วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555



เรียนวิชาปรัชญาอย่างไร ?  จึงจะไม่บ้าและโง่

หลายท่านคงจำชีวิตตอนเป็นนักศึกษากันได้     มักจะมีการกล่าวขานกันว่า   “...ถ้าใครเรียนปรัชญารู้เรื่อง  ถ้าไม่โง่ ก็ใกล้บ้า...”  หรือไม่ก็ “...ถ้าใครเรียนวิชาปรัชญาได้ A   มักเพี้ยนคุยกับใครไม่รู้เรื่อง...”  แล้วพวกเราจะเรียนวิชาปรัชญาไปทำไม   เรียนไปถ้าไม่โง่ก็ต้องบ้าแน่ๆ

ผู้ที่เริ่มศึกษาวิชาปรัชญาครั้งแรก ส่วนมากจะมึนงงจับต้นชนปลายไม่ถูกว่า เป็นวิชาอย่างไรกันแน่  เพราะดูเหมือนคนทั่วไปมักพูดถึงปรัชญาในแง่ต่าง ๆ  เช่น ปรัชญาชีวิต  ปรัชญาการเมือง ปรัชญาการบริหาร  ปรัชญาการศึกษา  ฯลฯ  จึงทำให้วิชาปรัชญาดูจะเป็นวิชาที่สูงส่ง  เพราะอะไร ๆ ถ้าไม่มีปรัชญานำหน้า  จะดูเป็นของธรรมดาสามัญ  ไม่ลึกซึ้ง  หรือไม่มีคุณค่าน่าศึกษาแต่อย่างใด

แต่เมื่อเริ่มเรียนกับอาจารย์ผู้สอน หรือศึกษาไปเรื่อยๆ  ดูเหมือนว่าปรัชญามีแต่การถกเถียง มีความคิดเห็นมากมายเหลือเกินในแต่ละคำถาม  และที่เถียงกันก็ไม่รู้ว่าจะได้คำตอบหรือไม่   เพราะตอบไปอย่างหนึ่ง  คนอื่นๆ ก็หาทางโต้แย้งคำตอบเราได้อีก   ซึ่งบางครั้งก็ดูน่าทึ่งที่มีคนสามารถคิดต่างมุม  แปลกใหม่ไปได้แบบคิดไม่ถึง  หรือแบบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ก็ยังเป็นไปได้

ต่อมาเมื่อผมได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยนเรศวรให้สอนวิชาปรัชญาในระดับปริญญาโท  เพื่อไม่ให้นักศึกษาที่ผมสอนต้องเป็นคนโง่  หรือเป็นบ้า  หรือคุยกับใครไม่รู้เรื่อง   ผมจึงได้ศึกษา  ค้นคว้า  ทบทวนการสอนของอาจารย์ปรัชญาที่ผมเคยเรียน  และได้สอบถามเพื่อนๆบ้าง   คนรู้จักที่เคยเรียนปรัชญาทั้งในระดับปริญญาตรี  และปริญญาโท   แล้ววิเคราะห์หาสาเหตุที่คนส่วนมากมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อวิชาปรัชญา   เพื่อหาแนวทางในการสอนปรัชญาให้ได้ประโยชน์กับนักศึกษามากที่สุด    

ซึ่งผมได้สรุปผลการวิเคราะห์สาเหตุไว้  4  ประการ  ดังนี้ 
     1. การสอนปรัชญาของอาจารย์ส่วนมาก   มักเป็นการสอนในลักษณะเชิงประวัติศาสตร์  เช่น  สอนให้รู้จักประวัติอริสโตเติล แนวคิดของอริสโตเติล  ฯลฯ  เวลาออกข้อสอบก็มักถามว่า  อริสโตเติลเป็นใคร  เกิดที่ไหน  มีแนวคิดอย่างไร  หรือไม่ก็ยกแนวคิดหรือคำพูดบทหนึ่งวรรคหนึ่งมาถามว่า  เป็นคำกล่าวหรือแนวคิดของใคร เป็นต้น  นักศึกษามีหน้าที่ท่องจำประวัตินักปรัชญาเพื่อไปตอบข้อสอบให้ได้เท่านั้น

     2. นานๆทีก็จะมีอาจารย์ที่สอนในลักษณะปุจฉาวิสัชนา (อุปนัย-นิรนัย)   คือ อาจารย์เป็นผู้ตั้งคำถาม  แล้วให้นักศึกษาช่วยกันหาคำตอบ   แล้วอาจารย์หรือนักศึกษาคนอื่นๆก็จะช่วยกันโต้แย้งคำตอบ  จนไม่สามารถสรุปได้ว่าคำตอบใดดีที่สุด  เพราะไม่ว่าวิชาใดล้วนมีคำตอบที่แน่นอน    แต่วิชาปรัชญาไม่มีคำตอบที่แน่นอนสักที   และสิ่งที่ถกเถียงกันก็กว้างขวางหาข้อยุติยากมาก   แต่เนื่องจากการเรียนมีเวลาจำกัด  บางทีอาจารย์ผู้สอนก็ลืมสรุปว่าที่ทำอย่างนี้เพื่ออะไร  เพราะมัวแต่เสียเวลาในการถกเถียงหาคำตอบที่ดีที่สุด  มีเหตุผลที่สุด  หรือ เป็นคำตอบที่แน่นอนตายตัว

     3.  อาจารย์บางท่านก็สอนในชั่วโมงไปเรื่อยๆ  ด้วยการเล่าประวัตินักปรัชญาคนนั้นบ้าง  หรือเล่าเรื่องนั้นบ้าง  เรื่องนี้บ้างที่เกี่ยวกับเนื้อหาปรัชญา   แล้วให้งานนักศึกษาไปค้นคว้าประวัติและนักคิดปรัชญาสมัยต่างๆ ทำเป็นรายงานมาส่ง   ซึ่งก็ดูดี เพราะจะได้ทำให้นักศึกษารู้จักใฝ่รู้ค้นคว้าอย่างกว้างขวางมากขึ้น  แต่อาจารย์ส่วนมากท่านไม่ค่อยมีเวลาว่างพอที่จะอ่านในสิ่งที่นักศึกษาทำรายงานมาส่งอย่างละเอียด  ได้แต่เซ็นชื่อรับทราบว่าส่งแล้ว (แต่เขียนว่าตรวจแล้ว)  จึงทำให้นักศึกษาส่วนมากรู้ทางไม่ไปศึกษาค้นคว้าจริงๆ  แต่ใช้วิธีคัดลอกจากเพื่อนๆบ้าง  แค่เปลี่ยนไฟล์  เปลี่ยนฟ้อนต์นิดหน่อย   หรือคัดลอกเนื้อหาปรัชญาจากเว็บไซด์ต่างๆมาทำเป็นรูปเล่มส่งเท่านั้น     

     4.  อาจารย์บางท่านก็เน้นถึงความสูงส่งของวิชาปรัชญาว่า หมายถึง แนวทางหรือหลักในการดำเนินชีวิต  เช่น ปรัชญาเต๋า  ปรัชญาเซ็น  ฯลฯ ซึ่งสามารถนำความรู้ในสาขาวิชานี้ไปมีส่วนในการช่วยพัฒนาสร้างสรรค์สังคม   สร้างสรรค์รากฐานของความคิดและจิตใจ   และเพื่อศึกษาว่าคนในปัจจุบัน  โดยเฉพาะคนในสังคมที่เขาร่วมอยู่นั้น  ถูกกำหนดโดยหลักคิด หลักชี้นำการปฏิบัติด้วยปรัชญาระบบใดอยู่     

เมื่อผมพอจะทราบสภาพปัญหาในการเรียนวิชาปรัชญาบ้างแล้ว   ผมจึงทำแบบสอบถามความคิดเห็นสภาพปัญหาของนักศึกษาที่มีต่อการเรียนวิชาปรัชญา  ซึ่งผลสำรวจก็ตรงกับที่ผมวิเคราะห์และจัดลำดับไว้แล้ว    ผมจึงได้ลองนั่งคิดต่อไปว่าแล้วผมควรจัดการเรียนการสอนอย่างไรดีจึงผล   ครั้งแรกผมได้ลองรวบรวมความคิดเห็นของนักวิชาการด้านนี้  โดยการตั้งคำถามนำทางความคิดว่า 
    1.  ปรัชญา คือ อะไร  
    2.  ปรัชญามีประโยชน์อย่างไรกับผู้ศึกษา 
    3.  ถ้าไม่มีปรัชญาหรือไม่เรียนปรัชญาจะเสียหายอย่างไร

เมื่อรวบรวมคำอธิบายของนักวิชาการด้านปรัชญาที่มีมากมาย   ทั้งจากทางวิเคราะห์คำศัพท์  หรือแนวทางของนักปรัชญาเก่าๆ  ผมยิ่งกลับมึนไปใหญ่  ไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี   ผมจึงได้จำแนกความหมายของปรัชญาไว้ ได้  4  กลุ่ม ดังนี้
     1. ปรัชญา  หมายถึง  แนวทางหรือหลักในการดำเนินชีวิต
     2. ปรัชญา  หมายถึง  การวิเคราะห์วิจารณ์อย่างมีเหตุผลเพื่อสร้างความชัดเจนแก่สิ่งที่ยังคลุมเครือ  หรือ กระบวนการในการคิด  วิเคราะห์  วิจารณ์  สังเคราะห์  ตรวจสอบทุกสิ่งและประเมินอย่างมีระบบ  มีเหตุผล
     3. ปรัชญา หมายถึง ความเชื่อ หรือแนวความคิดของมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในยุคหนึ่งๆ ซึ่งมนุษย์กลุ่มนั้นๆรับเชื่อและสร้างวัฒนธรรม (วัตถุวัฒนธรรม และจิตวัฒนธรรม) ตามความเชื่อนั้นๆขึ้นมาใช้เป็นวิถีดำเนินชีวิตร่วมกัน ของกลุ่มคนในสังคมแห่งตน ตามภาวะแวดล้อมนั้นๆ และก็จะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลสมัย 
     4. ปรัชญา หมายถึง ความรักในการแสวงหาความรู้ มีจุดมุ่งหมายแสวงหาคำตอบหรือความจริง เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่สงสัย 

ผมยังได้คำตอบที่ไม่แน่ใจนัก   ลองเอาไปถามนักศึกษาก็ยังแตกต่างทางความคิดเหมือนกับ 4 กลุ่มข้างต้น   ผมจึงลองเปลี่ยนคำถามใหม่  โดยตั้งคำถามใหม่ว่า  “ตัววิชาปรัชญานี้  ใครเป็นผู้กำหนด  มีจุดประสงค์หลักอย่างไร  และเริ่มเป็นครั้งแรกให้นักศึกษาเรียนที่ไหน  เมื่อไหร่...”    เมื่อผมได้คำตอบแล้วผมจึงถึงบางอ้อว่าวิชาปรัชญานี้  ควรมีขอบเขตในการสอนแค่ไหน   ที่แท้วิชาปรัชญา  คือ วิชาว่าด้วยการคิดในเรื่องสงสัยหรือสิ่งต่างๆ อย่างมีระบบ   โดยใช้เหตุผลและความเป็นไปได้พิสูจน์  แต่...วิชาปรัชญาไม่สามารถช่วยหาคำตอบที่แท้จริง  หรือคำตอบที่ชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งได้   การที่จะได้คำตอบที่ชัดเจนจากวิชาปรัชญาจึงเป็นไปไม่ได้   เพราะปรัชญาแสวงหาคำตอบจากการคิดเท่านั้น 

เมื่อผมคิดว่าผมหาคำตอบเกี่ยวกับวิชาปรัชญาได้แล้วว่า “ ปรัชญาเป็นวิชาว่าด้วยการคิด”   ตัวปรัชญาก็คือผลของการคิด    นักปรัชญาก็คือนักคิด    แต่นักปรัชญาต่างกับนักคิดโดยทั่วไป หรือนักฝัน  ตรงที่นักปรัชญาจะคิดอะไรต้องมีหลักเหตุผล(ตรรกะ)รองรับ และหลักความเป็นไปได้ตรวจสอบ  

ผมก็ลองสอนตามแนวทางนี้  โดยเอาตัวอย่างสถานการณ์ปัจจุบันมาหาเหตุผลและความเป็นไปได้ตามหลักวิชาปรัชญา  เช่น  ในปีการศึกษา 2537  ผมสอนนักศึกษาปริญญาโท  สาขาบริหารการศึกษา  ประมาณ 175  คน  ผมยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ดังมากในยุคนั้น  “....มีข่าวว่ามีผู้หญิงระดับสูงของสังคมไทยคนหนึ่งหายไปนาน   ทำให้เกิดข่าวลือมากมายหลายด้าน   แต่มีข่าวลือหนึ่งลือกันอย่างกว้างขวางว่า  ขณะนี้ถูกจับติดคุกอยู่ที่ประเทศอังกฤษ  เพราะถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอังกฤษจับในข้อหาค้ายาเสพติด....”  ผมจึงถามนักศึกษาทั้งหมดว่า  เชื่อข่าวนี้หรือไม่   มีเหตุผลอะไรรองรับความเชื่อนั้น    ร้อยละ 90.27(158 คน)   ตอบว่าเชื่อ   แต่เหตุผลที่ให้มา  ทำให้เห็นว่าขนาดผู้บริหารสถานศึกษายังให้เหตุผลที่ไม่น่าเป็นเหตุผลและน่าเป็นไปได้รองรับ   พวกท่านเหล่านั้น  ตอบกันว่า  (ขอเรียงลำดับจำนวนที่ตอบนะครับ)  1. จริง เพราะเห็นหายหน้าไปนาน    2. จริง เพราะต้องมีมูลบ้าง ธรรมดาไม่มีมูลฝอย  หมาไม่ขี้    3. จริง  เพราะมีข่าวว่าถูกไล่ออกจากยศศักดิ์และขับออกนอกประเทศไปแล้ว  เป็นต้น    แต่ละคำตอบ  ผมก็ขออนุญาตนักศึกษาค้านตามหลักวิชา  เช่น  ถ้าจริง  เพราะหายหน้าไปนาน  ถ้าอย่างนั้น  คนที่เราไม่เห็นหน้าหลายๆปี  แสดงว่าติดคุกอังกฤษนะสิ (ที่จริงผมยกตัวอย่างชื่อคนหลายคน เช่น คุณทะนง  คุณศิริวรรณ  คุณนงนุช ฯลฯ แย้ง )   หรือถ้าจริง เพราะต้องมีมูล  ผมก็แย้งว่าสมัยนี้กุข่าวก็มี เช่น คดีฆ่ารัฐมนตรี  คดีจ้างฆ่าคนดัง) และเดี๋ยวนี้หมายังขี้กลางถนน ไม่มีมูลฝอยก็ขี้   เป็นต้น  สุดท้ายนักศึกษาก็คงหงุดหงิดย้อนว่าอะไรๆ ผมก็ไม่ยอมรับ  แล้วความจริงข่าวนี้เป็นอย่างไร    ผมก็บอกว่าผมไม่ได้ต้องการหาความจริง  แต่ผมต้องการทราบแนวคิดและเหตุผลของนักศึกษาว่ามีเหตุผลเป็นไปได้หรือไม่   แต่ถ้าอยากรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร  ถ้าเจอหน้าสามีผู้หญิงระดับสูงคนนั้น  ก็ลองถามเขาดูสิ   ก็เลยได้ฮากัน  

สอนแนวทางอย่างนี้  หลายๆ สถานการณ์  ทั้งด้านการศึกษา  การเมือง  หลากหลายวงการ ก็ทำให้เห็นผลเชิงประจักษ์ว่าทั้งผมและนักศึกษาสนุกกับการเรียน  และมองเห็นประโยชน์การเรียนวิชาปรัชญาเป็นอย่างมาก   ซึ่งทำให้นักศึกษาบริหารการศึกษา  เข้าใจว่าปรัชญาการศึกษา  ก็คือ แนวคิดในการจัดการศึกษา  ปรัชญาโรงเรียน ก็คือ แนวคิดในการดำเนินการจัดการศึกษาของโรงเรียนมากขึ้น
  
สุดท้ายทำให้เกิดผลพลอยได้ว่า  การที่โรงเรียนหรือสังคมไม่สามารถจัดการศึกษาให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพ  แม้ผู้บริหารจะเข้าใจแล้วก็ตามได้นั้น  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในโรงเรียนหรือสังคมยังคิดหรือเชื่อไม่ตรงกัน    ถ้าแนวคิดของคนโรงเรียนยังไม่ชัดเจนและตรงกัน   ก็จะทำให้การปฏิบัติมักขัดแย้งกัน  เช่น   ครู ควรเป็นใคร   ควรมีบทบาทหรือทำหน้าที่ใด  แค่คำนี้ก็ขัดแย้งกันแล้ว   เพราะพวกหนึ่ง  ก็ตอบว่า
ครู  คือ  แม่พิมพ์
ครู  คือ  ผู้จัดประสบการณ์
ครู  คือ  ผู้ถ่ายทอดความรู้
ครู  คือ  ผู้จัดการเรียนรู้
ครู  คือ  ผู้ฝึกอบรม ขัดเกลาเด็กให้เป็นคนเก่ง คนดี
     ฯลฯ
ถึงแม้ว่าเราจะเปลี่ยนแนวทางหลักสูตรไปหลายครั้ง  เช่น หลักสูตรฉบับ 2551  ต้องการให้ ครู  คือ  ผู้จัดการเรียนรู้   แต่ครูส่วนมากเขายังเชื่อว่า  ครูที่ดีต้องเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้  แล้วเป้าหมายหลักสูตร 2551 จะบรรลุผลไหมครับ    คราวนี้เห็นประโยชน์ของปรัชญาหรือยังครับ   ถ้าผู้บริหารถามให้ทุกคนช่วยกันนิยามความหมายแต่ละเรื่องในโรงเรียน เช่น  การศึกษา  หลักสูตร  ครู  นักเรียน   การเรียน   การสอน   สื่อ ฯลฯออกมา  ก็จะช่วยให้ทุกคนเห็นความคิดความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ   เมื่อเห็นแล้วก็สามารถลดความขัดแย้งได้มากมาย   แล้วค่อยสรุปกันอีกครั้งว่าจะเลือกนิยามข้อไหนเป็นแนวทางการดำเนินการของสถานศึกษาต่อไป

มีครั้งหนึ่งในการสอนวิชาหลักสูตรและการสอน  ผมถามนักศึกษาว่า  “หลักสูตร” คืออะไร   ทุกคนรีบตอบว่า  “หลักสูตร คือ มวลประสบการณ์”  ผมก็แย้งว่านั่นเป็นคำตอบที่พวกเขาเคยเรียนมาสมัย ปกศ. เมื่อ 30 ปีมาแล้ว  บางคนก็บอกว่า  หลักสูตร คือ แผนที่ในการจัดการศึกษา”  ผมก็บอกว่าทุกคำคำตอบมีส่วนถูกและเป็นไปได้  แต่ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่ถูกต้อง  เพราะ”หลักสูตร คืออะไร” ยังให้คำตอบทันทีไม่ได้   จนกว่าจะตอบได้ว่า  “การศึกษาในทัศนะของเขา  หรือของโรงเรียน  หรือของสังคมเป็นอย่างไร  หมายถึงอะไรก่อน”    เช่น   ถ้า.....
               การศึกษา  หมายถึง  องค์ความรู้    หลักสูตร  ก็จะหมายถึง  มวลความรู้
               การศึกษา  หมายถึง  ประสบการณ์   หลักสูตร  ก็จะหมายถึง  มวลประสบการณ์

          ทุกคำตอบของการศึกษาในสถานศึกษา หรือสังคมนั้น จึงขึ้นอยู่กับการนิยามคำว่า “การศึกษา” ไว้ตั้งแต่แรกเป็นอย่างไร  ผมจึงขอสรุปแนวการจัดการศึกษาที่ปรากฏ(ปรัชญาการศึกษา) ไว้โดยย่อ ดังนี้

กลุ่มที่ 1
การศึกษา               =      การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียน
ครู                        =       ผู้กระตุ้น,  นักแนะแนว
นักเรียน                  =       ผู้เรียนรู้,  ผู้แสวงหาประสบการณ์
โรงเรียน                  =       แหล่งประสบการณ์
หลักสูตร                 =       มวลประสบการณ์
การเรียนการสอน       =       เน้นการปฏิบัติจริง  พิสูจน์ทดลอง
สรุป : แนวคิดนี้เป็นปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (progressive)


กลุ่มที่ 2
การศึกษา               = การฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้ดีตลอดชีวิต
ครู                        = ผู้รอบรู้ที่มีคุณธรรม ทรงศีล,ผู้แนะนำ สั่งสอน ควบคุม ตักเตือน
นักเรียน                 = ดวงวิญญาณที่มีเหตุผล  สามารถพัฒนาให้ดีงามได้
โรงเรียน                = ที่ฝึกคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม, พัฒนานิสัยจิตใจ
การเรียนการสอน      = เน้นการฝึกฝนมารยาท สติปัญญา ความคิด
หลักสูตร                = คัมภีร์ที่เน้นการฝึกจิตใจ ยกระดับจิตใจ ความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้น
เป้าหมาย                = เพื่อทำให้ชีวิตสงบสุข
สรุป : แนวคิดนี้เป็นปรัชญานิรันตรวาตนิยม (Perennialism)


กลุ่มที่ 3
การศึกษา             =  การถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมหรือแก่นสารของสังคม
ครู                      =  ผู้เป็นตัวอย่าง(แม่พิมพ์) ผู้สาธิต, ผู้ถ่ายทอด
นักเรียน                =  ผู้ตั้งใจเรียนจริงจัง
โรงเรียน               =   แหล่งความรู้, ที่ถ่ายทอดความรู้
การเรียนการสอน     =  ท่องจำ  ปฏิบัติตาม
หลักสูตร               =  สาระความรู้, มวลความรู้ที่ยึดวัฒนธรรมของสังคมเป็นหลักในการกำหนดวิชายากง่ายให้ต่อเนื่องเป็นลำดับ
การวัดผลประเมินผล =  เน้นการทดสอบการจดจำความรู้, หลักการ
เป้าหมาย              =  ถ่ายทอดความรู้ ความดีงาม
สรุป : แนวคิดนี้เป็นปรัชญาสารัตถนิยม(Essentialism)


กลุ่มที่ 4  
การศึกษา              =  การพัฒนาและปฎิรูปสังคมและตนเอง
ครู                       =  ผู้ชักจูงโน้มน้าวให้เปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคม(นักปฏิรูป)
นักเรียน                 = นักคิดระดับโลก, นักปฏิบัติ,นักวิจัย, นักปฏิรูปท้องถิ่น
การเรียนการสอน      = ใช้วิธีการสร้างสรรค์ และวางแผนแสวงหาความเป็นระเบียบและเอกภาพในสังคมที่สับสน
หลักสูตร                = ทักษะการเรียนรู้, ยึดอนาคตเป็นหลัก เพื่อสร้างสันติสุขของโลก
โรงเรียน                 = ที่ฝึก-ทดลอง-วิจัย-ประชุมเพื่อการเปลี่ยนแปลง, ต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงและต้องมีบทบาททางการเมือง
การวัดผลประเมินผล  = ประเมินจากผลลัพธ์การปฏิบัติ, การปฏิรูป, นวัตกรรม
เป้าหมาย               = เพื่ออนาคตของสังคม ใช้อนาคตเป็นศูนย์กลางในการเรียน
สรุป : แนวคิดนี้เป็นปรัชญาบูรณาการนิยม,ปฏิรูปนิยม(Reconstractionism)


กลุ่มที่ 5  
การศึกษา              =  การเรียนรู้, การค้นพบตัวเอง,เข้าใจตนเอง
ครู                       =  ผู้กระตุ้น, ผู้จัดการเรียนรู้
นักเรียน                 =  ผู้ใฝ่รู้, ผู้เรียนรู้
โรงเรียน                =  ที่ฝึกการเรียนรู้, ที่เตรียมสถานการณ์หรือสภาพปัญหาให้ฝึกเรียนรู้
การเรียนการสอน      =  ใช้วิธีถาม–ตอบ คำถามบางครั้งไม่มีคำตอบ มีเสรีภาพในการตอบ
หลักสูตร                =  สาระการเรียนรู้, เรียนจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ประสบการณ์รอบตัว
การวัดผลประเมินผล   = สะท้อนความเป็นตัวเอง หรือแนวคิดออกมาทางกระบวนการสื่อสาร,การปฏิบัติ
สรุป : แนวคิดนี้เป็นปรัชญาอัตถิภาวะนิยม(Existentialism)


สรุปอีกครั้ง  ผมได้ลองสอนปรัชญาในขอบเขต “ ปรัชญาเป็นวิชาว่าด้วยการคิด”   นักปรัชญาก็คือนักคิด   ปรัชญาก็คือแนวความคิด    แต่นักปรัชญาต่างกับนักคิดโดยทั่วไป  หรือนักฝัน  ตรงที่นักปรัชญาจะคิดอะไรต้องมีหลักเหตุผล(ตรรกะ) และหลักความเป็นไปได้ตรวจสอบ ได้ผลดีมาก  ก็จึงขอโอกาสแนะนำคนรุ่นหลังต่อไป

อย่างนี้วิชาปรัชญาจะไม่เกิดความคลุมเครือ หรืองง  ทำให้คนเรียนโง่ เพี้ยนคุยกับใครไม่รู้เรื่อง หรือเป็นบ้าอีกเป็นแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น