็นคนเจ้าความคิด จึงได้เกิดเป็น "กวนอู"   แต่เนื่องจากเข่นฆ่าผู้คนไปมาก จึงต้องถูกตัดศีรษะตาย เป็นต้น

ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง มีการเพิ่มบุคคลอีก 5 คน ที่ต้องมาเกิดใช้กรรมในสามก๊ก ได้แก่ 
11. “กีสิน” ที่สละชีวิตให้พระเจ้าฮั่นโกโจทำศึกชนะพระเจ้าฌ้อปาอ๋องนั้น เพราะว่าน้ำใจจงรักภักดีต่อนาย สละชีวิตเอาโลหิตทาแผ่นดินไว้ให้ปรากฏ จึงให้ไปเกิดเป็น “จูล่ง” ขุนพลเอกเมืองเสฉวน ซึ่งแทบจะเป็นขุนพลคนเดียวในสามก๊กที่ได้นอนตายอย่างสงบที่บ้านด้วยความชราตามสังขาร ต่างจากขุนพลหลายคนที่ถูกประหารหรือตายในที่รบ, 
12. ให้ “ฟัมแจ้ง” กุนซือพระเจ้าฌ้อปาอ๋อง นั้นเกิดเป็น “ขงเบ้ง” (ถ้าดูจากความสอดคล้องก็เหมาะสมดีเหมือนกันเพราะฟัมแจ้งเองก็เป็นกุนซือที่เฉลียวฉลาด แต่เลือกนายไม่ดีและชะตาอาภัพ จึงไม่อาจทำการได้สำเร็จ ไม่ต่างอะไรกับขงเบ้งในชาตินี้, แต่ถ้าดูจากเวรกรรมที่ต้องชดใช้ ขงเบ้งควรมาจาก” กวยถอง” เพราะเป็นคนวางแผนสร้างกรรมหนัก ฆ่าคน และลอบวางเพลิง เผาผลาญชีวิตผู้คนไม่ใช่น้อย)

13."ลิปุดอุย(หลี่ปู้เหว่ย)"ให้ไปเกิดเป็นลิโป้ 
14."จิ๋นซีฮ่องเต้"เป็นตั๋งโต๊ะ 
15. นาง"จูกี๋(จ้าวจี)"เกิดเป็นเตียวเสี้ยน ซึ่งตรงนี้ก็สอดคล้องกับเวรกรรมข้ามชาติเหมือนกัน เพราะในยุคไซ่ฮั่นนั้น จิ๋นซีฮ่องเต้เข่นฆ่าลิปุดอุยซึ่งมีพระคุณ และเกือบจะให้เอานางจูกี๋มารดาไปตัดศีรษะ (ดีที่เหล่าขุนนางทัดทานไว้ นางจูกี๋จึงรอด แต่จิ๋นซีฮ่องเต้ก็ให้ไปกักบริเวณไว้ไม่ให้เข้านอกออกในสะดวกเหมือนแต่ก่อน) มาถึงยุคสามก๊ก ตั๋งโต๊ะจึงถูกลิโป้เนรคุณและถูกเตียวเสี้ยนยุยงให้แตกคอกับลิโป้จนต้องถูกฆ่าในที่สุดด้วย

ส่วนคนอื่นๆ ที่มาเวรกรรมร่วมกันมาทั้งขุนนาง และประชาชนที่เข้าข้างแต่ละฝ่าย ก็กลับมาเกิดเป็นพวกเดียวกัน ได้ชดใช้ร่วมกัน

เวรกรรมเริ่มไซ่ฮั่น มาชดใช้และเรียนรู้ยุคสามก๊ก เพราะไซ่ฮั่นเป็นยุคการก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น ส่วนสามก๊กเป็นสงครามที่นำไปสู่การล่มสลายอย่างสิ้นเชิงของราชวงศ์ฮั่น จึงเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นว่า ใครทำเวรกรรมอะไรไว้ ก็ย่อมหนีไม่พ้น ต้องกลับมาชดใช้ในสิ่งที่ตนเองก่อไว้

เรื่องสามก๊กฉบับเวรกรรมนี้ จะไม่มีปรากฏในฉบับที่เจ้าพระยาพระคลัง(หน) แปลและเรียบเรียง เพราะท่านแปลจากต้นฉบับของล่อกวนตง แต่ในสามก๊กของจีนฉบับเก่าๆจะมีเรื่องนี้ทุกฉบับ

ที่ผมนำมาเขียนนี้ ถือว่าเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ ใครจะเชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ ทุกท่านสามารถค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากสามก๊กฉบับต่างๆ ทั้งที่เป็นภาษาจีน ภาษาอังกฤษก็ได้ หรือถามกูเกิลในอินเตอร์เน็ตก็ยังได้อีก

แต่สำหรับผม ผมเชื่อครับ และยิ่งมาเทียบเคียงกับเรื่องราวในเมืองไทยยุคนี้ แทบจะไม่ต่างกันแต่อย่างใด ใครเป็นใครเมื่อ 200 ปี กลับชาติมาเกิด ก็ลองสันนิษฐานดูครับ สนุกดี

แต่สำหรับพระเจ้ากรุงธนบุรี ท่านพ้นวัฏฏะการจองเวรกรรมชุดนี้ไปแล้ว เหลือแต่พวกขุนนางของท่าน และฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น