วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ความในใจที่ “เสียดาย และเสียใจ” ๓

ตั้งแต่ผมเป็นเด็ก  จนกระทั่งโตขึ้นมา  จนเป็นครูปีแรก  ผมก็เชื่ออย่างที่คนส่วนมากสอนให้เชื่อ   คือ “มุ่งเป็นคนดี”  พยายามเป็นลูกที่ดี  เป็นศิษย์ที่ดี  เป็นพี่ที่ดี  เป็นน้องที่ดี  เป็นสามเณรที่ดี  พระที่ดี และสุดท้ายเป็นครูดี   

แต่หลังจากที่ผมเป็นครูไปได้  ๑  ภาคเรียนการศึกษา  และจากแนวคิดอิทธิพลของหนังสือ “ชีวิต :เสรีภาพ : ปรัชญาการศึกษาแบบซัมเมอร์ฮิล”  ของ เอ เอส นีล  รวมทั้งแนวคิดที่ได้รับจากแนวจิตวิทยาการศึกษาของ สกินเนอร์    ทำให้ผมเปลี่ยนแนวความคิดการจัดการเรียนการสอนเป็นการสอนการเรียนตามธรรมชาติ  และศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียน    ส่วนการพัฒนานิสัยจิตใจเด็ก ผมไม่มุ่งให้นักเรียนเป็นคนดี  และผมก็ไม่เคยคิดจะเป็นครูดีอีก   นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน     

แต่...ผมมุ่งให้เด็ก  หรือคนที่ยอมให้ผมแนะนำ  ฝึกฝน  อบรมให้   เป็นคน “ที่รู้จักกาลเทศะบุคคล”  และผมจะพัฒนาทักษะคนเหล่านั้นให้เป็นไปตาม “เป้าหมาย” ที่เขาตัดสินใจเลือก   ไม่สอนหรือบังคับคนเหล่านั้นให้เป็นไปตามที่ผมคาดหวังอีก    แต่เมื่อนักเรียนตัดสินใจเลือกแล้ว  ผมจะเคี่ยวเข็ญเอาจริงทุกวัน  จนกว่าจะถึงวันสอบไล่ปลายภาคเรียนที่เป็นอันสิ้นสุดภารกิจที่ผมรับผิดชอบ   ผมถึงจะเลิกเคี่ยวเข็ญ  

และเมื่อสิ้นสุดภาคเรียน  หรือปีการศึกษา  ผมจะหาทางไปเที่ยวทั่วประเทศ  เพื่อตัดใจลืม  ไม่อาลัยอาวรณ์ว่านั่นก็ยังไม่ได้ทำ   นี่ก็ยังไม่ได้ทำ   ผมถือว่าผมทำเต็มที่อย่างจริงจัง   จะได้ผลเท่าไหร่ก็ช่าง     แต่สมัยเป็นนักศึกษา  และเป็นครูใหม่ๆ   ตอนนั้นคาดหวังไว้สูง  ประเภท  หวัง 100 %   ทำ ๑๐๐ %  อยากได้ 150  ทำนองนั้นและครับ   เป็นครูหลายปีจึงเข้าใจความจริง  และทำใจได้ในที่สุด  

และหลายปีต่อมา  ผมจึงนึกขึ้นได้ว่า  สิ่งที่ผมทำ   ก็คือ  สัปปุริสธรรม ๗  ของพระพุทธองค์  ที่ผมเรียนนวโกวาทมาสมัยเป็นเณรปีแรกนั่นเอง   (ใกล้ตัวกินด่างนะเรานี่)    เพราะสัปปุริสธรรม  ท่านแปลว่า  ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ  หรือ คุณสมบัติของคนดี, ธรรมของคนดี   มี ๗ ประการ คือ  ธัมมัญญุตา-รู้จักเหตุ,  อัตถัญญุตา – รู้จักผล, อัตตัญญุตา-  รู้จักตน, มัตตัญญุตา-รู้จักประมาณ, กาลัญญุตา-รู้จักกาล, ปริสัญญุตา-รู้จักชุมชนหรือประชุมชน, และปุคคลัญญุตา-รู้จักบุคคล   ถ้าทุกคนทำตามนี้ก็ชื่อว่า “เป็นคนดี” โดยอัตโนมัติ    ตอนหลังผมจะทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท  ผมก็เลยเลือกเรื่องนี้เป็นหัวข้อ  เพราะผมแทบจะเข้าใจ  สามารถโยงไปได้ทุกเรื่องในชีวิตจริง

เพราะถ้าทุกคนมีหลัก มีแนวคิดจุดยืน  มีเหตุผล  และรู้จักกาลเทศะบุคคล(จะเรียกสมานัตตาก็ได้)   ก็แทบจะไม่มีปัญหาในการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับคนในสังคมเป็นแน่   และถ้ายิ่งมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน  รวมทั้งพยายามพัฒนาคุณลักษณะตัวเองให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น   ชีวิตของผู้นั้นก็ย่อมเจริญรุ่งเรือง  ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน   (แต่จะยั่งยืนยาวแค่ไหน  ก็ขึ้นอยู่กับเวรกรรมเก่าที่จะมาตัดรอนหรือไม่) 

และเมื่อผมทดลองทำมา   ทั้งตัวผมและนักเรียนที่ถูกฝึกอย่างจริงจัง   ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี  มีชีวิตที่มั่นคงอย่างมีความสุขด้วยกันเกือบทุกคน 

แต่....การตั้งใจมุ่งมั่นเป็น "คนดี"   อยากเจอแต่คนดี     อยากให้ทุกคนเป็นคนดี    กลับทำให้ชีวิตมีแต่ความเครียด เก็บกด  อยู่แต่ในโลกความฝัน    ไม่ยอมรับความจริงที่อยู่ข้างหน้าว่า  "คน ก็คือ คน"  ที่สามารถทำผิดได้    พลาดได้    พลั้งได้    เผลอได้    แม้ว่าตั้งใจจะไม่ให้เกิดเลยก็ตาม 

ถามทุกคน หรือเพื่อนสนิทลับหลังว่าเป็นอย่างนั้นไหม   หรือถามตัวเองก็ได้ว่า  ในชีวิตเคยทำผิด  ทำพลาด  ในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ(ถ้าเปิดเผย) หรือเปล่า   อย่างพวกดารา  หรือคนมีชื่อเสียงส่วนมาก  เบื้องหลังสกปรกโสมมยิ่งกว่าชาวบ้านธรรมดาเสียอีก

เช่นเดียวกับสังคม  และประเทศชาติ   ถ้าสังคมใดทำให้คนในสังคมนั้นเลือกรูปแบบการปกครองที่เชื่อกันว่าเหมาะกับคนในสังคมนั้นด้วยความสมัครใจ   แล้วทำให้เข้าใจหลัก  แนวคิดจุดยืน  เหตุผล  และยอมรับกติกาที่ร่วมกันสร้างขึ้น  โดยไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย   ก็แทบกล่าวได้ว่าสังคมนั้นจะไม่มีปัญหาในการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับคนในสังคมเป็นแน่    

แต่ที่สังคมไทยมีปัญหาในตอนนี้    ก็เพราะเราเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาแล้วเกือบจะ ๒๐ ครั้งแล้ว  ยังไม่นิ่งสักที  และที่คิดกฎหมายขึ้นมา   ก็มีผู้ที่คิดว่าตนเองดีกว่า  เก่งกว่า  มากำหนดให้ทุกครั้งไป   โอกาสที่คนในสังคมจะช่วยกันร่างขึ้นมาแทบจะไม่มีเลย    นี่ก็คิดจะเปลี่ยนกติกาอันอีกแล้ว    ก็ถ้าตัวเองเก่งกว่า  ดีกว่าประชาชนทั่วไป   ทำไมไม่ทำให้เสียเสร็จสิ้นไปเล่า  พอไม่เป็นไปตามที่หวังไว้  ก็พาลพะโล  ยกเลิก  ฉีกทิ้ง  เขียนใหม่อยู่นั่นแหละ   ถ้าไม่อยากให้ชาวบ้านธรรมดามีโอกาสบริหารประเทศ    แน่จริงก็เขียนห้ามไปเลย   ให้เฉพาะพวกกูที่เป็นได้   แต่ก็ต้องปราบประชาชนให้อยู่ให้ได้นะ   จะฉีกทิ้ง  จะเขียนใหม่  ก็อ้างเรื่องคนดี  คนชั่ว  คนโกง   เห็นปฏิวัติทีไรก็อ้างอย่างนี้ทุกที   ทำแล้ว  ก็ไม่เห็นว่าจะดีขึ้นจริงๆ สักที   นี่ก็เพิ่งปฏิวัติ  เขียนกติกาใหม่มายังไม่ถึงสิบปี  จะเอาอีกแล้วหรือ     

ถามจริงๆ  ยังไม่ได้ “สติ” กันอีกหรือครับ,   ไอ้พวกใจ “อวิชชา” มืดบอด   บอดตัวเองไม่พอ ยังทำให้สังคมมืดบอดไปด้วย     

ตกลงสักทีได้ไหม   ว่าเมืองไทยจะเอาระบอบการปกครองแบบไหนกันแน่ ?   คนในสังคมจะได้ไม่วุ่นวาย   สร้างความเกลียดชังแก่กันและกัน

ที่จริงสังคมที่จะเลือกระบอบประชาธิปไตยมาใช้เป็นรูปในการปกครองจนมีประสิทธิภาพได้นั้น   คนในสังคมนั้นต้องมีคุณลักษณะกล้าหาญ   เชื่อมั่นตนเอง   พึ่งพาตนเอง  ชอบทำงาน  ไม่เชื่อเรื่องโชคชะตาสิ่งศักดิ์   และที่สำคัญที่สุด  คือ  ไม่ยอมให้ใครมาละเมิด สิทธิ เสรีภาพของตัวเอง   และตัวเองก็ไม่ไปละเมิดสิทธิ  เสรีภาพคนอื่นเช่นกัน   เป็นสุภาพชนที่รู้จักให้เกียรติผู้อื่น    และเกียรติตนเอง

จากคุณลักษณะของไทยที่ผ่านมา   จริงๆแล้วระบอบประชาธิปไตยก็ยังไม่เหมาะกับคนในสังคมไทยเท่าไหร่   เพราะคนไทยถูกสอนให้เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่กว่า   สอนให้อ่อนน้อมถ่อมตน  จึงกลายเป็นคนอดทน  หรือไม่ก็เก็บกดไปเลย   ดูเหมือนจะขี้เกรงใจ  แต่จริงๆไม่ใช่   คนไทยส่วนมากกลัวคนมีอำนาจ  แต่กลับชอบข่มเหงคนอ่อนแอ  ถ้ายิ่งเจอคนไม่สู้ยิ่งข่มเหงมากขึ้น  และเป็นประเภทดีต่อหน้า  แต่ลับหลัง บ่น โวยวาย ด่าสารพัด  ดีแต่พูดวิจารณ์  ทำไม่เป็น 

ที่จริงทั่วโลก  ทุกประเทศก็คล้ายกัน  คือ  มักมีพวกที่คิดว่าตัวเองกว่า  ดีกว่า   อยากเป็นคนชี้นำคนอื่น  สั่งคนอื่น  อยากมีอำนาจควบคุมคนอื่นให้ทำตามที่ตนเองคิดหรือเชื่อ   และเมื่อทำได้แล้วก็มักหลงตนเอง   บ้าอำนาจ  มัวเมาอำนาจ  คำสรรเสริญเยินยอ  บ้าสมบัติผลประโยชน์  อยากได้แต่เพียงผู้เดียว  ทุกคนต้องทำเพื่อฉัน แบละครอบครัวฉัน   ซึ่งนานๆเข้าก็มักกดขี่ข่มเหงมากขึ้น  และพวกลูกน้องผู้นำ  ก็มักผสมโรงรีดนาทาเร้น  เหยียดหยามประชาชนทั่วไปว่าเป็นพวกชั้นสอง   ใครทำมาหากินได้  ต้องมาแบ่งให้พวกตัวเอง

แต่เนื่องจากระบอบประชาธิปไตย  เป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด  ฆ่ากันตายน้อยที่สุด   เพราะเป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ดีที่สุด  เท่าที่คนคนนั้นเลือก  ชาวโลกทั่วไปจึงใฝ่ฝันอยากมีสังคมแบบนั้นบ้าง   แต่พวกผู้มีอำนาจอยู่ในขณะนั้นก็จะสกัดกั้นทุกวิถีทางไม่ให้คนในประเทศของกู  สังคมของฉัน  มีอิสรเสรี   มีบทบาท  มีอำนาจบ้าง

ผมจึง “เสียดาย  และเสียใจ” ที่บ้านเมืองไทยในขณะนี้  ก็กำลังมีสภาพเช่นนั้น   ถ้าชนชั้นนำ และพวกพ้องยังหวงอำนาจ  โลภอยากได้ผลประโยชน์    รับรองว่าวันหนึ่งสังคมไทย  ต้องลุกมาฆ่ากันเอง   เหมือนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่ถ้าผู้นำมีจิตใจรักประชาชนจริง  เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ว่าสามารถพัฒนาตนเองได้   เหมือนประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน  ที่ไม่ยอมสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์    ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงเป็นประเทศแรกที่ให้เสรีภาพแก่มนุษย์เลือกทางเดินของตัว


ผมฝันอยากเห็นสังคมไทย  มีผู้นำแบบท่านยอร์ช  วอชิงตันจัง,      แต่คงยากเพราะชนชั้นนำของสังคมไทยตอนนี้  เหมือนพวกซูสีไทเฮาเป๊ะเลย,    ที่ยิ่งกว่า  คือ สามารถควบคุมโฆษณาหลอกคนทั้งสังคมไทยว่าตัวเองและพวกตัวเองเป็นคนดี  มีคุณธรรมสูงส่ง   แต่ขอโทษเถอะ   แม้กระทั่งศีล 5 ยังรักษาไม่ได้เลย,    ชอบแนะให้คนไทยเจียมตัว  อย่าอยากรวย  อย่าใช้ของฟุ่มเฟือยเกินฐานะ   อย่าเป็นทุนนิยมสามานย์   แต่ชนชั้นนำกลับลงทุนทำธุรกิจทั้งในประเทศ และทั่วโลก  มีสมบัติมากมาย  สามารถไปสร้างสวนสนุกที่ประเทศต่างๆ ได้หลายแห่ง     ขนาดฝรั่งยังบอกว่ารวยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของผู้นำโลกเลย  ไม่น่าเชื่อจริงๆ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น