วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กลยุทธ์การสอนอ่านภาษาไทย


                                                         กลยุทธ์การสอนอ่านภาษาไทย

                                                                        

     กลยุทธ์การสอนอ่านไทยนี้ เป็นบทความที่เรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์ในการสอนและการวิจัยเชิงทดลองในการแก้ปัญหาการอ่านหนังสือไม่ออกของนักเรียนชั้นประถมฯ (แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับคนในวัยอื่นๆ ที่ประสบปัญหาการอ่านไม่ออกได้ด้วย) 

เอกสารชุดนี้จะนำเสนอตั้งแต่ขั้นตอนการสอน เทคนิคการสอนที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้รวดเร็วและสัมฤทธิผล รวมตลอดถึงวิธีการทดสอบความสามารถในการอ่านของผู้เรียน โดยเขียนเป็นตอนสั้นๆ รวม 12 ตอน ดังต่อไปนี้ 

ตอนที่ 1: หลักการสอนพยัญชนะ 
ตอนที่ 2: การสอนสะกดคำโดยใช้หลักการเชื่อมโยงความรู้ 
ตอนที่ 3: ประโยชน์ของการฝึกสังเกตรูปร่างของสระต่างๆ 
ตอนที่ 4: การจัดเนื้อหาอย่างเหมาะสม 
ตอนที่ 5: การจัดแบบฝึกอย่างเหมาะสม 
ตอนที่ 6: ขั้นตอนการสอนอ่านสะกดคำ 
ตอนที่ 7: การสอนระดับเสียงของคำเป็น-คำตายอย่างง่ายๆ 
ตอนที่ 8 : การจัดลำดับการสอนอย่างเหมาะสม 
ตอนที่ 9 : หลักการสอนสระที่มีรูปซับซ้อน 
ตอนที่ 10: หลักการสอนสระเปลี่ยนรูป 
ตอนที่ 11: หลักการสร้างแบบทดสอบความสามารถในการอ่านสะกดคำ 
ตอนที่ 12: บทสรุป 


ตอนที่ 1: หลักการสอนพยัญชนะ 
ในระยะเริ่มต้นของการสอนอ่านไทย หากเด็กยังไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพยัญชนะ ควรเริ่มสอนพยัญชนะเพียง 28 ( หรือไม่เกิน 30 ) ตัว เท่านั้น โดยสอนคราวละ 1-2 ตัว เรียงลำดับจากพยัญชนะที่มีรูปไม่ซับซ้อน ไปหารูปที่ค่อนข้างยาก และตัวที่มีรูปร่างคล้ายๆกันควรสอนต่อเนื่องกัน 

ตัวอย่างเช่น เริ่มจาก ง , บ-ป , พ-ฟ, ท, ว, ร, ก-ถ, อ-ฮ, ย, จ, ม, น-ฉ, ด-ต, ค-(ศ), ล-ส, ข-ช, (ฃ)-ซ, ผ-ฝ, ห เป็นต้น แต่ไม่มีความจำเป็นต้องสอนจนครบทั้ง 44 ตัว ก่อนเริ่มการสอนสะกดคำ เพราะนอกจากจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่งแล้ว เด็กยังอาจเกิดความสับสนขึ้นเนื่องจากรูปพยัญชนะที่ค่อนข้างยาก ประกอบกับเสียงที่ซ้ำๆกัน เช่น ด-ฎ อีกด้วย 

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก่อนการสอนสะกดคำ คือ การให้เด็กสามารถออกเฉพาะเสียงโดยไม่ออกชื่อของพยัญชนะ เช่น ตัว "ต" เด็กต้องฝึกออกเฉพาะเสียง "ตอ" โดยไม่เรียกว่า " ตอ - เต่า " เพราะการเรียกทั้งชื่อและเสียงของพยัญชนะควบคู่กันจะเป็นอุปสรรคในการฝึกสะกดคำ 


ตอนที่ 2 : การสอนสะกดคำโดยใช้หลักการเชื่อมโยงความรู้ 
โดยปกติ เมื่อเรากำลังเริ่มเรียนรู้เรื่องใด กระบวนการในสมองจะทำการค้นหาว่า เราเคยรู้เรื่องที่คล้ายๆกันมาก่อนหรือเปล่า หลังการค้นหา "สมอง" จะทำการเทียบเคียงและเรียนรู้ จากนั้นจะบันทึกข้อมูลใหม่รวมเข้าไว้กับข้อมูลเดิม กระบวนการนี้เรียกว่า "หลักการเชื่อมโยงการเรียนรู้" 

เราสามารถนำหลักการดังกล่าวข้างต้นมาใช้ประโยชน์ในการสอนอ่านสะกดคำได้โดย เมื่อจะสอนความคิดรวบยอดเรื่องใด ให้เริ่มต้นด้วยการสอน"คำ" ที่ประสมด้วยสระตัวนั้น หรือตัวสะกดตัวนั้น และควรใช้คำที่เด็กคุ้นเคย เช่น จะสอนสระ-า ก็ควรสอนคำว่า "ตา" ให้เด็กใช้จำเป็นหลักไว้ [ เรียกคำเหล่านี้ว่า "คำหลัก"(Key Word)ของความคิดรวบยอดเรื่องนั้น ] ทั้งนี้เพื่อให้เด็กรู้จักรูปร่าง ตำแหน่งการวางสระ และการออกเสียง ต่อไปเมื่อเด็กพบคำใหม่ที่เป็นความคิดรวบยอดลักษณะเดียวกันอีก ก็จะสามารถนำความรู้เดิมมาใช้อ่านคำใหม่ได้อย่างถูกต้อง 


ตอนที่ 3 : ประโยชน์ของการฝึกสังเกตรูปร่างของสระต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
เรามักพรรณนาลักษณะของบางสิ่งโดยเปรียบเข้ากับลักษณะเด่นของอีกสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ ลองมาวิเคราะห์ว่า เราได้ประโยชน์อะไรจากการจับคู่เปรียบเทียบเหล่านั้น 

ประการแรก ก่อนที่จะเทียบสิ่งใดเข้าด้วยกัน เราต้องสังเกต พินิจพิจารณาสิ่งนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน จากนั้นสมองจะจินตนาการเชื่อมโยงว่า ลักษณะเด่นของมันคล้ายกับสิ่งใด

ประการที่สอง การเปรียบเทียบทำให้อธิบายลักษณะต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เป็นผลให้เข้าใจตรงกัน

จากประโยชน์สองประการข้างต้น เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสอนอ่าน-เขียนภาษาซึ่งเป็นรูปร่างสัญลักษณ์ได้เป็นอย่างดี โดยทุกครั้งที่สอนสระตัวใหม่จะต้องให้เด็กสังเกตรูปร่างลักษณะ และควรกระตุ้นให้เด็กสร้างจินตนาการเทียบเคียงเข้ากับสิ่งที่เขารู้จักดีอยู่แล้ว เช่น สระ-า คล้าย …( ไม้เท้า ฯลฯ )… สระ อิ คล้าย …( ภูเขา ฯลฯ ) … 

นอกจากนี้ ยังต้องฝึกให้พิจารณารูปสระตัวนั้นๆ อย่างละเอียด เพื่อที่จะสามารถแยกแยะความแตกต่างของสระแต่ละตัวได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะสระที่มีรูปร่างคล้ายๆ กัน เช่น สระ อิ , อี ,อือ เป็นต้น 


ตอนที่ 4 : การจัดเนื้อหาอย่างเหมาะสม 
ในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ใดๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เรียนที่อายุน้อยหรือยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ผู้สอนไม่ควรจัดเนื้อหาในแต่ละชั่วโมงให้มากจนเกินไป แต่ควรจัดให้มีเพียง 1-2 ความคิดรวบยอด(Concept ) ต่อการเรียนการสอนแต่ละครั้งเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความสับสนในการจัดระบบการเรียนรู้ 

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องจัดลำดับการสอนเรียงจากง่ายไปหายาก และจะต้องพิจารณาในแง่มุมของการเชื่อมโยงความรู้ด้วยว่า ต้องจัดลำดับให้ไม่ขัดขวางกระบวนการถ่ายโยงการเรียนรู้ แต่ควรต้องเอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ควรสอนสระ เ- ก่อนสระ แ- และสอนสระ แ- ก่อนสระ แ-ะ ทั้งนี้โดยพิจารณาจากรูปสระที่มีองค์ประกอบน้อยไปยังรูปที่ซับซ้อนมากขึ้น ๆ เป็นต้น 


ตอนที่ 5 : การจัดแบบฝึกอย่างเหมาะสม 
ในการสอนอ่านแต่ละเรื่องจะต้องจัดแบบฝึกให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่สอน กล่าวคือ ถ้าเรากำลังสอนเนื้อหาเกี่ยวกับความคิดรวบยอดเรื่องใด ก็ต้องไม่นำคำที่ประสมสระอื่น หรือมีตัวสะกดอื่น ที่เด็กยังไม่เคยเรียน มาปะปนอยู่ในแบบฝึก แต่สามารถนำคำที่ประสมด้วยสระหรือมีตัวสะกดที่เรียนผ่านไปแล้วในบทก่อนๆมาใช้ได้

ดังนั้น ในการคัดเลือกวงคำศัพท์มาใส่ไว้ในแบบฝึกแต่ละบท ผู้สอนจึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้โดยคำนึงถึงลำดับก่อน-หลังของการสอนนั่นเอง 

ตัวอย่างแบบฝึกอ่านบทที่ 1* ( สระ –า ) บทนี้ควรมีเฉพาะคำที่ประสมสระ –า แต่ไม่มีสระอื่นๆเลย เนื่องจากเป็นบทเรียนแรก แบบฝึกอ่าน ทายา ราคา วาจา ดารา ยาชา อาปากา อาทายา อาลาตา ตาพาดารามานา 


ตอนที่ 6 : ขั้นตอนการสอนอ่านสะกดคำ 
เคยถูกฝรั่งถามว่า " พวกคุณอ่านภาษาไทยกันได้อย่างไร ตัวอักษรมันติดกันไปหมด “ เมื่อพิจารณาตามที่เขาตั้งข้อสังเกต ก็รู้สึกอยู่เหมือนกันว่า แบบแผนการเขียนของภาษาไทยอ่านไม่ได้ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ” คนที่เพิ่งเริ่มเรียน “ ซึ่งอย่าว่าแต่การอ่านประโยคยาวๆ เลย แม้เพียงการอ่านคำประสมที่ประกอบด้วยคำเพียง 2 คำ ก็นับเป็นเรื่องยุ่งยากทีเดียว ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ( ผู้เขียนเคยสอนอ่านไทยให้แก่ชาวต่างชาติก็พบปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ ) 

ดังนั้น การสอนอ่านไทยจึงควรปฏิบัติตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้ 1) สอนการสะกดคำเดี่ยว ๆ 2) สอนการสะกดคำประสม โดยในช่วงแรกอาจช่วยให้ผู้เรียนสะกดง่ายขึ้น ด้วยการปิดตัวหนังสือให้เหลือทีละคำ แล้วจึงอ่านรวมคำ 3) สอนการอ่านวลีหรือประโยคสั้น ๆ ที่เด็กคุ้นเคย ทั้งนี้อาจใช้เทคนิคง่าย ๆ โดยนำวลี หรือประโยคที่เป็นชื่อเพลง ภาพยนตร์ ละครหรือรายการที่ได้รับความนิยมทางโทรทัศน์มาฝึกให้เด็กอ่านในช่วงแรก ๆ ของการฝึกลองดู แล้วคุณจะได้ภูมิใจที่ฝึกให้เด็กไทยทำบางสิ่งได้อย่างที่ฝรั่งยังรู้สึกแปลกใจ 


ตอนที่ 7 : การสอนระดับเสียงของคำเป็น-คำตายอย่างง่ายๆ 
เนื่องจากบางครั้งเด็กบางคนจะสับสนในการออกเสียงคำที่ประสมสระเสียงสั้น เช่น ยุ ออกเสียงเป็น หยุ ซึ่งปัญหานี้มีแนวทางแก้ไข ดังนี้ 

1) สอนให้รู้ว่า พยัญชนะไทยแบ่งออกเป็น 3 พวก ( หลักภาษาเรื่องอักษร 3 หมู่ ) โดยสอนด้วยภาษาง่ายๆ และควรทำแผนภูมิที่แบ่งให้เห็นอย่างชัดเจนมาใช้ประกอบการสอน

2) สอนให้รู้ว่า คำที่ประสมสระเสียงสั้นหรือสะกดด้วยแม่ กก กด กบ ( ที่เรียกว่า “ คำตาย “ ) เมื่อไม่มีรูปวรรณยุกต์ จะมีระดับเสียงของคำที่พยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางและอักษรสูงเท่ากัน แต่จะแตกต่างจากอักษรต่ำ เช่น กุ ฉุ ยุ , กาด ขาด คาด

ในทางตรงกันข้าม คำที่ประสมสระเสียงยาวหรือสะกดด้วยแม่ กง กน กม เกย เกอว ( ที่เรียกว่า “ คำเป็น “ ) เมื่อไม่มีรูปวรรณยุกต์ จะมีระดับเสียงของคำที่พยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางและอักษรต่ำเท่ากัน แต่จะแตกต่างจากอักษรสูง เช่น กา คา ขา , กาน คาน ขาน 

ทั้งนี้ควรสอนเรื่องนี้อย่างสั้นๆ ง่ายๆ โดยอาจใช้วิธีการเทียบเสียงของอักษร 3 หมู่ ให้เป็นตัวอย่างก่อนการฝึกอ่านแต่ละบท 


ตอนที่ 8 : การจัดลำดับการสอนอย่างเหมาะสม 
ต่อเนื่องจากตอนที่ 7 ที่ว่า เด็กหลายคนจะออกเสียงคำที่ประสมสระเสียงสั้นเพี้ยนไป เช่น ชะอม เป็น ฉะ-อม แต่หากท่านเคยมีประสบการณ์การสอนอ่านไทยให้แก่เด็กเล็กๆ จะพบว่า เด็กมักอ่านคำที่ประสมสระเสียงยาวในแม่ ก กา ได้โดยไม่ค่อยผิดเพี้ยน ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเนื่องมาจากเสียงของพยัญชนะไทย เช่น กอ , ขอ , คอ ฯลฯ เป็นเสียงที่มีสระ –อ ซึ่งเป็นสระเสียงยาวประสมอยู่ 

ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่เราทั้งหลายจะคุ้นชินกับระดับเสียงที่แตกต่างกันในลักษณะของ “ คำเป็น” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำที่ไม่มีตัวสะกด ( ทบทวนเรื่อง “ ระดับเสียงของ คำเป็น-คำตาย “ ได้จากตอนที่ 7 ) 

ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงควรจัดลำดับการสอนโดยเริ่มจากคำในแม่ ก กา ที่ประสมสระเสียงยาวที่มีรูปไม่ซับซ้อนก่อนสระเสียงสั้น หลังจากนั้นจึงสอนบทเรียนที่มีความคิดรวบยอดซับซ้อนมากขึ้น ๆ ตามลำดับ 


ตอนที่ 9 : หลักการสอนสระที่มีรูปซับซ้อน 
สิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งของสมอง(คนปกติ) คือ เมื่อใดก็ตามที่เราจัดกระบวนการจำเรื่องใดอย่างเป็นระบบและพยายามท่องจนติดปากแล้ว ทันทีที่เราต้องการใช้ความรู้เรื่องนั้น เราจะสามารถดึงมันออกจากสมองได้ราวกับเปิดหาของในลิ้นชักที่จัดไว้อย่างเป็นระเบียบทีเดียว เราสามารถนำเทคนิคการจำนี้มาใช้

ประโยชน์ในการสอนสระที่มีรูปซับซ้อนได้ โดยเริ่มต้นจากการจุดประกายความสนใจให้เด็กสังเกตรูปร่างของสระนั้นๆอย่างละเอียด แล้วให้หลักการจำสั้นๆ ซึ่งอาจแต่งเป็นเพลงหรือคำท่องเป็นสูตรสั้นๆ เช่น เ- กับ –า เป็น เ-า หรือ เ- , อื , -อ รวมเรียกสระ เอือ เป็นต้น

เมื่อพบสระที่มีรูปซับซ้อนเหล่านี้อีก คุณสามารถทบทวนความจำของเด็กๆ ได้โดยพูดนำท่อนแรกตามสูตรที่เคยฝึกให้ท่อง เด็กส่วนใหญ่มักจะกล่าวต่อคำท่องส่วนที่เหลือได้อย่างถูกต้องแม่นยำจนน่าพอใจ 


ตอนที่ 10 : หลักการสอนสระเปลี่ยนรูป 
สระหลายตัวในภาษาไทยจะมีรูปเปลี่ยนไปเมื่อมีตัวสะกด เช่น สระ โ-ะ จะเปลี่ยนเป็นไม่มีรูป อย่างในคำว่า “ นก “ เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนรูปของสระเหล่านี้ สร้างความสับสนให้แก่เด็กพอสมควรทีเดียว 

ในการสอนอ่านจึงต้องหาทางแก้ไขปัญหานี้ จากประสบการณ์พบว่า อาจแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้โดย ใช้นิทานที่ผูกเรื่องให้สอดคล้องกับเนื้อหาและใช้อุปกรณ์ที่ช่วยอธิบายหลักภาษาอย่างง่ายๆมาประกอบการเล่า เช่น หากจะสอนการเปลี่ยนรูปของสระ เ-อ ที่มีตัวสะกดในแม่เกย ก็อาจเล่านิทานเรื่อง “ ยักษ์ซุ่มซ่าม “ ที่รีบร้อนวิ่งมายืนหลัง “ –อ “ ( ที่อยู่ส่วนท้ายของสระ เ-อ ) ตะบองของยักษ์จึงแกว่งไปโดน “ อ่าง “ อย่างแรงจนแตก เป็นเหตุให้ สระ เ-อ ที่เจอกับ ย.ยักษ์ ( มี “ ย “ เป็นตัวสะกด ) เหลือรูปเพียง “ เ- “ เท่านั้น อย่างในคำว่า “ เงย “ เป็นต้น 


ตอนที่ 11 : หลักการสร้างแบบทดสอบความสามารถในการอ่านสะกดคำ 
การสร้างแบบทดสอบความสามารถในการอ่านสะกดคำ ควรยึดหลักสำคัญๆ ดังต่อไปนี้ 

1) คำที่ใช้ในการทดสอบ ต้องเป็นคำที่ไม่ “คุ้นตา“ (ไม่ใช้คำที่เด็กเห็นบ่อยๆ จนอาจจำได้แม้จะอ่านไม่ออก)

2) แบบทดสอบที่สร้างขึ้น ต้องครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการอ่านคำพื้นฐานทั้งหมด ได้แก่ สระทุกรูป ตัวสะกดทุกมาตรา การผันเสียงวรรณยุกต์ของอักษรทุกหมู่ เป็นต้น 

3) แบบทดสอบแต่ละข้อ จะต้องใช้วัดและชี้บ่งปัญหาได้อย่างชัดเจนว่า เด็กอ่านไม่ได้เพราะไม่เข้าใจเรื่องใด เช่น จะวัดความสามารถในการอ่านคำที่ประสมสระ เ- ก็ควรเลือกคำที่ประสมสระ เ- ในแม่ ก กา แต่ไม่ควรเลือกใช้คำที่มีตัวสะกดด้วย เพราะถ้าเด็กอ่านคำที่มีตัวสะกดไม่ได้ เราจะไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่า เด็กไม่เข้าใจเรื่อง “ สระ “ หรือ เรื่อง “ ตัวสะกด “ 

4) คำที่ใช้ในการทดสอบ ควรเลี่ยงตัวอักษรที่มีรูปหรือเสียงคล้ายกับตัวอื่น เช่น พ-ฟ , ผ-ฝ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ ร.เรือ “ ทั้งนี้เพื่อความเป็นปรนัยและเที่ยงตรงในการวัด 

5) ควรจัดลำดับข้อของแบบทดสอบให้มีลักษณะเป็นคู่ขนานกับการจัดลำดับก่อน-หลังของการสอน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในขั้นดำเนินการสอนว่า เด็กควรได้รับการซ่อมเสริมในเรื่องใด นอกจากนี้ ก่อนจะวัดความสามารถในการอ่านคำ ควรทำการวัดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพยัญชนะ โดยใช้รายการพยัญชนะที่ไม่เรียงลำดับ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการตอบโดยอาศัยการท่องจำ 


ตอนที่ 12 : บทสรุป 
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า " การอ่านได้ " เป็นเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่โลกของการเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆอีกมากมายทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน 

นอกจากนี้ " การอ่านไม่ได้ " ยังมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของบุคคล นับตั้งแต่ การอ่านป้ายประกาศต่างๆ การอ่านฉลากยา การอ่านเอกสารสัญญา ฯลฯ 

ที่กล่าวมานี้ เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า “ การอ่านไม่ออก “ เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่อาจละเลย แต่ควรอย่างยิ่งที่จะร่วมกันหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไข เพราะความสามารถในการอ่านเป็นเสมือนเครื่องมือชิ้นสำคัญในการแสวงหาวัตถุดิบมาป้อนกระบวนการผลิตองค์ความรู้ของเด็ก ดังนั้น แต่ละวันที่เรายังไม่ลงมือแก้ปัญหาการอ่านไม่ได้ของเด็ก ก็เปรียบเสมือนเรากำลังบั่นทอนขั้นตอนการสร้างผลผลิตที่มีค่ายิ่งของสังคม 

ในขณะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน นอกจากจะต้องเร่งกอบกู้และสร้างเศรษฐกิจของชาติให้แข็งแกร่งแล้ว เราก็ควรให้ความสำคัญกับ “ การสร้างคน “ อันเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศให้เป็นคนที่ดีและมีความสามารถควบคู่กันไปด้วย จึงจะนับเป็นการสร้างรากฐานอันมั่นคงให้แก่สังคมอย่างแท้จริง 

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการอ่าน-เขียนไม่ได้ อันเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาการเรียนรู้ของบุคคล มาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆแก่สังคมไทย โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การสอนการแก้ไขปัญหาฯ เพื่อช่วยกันเปิดโอกาสแห่งการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆของเรากันเถิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น