วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"ตัวการ" ที่ทำให้การจัดการศึกษาไทยล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ


           ผมตั้งใจว่าจะเขียนถึงความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้มีคุณภาพ  โดยจะชี้ให้เห็นถึงสาเหตุปัจจัยหลักที่สำคัญมาก  ซึ่งเกิดจากการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีระบบกระบวนการขั้นตอนการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ  แต่ยังไม่ได้ลงมือเขียนเป็นเรื่องเป็นราว  ก็พอดีมีการประกาศผลการทดสอบ O-net ให้สาธารณชนรับทราบ  และหลังจากนั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางหลากหลายมุมมอง  ซึ่งผมเห็นว่ามีประเด็นที่ผมกำลังจะเขียนถึงอยู่หลายประเด็น  ผมจึงรอเวลาให้เปิดภาคเรียนการศึกษาใหม่  จึงค่อยเขียนตามประสบการณ์และการเรียนรู้ของผม  เพื่อเป็นของขวัญแก่ครูที่ต้องการพัฒนาคุณภาพกระบวนการจัดการเรียนรู้ของตนเอง   และตั้งใจฝึกให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างจริงจัง 


          แต่เพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นประเด็นต่างๆ ตามที่ท่านเหล่านั้นให้สัมภาษณ์หรือเขียนบทความไว้อย่างหลากหลายทางสื่อสารมวลชน  เกี่ยวกับสภาพปัญหาว่าทำไมผลการสอบ O-net  ถึงได้ล้มเหลวและตกต่ำ ผมสรุปได้ ๕ กลุ่ม ดังนี้


กลุ่มที่ ๑  คิดและเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้การทดสอบ "โอเน็ต-แกต-แพต" คะแนนต่ำ เพราะข้อสอบยาก/เนื้อหาที่โรงเรียนสอนกับข้อสอบที่ออกมาไม่ตรงกัน  และคำตอบในข้อสอบมีความเป็นไปได้เกือบทุกข้อ โจทย์หลอกเยอะ  รวมทั้งข้อสอบเน้นการคิดวิเคราะห์มากเกินไป (๑)


กลุ่มที่ ๒  คิดและเชื่อว่าผลการสอบโอเน็ต  ไม่สามารถวัดได้ครอบคลุมประเมินมาตรฐานความรู้พื้นฐาน  เพราะข้อสอบบางข้อคลุมเครือ บางเรื่องที่เป็นข้อคำถาม และตัวเลือกไม่ใช่เรื่องที่รับรู้ทั่วไป  และข้อสอบก็ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการตรวจหาคุณภาพข้อสอบก่อนนำไปใช้  ว่ามีความยากง่าย ค่าอำนาจจำแนก หรือมีความเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใด  รวมทั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติพยายามปรับเปลี่ยนระบบการจัดสอบ ข้อสอบที่ออก วิธีการทำข้อสอบหลายรูปแบบ ให้แปลกแหวกแนวไม่เหมือนกันแต่ละปี  เพราะกลัวเด็กจะทำข้อสอบได้ (๒)


กลุ่มที่ ๓  คิดและเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้การทดสอบ "โอเน็ต-แกต-แพต" คะแนนต่ำ เพราะโรงเรียนมีปัญหามาจากไม่มีครูเก่ง  ขาดแคลนครู จึงต้องใช้ครูอัตราจ้างที่มีความรู้ไม่เพียงพอมาช่วยสอน  ส่งผลให้นักเรียนมีความรู้ไม่แน่นพอ  เด็กนักเรียนจึงต้องไปเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม  รวมทั้งเกิดจากครูที่สอนจริงๆ ไม่ใช่คนออกข้อสอบ แต่คนที่ออกข้อสอบกลับเป็นผู้ที่นั่งอ่านตำราแล้วมาออกข้อสอบ จึงไม่ตรงตามเนื้อหาสาระการเรียนรู้ (๗)  


กลุ่มที่ ๔  ผลคะแนนการสอบโอเน็ตเชื่อถือได้  สามารถเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เป็นอย่างดี  แต่การที่ผลคะแนนต่ำนั้น เกิดจากกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูและโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงตามหลักสูตร และจุดประสงค์ที่มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกำหนด (๔,๕,๖)


กลุ่มที่ ๕ ไม่เห็นด้วยที่จัดให้มีการทดสอบโอเน็ต เพราะเชื่อว่าการที่กระทรวงศึกษาธิการทำอย่างนี้  จะทำให้โรงเรียนและครูส่วนมากมุ่งเน้นแต่คิดหรือไปเก็งว่าข้อสอบโอเน็ต/แกต/แพต จะออกอะไร ออกอย่างไร แบบไหน  เพื่อให้นักเรียนทำข้อสอบได้เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพื่อผลในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย  เพื่อชื่อเสียงของโรงเรียน  และเพื่อให้โรงเรียนผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่ สมศ.กำหนด   ซึ่งแทนที่ครูและโรงเรียนจะคิดหาวิธีอย่างไร จึงจะสอนให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการเผชิญกับปัญหาต่างๆของชีวิตอย่างมีความสุข รู้เท่าทัน และฉลาดในการคิดแก้ไข  หรือเพื่อจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ ให้สามารถดำเนินการอย่างที่ครูผู้สอนคิดวางแผนไว้ (๓) 


ตามทัศนะและประสบการณ์ของผม ผมจัดอยู่ในพวกกลุ่มที่ ๔   เพราะครูร้อยละ ๙๕  ที่ผมได้เห็น ได้เรียน ได้สัมผัสมาตลอดอายุผม  รวมทั้งได้เคยกำกับ ควบคุม ติดตาม ประเมินผล และนิเทศชี้แนะ  ผมเห็นแต่พวกอธิบายตามหนังสือ  ตำราเรียน  หรือโม้ไปวันๆ  ไม่เคยฝึกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการขั้นตอนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพแต่ประการใด   มีแต่การสั่งให้ทำ  หรือบังคับให้ทำ  เมื่อทำเสร็จก็แค่รับทราบ (ลงชื่อว่าตรวจแล้ว แต่ไม่เคยอ่านอย่างละเอียด) ไม่มีการประเมินผล หรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นระบบ


ยกตัวอย่างครูภาษาไทยของผม เช่น  การเขียนเรียงความ  ตั้งแต่ผมเป็นนักเรียน นักศึกษา และเป็นครูเอง ก็เห็นแต่ครูส่วนมากมักสั่งให้เขียนตามหัวข้อหรือเรื่องที่ครูให้  แล้วกำชับว่าให้เขียนเพียง ๑ หน้ากระดาษ นานๆทีก็จะมีครูที่ดีบ้างอธิบายให้รู้ว่า การเขียนเรียงความต้องมี ๓ ย่อหน้า  แต่ที่จะสอนให้รู้และฝึกตามกระบวนการขั้นตอนการเขียนเรียงความไม่เคยเห็นปรากฏต่อสายตา หรือได้ยินกับหูให้ประจักษ์สักครั้งเดียว  ซึ่งตามหลักการกระบวนการขั้นตอนการเขียนเรียงความ  ต้องมีอย่างน้อย ๕ ขั้นตอน คือ  ๑. ฝึกให้นักเรียนกำหนดจุดประสงค์ของการแต่งเรียงความ   ๒. ฝึกวางโครงเรื่อง  ๓. ฝึกการขึ้นต้น  เนื่อเรื่อง และจบเรื่อง  ๔. ฝึกการใช้สำนวนโวหารในการแต่ง  ๕. ฝึกการตั้งชื่อเรื่อง
   

โดยเฉพาะขั้นตอนที่ ๒ สำคัญมากในการเขียนเรียงความ  ผมไม่เคยเห็นครูคนใดในชีวิตผมที่ฝึกนักเรียนให้หัดวางโครงเรื่องก่อนเขียนเลย  มีแต่ลงมือเขียนเลยตามความคิดความรู้สึกของตนเอง  แล้วค่อยมาขัดเกลาสำนวนทีหลัง  ซึ่งส่วนมากผมเรียกการเขียนชนิดนี้ว่า “การเขียนตามจินตนาการ”  ไม่ใช่  “เรียงความ” ตามที่ครูเขาบอก  เขาว่า


ยังมีตัวอย่างอีกหลายเรื่อง  ทั้งการย่อความ  การสรุปความ  ครูส่วนมากยังแยกไม่ออกเลยว่า การย่อความ และสรุปความต่างกันอย่างไร  มีขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ หรือการฝึกต่างกันอย่างไร  รวมทั้งการสอนสะกดคำ  ทุกวันนี้ครูส่วนมากยังไม่รู้ตัวและเข้าใจว่าตัวเองสอนให้นักเรียนอ่านสะกดคำแบบผิดๆ จึงทำให้นักเรียนอ่านหนังสือไม่เก่ง  เพราะครูไปเอาหลักการสอนสะกดคำเพื่อเขียน  มาสอนสะกดคำเพื่ออ่าน   มีอีกเยอะในวิชาภาษาไทย พรรณนาไม่หมดหรอกครับ  เอาไว้ว่างๆจะเขียนถึงเรื่องการสอนภาษาไทยที่ผิดๆ โดยเฉพาะ  คราวนี้ท่านพอรู้ถึงสาเหตุหรือยังครับว่า  ทำไมวิชาภาษาไทยเป็นภาษาของเรา เป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันแท้ๆ  แต่ผลการสอบโอเน็ตไม่ว่าจะเป็นระดับประถม หรือมัธยมก็ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ เสมอทุกปี  ก็เพราะครูภาษาไทยไม่รู้จักกระบวนการขั้นตอนการเรียนรู้หรือฝึกในแต่ละเรื่อง ถ้าครูภาษาไทยอยากรู้รายละเอียดกระบวนการขั้นตอนการฝึกภาษาในแต่ละเรื่อง ลองไปศึกษาดูได้ที่คู่มือการจัดสาระการเรียนรู้ภาษาไทยตามหลักสูตร ปี ๒๕๔๔ ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (เล่มสีฟ้า) ตั้งแต่หน้า ๑๒๗ เป็นต้นไป


การสอนวิทยาศาสตร์  ขอยกตัวอย่างระดับประถมศึกษา ครูยังไม่รู้ตัวเองว่าการสอนวิทยาศาสตร์ระดับนี้  จุดประสงค์ไม่ใช่สอนเนื้อหา  แต่ต้องการให้ฝึกนักเรียนมีทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ๑๓ ประการ    (เชื่อไหมครับ  ผมเคยลองสอบถามครูที่สอนวิทยาศาสตร์ระดับนี้ว่า  กระบวนการวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ๑๓ ประการมีอะไรบ้าง ส่วนมากตอบว่าไม่รู้  บางคนก็ไปเอากระบวนการวิทยาศาสตร์ ๕ ขั้นตอนมาตอบแทนก็มี)   ส่วนระดับมัธยมเพื่อให้รู้จักและมีนิสัยตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ ๕ ขั้น  แล้วจะให้ผมไว้ใจและเชื่อใจครูไทยส่วนมากว่ามีคุณภาพได้อย่างไร   นี่คือผลสรุปว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมและระดับอุดมศึกษาทำไมถึงไม่สามารถสร้างนักวิทยาศาสตร์ให้เมืองไทยได้  ก็เพราะไม่ได้สอนให้เป็นนักวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่พื้นฐานแล้ว


ส่วนครูคณิตศาสตร์ก็ไม่ทราบว่า  การฝึกให้นักเรียนมีทักษะการคิดคำนวณ  กับทักษะแก้โจทย์ปัญหา  รวมทั้งทักษะการนำไปใช้ต่างกันอย่างไร  มีขั้นตอนกี่ขั้น  มีทฤษฏีการสอน หรือหลักการสอนเรื่องนี้อะไรบ้าง เวลาสอบถามมักอ้างว่าลืมไปแล้ว  ถึงว่านักเรียนชั้นมัธยม  พอถามว่า ½ + ¼ = ?   ส่วนหนึ่งตอบหน้าตาเฉยเลยว่า  เศษ 2 ส่วน 6 ครับ   นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนตกวิชาคณิตศาสตร์   เพราะพื้นฐานการเรียนในระดับต้นๆไม่แน่น ไม่เพียงพอที่จะเรียนในหลักสูตรที่สูงขึ้นไป   รวมทั้งนักเรียนไม่เข้าใจความหมาย(นิยาม)ทางคณิตศาสตร์แต่ละเรื่องอย่างแท้จริง  จะมีครูกี่คนที่พยายามศึกษาความรู้ก่อนเรียน เพื่อปรับพื้นฐานให้กับนักเรียน  เฮ้อ ! 


ส่วนครูภาษาอังกฤษ ที่สอนไม่ได้ผล ไม่ใช่เพราะครูไม่ยอมเปลี่ยนวิธีสอน ไม่มีกิจกรรมใหม่ๆ ตามที่ศูนย์อีริกเชื่อหรอกครับ  แต่เป็นเพราะครูภาษาอังกฤษส่วนมากรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ถึง ๕๐๐ คำ และพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แม้ประโยคง่ายๆ  ถ้าผู้อ่านไม่เชื่อ ก็ลองไปหาผลการทดสอบความรู้ครูภาษาอังกฤษมาดูสิครับ จะตกตะลึงเหมือนผมแหละครับ   ครั้งหนึ่งผมไปเป็นวิทยากรให้ศูนย์อีริกแห่งหนึ่ง  ผมก็ลองแนะนำวิทยากรและเจ้าหน้าที่ศูนย์ว่าลองเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาดูบ้าง แต่เขาไม่เชื่อกัน ผมก็เลยสาธิตด้วยการสอบถามคำศัพท์ร่างกายตั้งแต่หัวถึงเท้ากับครูในที่ประชุมแห่งนั้น  ส่วนมากบอกศัพท์หัว ผม หน้า ตา หู จมูก ปาก  มือ  แขน  ขา  เท้า  แต่หน้าผาก  คิ้ว  แก้ม  ลิ้น  บ่า หน้าอก  ท้อง  ฯลฯ บอกศัพท์ไม่ได้  ผมก็ลองวิเคราะห์ดูแล้วเห็นว่า ศัพท์ที่บอกได้มักเป็นศัพท์ที่เรียนตอนประถม  แต่ศัพท์ตอนเรียนมัธยมบอกไม่ได้เลย   ส่วนที่เป็นประโยคที่พูดได้มีแค่ ๒ ประโยค  ๑. ประโยคทักทาย   ๒. ประโยคถามว่าสบายดีไหม   แต่ให้ลองพูดประโยคในสถานการณ์อื่นๆ ส่วนมากพูดไม่ได้เลย 

นี่แหละคือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น  ผู้รับผิดชอบไม่แก้ไขปัญหาตามสาเหตุที่แท้จริง  แต่ชอบดำเนินการจัดอบรมครูให้รู้วิธีสอนใหม่ๆ  หมดเงินงบประมาณแผ่นดินไปคงราวๆ พันล้านกระมัง  ก็ ๒๐ กว่าปีแล้วนี้  ผลการสอบภาษาอังกฤษก็ยังตกต่ำกว่า ร้อยละ ๒๐ เหมือนเดิม  ผมเข้าใจเอาเองว่า  คงกลัวครูทั่วไปรับไม่ได้ละมั้ง  หรือไม่ก็กลัวรัฐบาลไม่ให้งบประมาณมาจัดอบรมครูอีก

ครั้งหนึ่งผมไปประเมินโรงเรียน  พอดีเป็นช่วงการสอบโอเน็ตวิชาภาษาอังกฤษของ ม.3 พอดี มีข้อสอบแรก ถามถึง “Watermelon”  ผมจึงสอบถามว่าคำศัพท์นี้แปลว่าอะไร กับนักเรียนทั้งห้อง เพราะผมเห็นเขาตอบในกระดาษคำตอบผิด   นักเรียนไม่รู้ จึงช่วยกันตอบว่า หมายถึง “น้ำมะนาว”  ผมจึงออกจากห้องไปโดยไม่พูดว่าผิดหรือถูก


ส่วนวิชาสังคมศึกษา  ครูผมไม่เข้าใจว่าสังคมศึกษาในระดับประถมศึกษาควรสอนอย่างไร   ระดับมัธยมควรสอนอย่างไร   พูดง่ายๆ คือ ไม่เคยเหลือบแลดูจุดประสงค์ (มาตรฐาน/ตัวชี้วัด)ของหลักสูตร  ก็เลยอธิบายไปตามหนังสือเรียน   ผมเคยยกตัวอย่างถามครูสอนสังคมศึกษาระดับมัธยมศึกษาในการประชุมพัฒนาครูหลายๆครั้ง ประมาณสัก ๓๐ ครั้งขึ้นไปได้ ว่า “...ทำไมคนภาคเหนือถึงชอบกินข้าวเหนียว...”  ส่วนมากตอบว่า เป็นเพราะวัฒนธรรมประเพณีของคนภาคเหนือบ้าง   เพราะกินอิ่มทนดีบ้าง   เพราะต้องการให้ร่างกายอบอุ่นเพื่อสู้กับอากาศหนาวเย็นบ้าง   จำได้ว่ามีครูอยู่ ๓ ท่านเท่านั้น  ที่ตอบว่าเป็นเพราะสภาพดิน  จึงทำให้ปลูกได้แต่ข้าวเหนียว   ยังมีคำถามอีกมาก  เช่น  คนภาคเหนือและคนภาคอีสาน  กินข้าวเหนียวเหมือนกัน  แต่ทำไมลักษณะจมูกคนอีสานถึงต่างกันกับคนภาคเหนือ   ทำไมคนภาคใต้จึงพูดเร็ว   ทำไมคนที่นับถือศาสนาอิสลามจึงไม่กินหมู  คนบางชาติทำไมต้องแลบลิ้นทำความเคารพ  ฯลฯ  นี่จึงเป็นสาเหตุที่เด็กจึงไม่สามารถตอบข้อสอบโอเน็ตได้  เพราะครูเองก็ไม่รู้  ไม่เคยฝึกวิเคราะห์มาเหมือนกัน   จึงทำให้การเรียนวิชาสังคมศึกษาที่มุ่งเน้นให้เข้าใจถึงความเป็นมาของคนในแต่ละถิ่น และเข้าใจถึงอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทั้งธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  มีผลต่อพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในแต่ละท้องถิ่นอย่างไร ไม่ได้ผลไงเล่าครับ  (เศร้าไหมครับ  เอวังประเทศไทย)


ส่วนวิชาการงานอาชีพ ครูผมส่วนมากก็มักให้แต่เด็กทำชิ้นงาน แต่ละเลยการฝึกฝนกระบวนการทำงาน  เจตคติการทำงาน และนิสัยการทำงานตามที่หลักสูตรกำหนด  แต่ยังดีว่าการทำงานชิ้นเป็นรูปธรรม  เห็นผลชัดเจน  จึงทำให้พอจะเกิดการพัฒนางานขึ้นมาได้บ้าง  แต่ไม่สามารถทำให้เด็กไทยชื่นชมการทำงาน  มีค่านิยมที่ดีต่ออาชีพแรงงาน


ส่วนวิชาศิลปะ  ก็คล้ายวิชาการงานอาชีพ  เพียงแต่ลืมเรื่องการพัฒนาสุนทรียภาพ  การมองสิ่งแวดล้อมให้สวยงาม  การถ่ายทอดความสวยงามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวออกมาเป็นงานศิลปะต่างๆ


ส่วนวิชาพลศึกษา ก็เน้นแต่การเล่นกีฬา ลืมไปเลยว่าเรียนและเล่นกีฬาเพื่อพัฒนาสมรรถภาพทางร่างกาย  ครูบางคนยังไม่รู้เรื่องเกณฑ์สมรรถภาพทางกายของกรมพลศึกษาว่ามีอะไรบ้างเลยครับ   สำหรับวิชาสุขศึกษา ก็เรียนแต่เนื้อหา  ลืมไปเหมือนกันว่าวิชานี้ต้องการให้รู้จักและมีนิสัยในการดูแลรักษาตนเองให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขนิสัยที่ดี  ทำแต่รายงานส่งครู


ส่วนวิชาลูกเสือ เนตรนารี  โรงเรียนส่วนมากมีวิชานี้เพื่อให้เป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรที่กระทรวงกำหนดไว้  แต่การฝึกปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอนจริงๆหายาก  มีแต่การเรียกรวมแถว  แล้วแบ่งกลุ่มไปเล่นสันทนาการ  มีครูฝึกอยู่ ๒-๓ คน  นอกนั้นยืนตามร่มไม้ชายคา  เคยถามครูว่ากฎลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญมีกี่ข้อ  พวกตอบเสียแทบฮาเลย  ว่า ๑๐ ข้อครับ


วิชาแนะแนว ก็มัวแต่สอนตามหนังสือของสำนักพิมพ์ เน้นแต่การหาที่เรียนต่อ แต่แนะแนวการเรียนแต่ละวิชา  แนะแนวอาชีพ  แนะแนวชีวิต  แนะแนวการศึกษาหายากมาก 


ขอแถมการสอนในระดับปฐมวัย  ส่วนมากครูผมชอบทำหน้าที่แค่พี่เลี้ยงเด็ก  คอยดูแลการแต่งตัว  การกิน  การนอน  การเล่น  และบางทีทำหน้าที่ผู้คุมไม่ให้เด็กวิ่งเล่น  นอกสถานที่  เพราะกลัวลูกชาวบ้านเกิดอุบัติเหตุ   เคยถามทุกครั้งเวลาไปเป็นวิทยากรบ้าง  ไปตรวจโรงเรียนบ้าง  ว่าการสอนระดับนี้  จุดประสงค์หลักคืออะไร   ส่วนมากตอบว่า  เป็นการเตรียมความพร้อม  พอถามต่อว่าเตรียมพร้อมเรื่องอะไร  ส่วนมาก็ตอบว่า เรื่องเรียนต่อระดับประถมศึกษา  นี่เองเป็นเหตุโรงเรียนระดับอนุบาล  จึงพยายามยัดเยียดให้เด็กอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ  ยิ่งถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ยิ่งทำให้ผู้ปกครองหลงนิยมชมชื่นมาก   

มีครูน้อยราย สัก ๒ % ได้มั้งที่เข้าใจว่า การจัดการศึกษาระดับนี้  มีจุดประสงค์หลักเพื่อพัฒนาการทั้ง ๔ ด้านให้สมดุล  ครูจึงมีหน้าที่สำคัญคือ สำรวจพัฒนาการทั้ง ๔ ด้านของเด็กว่าสมบูรณ์ครบทุกด้านหรือยัง  ถ้ายังก็ต้องจัดประสบการณ์ให้เด็กได้ฝึกฝนจากการปฏิบัติตามเกณฑ์และคุณลักษณะตามวัย


เป็นไงครับอ่านแล้ว  นี่แค่วงการศึกษานะครับ  แล้วอย่าคิดว่าวงการอื่นๆไม่เป็นเหมือนกัน  เช่น วงการศาสนา แม้วงการเมืองการปกครองประเทศยิ่งแล้วใหญ่  มันผิดฝาผิดตัวไปหมด ไม่มีหลัก ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีกฏเกณฑ์ที่เป็นบรรทัดฐานให้ยึดถือเป็นหลักได้  อ่านแล้วอย่าเพิ่งเศร้าใจ  หดหู่ใจไปมากนะครับ  เดี๋ยวจะเกิดการท้อแท้ ล้า เบื่อหน่ายกับการเกิดเป็นคนไทยในสังคมไทยไปก่อน   เรายังโชคดีที่เมืองไทยยังมีพระพุทธศาสนาที่แท้  ยังมีหลวงปู่ หลวงพ่อสายปฏิบัติพอให้เป็นหลักใจอยู่บ้าง ไม่เสียไปทั้งหมดหรอกครับ  ในวงการศึกษาก็ยังมีครูดีอยู่บ้าง   การสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อก็ยังพอเป็นยากระตุ้นคุณภาพได้บ้าง  รวมทั้งการจัดการศึกษา ของ มสธ.,  ม.ราม (เฉพาะปริญญาตรี) ก็เข้าทีดีครับ


แล้วคนที่คิดจะให้เลิกสอบโอเน็ตไปเลยนั้น  พอมองเห็นไหมครับว่า  แล้วเราจะกระตุ้นการศึกษาอย่างไรให้มีคุณภาพได้อย่างไร  แม้การสอบโอเน็ตยังดีไม่พอ แต่อย่างน้อยก็ยังมีการสอบที่พอมีมาตรฐานได้บ้าง  เราค่อยๆต่อยอดให้ครอบคลุมไปเรื่อยๆ ไม่ดีกว่าหรือครับ   แต่...อย่าไปหวังจากการประเมินภายนอกนะครับ  นั่นยิ่งไร้ประสิทธิภาพและคุณภาพไปใหญ่  ผู้ประเมินก็ประเมินไม่เป็น  ประเมินเอาใจโรงเรียน  เพราะถ้าไปประเมินให้ปรับปรุง  เดี๋ยวโรงเรียนและครูซักถาม ตอบไม่ได้ก็จะเสียหน้า เลยตัดสินให้ดีหมด เพื่อโรงเรียนและครูจะได้พอใจไม่ซักถาม  คนตรวจอ่านรายงานก็ดูแค่สำนวนไม่ให้เหมือนกัน ทั้งๆที่ให้ไปประเมินตามมาตรฐาน ตัวชี้วัด และเกณฑ์พิจารณา แล้วโรงเรียนส่วนมากก็แทบมีพฤติกรรมเหมือนกัน  แต่กลับไม่เคยดูว่าประเมินมาถูกต้องไหม  ผลาญงบประมาณไปสองสามพันล้านได้มั้ง  ก็ยังไม่เห็นคุณภาพการศึกษาจะดีขึ้นก่อนมีการประเมินภายนอกแต่อย่างใด        


ตอนที่หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช ๒๕๓๓ ประกาศใช้ ผมดีใจมาก เพราะหลักสูตรฉบับนี้เน้นให้การเรียนการสอนของครูทุกวิชา ทุกเนื้อหา ต้องมีกระบวนการ  เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะกระบวนการทำงานตามขั้นตอน   แต่ไม่ช้าผมก็มีแต่ความเสียใจและเสียดาย  ที่ไม่เคยเห็นกระบวนการเรียนการสอนเกิดขึ้นในโรงเรียนอย่างแท้จริง    เห็นแต่กระบวนการที่ถูกเขียนในแผนการสอนของครูเท่านั้น   


ซึ่งถ้าโรงเรียนและครูจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีพื้นฐานประสบการณ์ชีวิต ตามแนวทางหลักสูตร ปี ๒๕๒๑  และได้รับการพัฒนาทักษะกระบวนการจริงๆ ตามหลักสูตร ปี ๒๕๓๓  นักเรียนไทยคงได้รับการต่อยอดให้สามารถคิดวิเคราะห์ บูรณาการความรู้ตามหลักสูตร ปี ๒๕๔๔  และสามารถสร้างองค์ความรู้ จนสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมตามหลักสูตรแกนกลาง ปี ๒๕๕๑ ได้เป็นแน่  คิดแล้วก็น่าเสียดาย  เจ็บใจกับความดื้อดึง  ความมานะทิฏฐิของคนในวงการศึกษาไทยทุกระดับ


การศึกษา และ การจัดการเรียนการสอนที่ดีมีคุณภาพ 
ต้องเป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีการฝึกตามกระบวนการขั้นตอน    
ไม่มีอาชีพใด งานใดที่ทำโดยไม่มีกระบวนการขั้นตอน 
แม้งานถูบ้าน  หุงข้าว  ยังมีขั้นตอน  
แล้วทำไมการเรียนการสอนในโรงเรียน  ถึงไม่มีกระบวนการขั้นตอนละครับ


สรุป ถ้าอ่านมาเรื่อยๆ  โดยไม่จับประเด็นให้ดี  ก็คิดว่าผมว่าครูเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การศึกษาของประเทศไทยล้มเหลว และไร้ประสิทธิภาพ  จริงๆแล้ว ครูเป็นแค่ตัวปัญหา ที่ส่งผลต่อปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษา  เพราะครูส่วนมากยังรู้ไม่ลึกซึ้งกว้างขวางจริง   ยังไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพในการจัดการศึกษา สร้างคนให้มีคุณภาพจริง  ไม่ยอมเหนื่อยในการใฝ่รู้เหมือนตอนจบใหม่ๆ  ทำให้ไม่เข้าใจจุดประสงค์ หรือแนวทางของหลักสูตรจริงๆ   ไม่รู้หลักการสอน  ไม่นำทฤษฏีการสอนที่เรียนมาใช้  ไม่รู้และไม่เข้าใจถึงกระบวนการขั้นตอนการจัดการเรียนรู้  จึงทำให้ครูส่วนมากถือเอาหนังสือแบบเรียนเป็นเสมือนหนึ่งคัมภีร์  เป็นสรณะในการจัดการเรียนการสอน  การจัดการเรียนรู้ของครูจึงไม่มีระบบที่มีคุณภาพที่จะส่งผลให้เด็กๆเป็นคนมีคุณภาพแต่อย่างใด    
  



แต่ตัวการที่แท้จริง หรือสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เราได้ครูไม่ดี  ครูไม่เก่ง  ครูไม่มีคุณภาพ  อันดับแรก  คือ ผู้บริหารสถานศึกษา  เพราะผู้บริหารสถานศึกษาส่วนมากไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเอง  ชอบทำตัวเป็นเจ้านาย เห็นครูเป็นลูกน้อง ชอบใช้ครูทำแต่กิจกรรม  งานพิเศษนอกเหนืองานสอน  และชอบใช้เงิน จัดงานหาเงินมาปรับปรุงอาคารสถานที่  ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด  แต่มันไม่ใช่หน้าที่สำคัญที่สุด  สิ่งที่ต้องทำอันดับแรก คือ การดูแล ตรวจสอบงานสอนหรืองานวิชาการให้มีคุณภาพและเป็นระบบ    แต่ส่วนมากผู้บริหารไม่ค่อยทำ  ชอบปล่อยปละละเลย  ถ้าเป็นโรงเรียนใหญ่หน่อย  ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรองผู้อำนวยการ และครูฝ่ายวิชาการดำเนินการแบบไม่รู้เรื่องพอกัน

ผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่ง  จริงๆ แล้วต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความผิดพลาด  ความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา เพราะผู้บริหารสถานศึกษามีหน้าที่ให้ครูวางแผนการจัดการเรียนรู้ก่อนสอน แล้วตรวจสอบความถูกต้อง ความเหมาะสม แล้วจึงอนุมัติให้ไปดำเนินการได้  ต่อไปจึงควบคุม กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลว่าครูจัดการเรียนรู้เป็นไปตามหลักการสอน  หลักจิตวิทยาการเรียนรู้  และตามหลักสูตรที่วางไว้หรือไม่   รวมทั้งต้องสามารถนิเทศชี้แนะครูถ้าครูยังไม่เข้าใจ ตลอดจนถ้าครูดื้อก็สามารถสั่งลงโทษได้
  
อย่าอ้างนะครับว่าผู้บริหารไม่ได้เก่งเรื่องการสอน ไม่ค่อยรู้เรื่องวิชาการ เพราะการเป็นผู้บริหารยุคนี้ ต้องจบอย่างน้อยปริญญาโทขึ้นไป  หลักสูตรปริญญาโทสาขาบริหารการศึกษา ต้องเรียนทั้งปรัชญา  จิตวิทยา หลักสูตร  วิธีสอน หลักการบริหารอย่างครบถ้วน  อยากจะเป็นผู้บริหารโรงเรียน  แต่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องมีหน้าที่อย่างไร ก็เห็นจะแย่ไปหน่อย  อย่าปัดความรับผิดชอบเลย สงสารเด็กไทย  สังคมไทย  ประเทศไทยบ้างครับ  เงินเดือนท่านก็สูงมาก  ยังมีเงินประจำตำแหน่งอีก  อย่าเอาเวลาว่างไปประจบเจ้านาย   ไปกินเหล้าเมายา  เล่นการพนัน  เที่ยวผู้หญิง  ไปเล่นกอล์ฟให้มากนัก

แม้บางครั้งผมจะเห็นใจ เพราะครูบางโรงเรียนก็ดื้อ หลงตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นผู้ชำนาญการพิเศษบ้าง  ผู้เชี่ยวชาญบ้าง  เรียนจบมาเฉพาะทางบ้าง  จึงชอบย้อนผู้บริหารว่า  ถ้าตัวเองทำยังไม่ดี  ชอบให้ครูทำโน่นทำนี่  แก้ไขโน่นแก้ไขนี่  รู้ดีนักก็มาสอนแทนเลย  โดยเฉพาะพวกครูภาษาอังกฤษ ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์  ตัวดีนักชอบย้อนเก่งมาก  ผมก็เคยเจอประสบการณ์เช่นนี้เหมือนกัน  แต่ผมก็ท้าว่าได้ แล้วสอนให้ดูทุกวิชา  สอนเสร็จผมหักเงินเดือนครูคนนั้นมาเป็นค่าสอนผมด้วย  หลายครั้งก็เงียบไปเลย

ผู้บริหารต้องใช้ภาวะผู้นำ  ยิ่งสมรรถภาพผู้นำทางวิชาการต้องใช้ให้มาก  ถ้ายังไม่รู้ก็ต้องรีบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม  เพราะถ้าผู้บริหารยังไม่รู้เรื่องดีพอ  จะไปบริหารครู  นำครูให้ครูมีคุณภาพได้อย่างไร   เพราะมีผลวิจัยมากมาย สรุปตรงกันว่า  การปฏิรูปการเรียนรู้จะสำเร็จได้ เพราะผู้บริหารสถานศึกษามีภาวะผู้นำและสมรรถภาพทางวิชาการสูง (๘)


อันดับที่สอง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา  ในการทำให้ครูมาสร้างปัญหาให้กับวงการศึกษา  ก็คือ สถาบันผลิตครูบางแห่ง ที่ผลิตครูที่ยังไม่ได้มาตรฐานมีคุณภาพพอเพียง  จึงทำให้คนที่จบมามีความรู้เพียงน้อยนิด  มีจิตวิญญาณครูริบหรี่   ผู้บริหารสถานศึกษาจึงต้องเหนื่อยมากขึ้น  ที่ต้องพัฒนาคนให้เป็นครูเต็มที่ยากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น 



ส่วนอันดับสาม  ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายครั้งนี้ด้วย ได้แก่ คณะ อนุกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขต พื้นที่การศึกษา (อกคศ)  และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหลายนั่นแหละ  เพราะไม่ควบคุม  กำกับ  ติดตาม ประเมินผลผู้บริหารสถานศึกษาให้จัดการศึกษาอย่างเป็นระบบมีคุณภาพ  ถึงมีการประเมิน ก็สักแต่ว่าประเมิน  ไม่มีผลต่อการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการศึกษา นานๆทีก็มีการเรียกประชุม  แล้วก็คาดโทษเท่านั้น  ไม่หามาตรการส่งเสริมผู้บริหารที่มีคุณภาพ  และเปลี่ยนตัวผู้บริหารที่ไม่ประสิทธิภาพออกไป  ส่วนมากชอบแต่ประชุมแค่เลื่อนชั้น  เลื่อนเงินเดือน  ครูขอย้ายเท่านั้นเอง  มันง่ายดี  แถมมีปัจจัยเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องด้วย  ยิ่งชอบเป็นกันใหญ่

แต่....ที่ยิ่งหนักกว่านั้น  เวลาสถานศึกษาไหนได้ผู้บริหารที่ "เก่งและกล้า"  พอ ที่จะกำกับ  ควบคุม ติดตามการสอนของครูอย่างจริงได้    พวกครูที่ไม่ได้เรื่องมักจะรวมตัวร้องเรียน  หรือประท้วง  โวยวายผ่านสื่อมวลชน   หลังจากผู้บริหารระดับเขต หรือกระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการมาสืบสวนสอบสวนแล้วรู้ว่าความจริงว่าสถานศึกษานั้น "โชคดี"  ได้ผู้บริหารที่ "เอาจริง"  แต่ เพื่อไม่ให้การปกครองข้าราชการครูในองค์กรนั้นมีปัญหา  ส่วนมากจึงย้ายผู้บริหารคนนั้นไปอยู่ที่อื่น  เพราะย้ายผู้บริหารคนเดียวง่ายดี  ตัดปัญหาทั้งปวง   ซึ่งกลายเป็น "โชคร้าย" ของเด็กและสังคมนั้นๆ

แล้วต่อไป  เราจะไปได้ผู้บริหารที่เก่งและกล้ามาจากไหน  ก็จะเหลือแต่ผู้บริหารที่คอยรู้จักรักษาเอาตัวรอด   ไม่เอาจริงเรื่องการบริหารวิชาการ  เพื่อไม่เอาตัวเองไปปะทะกับพวกครู   จึงหันไปเอาดีด้านตบแต่งอาคารสถานที่  หรือกิจกรรมพิเศษต่างๆดีกว่า   ดังง่ายดี  แถมได้ใช้งบประมาณด้วย  เผื่อโชคดีเจ้านายเห็นแล้วชอบใจก็เลื่อนตำแหน่งหรือโยกย้ายไปอยู่โรงเรียน ใหญ่ขึ้น  เพราะทำให้เจ้านายได้หน้ามีชื่อเสียงไปด้วย  

ซึ่ง ผมก็พอจะเห็นใจ   ผู้บริหารที่อยาก "เอาจริง"  แต่ก็ไม่อยาก "โชคร้าย" ในชีวิตรับราชการ   ถึงอยาก "ตั้งใจดี"  แต่เจอผู้บริหารระดับสูงที่เอาแต่ตัวรอด  รักษาชื่อเสียงตำแหน่ง   มากกว่าอยากรักษาลูกน้องที่เก่งและกล้าเอาไว้   ใครมันจะ"ตั้งใจทำดี" ได้ตลอด   ดูอย่างท่าน ผกก.สมเพียรสิครับ  ตั้งใจทำดี  แต่สิ่งที่ตอบแทน คือ ความตาย 

อย่าง นี้แหละครับ  ที่เรียกว่าระบบอุบาทว์  ซึ่งระบาดไปหมดทุกวงการทั้งประเทศ ตั้งแต่ระบบการปกครองลงมา   แล้วประเทศไทยจะมีคุณภาพอย่างทั่วถึงได้อย่างไร    ในเมื่อขาดการส่งเสริม "คนเก่งและกล้า" ให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงทุกวงการ    มีแต่พูดถึง "คนดี"  อยากได้คนดีเท่านั้น    

แต่...ที่น่าช้ำใจไปกว่านั้น  ไม่ส่งเสริมไม่ว่า  ยังช่วยกันทำลาย "คนเก่งและกล้า ที่ตั้งใจดี" อีก 


มีอย่างเดียวที่พวกเราทำได้  คือ    ถอนหายใจแล้วบ่นว่า  "เฮ้อ ! เวรกรรมประเทศไทย"
.........................................
...

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
๑. ผลการสำรวจความคิดเห็นนักเรียนระดับชั้นม.ปลาย "สวนดุสิตโพล" กรณีการสอบ O-NET /GAT/PAT ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  โดยการสัมภาษณ์นักเรียนแบบเจาะลึกทั่วประเทศ จำนวน 1,035 คน ระหว่างวันที่ 26 มี.ค. - 2 เม.ย. 2555
  
๒. บทความ ชื่อว่า “คะแนนโอเน็ต ชี้วัดคุณภาพการศึกษาได้จริงหรือ? ของคุณสายพิน แก้วงามประเสริฐ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 5 เมษายน 2555

๓. บทความ เรื่อง “ รับผิดชอบ : ทักษะศตวรรษที่ 21”ของคุณครูธนิตย์  สุวรรณเจริญ  จากเว็บไซด์ www.gotoknow.org

๔. คำสัมภาษณ์ของนายองอาจ นัยพัฒน์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)  ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน  เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555

๕. คำสัมภาษณ์ของนายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ประธานกรรมการบริหาร สทศ.  ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555

๖. คำสัมภาษณ์ของดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์  นักวิชาการ และประธานบริหารสำนักพิมพ์พัฒนาวิชาการ  ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555

๗. คำสัมภาษณ์ของนายพชรพงศ์ ตรีเทพา  ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง  ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555

๘. รายงานการวิจัยและพัฒนารูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน.   โดย ผศ.ทิศนา  แขมมณี และคณะ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว), 2547.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น