วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปรัชญา : ช่วยจัดการศึกษาอย่างไร ตอนที่ 1


เมื่อสมัยผมเป็นผู้สอนวิชาปรัชญา ปี พ.ศ.2537-2544  ผมได้เรียบเรียงเอกสารประกอบการเรียนวิชาทฤษฎีพื้นฐานการศึกษา  (366511  Theoretical Foundation of Education)  เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาวิชาปรัชญา จิตวิทยา และสังคมวิทยาเป็นแนวทางในการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ    ผมเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้สนใจบ้าง  จึงนำมาเผยแพร่ไว้ในที่นี้ 

                                                                                                        (ดร.ณัฐวิทย์   พรหมศร)

1. ความนำ
    ผู้ที่เริ่มศึกษาวิชาปรัชญาครั้งแรก ส่วนมากจะมึนงงจับต้นชนปลายไม่ถูกว่า เป็นวิชาอย่างไรกันแน่  เพราะดูเหมือนคนทั่วไปพูดถึงปรัชญาในแง่ต่าง ๆ เช่น ปรัชญาชีวิต  ปรัชญาการเมือง ปรัชญาการบริหาร ปรัชญาการศึกษาปรัชญาดูเป็นวิชาสูงส่ง  เพราะอะไร ๆ ถ้าไม่มีปรัชญาจะเป็นของธรรมดาสามัญ  ดูไม่ลึกซึ้ง ไม่มีคุณค่าแต่อย่างใด

    แต่เมื่อเริ่มศึกษาดูเหมือนว่าปรัชญาเป็นแต่เพียงการคิด การถกเถียง มีความคิดเห็นมากมายเหลือเกิน  และที่เถียงกันก็ไม่รู้ว่าจะได้คำตอบหรือไม่    เพราะไม่ว่าวิชาใดล้วนมีคำตอบที่แน่นอน    แต่วิชาปรัชญาไม่มีคำตอบที่แน่นอนสักที  และสิ่งที่ถกเถียงกันก็กว้างขวางหาข้อยุติยากมาก  แล้วปรัชญามีประโยชน์ตรงไหน


2.  เรียนปรัชญาคุ้มค่าไหม
     เราควรเรียนปรัชญาหรือไม่   วิชาปรัชญามีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพียงใด  อริสโตเติลกล่าวว่า   “...ไม่ว่าเราจะเรียนปรัชญาหรือไม่ ทุกคนก็คิดแบบปรัชญาอยู่แล้วทุกวัน…”  เพราะปรัชญาก็เริ่มจากความสงสัยแปลกใจว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัว คืออะไร เกิดได้อย่างไร มีเพื่ออะไร   แต่เมื่อมีคนบางคนพยายามหาคำตอบอย่างจริงจัง เริ่มคิดค้นอย่างเป็นระบบ หาเหตุผลมาเทียบเคียงพิสูจน์ เขาจะเป็นนักปรัชญาทันที

     คนยุคก่อนเริ่มเป็นนักปรัชญาด้วยความสงสัยแปลกใจ    แต่...คนสมัยใหม่เริ่มเป็นนักปรัชญา ด้วยความต้องการที่จะหาสิ่งที่ดีที่สุดทุกเรื่องราวให้กับมวลมนุษย์

     การเรียนปรัชญาจึงคุ้มค่าตรงที่ได้สนุกกับการใช้ความคิด รู้จักคิดให้ทะลุปรุโปร่งแจ่มแจ้ง คิดแบบตรรกวิทยา และเมื่อฟังความคิดเห็นของใคร  คำพูดของใคร ก็สามารถคิดและตรวจสอบความคิดเห็นนั้น ว่ามีพื้นฐานมาจากเรื่องใด และคิดในแง่มุมใด ครอบคลุมหรือมีใจความขัดแย้งกันเองหรือไม่ ถ้ายิ่งทำให้เป็นกิจวัตรนิสัยได้ก็จะเกิดคุณค่ากับชีวิตมหาศาล     ถ้าเป็นไปอย่างนี้ปรัชญาจะไม่ใช่วิชาน่าเบื่อหน่ายแต่อย่างใด    อาจจะกลับเป็นวิชาที่น่าสนใจที่สุดวิชาหนึ่งก็เป็นได้

     ความจริงวิชาปรัชญาไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง  หรือด้านใดด้านหนึ่งโดยตรง   แต่วิชาปรัชญาจะช่วยให้ผู้เรียนพยายามคิดหาคำตอบอย่างมีระบบที่เป็นไปได้เกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานในชีวิต อะไรถูกอะไรผิด  และโลก  ธรรมชาติ ว่าความเป็นจริงเป็นเช่นไรบ้าง  และควรจะเป็นเช่นไร

     โดยสรุปปรัชญาจึงมีหน้าที่
     1. ปรัชญาช่วยสร้างความเข้าใจ ความสัมพันธ์ประสบการณ์ทั้งหมดของคนกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จะเรียกว่าสร้างโลกทัศน์ที่ถูกต้องหรือวาดภาพรวมให้กับวิถีชีวิต (แผนที่ชีวิต)
     2. ปรัชญาช่วยตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางชีวิต หรือการกระทำที่มีคุณค่าต่อชีวิตได้
     3. ปรัชญาช่วยซักไซร้ไล่เลียงวิพากษ์วิจารณ์ความคิด หรือวิชาต่าง ๆ ให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น

      ดังนั้น ปรัชญาคุ้มค่าตรงที่ทำให้ผู้เรียนหรือมนุษย์ ได้รู้จักตรึกตรองเรื่องต่าง ๆ อย่างสุขุมรอบคอบ    และได้ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง   เพราะคนทุกวันนี้มีชีวิตที่ค่อนข้างจะสับสน    วุ่นวายกับเรื่องร้อยแปด   และการโฆษณาชวนเชื่อที่มีอิทธิพลอย่างมาก ทั้งวงการสื่อสารมวลชน ธุรกิจและการเมือง  จนไม่สามารถแยกแยะหรือพิจารณาหาความจริงได้ว่าถูกต้อง  แท้จริงเพียงใด 
                                                                                                                                                                              
3. คุณค่าปรัชญา
    มีคนจำนวนไม่น้อยไม่เชื่อถือปรัชญา   เชื่อแต่วิทยาศาสตร์หรือธุรกิจ ด้วยสงสัยว่า ปรัชญาจะมีอะไร   นอกจากจะมาแบ่งแยกความคิดออกมาอย่างละเอียดยิบ ล้วนแต่ไร้สาระและไม่มีประโยชน์ทางการปฏิบัติ   นอกนั้นก็เถียงกันแต่ความรู้เป็นของเป็นไปได้    เป็นไปไม่ได้   น่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไรเท่านั้น

     ที่คิดกันเช่นนี้ เพราะ
            1. เข้าใจผิดในเรื่องจุดหมายของชีวิต
            2. เข้าใจผิดในเรื่องจุดหมายของปรัชญา
            3. เข้าใจผิดในความหมาย  คำนิยามของปรัชญา

     วิทยาศาสตร์ได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนมากมาย   แม้พวกที่ไม่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์เลยก็ตาม   ดังนั้นการศึกษาในแง่วิทยาศาสตร์จึงได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางทั้งพวกที่ศึกษาและคนทั่วไป

        ส่วนปรัชญาจะมีคุณค่าแก่เฉพาะผู้ศึกษาหรือตั้งใจจริงเท่านั้น  เพราะคุณค่าของปรัชญาอยู่ที่ ความไม่แน่  เมื่อเราเริ่มคิดแบบนักปรัชญาแล้ว จะเห็นได้ว่าแม้ของสามัญธรรมดารอบตัวเราในชีวิตประจำวัน   ก็ยังมีปัญหาที่ไม่สามารถให้คำตอบอย่างสมบูรณ์ หรือแท้จริงแน่นอนได้

        การคิดแบบปรัชญาจะช่วยให้เราเห็นความคิดที่เป็นไปได้หลายทาง  ซึ่งทำให้สติปัญญาของผู้นั้นกว้างขวางออกไปอีกมาก และที่สำคัญที่มีคุณค่ามากที่สุด คือ ธรรมดาคนเราคิดแต่ประโยชน์ส่วนตัว ครอบครัวของตัวเอง จะสนใจสิ่งอื่นก็เมื่อมีอุปสรรคหรือได้รับการบีบคั้นจากคนอื่น ๆ เท่านั้นแต่การคิดแบบปรัชญาจะช่วยให้รู้ว่าชีวิตและโลกนั้นที่แท้จริงสงบสุข เพราะทุกสิ่งไม่มีดีมีชั่ว มีดีมีเลว มีมิตรมีศัตรู มีคุณมีโทษ   แต่จะเห็นทุกอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  รวมทั้งไม่เชื่อหรือมีความคิดตามขนบธรรมเนียมประเพณี  หรือมีอคติใดๆทั้งสิ้น    มีความประสงค์เพียงอย่างเดียวให้ได้ความรู้ ความรู้ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เป็นความรู้ที่ได้จากการไตร่ตรองแท้ ๆ ของมนุษย์เท่าที่สามารถจะเข้าถึงได้

         สรุปได้ว่า   ความคิดทางปรัชญาช่วยขยายขอบเขตของชีวิต การปฏิบัติ และการดำเนินชีวิตออกไป หลุดพ้นจากขอบเขตที่แต่ละสังคม ประเทศได้วางไว้  ดังนั้นวิชาปรัชญาไม่ใช่วิธีเรียนเพื่อตอบปัญหาใดปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะ  แต่เราเรียนวิชาปรัชญาเพื่อรู้ปัญหา  เพราะปัญหาจะช่วยเราขยายขอบเขตของความคิดว่าอะไรบ้างที่เป็นไปได้  อะไรที่เป็นไปไม่ได้   และช่วยจิตใจสามารถสร้างจินตนาการ วาดภาพรวม สร้างโลกทัศน์ได้ง่ายขึ้น   รวมทั้งช่วยลดความเชื่องมงายอันเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของชีวิต     และเนื่องจากปรัชญาเป็นการขบคิดเรื่องความเป็นมา  และควรจะเป็นไปของชีวิต  ก็ย่อมทำให้จิตใจที่คิดเรื่องนี้สูงส่งตามไปด้วย



4. วิธีเรียนปรัชญา / ตรวจสอบปรัชญา
     4.1. ใช้กฏของเดส์การ์ตส์ (Discourse on Method of Descartes)
            1. จะไม่ยอมรับว่าอะไรเป็นคำตอบที่แท้จริงทันที  จนกว่าจะเห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน หาข้อสงสัยอีกไม่ได้
            2. จะจำแนกปัญหาที่กำลังคิดเป็นส่วนๆให้ละเอียดที่สุด      คลอบคลุมปัญหานั้นๆเท่าที่จะแบ่งได้  หรือเท่าที่จำเป็น
            3. จะจัดระบบความคิดเป็นขั้นตอน จากภาพรวมปัญหาหรือที่เป็นของธรรมดาหรือง่าย ๆ จนถึงส่วนย่อยและซับซ้อนมากขึ้น
            4. ตรวจสอบให้ละเอียดทุกประเด็น ทุกขั้นตอน จนไม่มีข้อบกพร่อง

     4.2. ใช้วิธีพิเศษ (Mysticism)
             ใช้วิธีการเพ่งจิตไปที่สิ่งนั้น จนจิตใจแน่วแน่สงบนิ่ง หรือสมมติตัวเองเป็นสิ่งนั้น จนมีความรู้สึกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งนั้น    หรือเพ่งถึงองค์พระเจ้าจนจิตลืมตัวจะเข้าถึงความจริงได้เอง

     4.3. ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์  (Method of Science)
             1. มีปัญหา หรือตั้งปัญหา
             2. รวบรวมและสังเกตข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยไม่ลำเอียงใด ๆ
             3. เสนอคำตอบแก้ปัญหา (โดยการตั้งสมมติฐาน : Hypothesis ;  หรือ การเสนอแนะ : Suggestion)
             4. ตรวจสอบคำตอบที่ตัวเองคิด  ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
                 - วิธีวิจารณญาณ ( ตรึกตรอง,  ไตร่ตรอง)
                 - วิธีตรรกวิทยา (Logic)
                 - วิธีเปรียบเทียบ (analogy)
                 - วิธีประวัติศาสตร์ (History)
                 - วิธีประสบการณ์ (Experience)
                                   ฯลฯ

     4.4. ใช้วิธีการศึกษาประวัตินักปรัชญา
             เนื่องจากการศึกษาเนื้อหาทางด้านปรัชญามีลักษณะเป็นนามธรรม  และมีประเด็นให้น่าค้นคว้าศึกษาหาคำตอบมากมาย   การเริ่มศึกษาปรัชญาจากประวัตินักคิดต่าง ๆ จะช่วยให้เข้าใจถึงเนื้อหาปรัชญาที่คนรุ่นเก่าๆคิดไว้ได้ง่ายและสะดวก   ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือปัญหาของปรัชญาจะกว้างขวางแค่ใดเราก็สามารถเข้าถึงแนวคิดนั้นได้   เช่น  การศึกษาประวัติของเพลโต    อริสโตเติล       เดส์การ์ต   สปิโนซา   ค้านท์  รอยส์  เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านั้นในประวัติได้กล่าวถึงว่าได้เขียนอะไรไว้บ้างเกี่ยวกับปรัชญา  โดยวิธีนี้เราจะเข้าใจปรัชญาเป็นกลุ่มและขอบเขตได้ชัดเจน เพราะประวัตินักปรัชญา ก็คือ ประวัติการคิด และเป็นสิ่งสะท้อนความคิดต่าง ๆ ของนักคิด
             นักปรัชญาส่วนมากเป็นนักคิดที่สำคัญของโลก   มีจินตนาการกว้างไกลและเห็นการณ์ไกล เมื่อศึกษาแนวคิดจากประวัติของนักปรัชญาเหล่านั้น   แล้วค่อยมาวิเคราะห์แล้วต่อเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขี้น ด้วยความคิดวิจารณญาณของเราเอง

      4.5. ใช้วิธีศึกษาแบบนักวิชาการ
             วิธีนี้เราจะเรียนรู้ปรัชญา  ด้วยการศึกษาคำนิยามคำศัพท์ที่ใช้ในวงปรัชญา  รู้สูตร  รู้หลักการ รู้กฎเกณฑ์ รู้ทฤษฎีที่ใช้ในการแก้ปัญหา   รวมทั้งรู้ปัญหาที่สำคัญและแนวคิดพื้นฐานในปรัชญาต่างๆเสียก่อน   แล้วจะพบว่าความคิดเห็นที่แตกต่างตามลัทธิต่าง ๆ นั้นแท้จริงไม่ต่างกันเท่าใด  แต่นักวิจารณ์รุ่นต่อมา  ทำให้เหมือนความคิดนั้นอยู่คนละขั้ว คนละลัทธิ  คนละโลกไปเอง                              
              การศึกษาปรัชญาในระดับอุดมศึกษา   หรือมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างนี้ และก็คงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในปัจจุบันอย่างแน่นอน


5. เนื้อหาขอบเขตการศึกษาปรัชญา
     การศึกษาวิชาปรัชญา มีเนื้อหาเรียนรู้ตามปัญหาหรือขอบเขต ดังนี้

      1. อภิปรัชญา (Metaphysics)
          - ความเป็นจริงที่แท้จริง
          - จุดเริ่มต้นและธรรมชาติของชีวิต
          - จุดสุดท้ายของชีวิต
          - จิต วิญญาณ พระเจ้า
                      ฯ

       2. ญาณวิทยา (Epistemology : ทฤษฎีความรู้)
           - เรามีความรู้ได้อย่างไร
             1. ความรู้เชิงประจักษ์ (Rational Knowledge)
             2. ความรู้จากประสบการณ์ ( Empirical Knowledge),
             3. ความรู้จากการหยั่งรู้ (Intuitive Knowledge),
             4. ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ (Authoritative Knowledge)
             5. ความรู้จากการรับรู้ (Sensational Knowledge)
             6. ความรู้จากการเปิดเผย (Revealed Knowledge)
             7. ความรู้จากการอนุมาน (Apriorive Inference)  
           - หลักตัดสินความรู้ ความคิด
           - วิธีการตรวจสอบความคิดอย่างสมเหตุสมผล (ตรรกวิทยา (Logic)  >  นิรนัย  >  อุปนัย)
           - ความจริงมีอะไรและเรารู้ความจริงได้เพียงใดบ้าง
                          ฯ

        3. คุณวิทยา (Axiology : ontology)
           - ความหมายของชีวิต
           - ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร
           - ควรดำเนินชีวิตอย่างไร ด้วยวิธีการใด
           - สิ่งที่น่าปรารถนาที่สุดของชีวิต
           - หลักตัดสินความดี – ความชั่ว
           - ศึกษาจริยะ (Ethic),  สุนทรียะ (Aesthetic), เทววิทยา (Theology)
                            ฯ


6. ปรัชญากับการศึกษา
      6.1 แนวทางการศึกษา
            การที่นักศึกษาจะเข้าใจปรัชญาการศึกษาได้ง่าย    นักศึกษาควรฝึกหัดตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ  จะทำให้ได้แนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาด้วยตัวเอง    ตัวอย่างคำถาม  เช่น
            1. การจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศปัจจุบัน    มีพื้นฐานความคิดเช่นไร   หรือนำแนวความคิดมาจากปรัชญาลัทธิใด
            2. ในแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมา   ประเทศไทยได้ทดลองจัดการการศึกษาโดยอยู่บนพื้นฐานปรัชญาใดบ้าง  
            3. การจัดการการศึกษาของประเทศไทยที่นำมาจากพื้นฐานแต่ละปรัชญา มีแนวคิดสาระสำคัญเช่นใด   เมื่อนำมาปฏิบัติแล้วเกิดผลเช่นใด  มีจุดเด่น จุดบกพร่องอย่างไร
            4. พื้นฐานแนวความคิดปรัชญาการศึกษาใด  ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย คนไทยมากที่สุด  และควรนำมาเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา  และถ้าแนวคิดปรัชญาต่างๆอย่างไม่เหมาะกับสังคมไทยนัก   จำเป็นต้องสร้างแนวทางใหม่  เราจะสร้างอย่างไร  โดยวิธีใด
            5.  ประเทศไทย  ควรมีเป้าหมายการพัฒนาคน หรือสังคมไทยอย่างไรจึงจะเหมาะสม  และถ้ามีเป้าหมายอย่างนั้น   เราควรจะใช้แนวคิดปรัชญาใดเป็นแนวทางดำเนินการ  จึงจะทำให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้


    6.2  พื้นฐานการจัดการการศึกษา
           การจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ทั่วโลก  ล้วนมีแนวคิดพื้นฐานจากปรัชญาการศึกษาใดการศึกษาหนึ่งเป็นหลัก  และมักจะผสมผสานปรัชญาอื่นๆ ด้วยเสมอ  ซึ่งปรัชญาหลักๆ มีดังนี้   
           1. แนวคิดอุดมคตินิยม       (Idealism)
           2. แนวคิดสัจจนิยม           (Realism)
           3. แนวคิดปฏิบัตินิยม         (Pragmatism)
           4. แนวคิดภววาทนิยม        (Existentialism)
           5. แนวคิดวิเคราะห์            (Analysis)

          3 แนวคิดแรกเป็นที่รับรู้กันมานาน   แต่ 2 แนวคิดหลังเพิ่งได้รับรู้ไม่นานมานี้ แต่ปัจจุบันกำลังเป็นที่ยอมรับและมีบทบาททางความคิดของนักปรัชญาปัจจุบันเป็นอย่างมาก

          การเรียนปรัชญาการศึกษาต้องรับรู้อยู่เสมอว่า   เราไม่สามารถนำปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งมาพัฒนาให้ได้ผลทางการศึกษาได้แน่นอนชัดเจน    เพราะในแต่ละทฤษฎีทางการศึกษาที่คิดและปฏิบัติกันขึ้นนั้น  ล้วนมีปรัชญาพวกอื่นแทรกไปเสมอ   ยิ่งถ้าสรุปว่าการศึกษานั้น ๆ มาจากปรัชญาลัทธิใดลัทธิหนึ่งเพียงเดียว   ถือว่าเป็นการสรุปที่ขาดวิจารณญาณ   และแสดงว่ายังไม่เข้าใจในทฤษฎีการศึกษานั้น ๆ ดีพอ

          การที่ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษา   มักจะนำปรัชญาใดปรัชญาหนึ่ง  มาสร้างเป็นรูปแบบต่าง ๆ ในการจัดการศึกษานั้น  แสดงว่าเขาถือเอา ปัญหา ทางการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้น  แล้วจึงหาแนวทางดำเนินการโดยยึดเอาแนวความคิดทางปรัชญานั้น ๆ มาเป็นหลัก  แล้วประยุกต์กับปรัชญาอื่นๆที่เห็นว่าสอดคล้องกันใช้ในการวางแม่บททางการศึกษาต่อไป    จึงสามารถสรุปได้ว่า  ถ้าผู้ใดมีแนวความคิดที่จะแก้ปัญหาทางการศึกษา การเรียนรู้ของมนุษย์  เพื่อให้มนุษย์มีทักษะในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขทุกสภาพ หรือทุกสถานการณ์    เราสามารถเรียกผู้นั้นว่าเป็น  นักปรัชญาการศึกษาได้

          แต่ถ้าผู้นั้นนำแนวความคิดในการจัดการศึกษามากำหนดแนวทางการปฏิบัติ   ย่อมถือได้ว่าเขาไม่ใช่นักปรัชญาการศึกษา   แต่กำลังเป็น นักวิชาการการศึกษา  เพราะเขาได้สรุปความคิดและแนวทางออกมาเป็นหลักการ  มีจุดมุ่งหมาย  มีแนวปฏิบัติ  มีระเบียบ  กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจัดการศึกษา  

          การจัดการศึกษาในปัจจุบันยังเป็นทฤษฎี หรือวิชาการ (Logy) ยังไม่เป็น ศาสตร์(Science) เพราะยังไม่มีแนวทางการจัดการศึกษาใดสามารถพัฒนาคน และสังคมได้สมบูรณ์  ครอบคลุมทุกด้าน หรือหาคำตอบที่จะนำมาแก้ปัญหาได้หมดสิ้น หรือได้ผลแน่นอนทุกครั้ง  ทุกคน  ทุกเวลา

          ในแง่ปรัชญาแล้ว   แนวคิดอุดมคตินิยมเกิดก่อน   >  จึงเกิดแนวคิดแบบสัจจนิยมตามมา > แล้วตามด้วยแนวคิดปฏิบัตินิยม > แนวคิดภววาทนิยม > และแนวคิดวิเคราะห์ในที่สุด

           แต่ในแง่การศึกษาที่จัดกันขึ้นเป็นระบบทั่วโลก     การจัดการศึกษาตามแนวคิดแบบนิรันตรวาทนิยมเกิดก่อน > แล้วตามมาด้วยแนวคิดแบบพิพัฒนาการนิยม > แนวคิดแบบสารัตถนิยม > แนวคิดแบบบูรณาการนิยม > และแนวคิดแบบอัตถภาวนิยม > และอาจจะยังมีแนวคิดแบบใหม่ตามมาอีกก็ได้ฯลฯ
            ปรัชญาการศึกษา  ที่ปรากฏในปัจจุบัน  มีดังนี้
            1. ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism)
            2. ปรัชญานิรันตรวาทนิยม (Perennialism)
            3. ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism)
            4. ปรัชญาบูรณาการนิยม (Reconstructionism)
            5. ปรัชญาอัตถภาวนิยม (Existentialism)                                                                     
            6. ปรัชญาการศึกษาเสรีนิยม
            7. ปรัชญาการศึกษาพฤติกรรมนิยม
            8. ปรัชญาการศึกษามนุษยนิยม
            9. ปรัชญาการศึกษามนุษยนิยมแนวใหม่                                                                          
          10. ปรัชญาการศึกษาตามแนวพุทธศาสนา

           สำหรับเมืองไทย มีนักปราชญ์หลายท่าน (ศจ.ดร.สาโรจ บัวศรี,  พุทธทาส ภิกขุ,  พระธรรมปิฎก (ประยุต ปยุตโต),   ศจ.ดร.ระวี ภาวิไลฯลฯ) ได้พยายามเสนอปรัชญาการศึกษาไทยโดยเฉพาะ ซึ่งได้นำแนวทางพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ 

          (มีความจากผู้รู้หลายท่านว่า (รวมตัวผมด้วย) "พระพุทธศาสนาไม่ใช่  ปรัชญา เพราะหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามีคำตอบที่แน่นอนแล้ว  สามารถพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติตามได้  ไม่ใช่ปรัชญาที่ยังหาคำตอบไม่ได้แน่นอน  ทั้งนี้ถ้านักปรัชญาคนใดสนใจหรือถกเถียงคำถามที่มีคำตอบแน่นอนแล้ว  เขาจะหมดสภาพเป็นนักปรัชญาทันที  จะกลายเป็นนักวิชาการแทน )

           แต่เพื่อความเข้าใจ และเป็นการเปรียบเทียบได้ชัดเจนขึ้น   จะสรุปแนวคิดลัทธิปรัชญาพิพัฒนาการนิยมก่อน    เพราะในปัจจุบันการศึกษาประเทศไทยและการศึกษาในประเทศเกือบทั่วโลกนิยมใช้แนวความคิดของลัทธินี้เป็นหลักในการจัดการศึกษา


สรุปแนวคิดปรัชญาการศึกษาต่าง ๆ
  • แนวคิดสำคัญโดยย่อของปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivelism)
       1. การศึกษาควรเป็น “สิ่ง” และ “การช่วยให้” เกิดความกระตือรือร้น คล่องแคล่วว่องไว และสอดคล้องกับความถนัด ความสนใจของเด็ก
       2. การเรียนรู้จากการแก้ปัญหา  ดีกว่า การพร่ำสอนเนื้อหาทางวิชาการ เพราะความจริงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของมนุษย์และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์และวัยไม่ตายตัว
       3. การศึกษาควรจะเป็นการศึกษาชีวิต หรือ เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต มากกว่าจะเป็น การเตรียมตัวเพื่อการดำรงชีวิต
       4. ครูไม่ควรมีบทบาทหลักใน การสั่งสอน หรือชี้นำ แต่ควร ชี้แนะ หรือแนะนำ
       5. โรงเรียนไม่ควรให้มีการประกวด หรือการแข่งขันกัน  แต่ ควรฝึกการร่วมมือ ร่วมใจประสานกันทำกิจกรรมต่างๆ  เพราะโรงเรียนเป็นสังคมน้อยๆ ที่จำลองแบบมาจากสังคมใหญ่  โรงเรียนจึงควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์ชีวิตอย่างต่อเนื่อง
       6. การปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น   ที่จะช่วยให้เกิดการกระตุ้นทางความคิด ความมีอิสระเสรีในการดำรงตน การพัฒนาบุคลิกภาพที่ดี และการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการพัฒนาความเจริญงอกงามชีวิต
       7. โรงเรียนควรยึดเด็กเป็นศูนย์กลางในการศึกษา  ควรใช้วิธีการแก้ปัญหาและการทดลองค้นคว้าเป็นหลักในการทำกิจกรรม

  • แนวคิดสำคัญโดยย่อของปรัชญานิรันตรวาทนิยม (Perennialism)
       1. มนุษย์ทุกแห่งในโลกล้วนมีพื้นฐานเหมือนกัน การศึกษาพื้นฐานจึงควรเหมือนกันทุกแห่ง ทุกคน
       2. ความมีเหตุผลเป็นสิ่งสูงสุดของมนุษย์ มนุษย์ควรจะใช้เหตุผลเป็นตัวนำหรือกระตุ้นธรรมชาติทางสัญชาตญาณ เพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายปลายทางที่เลือกไว้อย่างรอบคอบ
       3. ภาระของการศึกษา คือการปรับมนุษย์ให้เข้าหาความจริงซึ่งเป็นโลกแห่งความเป็นนิรันดร์ มากกว่าโลกปัจจุบันซึ่งปราศจากความจริง
       4. การศึกษา มิใช่ เป็นการเลียนแบบชีวิต  แต่  เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิตที่ดี
       5. เด็กควรจะได้รับการอบรมสั่งสอนและรู้วิชาการเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงที่คงทนถาวรไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นอย่างนั้นนิรันดร
       6. การศึกษาควรจะเป็นสิ่งที่แนะนำนักเรียนให้ได้เรียนรู้ภาวะ ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสิ่งสากล ทั้งนี้โดยการศึกษาจากสิ่งหรืองานสำคัญๆ เช่น  วรรณคดี ปรัชญา  ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์          
       7. การศึกษา คือ การฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้ดีตลอดชีวิต
               
แนวคิดของสองปรัชญาข้างต้น  จะเห็นว่าทั้งแนวคิดและการปฏิบัติตรงกันข้ามกัน  แต่ทั้งสองปรัชญาต่างก็ได้รับการนิยมนำมาเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา โดยแนวคิดแบบนิรันตรวาทนิยม มีมากในประเทศแถบยุโรป แนวคิดแบบพิพัฒนาการนิยมมีมากในสหรัฐและทั่วโลก และโดยเฉพาะการศึกษาที่เป็นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้


  • แนวคิดสำคัญโดยย่อของปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism)
      1. การเรียนรู้ที่แท้จริง โดยตัวธรรมชาติต้องอาศัยการเอาจริง ทำงานหนัก และการนำเอาไปประยุกต์ใช้  ทั้งนี้ต้องไม่ขึ้นกับการจูงใจใดๆ ทั้งสิ้น
      2. การริเริ่มใดๆในทางการศึกษาควรจะเป็นหน้าที่ของครู มิใช่นักเรียน
      3. หัวใจของกระบวนการศึกษา คือการที่สามารถซึมซาบในเนื้อหาวิชาที่ได้สังคมกำหนดไว้
      4. โรงเรียนควรจะคงวิธีการฝึกฝนความมีวินัยทางสมองแบบโบราณ

  • แนวคิดสำคัญโดยย่อของปรัชญาบูรณาการนิยม (Reconstructionslism)
       1. การศึกษาจะต้องเป็นวิธีการสำคัญที่สร้างโครงการทางปฏิบัติที่เข้าใจได้อย่างชัดเจน และถูกต้องแน่นอน
       2. การศึกษาจะต้องเป็นผู้นำและสร้างโครงสร้างสังคมใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงสังคม การดำเนินชีวิตและสร้างวัฒนธรรมใหม่ และสามารถประสานกลมกลืนไปกับแรงผลักดันทางสังคม และเศรษฐกิจของโลกสมัยใหม่ได้อย่างดี
       3. สังคมใหม่จะต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทุกอย่างประชาชนจะควบคุมและรับรู้การดำเนินกิจกรรมทั้งหมด
       4. ครูจะเป็นผู้สร้างแรงจูงใจให้มีการพัฒนาบูรณาการสังคม โดยทำให้นักเรียนมั่นใจในความเที่ยงตรง และความเร่งเร้าในตัวเอง
       5. วิธีการและจุดหมายปลายทางการศึกษา ควรสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองกับวิกฤตการณ์ด้านวัฒนธรรมปัจจุบัน และต้องสอดคล้องกับการค้นพบใหม่ ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรม
       6. นักเรียน โรงเรียน และระบบการศึกษา จะถูกกำหนดจัดรูปแบบให้เป็นไปตามแนวทางที่พลังทางสังคม และวัฒนธรรมใหม่ ๆ ได้ผลักดันมา

  • แนวคิดสำคัญโดยย่อของปรัชญาอัตถะภาวนิยม (Existentialism)
       1. ความเป็นจริง ย่อมมาก่อน ความเป็นอยู่ หรือวิถีชีวิต หมายความว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วแต่สิ่งเหล่านั้นไม่มีความหมาย หรือวัตถุประสงค์ใด ๆ มนุษย์แปลความหมาย สร้างความหมาย ตีความหมาย ยอมรับมันอย่างใดอย่างหนึ่งเอาเอง ความจริงจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง เลือกและกำหนดขึ้นมา
       2. มนุษย์มีเสรีภาพเต็มที่ เพราะมนุษย์เกิดมาพร้อมความว่างเปล่าไม่ได้เกิดจากสิ่งใด ๆ ในจักรวาลนี้ จึงต้องเลือกสร้างลักษณะของตนเองขึ้นมาตามที่ตัวเองอยากเป็นและมีเสรีภาพในการเลือกสิ่งนั้น ๆ แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเองด้วย
       3. มนุษย์ควรรู้จักตัวเอง ธรรมชาติของตัวเองว่ามีปัญหาอย่างไร เราเป็นอย่างไร ด้วยการเรียนรู้ค้นพบด้วยตัวเอง ด้วยประสบการณ์ของตัวเองหรือผู้อื่น เพราะจิตใจสำคัญกว่าร่างกาย จิตอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือสะสมประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อมุ่งตรงไปสู่จุดมุ่งหมายเท่านั้น
       4. คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่ความดี ความงามที่ตนเองพอใจเลือกทางเดินของตนเอง  มิใช่อยู่ที่จารีตประเพณี ร่างกาย โลก สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่กำหนดความเป็นอยู่ของบุคคล  แต่บุคคลก็มีเสรีภาพที่จะเลือกเป้าหมายที่มีคุณค่าของตนเอง เพราะถ้าถูกบังคับให้เลือก  เท่ากับถูกบังคับไม่ให้เป็นมนุษย์(เสรีภาพคือแก่นแท้ความเป็นมนุษย์)
       5. การศึกษาจึงควรช่วยให้แต่ละคนศึกษาและเข้าใจตนเอง รู้ปัญหาตนเอง และแก้ปัญหาด้วยตนเองที่แตกต่างกันไป เพราะไม่มีสูตรสำเร็จใด ๆ ที่จะเหมาะกับทุกคน ต้องสร้างแรงผลักดัน และพยายามต่อสู้เอาชนะความทุกข์ ความหมดหวัง  ไม่ปล่อยตัวเองไปตามยถากรรมเอาเอง
       6. การศึกษาต้องมีความมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ จึงควรจัดสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ แบบ หรือวิชาการหลาย ๆ แบบ เพื่อให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามเสรีภาพและรับผิดชอบในการตัดสินใจของตัวเอง
       7. การศึกษาไม่มีหลักสูตรตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน    ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดความเหมาะสมเอาเอง                                                                                                                                    8. ครูจะไม่สั่งสอน ชี้แนะ หรือแนะนำ แต่จะเป็นเพียงผู้กระตุ้น ให้นักเรียนค้นพบตัวเอง ศักยภาพของตัวเอง               

         แนวความคิดแต่ละปรัชญาต่างก็มีแนวคิดพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน แต่ทุกปรัชญาล้วนมีจุดยืนอันเดียวกันในเรื่องชีวิต  การดำรงชีวิตให้ดี  และพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์มากขึ้น
         ดังนั้น การได้ศึกษาทำความเข้าใจปรัชญาก่อน จะช่วยให้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังเป็นไปอยู่ในสังคม  และจะได้ให้ผู้ศึกษาสามารถสร้างแนวทางปรัชญาของตนเองได้ในที่สุด


     6.3  ความหมาย “การศึกษา”
            การศึกษานั้นมีผู้ให้ความหมายมากมาย  แต่ถ้าโดยสรุปแล้วจะมี 2 ความหมายใหญ่ๆ  คือ
            1. ความหมายอย่างกว้าง  การศึกษา หมายถึง การกระทำหรือประสบการณ์ใดๆ ที่มีอิทธิพลต่อชีวิต ทั้งด้านการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ด้านจิตใจ คุณลักษณะ การดำรงชีวิต หรือความสามารถทางร่างกายของบุคคล เป็นการหล่อหลอมร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ความคิด ฝีมือ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีวันสิ้นสุด
            2. ความหมายอย่างแคบ  การศึกษา หมายถึง กระบวนการที่สังคมจัดทำขึ้นเพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้ ฝีมือความชำนาญ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง โดยผ่านสถาบันสังคมต่าง ๆ เช่นโรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น
            ดังนั้น การศึกษาที่สังคมส่วนมากจัดทำขึ้น  มักทำในรูปแบบสถาบันเป็นระบบ  มีกฎเกณฑ์เพื่อหล่อหลอมเยาวชนรุ่นต่อไปเป็นไปตามที่สังคมคิดว่าถูกต้อง ดีงาม  การศึกษาจึงแยกไม่ออกจากสิ่งที่สังคมถือว่ามีคุณค่า หรือสิ่งที่ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองต้องการให้เป็นไป   ผู้มีการศึกษาจึงหมายถึง   ผู้ที่สังคมยอมรับว่าประสบความสำเร็จที่สังคมกำหนดไว้


     6.4  บทบาทปรัชญาต่อการจัดการศึกษา
            1. ปรัชญาช่วยสร้างเป้าหมายหรือความคาดหวัง  หรือจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาได้อย่างชัดเจน ว่าจะไปในทิศทางใด และควรจะวางหลักสูตรอย่างไรบนพื้นฐานของความเป็นจริงทางสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม   
            2. ปรัชญาช่วยตรวจสอบความคิด ทฤษฎี สมมติฐาน ความหมายและความต้องการในการจัดการเรียนการสอน ให้กระจ่างชัดเจนขึ้น
            3. ปรัชญาจะเป็นแม่บทสร้างภาพรวมหรือแผนที่ชีวิต ของการจัดการศึกษาโดยส่วนรวม ทำให้เห็นคุณค่า ความหมายทั้งหมดในการศึกษาวิชาต่าง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น