วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จิตวิทยา : ช่วยจัดการศึกษาอย่างไร


ทฤษฎีพื้นฐานการศึกษา  :  จิตวิทยา
การกลั่นกรองที่จะพิจารณาเลือกว่าจุดประสงค์ที่เรากำหนดนั้นจะบรรลุจุดมุ่งหมายหรือไม่    ควรใช้วิธีการทางจิตวิทยาการเรียนรู้   เพราะจุดประสงค์ของการศึกษาถือว่าเป็นผลลัพธ์สุดท้ายของการจัดการศึกษา   ผลลัพธ์สุดท้ายเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกับสภาพการณ์ต่างๆที่เราได้เลือกไว้ในกระบวนการดำเนินการ   ไม่เช่นนั้นถือว่าเป็นเป้าประสงค์ที่ไร้คุณค่า

สาระสำคัญ  :  ความคิดรวบยอด
1. จิตวิทยา  สามารถบอกความแตกต่างของพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป   ระหว่างผู้ที่ได้รับการศึกษา  กับผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษา  (จิตวิทยาสังคม)

2.  จิตวิทยา  จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะเป้าประสงค์ที่เราอาจกระทำสำเร็จได้    แต่อาจกินเวลานานจึงสำเร็จ   หรือบางอย่างไม่อาจจะบรรลุได้เลยในระดับอายุที่กำหนดไว้ (จิตวิทยาพัฒนาการ)

3.  จิตวิทยา  จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าการที่จะบรรลุจุดประสงค์บางประการนั้น  ต้องใช้เวลามากน้อยเพียงใด  และจะได้ผลดีที่สุดในช่วงที่เด็กมีอายุเท่าใด  (จิตวิทยาพัฒนาการ)

4. จิตวิทยา  มีส่วนช่วยในการตัดสินใจว่า  ก่อนการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่งนั้น   จะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง  (จิตวิทยาการเรียนรู้)

 5. จิตวิทยา  ช่วยให้การค้นพบว่าประสบการณ์การเรียนรู้ส่วนมากนั้น   สามารถทำให้เกิดผลต่อเนื่องและเกี่ยวโยงไปอีกจำนวนมาก (จิตวิทยาการเรียนรู้)

 6.  จิตวิทยา  ช่วยให้รู้ว่าการเรียนรู้ที่สอดคล้องกันและผสมผสานกัน    เกี่ยวโยงกัน   จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน    ทำให้ใช้เวลาในการเรียนรู้น้อยมากขึ้น (จิตวิทยาการเรียนรู้)

7.  หลักการหรือทฤษฎีการเรียนรู้  จะสามารถกำหนดขอบเขตธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร    ต้องมีสภาพการณ์อย่างไร   มีกลไกอะไรบ้าง   ทุกคนจึงต้องยึดหลักการใดหลักการหนึ่งไว้จึงจะเกิดประโยชน์  (จิตวิทยาการเรียนรู้)

8. ทฤษฎีการเรียนรู้ทางจิตวิทยาที่โดดเด่น  มี  2 ทฤษฎี คือ
    8.1  ทฤษฎีแบบต่อเนื่อง “...การสร้างความสัมพันธ์ต่อเนื่องระหว่างสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่ง  กับสิ่งตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง…”   การเรียนรู้ในลักษณะเช่นนี้เป็นกระบวนการที่เฉพาะเจาะจงมาก    ต้องปลูกฝังและฝึกฝนตามประเด็นปลีกย่อยมากมาย   ( Thorndike )
    8.2   ทฤษฎีแบบใช้ความเข้าใจ    เมื่อผู้เรียนได้เรียนรู้หลักการทั่วไปที่ได้ฝึกจากการเผชิญปัญหาแล้ว    เขาจะสามารถนำหลักการนั้นไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่  หรือเผชิญกับปัญหาใหม่ได้หรือไม่  ( Judd & Freeman )

9.  จิตวิทยาการเรียนรู้  ยืนยันได้ว่ามนุษย์จะเรียนรู้ได้ดีที่สุด  ก็ต่อเมื่อผู้นั้นมีความ “พร้อม”  ทั้งทางร่างกาย  อารมณ์ จิตใจ และสังคม   หรือสิ่งเหล่านี้เกิดความสมดุลพร้อมกัน

10.  การสร้างความ “พร้อม” ให้เกิดขึ้นได้นั้น ทางจิตวิทยามี 2 ทฤษฎีใหญ่ คือ “รอ" ให้พร้อม (มาสโลว์,ดิวอี้ฯ)  กับ  “เร่ง" ให้พร้อม (ธอร์นไดค์, สกินเนอร์ บรุนเนอร์ฯ)

11. มนุษย์จะเกิดการเรียนรู้ ได้ 6 ทาง คือ  การสังเกต การจำ การเลียนแบบ การลอง การฝึก และความเข้าใจ  


12. การเรียนรู้   จึงเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลจะเรียนรู้ได้จากการ ดู ฟัง ตรึกตรอง พยายามทำ  ฝึก  ความผิดพลาด  ความสำเร็จ  การคิดพิจารณา   การซักถาม  เป็นต้น   ดังนั้นการเรียนรู้หนึ่งๆ อาจเกิดขึ้นได้ทางใดทางหนึ่ง หรือหลายทางหลายพฤติกรรมมารวมกัน   

13.  การเรียนรู้  ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงการได้มาซึ่งความรู้ หรือการเสริมสร้างทักษะเท่านั้น และการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนหรือในโรงเรียน  แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ ทุกเวลา  ทุกวงการ  ทุกสังคม   ฯลฯ  แม้นิสัยเฉพาะตัวและพฤติกรรมในสังคมของบุคคล  ก็ได้มาจากกระบวนการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

14.  พื้นฐานกระบวนการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะมี  ลำดับขั้นตอน (basic sequence)  และ รูปแบบ  (basic pattern)   4  ประการ  ดังนี้   
          1. การได้รับรู้จุดมุ่งหมาย และข้อมูลอย่างเพียงพอ ก่อนที่จะทำ (Information)
          2. กิจกรรมที่ทำมีวิธีการปฏิบัติที่เป็นระบบ หรือมีขั้นตอนกระบวนการชัดเจน  (activity)
          3. มีแรงจูงใจพียงพอ  (motivation)
          4. มีการวางเงื่อนไขผลสำเร็จที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม (มีเกณฑ์ /ตัวชี้วัด)  (Success)
               
15. ความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลว  เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่ได้รับ  กับ กิจกรรม  รวมทั้งการได้รับแรงเสริม หรือลดแรงเสริม    ปัจจัยที่ทำให้กิจกรรมประสบความสำเร็จผลหรือความล้มเหลว  ขึ้นอยู่กับกับปัจจัย 3 ประการ   ซึ่งผลของการเรียนรู้จะประสบความล้มเหลว ถ้าหากว่า  แรงจูงใจ ไม่เพียงพอ,  ข้อมูลที่ได้รับไม่เป็นที่กระจ่างชัดเพียงพอ,  กิจกรรม ที่กระทำไม่ถูกต้อง

16. รายละเอียดความรู้ ทฤษฎีต่างๆทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา  นักศึกษาควรแสวงหาอ่านจากหนังสือตำราทางจิตวิทยาซึ่งมีมากมาย  แต่ขอแนะนำที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย  ซึ่งผู้เขียนอ่านแล้ว  ทำให้รู้ชัดเจนดี ได้แก่
          - หนังสือชุดจิตวิทยาของ อ.ประมวญ ดิกคินสัน  
          - จิตวิทยาการเรียนการสอน ของ รศ.ดร.พรรณี ช.เจนจิต 
          - จิตวิทยาการศึกษา ของ อ.สุรางค์  โค้วตระกูล
          - จิตวิทยาประจำวัน  ของ อ.พงศ์อินทร์  ศุขขจร
                                       ฯลฯ 

บทสรุป  : ขอให้นักศึกษาจับประเด็นให้ได้ว่า ทำไมการเป็นผู้บริหารการศึกษาที่ดี  หรือเมื่อรับผิดชอบจัดการศึกษา   เราถึงต้องเรียนรู้วิชาปรัชญา  สังคมวิทยา  และจิตวิทยา  ก่อนวิชาอื่นๆ เพราะเหตุใด  
ซึ่งถ้าตอบคำถาม  4 ประการต่อไปนี้ได้อย่างชัดเจน  และเห็นเป็นภาพการปฏิบิติจริงได้ตลอด   ก็แสดงว่านักศึกษาเข้าใจวิชาปรัชญา  สังคมวิทยา  และจิตวิทยามีอิทธิพลในการจัดการศึกษาอย่างไร   ก็ขออวยพรให้นักศึกษาเป็นผู้บริหารการศึกษาที่ประสบความสำเร็จทุกคน
      1. ความมุ่งประสงค์ทางการศึกษา (Educational  Purpose)  ที่สถาบันการศึกษา  หรือสังคมต้องการให้บรรลุมีอะไรบ้าง   (ปรัชญา = หลักการ, วิสัยทัศน์, จุดหมาย)
      2. การที่จะให้บรรลุตามความมุ่งประสงค์ที่ตั้งไว้นั้น   จะต้องให้เรียนรู้ หรือทำอะไรบ้าง  (จิตวิทยา+ สังคมวิทยา = หลักสูตร, มาตรฐาน-ตัวชี้วัด)
      3. จะบริหารจัดการอย่างไร  จึงจะทำให้การเรียน การสอน การฝึกปฏิบัติเกิดประสิทธิภาพตามที่วางแผนไว้ (จิตวิทยา+ สังคมวิทยา  = การบริหาร, การจัดการเรียนการสอน)
      4. เราจะทราบได้อย่างไรว่า  ได้บรรลุตามความมุ่งประสงค์นั้นๆ แล้ว (วิทยาการการวัด การประเมินผล)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น