วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปรัชญา : ช่วยจัดการศึกษาอย่างไร ตอนที่ 2


6.5  ปรัชญาการศึกษาของไทย
             ในต่างประเทศการจัดการศึกษามักจะอิงอยู่กับปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งเสมอ เพราะความคิดพื้นฐานทุกคนคิดว่าต้องจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ  มีมาตรฐานคุณภาพให้ได้ และสามารถประเมินผลออกมาให้เห็นเป็นสถิติหรือรูปธรรมได้อย่างชัดเจน   ซึ่งปรัชญาการศึกษาในแต่ละสำนักที่แต่ละประเทศนำไปใช้  ก็จะมีทฤษฎีและปรัชญาแม่บทรองรับเป็นเบื้องต้น  เช่น
  • ประสบการณ์นิยม หรือปฏิรูปนิยมของดิวอี้ (Dewey) อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาแพร็กมาติสม์ (Pragmatism) 
  • สารัตถนิยมของฮัทซิน (Huntchin) อยู่บนพื้นฐานจิตนิยม (Idealism) แบบมาร์กซ์ เพลโต
  • ระบบการศึกษาของประเทศจีน และรัสเซีย  อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาคาร์ลมาร์ก
  • ระบบการศึกษาแบบเสรี หรือซัมเมอร์ฮิลล์  อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาเอ็กซิสเต็นเชียลิสม์ (Existentialism)
  • ระบบการศึกษาแบบโรงเรียนอีตัน หรือออกฟอร์ด     หรือยุโรปในสมัยศตวรรษที่ 19  อยู่บนพื้นฐานปรัชญาของนิรันตรวาทนิยม (Perennialism)

             ปรัชญาพื้นฐานเหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นเพราะความคิดอย่างเอาจริงเอาจังที่ต้องการเห็นมนุษย์ สังคม ประเทศ โลกล้วนมีความสมบูรณ์ทุก ๆ ด้าน    

             ส่วนในประเทศไทยค่อนข้างจะยุ่งยากในการกำหนดว่า เรามีปรัชญาการศึกษาของเราเองหรือไม่  เพราะนักวิชาการทางการศึกษาของไทยจบมาจากหลายสำนัก  หลายประเทศ  ต่างก็คิดว่า เชื่อว่าที่ตัวเองเรียนมานั้นถูกต้อง  จึงยังหาข้อยุติเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายไม่ได้   มีผลทำให้ไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนว่าอย่างไรคือปรัชญา  และปรัชญาควรมีขอบเขตแค่ไหนกัน 
   
              ซึ่งถ้าเราคิดว่า ปรัชญา ช่วยสร้างความมุ่งหวัง คาดหวังว่าจะหาสิ่งที่ดีที่สุดเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต   ประเทศไทยก็มีปรัชญาเป็นของตัวเองมานานแล้วนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ

               แต่ถ้าคิดว่า ปรัชญา ช่วยสร้างแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดี  มีคติ  ความเชื่อ ค่านิยม วิถีชีวิตเป็นเอกลักษณ์ตัวเอง   ประเทศไทยก็มีปรัชญาเป็นของตัวเองแล้วเช่นกัน  ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากวัฒนธรรมประเพณีของไทย

               แต่ถ้าคิดว่า ปรัชญา ช่วยสร้างระบบความคิดที่สัมพันธ์ชีวิตกับธรรมชาติ จักรวาล ทั้งฐานะ บทบาทและการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า ประเทศไทยก็มีปรัชญาของตัวเองโดยการนำทางจากพุทธศาสนา

               แต่ถ้าคิดว่า ปรัชญา ช่วยในการแสวงหาคำตอบ ความรู้ ด้วยการคิดอย่างไตร่ตรอง เอาจริงเอาจัง อย่างเป็นระบบขั้นตอนแล้ว  ประเทศไทยก็ยังไม่มีปรัชญาเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาแต่อย่างใด   

              แต่สังคมไทยถึงจะมีหรือไม่มีปรัชญาเป็นของตัวเอง (ตามที่นักวิชาการว่าไว้ก็ตาม) เราก็มีวิถีชีวิตที่ทรงคุณค่าจากการเลือกสรรของบรรพบุรุษ แล้วดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยในแต่ลยุคที่ผ่านมา   แต่ในยุคปัจจุบัน นักวิชาการหรือผู้รับผิดชอบพัฒนาสังคมไทย  กลับไปคว้าเอามาทั้งหมดโดยไม่ได้ดัดแปลง  จึงเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขจากคนรุ่นหลังที่มีสติปัญญา และมีบทบาทหน้าที่ต่อไป

              แม้แต่ตัวปรัชญา คนไทยก็ได้รับรู้จากการที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชาปรัชญา ในปี 2510 จึงแพร่หลายกันมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้ แต่ความเข้าใจในปรัชญากลับผิดไปจากเดิมมาก เพราะคำว่า ปรัชญา เป็นคำที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ บัญญัติแทนคำภาษาอังกฤษว่า Philosophy ซึ่งเดิมคำนี้มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Philos (The Lover) กับ Sophia (Wisdom) แปลรวมกันว่า ผู้รักในความรู้ หรือผู้แสวงหาความรู้

             ส่วนปรัชญา เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ความรู้แจ้ง ซึ่งส่วนมากคนทั่วไปคิดว่า ปรัชญา คือ สิ่งที่เป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสูงส่ง      เช่น ปรัชญาการเมือง ปรัชญาชีวิต ปรัชญาสังคม เป็นต้น ทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจ อาจเป็นส่วนหนึ่งก็ได้ที่วิชาปรัชญาจึงไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนหรือคนทั่วไปนัก

              ปรัชญาการศึกษาหรือความคิดทางการศึกษา ส่วนมากมักจะเป็นไปตามที่ระบบการเมืองหรือเศรษฐกิจหรือผู้มีอำนาจกำหนดขึ้น ไม่เคยปรากฏว่าระบบหรือปรัชญาการศึกษาจะเป็นตัวกำหนดแนวทางเศรษฐกิจ สังคมหรือการเมืองได้เลย   ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสังคมอยู่ร่วมกันได้เป็นสุข เพราะระบบการเมืองที่เข้มแข็งและเศรษฐกิจที่สมบูรณ์   เมื่อมนุษย์รู้สึกว่าอยู่รอดปลอดภัย มั่นคง กินดีอยู่ดีแล้ว  มนุษย์จึงจะคิดและต้องการสิ่งที่สูงกว่านี้ไปเอง

7.  แนวทางการสร้างปรัชญาการศึกษา
     ปรัชญาการศึกษาที่เราได้เรียน  หรือได้รับการบอกกล่าวมาจากนักปรัชญาและนักการศึกษา เสนอแนะขึ้นมา   นักศึกษาหลายท่านอาจจะชอบและตัดสินใจเลือกเอาแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งมาปรับปรุง แต่งเติมแก้ไข หรืออาจนำเอาความคิดนั้นไปใช้โดยตรงเลยก็ได้   บางคนก็อาจชอบหลายแนวความคิดหลายปรัชญา แล้วมาผสมผสานกันใหม่ตามความคิดของตัวก็ทำได้เช่นเดียวกัน   และบางคนก็อาจจะศึกษาแนวความคิดทฤษฎีต่าง ๆ ใหม่ เพื่อสร้างเป็นแนวความคิดพื้นฐานของตนเองในการจัดการศึกษาก็ได้    ซึ่งถ้าเป็นไปได้จริง  กรณีหลังก็ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่เราอาจจะสร้างปรัชญาการศึกษาใหม่อย่างเป็นระบบให้กับสังคมไทยด้วยฝีมือคนไทยต่อไป

     เนื่องจากปรัชญาการศึกษาทุกประเภท เริ่มจากนำแนวความคิดหลายแนวมาผสมผสานกัน นักศึกษาที่จะเป็นผู้บริหาร หรือผู้จัดการการศึกษาต่อไป  จะต้องเลือกปรัชญาต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยการคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ   ศึกษาอย่างกว้างขวางและนำประสบการณ์การศึกษาของตัวเอง มาบูรณาการเสียใหม่    จนสามารถเป็นปรัชญาการศึกษาที่เป็นตัวแทนแนวความคิดของตัวเราได้อย่างชัดเจน และเมื่อครูหรือนักการศึกษาสามารถสร้างปรัชญาการศึกษาของตัวเองได้แล้ว กระบวนการการทำงานบทบาท การเรียนการสอน และจุดหมายปลายทางก็ชัดเจนแจ่มแจ้งแก่ตนเองโดยตลอดจนหมดสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้นในการศึกษาที่ตนเองทำอยู่

      เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่านักการศึกษานำแนวความคิดจากปรัชญาการศึกษาต่าง ๆ ไปใช้โดยตรง โดยไม่มีการแก้ไข ดัดแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมที่ตนเองอยู่แต่อย่างใด นักการศึกษานั้นจะมีปัญหาทันที   เพราะปรัชญาการศึกษาและทฤษฎีการศึกษาเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป เป็นภาพรวมหรือเป็นคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้เหมาะสมกับทุกสภาพสังคมหรือวิถีชีวิตทุกแห่ง จึงจำเป็นที่นักการศึกษาจะต้องสร้างปรัชญาของตัวเอง ของโรงเรียน ของสังคม ของประเทศตัวเองขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและสภาพของสังคมนั้น ๆ

      การสร้างปรัชญาการศึกษาที่ดี และสอดคล้องกับความเป็นจริง ควรสร้างและแสวงหาจากปัญหาที่คน หรือสังคมนั้นเผชิญอยู่(Problem - Centered) มากกว่าจะเอาระบบหรือปรัชญาของคนอื่นมาทั้งหมด   แล้วต่อมาจึงควรกำหนดจุดมุ่งหมายว่าเราควรจัดการศึกษาเพื่ออะไร และการจัดการศึกษาที่ให้กับเยาวชนนั้นจะต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนว่า  เขาจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง  เขาจะต้องมีความรู้ประเภทใดบ้าง   เขาจะต้องทำอะไรได้บ้าง   โดยที่ต้องไม่ลืมนำสิ่งต่างๆที่สังคมนั้นถือว่ามีคุณค่ามาใส่ไว้เพื่อรักษาสิ่งที่ดีนั้นต่อไป   แล้วจึงตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะจัดการศึกษาตามแนวทางที่กำหนดขอบเขตนั้น  ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย


 8. การจัดการศึกษาไทยตามแนวพุทธศาสนา

    หลักการ 
    1. ชีวิตมนุษย์เป็นเพียงภพหนึ่ง  หรือช่วงหนึ่งของกระบวนการชีวิตที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาของจิต   ซึ่งจิตจะผลักดันชีวิตให้ดำเนินไปตามอวิชชา  >  ตัณหา  >  กิเลส  >  กรรม  >  วิบาก  >  แล้วก็ย้อนไปสร้างกิเลส  กรรม  วิบากต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

    2. ความเป็นไปแห่งชีวิตมนุษย์ ขึ้นอยู่กับการกระทำที่เกิดจากเจตนาของตัวมนุษย์เองทั้งในอดีต และปัจจุบัน (กรรมเก่ากรรมใหม่)  รวมทั้งจิตที่ยังมีอวิชชา ตัณหาอยู่

    3. ทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป  ไม่มีสิ่งใดคงที่ ไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง ในโลกล้วนไม่มีความจริง เป็นเพียงมายาภาพที่เกิดจากจิตของมนุษย์ที่เข้าไปปรุงแต่งเท่านั้น   การเข้าไปเกี่ยวข้องโดยไม่มีสติ และปัญญาดีพอ  จะทำให้เกิดผลเสียหายต่อตัวเองและสังคมอย่างกว้างขวาง

    4. จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิต  ควรหาทางไม่ให้มาเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆอีก คือ ตัดวงจรชีวิต  หรือยุติกระบวนการสืบต่อเนื่องของจิตให้ได้     

    5. ชีวิตที่ถูกต้อง คือ ชีวิตที่พยายามฝึกอบรมจิตใจให้มีสติปัญญามากขึ้น  จนจิตสามารถรู้เท่าทันทุกสิ่งตามความเป็นจริง  ยอมรับความเป็นจริงนั้น ไม่ฝืนความจริง  ฝึกทำจิตใจให้เป็นกลาง  ไม่บังคับปรุงแต่งจิตให้คิดแต่เรื่องดีๆ หรือบังคับจิตให้หลบหนีความจริงที่ประสบ   หรือไม่ปล่อยจิตใจให้ไหลตามอารมณ์ของกิเลส ตัณหา  พยายามเฝ้าดูจิต  สังเกตจิตจนเข้าใจได้ว่า  ที่เรามีทุกข์  มีปัญหาก็เพราะเมื่อเวลาจิตคิดอะไร  รู้สึกอะไร  เรามักเข้าไปช่วยมันคิด หรือปรุงแต่ง   แต่ถ้าเราไม่เข้าไปช่วยมันคิด หรือปรุงแต่ง  ไม่ช้าสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต  ก็จะดับไปเองในไม่ช้า

      6. มนุษย์สามารถฝึกฝนสติ ปัญญาได้ด้วยตนเองจากความรู้ที่ได้รับการแนะนำจากผู้รู้ (สุตามยปัญญา)  หรือจากการคิดพิจารณาไตร่ตรองทุกสิ่งที่ประสบด้วยโยนิโสมนสิการ (จินตามยปัญญา)    และจากการสร้างสถานการณ์ของตัวเองที่ทำให้เกิดความกลัวต่างๆ เช่น  กลัวตาย  กลัวชีวิตลำบาก  กลัวเสียหน้า กลัวไม่มีใครยอมรับหรือยกย่อง เป็นต้น   หรือเกิดความสังเวชใจ จนจิตเข้าใจและยอมรับไตรลักษณ์ได้ (ภาวนามยปัญญา) ก็จะปล่อยวาง หมดทุกข์ไปตามลำดับ

    7. ในการเรียนรู้ ครูอาจารย์เป็นแต่เพียงผู้แนะนำ ชี้แนะ ให้รู้คุณรู้โทษและอบรมให้รู้จักควบคุมตัวเอง ไม่ตามใจตนเอง  แต่จะได้ผลมากน้อยขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติเอาจริงตั้งใจจริงของผู้นั้น

    8. ในโลกนี้ทุกสรรพสิ่งล้วนไม่มีคุณ มีโทษ มีดี มีชั่ว มีประโยชน์ หรือไร้ประโยชน์ ไม่มีระบบการปกครองใดดีที่สุด ไม่มีสิ่งใดดีที่สุด  หรือเลวที่สุดต่อมนุษย์  ทุกอย่างอยู่ที่จิตใจของมนุษย์เองที่ไปกำหนด  หรือต้องการ หรือรับรู้  ยอมรับสิ่งนั้นมันเอง   (สำหรับทางโลก  ตัวตัดสินสิ่งเหล่านี้ คือเป้าหมายที่มนุษย์ หรือสังคมนั้นต้องการ)

    9. พุทธธรรมไม่สามารถเป็นปรัชญา หรือเป้าหมายของการศึกษาใดๆได้ เพราะมีหลักการและจุดมุ่งหมายที่ไม่เหมือนกัน   แต่เราสามารถประยุกต์วิธีการฝึกอบรมแบบพุทธศาสนาเข้ากับการจัดการเรียนการสอน  หรือวิธีการจัดการศึกษาของเราได้


8.1 การจัดการศึกษาของพระพุทธศาสนา

      1. ความหมายของการศึกษา  (Meaning of Education)  คือ การพัฒนาชีวิตเพื่อฝึกจิตใจ  ให้มี “...สติ และ ปัญญา…” มากยิ่งขึ้น

      2. เป้าหมายสูงสุดทางการศึกษา (Aims of Education)  คือ  นิพพาน   (ชีวิตที่พ้นทุกข์หมดปัญหาไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป) 

      3. แนวนโยบายพื้นฐานการศึกษา  (Education policy) มุ่งพัฒนาไตรสิกขา  โดยการฝึกจิตตั้งใจงดเว้นสิ่งที่เป็นโทษ (ศีล), ฝึกจิตให้ตั้งมั่น, สงบ (สมาธิ), และฝึกจิตให้พิจารณาไตรลักษณ์ (ปัญญา) เพื่อขจัดอวิชชา ตัณหา      
      4. หลักการ (Method of Education)  ควรออกบวชใช้ชีวิตแบบภิกษุ  เพื่อฝึกสติ- ปัญญาพิจารณาชีวิตตามหลักไตรลักษณ์ 3 (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) และหลักอริยสัจ 
         1. ทุกข์    รู้ปัญหา รู้ทุกข์
         2. สมุทัย  รู้สาเหตุของปัญหา
         3. นิโรธ   รู้การแก้ปัญหา
         4. มรรค   รู้วิธีการแก้ปัญหา

      5. หลักสูตร (Curriculum)  เน้นคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ตามแนวทาง
          - โพธิปักขิยธรรม 37
          - มงคล 38
          - อนุปุพพีกถา
          - สมถกัมมัฏฐาน 40
          - วิปัสสนากัมมัฏฐาน 37

      6. แนวการจัดการศึกษา  (How to organize the Education)  ฝึกอบรมตามความแตกต่าง
          1. ตามวาสนา บารมี  
          2. ตามวิบากกรรม
          3. ตามจริต 6
          4. ตามบุคคล 4

      7. วิธีการเรียนการสอน  (Methods of teaching)
          - อบรมให้รู้นิสัย 4,  อกรณียกิจ 4                           
          - ปฏิบัติตามวินัยปาฏิโมกข์, เสขิยวัตร,อภิสมาจาร, ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ
          - พัฒนาอินทรีย์ 5,  ศรัทธา 4
          - แนะนำให้รู้วิธีแนวทางฝึกจิตตามแนวสมถกัมมัฏฐาน,วิปัสสนากัมมัฏฐาน
          - การเรียนรู้จะเป็นไปตามสัจญาณ - กิจญาณ - กตญาณ  โดยมีแนวทาง ดังนี้
            1. ปริญญา ศึกษาให้รู้จัก ให้เข้าใจ(ทุกข์) ชัดเจนตามความเป็นจริง หรือกำหนดขอบเขตของปัญหา
                (ญาต - ตีรณ - ปหานปริญญา)
            2. ปหานะ หาต้นเหตุของทุกข์, ปัญหา กำจัดทำให้หมดสิ้นไป (สมุทัย)
            3. สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้งในวิธีการที่จะแก้ปัญหานั้น (นิโรธ)
            4. ภาวนา ลงมือปฏิบัติหรือแก้ไขปัญหา ตามแนวทางที่ถูก(มรรค) ขณะปฏิบัติก็พิจารณาแก้ไขข้อบกพร่องไปด้วย

      8. คุณสมบัติของครู  (Attribute of teacher)
          - อุปัชฌายวัตร, อาจาริยวัตร, สัทธิวิหาริกวัตร, อันเตวาสิกวัตร
          - กัลยาณมิตรธรรม, ทักขิณทิศ (ทิศ 6)

     9. การวัดผลประเมินผล   (Evaluation of Education)
         - วัดผล  สภาพจิตตามสังโยชน์ 10
         - ประเมินผล  ด้วยตนเองว่าจิตใจมีกิเลส อวิชชา ตัณหา ทุกข์เบาบางหรือไม่

                                                     @@@@@@@@@


8.2 การจัดการศึกษาของไทยตามแนว(ประยุกต์)พระพุทธศาสนา
  
     1. ความหมายของการศึกษา  (Meaning of Education)  คือ  การฝึกฝนพัฒนาจิตใจ ความคิดให้มีศักยภาพและสมรรถภาพในการดำรงชีวิต

     2. เป้าหมายสูงสุดทางการศึกษา (Aims of Education)  คือ  เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ และชีวิต
ไปใช้ให้มีความสุข  ปัญหาชีวิตน้อยลง

     3. แนวนโยบายพื้นฐานการศึกษา  (Education policy)  ต้องพัฒนา :
         1. ความรู้ (Cognitive Domain)
         2. จริยธรรม (Affective Domain)
         3. ศักยภาพ  และ 4. สมรรถภาพ  (Psycho - motor  Domain  Taxonomic  System

     4. หลักการการจัดการศึกษา (Method of Education)   
         1. เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  และได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ตามศักยภาพและธรรมชาติของตัวเองด้วยตนเอง
         2. เป็นการศึกษาที่สามารถยืดหยุ่นได้ตามความพร้อมหรือแรงจูงใจทุกเวลาและทุกสถานการณ์
         3. เป็นการศึกษาที่สามารถบูรณาการทุกสิ่งรอบตัวให้เกิดการเรียนรู้ในชีวิตจริง
         4. เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนเชื่อมั่นตนเอง พึ่งตนเองได้  มีวินัยในตัวเอง

      5. หลักสูตร (Curriculum)    
          1. มีเป้าหมาย / ตัวชี้วัดที่แสดงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งความรู้  ทักษะ สมรรถนะ และศักยภาพให้กับผู้เรียนอย่างชัดเจน
          2. เน้นให้ผู้เรียนรักษาหรือพัฒนาสิ่งที่มีคุณค่าของสังคมไทย/ท้องถิ่นตนเอง  และรู้เท่าทันสังคมโลก
          3. เน้นการบูรณาการ, สร้างองค์ความรู้, ผลิตผลงาน/นวัตกรรม,  พัฒนาทักษะการคิด,  ทักษะชีวิต, ทักษะกระบวนการเรียนรู้/การทำงาน

       6. แนวการจัดการศึกษา  (How to organize the Education)  จัดตามความแตกต่าง
           1.  ตามความสนใจ ความถนัด และความพร้อมของผู้เรียน
           2.  พัฒนาผู้เรียนตามหลักจิตวิทยาและไตรสิกขา
               -  ขั้นพื้นฐานอายุ 7-12 เน้นศีล /ความรู้พื้นฐาน /ทักษะชีวิตพื้นฐาน
               -  ขั้นมัธยม (อายุ 13-18 เน้นสมาธิ /ใฝ่รู้ /กระบวนการเรียนรู้ /ทักษะอาชีพพื้นฐาน, 
               -  ขั้นอุดมศึกษา อายุ 19 – 22 เน้นปัญญา /กระบวนการคิด /วิจัย /ทักษะอาชีพ

        7. วิธีการเรียนการสอน  (Methods of teaching)
            1. ฟังคำสอน คำอธิบาย เนื้อหาความรู้จากการสาธิต จำลอง หรือเหตุการณ์สภาพชีวิตจริง 
            2. ทัศนศึกษาในสถานการณ์จริง
            3. ทำกิจกรรม  ฝึกปฏิบัติ ทดลองด้วยตนเองตามทักษะกระบวนการเรียนรู้/การคิด/การทำงานในรูปแบบโครงงาน หรือรูปแบบใดก็ได้ที่มีขั้นตอนชัดเจน 
            4. สนทนา โต้ตอบ ซักถาม วิเคราะห์ วิจารณ์ สรุปโดยใช้แนวคิดหมวกหกใบ หรือกระบวนการโยนิโสมนสิการ ฯลฯ
            5. เรียนรู้จากการแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการอริยสัจ 4 หรือกระบวนการแก้ปัญหา หรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ดำเนินการ  ดังนี้
                5.1 ขั้นกำหนดขอบเขตสิ่งที่ศึกษา(Location of     Study)  ศึกษาปัญหา หรือสิ่งที่อยากรู้ อยากพัฒนา กำหนดขอบเขตสิ่งที่จะดำเนินการ และจุดมุ่งหมายการดำเนินการ
                5.2 ขั้นตั้งสมมติฐาน (Setting up of Hypothesis) พิจารณาสาเหตุของปัญหา  ปัจจัย และสิ่งที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่ศึกษา
                5.3 ขั้นทดลองและเก็บข้อมูล  (Experimenting and collecting of Data) รวบรวมข้อมูล ทดลอง วิจัย ค้นคว้า บันทึกข้อมูลสิ่งที่ศึกษา    
                5.4 ขั้นสรุป (Analysis of Data) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล  นำมาสังเคราะห์  สรุปผลสิ่งที่ศึกษา

         8. คุณสมบัติของครู  (Attribute of teacher)
             - ครูต้องมีจรรยาบรรณตามมาตรฐานวิชาชีพครู หรือตามมาตรฐาน/ตัวชี้วัดของ สมศ. หรือหลักกัลยาณมิตรธรรม, ทิศ 6 ตามแนวพุทธศาสนาก็ได้
             - สอนตามเป้าหมาย/ตัวชี้วัดการเรียนรู้
             - กระตุ้นให้ผู้เรียนและตัวเองใฝ่รู้เสมอ

         9. การวัดผลประเมินผล   (Evaluation of Education)
             - วัดผล  จากผลงาน / ผลผลิตตามเป้าหมาย/ตัวชี้วัด ด้วยเครื่องมือที่มีเกณฑ์หรือระดับคุณภาพตามสภาพจริงเชิงประจักษ์  
             - ประเมินผล เพื่อจำแนก, เปรียบเทียบ, จัดตำแหน่ง, จัดลำดับ, เพื่อนำไปวิจัยหาสาเหตุ วิธีการปรับปรุง, พัฒนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น